ส.ส. ตั้งกระทู้เรื่องรถไฟความเร็วสูง (เมื่อ 15 ปีก่อน) สุเทพ เทือกสุบรรณ รมว.คมนาคมตอบ

ค้นราชกิจจานุเบกษากลับไปที่ พ.ศ. 2541 เมื่อ ส.ส.เพชรบูรณ์ ตั้งกระทู้ถามว่าจะมีนโยบายสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ ถ้ามีจะดำเนินการได้เมื่อใด และคำตอบจาก รมว.คมนาคมในขณะนั้น

เอี่ยม ทองใจสด และ สุเทพ เทือกสุบรรณ (ที่มา: วิกิพีเดีย)

รถไฟความเร็วสูง TGV ของฝรั่งเศส (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2541 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว นายเอี่ยม ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.เพชรบูรณ์ พรรคความหวังใหม่ ได้ตั้งกระทู้ถามที่ 082 ร. เรื่อง โครงการรถไฟความเร็วสูง ถามสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น โดยขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวคมนาคมตอบ และลงในราชกิจจานุเบกษา โดยมีข้อเสนอให้สร้างรถไฟความเร็วสูงไปทั้ง 4 ภาค ภาคละ 1 เส้นทาง เพื่อจะช่วยลดปัญหาจราจร การเกิดอุบัติเหตุและลดการนำเข้าน้ำมัน และมีการถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมดังนี้

1.รัฐบาลมีนโยบายสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ ถ้าไม่มีเพราะเหตุใด ถ้ามีจะดำเนินการได้เมื่อใด
2.การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีการศึกษาถึงความคุ้มทุนของรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ ขอทราบรายละเอียด
3.การรถไฟแห่งประเทศไทย มีโครงการบริการรถขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงอีกหรือไม่ ขอทราบรายละเอียด

 

โดยตอนหนึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ได้ตอบกระทู้ดังกล่าว และตอนหนึ่งระบุว่า

"โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง แม้จะได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 และกระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำการศึกษาแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูงไว้แล้วก็ตาม แต่โดยที่สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้าง กระทรวงคมนาคมจึงได้ระงับโครงการรถไฟความเร็วสูงไว้ก่อน และให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างทางคู่ และขยายทางรถไฟให้ครบทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ตลอดจนขนส่งสินค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยส่วนรวมมากกว่า"

 

15 ปีต่อมา ในยุคที่สภาเพิ่งมีการผ่าน พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน คมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... วาระแรก เห็นชอบรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ทั้งนายเอี่ยม และนายสุเทพ ยังคงโลดเล่นอยู่ในการเมืองไทย เพียงแต่สลับกันเป็นฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้าน ส่วนนายเอี่ยม เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรครัฐบาล

สำหรับรายละเอียดของกระทู้ถามดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

000

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 48 ก. วันที่ 18 สิงหาคม 2541
กระทู้ถามที่ 082 ร.
สภาผู้แทนราษฎร วันที่ 12 มีนาคม 2541

เรื่อง โครงการรถไฟความเร็วสูง

กราบเรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ข้าพเจ้าขอตั้งกระทู้ถาม ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดังต่อไปนี้

สภาพปัญหาการจรจาจรปัจจุบันนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น เนื่องจากปริมาณการใช้รถยนต์เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณการจราจรสูงกว่าขีดความสามารถของระบบถนนที่จะรองรับได้ ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเกิดมลภาวะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสาเหตุที่ทำให้จราจรติดขัดและเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นมาจากผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่ฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จากสถิติคดีจราจรทางบกของกรมตำรวจปี 2539 พบว่ามีคดีจราจรทางบกทั่วประเทศรวม 88,556 คดี โดยเฉลี่ยรับแจ้งวันละ 243 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55,044 คน มีผู้ถึงแก่ความตาย 14,405 คน ส่วนสถิติการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ปี 2540 พบว่าทุกๆ 1 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 6 ราย แพทย์และพยาบาลประจำหน่วยงานอุบัติเตุและฉุกเฉิน ยังมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับการช่วยเหลือล่าช้า จึงมีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น และจากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทำให้การนำเข้าน้ำมันมีเพิ่มขึ้นด้วย โดยน้ำมันทุกๆ 100 ตัน ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 83 ตัน ถ้าลดปริมาณการใช้น้ำมันลงได้อย่างน้อย ร้อยละ 5 ของปริมาณการใช้ในปี 2540 จะช่วยประหยัดเงินได้ถึงปีละ 10,000 ล้านบาท จากสภาพปัญหาข้างต้น เพื่อจะช่วยลดปัญหาจราจร การเกิดอุบัติเหตุและลดการนำเข้าน้ำมัน จึงควรมีการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อสัญจรไปมาสู่ปลายทางในทุกภาคของประเทศ โดยให้มีเส้นทางไปสู่ทั้ง 4 ภาค ภาคละ 1 เส้นทาง เพื่อเป็นการรองรับความต้องการของประชาชน และเป็นการสนองนโยบายในการจัดระบบจราจร ซึ่งข้อดีของรถไฟความเร็งสูงคือ ประหยัดเวลาในการเดินทาง ลดปัญหามลภาวะเป็นพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและจะทำให้หมดปัญหาในการขาดแคลนเลือด รวมทั้งแพทย์ทางด้านศัลยกรรมเฉพาะทางด้วย จากเหตุผลดังกล่าว จึงขอเรียนถามว่า

1.รัฐบาลมีนโยบายสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ ถ้าไม่มีเพราะเหตุใด ถ้ามีจะดำเนินการได้เมื่อใด

2.การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีการศึกษาถึงความคุ้มทุนของรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ ขอทราบรายละเอียด

3.การรถไฟแห่งประเทศไทย มีโครงการบริการรถขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงอีกหรือไม่ ขอทราบรายละเอียด

 

ขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
เอี่ยม ทองใจสด

000
 

คำตอบกระทู้ถามที่ 082 ร.
ของนายเอี่ยม ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบูรณ์

เรื่อง โครงการรถไฟความเร็วสูง

ข้าพเจ้า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ ดังนี้

คำถาม

1. รัฐบาลมีนโยบายสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ ถ้าไม่มีเพราะเหตุใด ถ้ามีจะดำเนินการได้เมื่อใด
2. การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีการศึกษาถึงความคุ้มทุนของรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ ขอทราบรายละเอียด

คำตอบ

โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง แม้จะได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 และกระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำการศึกษาแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูงไว้แล้วก็ตาม แต่โดยที่สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้าง กระทรวงคมนาคมจึงได้ระงับโครงการรถไฟความเร็วสูงไว้ก่อน และให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างทางคู่ และขยายทางรถไฟให้ครบทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ตลอดจนขนส่งสินค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยส่วนรวมมากกว่า

คำถาม

3. การรถไฟแห่งประเทศไทยมีโครงการบริการรถขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงอีกหรือไม่ ขอทราบรายละเอียด

คำตอบ

นอกเหนือจากการศึกษาและพิจารณาระบบรถไฟความเร็วสูง ทั้งระบบที่ใช้ไฟฟ้า (Shinkansen ของญี่ปุ่น, TGV ของฝรั่งเศส และ ICE ของเยอรมัน) และระบบรถไฟแม่เหล็ก (Magnetic Levitation) แล้ว ในระบบรถไฟปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังพิจารณาด้านเทคนิคของรถไฟโดยสารระบบ Push-Pull Train ที่มีความคล่องตัวและสะดวกในการใช้งาน ขณะเดียวกันได้พิจารณานำระบบรถไฟฟ้ามาใช้ โดยระยะแรกจะดำเนินการในเส้นทางสายกรุงเทพฯ - ฉะเชิงเทราก่อน และได้จัดทำเป็นโครงการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 แล้ว สำหรับด้านสินค้า ได้ทำการพิจารณาร่วมกับภาคเอกชนถึงความเป็นไปได้ในการนำระบบการขนส่งมวลชนด้วย Road - Railer มาใช้ในกิจการรถไฟ ซึ่งได้มีการนำตัวรถ Road - Railer มาทดลองวิ่งแล้ว ปรากฏได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง หากจะดำเนินการ การรถไฟแห่งประเทศไทยและผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์เพิ่มเติม ณ สถานีต้นทาง - ปลายทาง แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ไม่เอื้ออำนวยให้ลงทุน การดำเนินการดังกล่าวจึงหยุดชะงักไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท