Skip to main content
sharethis
สร้างความปั่นป่วนไปไม่น้อย กับ "ทีมไร้หน้า" การรวมกันของคนหนุ่มสาวจากหลากหลายที่มาราว 10 คน มาใส่หน้ากากรูป "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" พร้อมถือป้าย "เสรีภาพในการอ่าน" "เสรีภาพในการเขียน" ทั่วงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งที่ 41 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
 
โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้เคยเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน และแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา เพื่อประชาธิปไตย ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ในฐานะบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ ซึ่งศาลพิจารณาว่ามีบทความ 2 บทความที่ละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา
 
การ "ป่วนทางวัฒนธรรม" ครั้งนี้ ได้ผลอย่างไร ผู้คนรู้จัก "สมยศ" มากขึ้นหรือไม่ ไปคุยกับตัวแทนของ "ทีมไร้หน้า" ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม และกล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น
 
 
0000
 
ประชาไท: จุดประสงค์จัดกิจกรรมนี้เพื่ออะไร?
 
โดยพื้นเพเราเป็นกลุ่มนักอ่านที่ไปงานหนังสือเป็นประจำทุกปี และในปีนี้มีการจัดกิจกรรมวาระกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก 2556 เราจึงอยากส่งสารถึงผู้ร่วมงานที่เป็นเพื่อนนักอ่านด้วยกัน ว่าสถานการณ์การอ่านบ้านเรายังถูกจำกัดเสรีภาพ เราอยากส่งสารเรื่องเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ พูด โพสต์ เผยแพร่ จำหน่ายจ่ายแจก
 
อีกอย่างเราอยากส่งสารถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ ให้ตระหนักถึงบทบาทของตนในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสืออย่างคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการ Voice of Taksin และ Red Power ที่ถูกตัดสินจำคุกด้วยข้อหาที่ตนไม่ได้กระทำ เราอยากให้สมาคมฯ แสดงบทบาทปกป้องเสรีภาพของบรรณาธิการ รวมถึงคุ้มครองเสรีภาพในการเผยแพร่สารคดีข่าวและเอกสารวิกิลีกส์ของคุณเอกชัย หงส์กังวานด้วย
 
ประชาไท: อยากจะสื่อสารอะไรกับคนที่มาร่วมงาน?
 
การที่เราสวมหน้ากากและเสื้อลายขวางระหว่างปฏิบัติการ เพราะมันเป็นสารเดียวที่ต้องการสะกิดให้คนเดินงานหนังสือได้ฉุกคิดว่าสมยศคือใคร ทำไมต้องมางานหนังสือ ทำไมต้องเรียกร้อง Freedom to Read ทำไมต้องเรียกคืนเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ พูด เผยแพร่ เพราะมันเป็นเสรีภาพพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย
 
ภายใต้หน้ากากสมยศ เราทำกิจกรรมด้วยความสงบ ไม่ส่งเสียงดังรบกวนใคร เราส่งสารอย่างเป็นมิตร เดินแถวตอนเรียงหนึ่งอย่างสุภาพ ท่ามกลางความวุ่นวายเบียดเสียด เราเดินช้าๆ และมั่นคง ไปตามจุดแลนด์มาร์ก เช่น สนพ.ใหญ่ๆ หน้าเวที บันไดจุดนั่งพัก ฯลฯ เราเชื่อว่าคนที่ได้เห็นย่อมรับสารที่เราต้องการสื่อออกไปไม่มากก็น้อย
 
 
ประชาไท: มีใครเป็นแกนนำหรือเปล่า
 
เรื่องผู้นำหรือใครเป็นแกนนำนี่ เอาเข้าจริงเป็นเรื่องตอบยากเหมือนกันนะ คือปฏิบัติการแบบนี้ มันถูกออกแบบมาให้ง่าย จัดการตนเองได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีใครคอยออกคำสั่งใคร แต่จะเป็นการตกลงกันคร่าวๆ ให้เห็นภาพรวมด้วยกันทุกคน เห็นเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน จากนั้นแต่ละคนก็จะสามารถออกแบบตัวเองได้ ระหว่างปฎิบัติการก็คุยกันบ้างนิดๆ หน่อยๆ
 
ประชาไท: ปฏิกิริยาคนอื่นๆ เป็นไงบ้าง?
 
ปรกติงานหนังสือจะมีมาสคอตหรือคอสเพลย์เดินโปรโมตหนังสือเรียกร้องความสนใจอยู่แล้ว แต่เราคนเสื้อลายขวางกับหน้ากากสมยศที่เดินอย่างนิ่งสงบ มันจึงกระตุกความสนใจของผู้คนได้มาก เด็กๆ ถามพ่อแม่ว่าทำไมเขาต้องใส่หน้ากาก บางคนซุบซิบกันนั่นสมยศๆ บางคนตกใจบางคนฉงนสนเท่ห์ เราไม่ได้แจกอะไร เราเพียงเดิน หยุด นั่ง เช่นเดียวกับคนที่มางานหนังสือทั่วไป แต่มันทำให้คนสนใจอย่างที่เราคาดไม่ถึง
 
เราเดินมาได้รอบโซน C เข้าโซนเพลนนารี่ฮอล กำลังจะไปโซน Plaza แต่โดนเจ้าหน้าที่สกัดเสียก่อน ตอนนั้นเขาถามว่ามาจากสำนักพิมพ์ไหน เราเงียบ เขาถามว่าใครผู้นำกลุ่ม เราไม่ตอบโต้ ทุกคนพร้อมใจบอกว่ามากันเอง ไม่มีผู้นำ เขาไม่ให้เดินต่อ เราก็นั่ง พอเรานั่ง คนยิ่งมารุมล้อมถ่ายรูป ให้ความสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น พอเจ้าหน้าที่กำลังปรึกษากันว่าจะทำยังไงกับพวกเรา เราก็พร้อมใจกันสลายตัว ถอดหน้ากากถอดเสื้อกลมกลืนไปกับฝูงชนคนละทิศละทาง
 
 
ประชาไท: ส่วนใหญ่คนงงไหม รู้จักมั้ยว่าสมยศคือใคร
 
เป็นธรรมดาว่าคนต้องงง สมยศเป็นที่รู้จักน้อยมากอยู่แล้วในสังคมไทย ปฏิบัติการของเราคือทำให้เขาเกิดคำถาม มองเห็น และอยากรู้ว่าสมยศคือใคร ทำไมต้องสมยศ
 
ตอนเตรียมงานหน้ากากอยู่ที่จุดนัดพบ น้องกลุ่มหนึ่งนั่งข้างๆ หันมาถาม พวกพี่สมยศใช่ไหมครับ อย่างน้อยมีคนรู้จักนะเราว่า ส่วนเจ้าหน้าที่เดินตามคนถ่ายรูป ถามว่าคนนี้ใช่ที่ออกข่าวรึเปล่า เราว่าย่อมมีคนเคยเห็นหน้าสมยศและรู้เลาๆ มาบ้างละน่า
 
ประชาไท: คิดว่าท้ายที่สุดกิจกรรมแบบนี้จะนำไปสู่อะไร สามารถส่งผลกระทบได้แค่ไหน
 
กิจกรรมนี้คาดหวังสูงสุดให้สมยศถูกบรรจุเป็นประเด็นเล็กๆ ในวงการหนังสือ แม้มันจะไปไม่ถึงแต่อย่างน้อยงานหนังสือครั้งต่อๆ ไปยังมี ตราบใดที่คนพิมพ์ คนเผยแพร่ คนเขียน คนอ่าน ยังถูกจำกัดเสรีภาพภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เราเชื่อว่าการรณรงค์นี้ก็ยังต้องทำต่อไป นอกจากนี้เรายังคิดว่ามันน่าจะส่งผลให้คนเข้าร่วมตระหนักว่า คุณก็ทำได้ ง่ายๆ แต่มีพลัง
 
สุดท้ายกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยได้เติบโต สร้างสรรค์กิจกรรมของตัวเอง ตระหนักว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ลุกขึ้นนำการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องรอแกนนำ
 
 
 
 
 
ขอขอบคุณภาพจาก "น้องต้น มาแล้วจ้า"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net