นักปรัชญาชายขอบ: ความหลงผิดว่า “สามารถเป็นกลางได้” ของสื่อไทยๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1) มาตรฐาน “ความเป็นกลาง”

มาตรฐานความเป็นกลางของวิชาชีพสื่อที่ป่าวประกาศกัน คือ “การรายงานข้อเท็จจริงทุกด้านอย่างสมดุล การเสนอความเห็นของทุกฝ่ายอย่างสมดุล” โดยมาตรฐานนี้ ในแวดวงสื่อมวลชนต่างวิจารณ์กันเองว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน สื่อค่ายต่างๆ ได้ทำลายมาตรฐานความเห็นกลางแห่งวิชาชีพของตนเองลง เพราะสื่อล้วนแต่เลือกข้างทางการเมือง

“การเลือกข้างทางการเมือง” จึงเป็นการทำลายมาตรฐานความเป็นกลางของวิชาชีพสื่อ นี่เป็น “ความหลงผิด” ภายในวงการสื่อมวลชน (หรือความหลงผิดของมุมมองทางวิชาการด้วย) ที่สรุปว่า “การเลือกข้างทางการเมืองของสื่อเป็นการทำลายความเป็นกลางของวิชาชีพสื่อ”

 

2) มาตรฐานความเป็นกลางที่เป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้น

ความหลงผิดตามข้อ 1) เกิดจากการไม่ยอมรับความเป็นจริงว่า ขั้วขัดแย้งทางการเมืองมีความสลับซับซ้อนและดำเนินไปภายใต้อุดมการณ์ และกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือไม่ free and fair ที่จะให้สื่อ (นักวิชาการหรือใครก็ตาม) สามารถเสนอข้อเท็จจริงทุกด้าน และเปิดพื้นที่เสนอความคิดเห็นของทุกฝ่ายอย่างสมดุลได้จริง

เช่น ไม่สามารถรายงานข้อเท็จจริงเบื้องหลังรัฐประหาร หรือการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเบื้องหลังรัฐประหารได้ใน “ระดับเดียว”  หรือใน “มาตรฐานเดียว” กับการเสนอข้อเท็จจริงและอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ชอบมาพากลของนักการเมือง เป็นต้น

ฉะนั้น กติกาที่ free and fair ในการรายงานข้อเท็จจริงและการเปิดพื้นที่เสนอความคิดเห็นทั้งสองด้านอย่างสมดุลมันไม่มีอยู่ตั้งแต่แรก มาตรฐานความเป็นกลางแห่งวิชาชีพสื่อตามทฤษฎีจึงนำมาใช้กับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นมาและเป็นอยู่เวลานี้ไม่ได้เลย ความเป็นกลางของสื่อจึงมีไม่ได้เลย

 

3) ความลื่นไหลบนความไร้หลักการ

หากหลักการของความเป็นกลางคือกติกาที่ free and fair ไม่มีอยู่ตั้งแต่แรก การอ้างความเป็นกลาง ความสมดุลในการเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นทุกด้าน ก็เป็นเพียงการแสดง “ความลื่นไหล” หรือพูดให้ตรงๆ คือ “การโกหกตอแหล” เท่านั้นเอง

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กลุ่มบรรณาธิการข่าวการเมืองของ Thaipbs (ที่อ้างว่าเป็น “ทีวีสาธารณะ” ใช้ภาษีประชาชน เสนอข่าวสารและความเห็นที่เป็นกลางเพื่อประโยชน์ของประชาชน) กดดันเป็นการภายในให้งดออกอากาศรายการตอบโจทย์ที่เสนอการดีเบตเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ระหว่าง ส.ศิวรักษ์ กับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยอ้างว่า เป็นการนำเสนอความเห็นที่ไม่สมดุล เนื่องจากให้เวลาแก่สมศักดิ์ (ซึ่งตั้งคำถาม วิพากษ์โครงสร้างสถาบัน) มากกว่า ดังที่เป็นข่าวและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในแง่ต่างๆ ไปแล้วนั้น

ข้ออ้างดังกล่าวนี้ เป็นความพยายามหลอกสังคมอย่างทื่อๆ เพราะข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้เลย คือ 1) ไม่มีกติกาที่ free and fair ให้สื่อเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่สมดุลอยู่จริงในประเทศนี้ และ 2) สื่อหลักทุกช่องต่างนำเสนอข้อมูลข่าวสารเชียร์สถาบันกษัตริย์อย่างล้นเกินอยู่แล้ว ไม่เปิดพื้นที่ให้กับการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ได้อยู่แล้ว ฉะนั้น การให้เวลาสมศักดิ์ออกมาตั้งคำถามเป็นครั้งแรกเพียง 3 ตอน จะสรุปว่าไม่สมดุลในการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสถาบันไม่ได้เลย

ที่ตลกร้ายกว่านั้นคือ เมื่ออ้าง “ความสมดุลในการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบัน” แล้ว พอระงับรายการตอบโจทย์ที่ ส.ศิวรักษ์ กับสมศักดิ์ดีเบตตอนที่สอง (ต่อมาให้ออกอากาศคืนวันจันทร์) ในคืนวันศุกร์ พอคืนวันเสาร์ Thaipbs ก็นำวงดนตรีทหารอากาศบรรเลงเพลงแนวสรรเสริญพระบารมีออกอากาศในรายการ “ดนตรีกวีศิลป์” จากนั้นรายการนี้ก็นำเสนอดนตรีแนวสดุดีพระราชา เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้นมาออกอากาศเรื่อยมา จนกระทั่งคืนวันเสาร์ที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมาก็มีการนำเสนอการร้องเพลงสรรเสริญ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพ่อ โดยบรรดานักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ประชาชน

ราวกับว่า Thaipbs กำลัง “ไถ่บาป” ที่อาจสำนึกว่าตนหลงผิดให้สมศักดิ์ไปออกรายการตอบโจทย์!

นี่คือตัวอย่างของ “ความลื่นไหล” ในความหมายของคำว่า “สมดุล” ในการเสนอข่าวสารและความคิดเห็นสองด้านของ “ทีวีสาธารณะ” (โดยมิพักต้องเอ่ยถึงการเสนอข่าวประจำวันของทีวีช่องนี้ที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลแทบทุกเรื่อง)

 

4) ความเป็นกลางจะมีได้เมื่อร่วมกันต่อสู้ให้ความเป็นกลางเป็นไปได้

ปัญหาที่แท้จริงจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า “สื่อเลือกข้างทางการเมืองทำลายมาตรฐานความเป็นกลางของวิชาชีพสื่อ” อย่างที่พูดๆกัน แต่อยู่ที่สื่อเลือกข้างอย่างไรต่างหาก

คุณเลือกข้างที่ต่อสู้เพื่อให้ความเป็นกลางเป็นไปได้หรือไม่? คือเลือกข้างที่ต่อสู้เพื่อทำให้มาตรฐานความเป็นกลางของวิชาชีพสื่อไปได้ในทางปฏิบัติหรือไม่ ถ้าเลือกทางนี้คุณก็กำลังต่อสู้เพื่อให้สื่อสามารถเป็นกลางได้จริง ซึ่งหนีไม่พ้นที่ต้องร่วมกันต่อสู้ในหลายๆวิธีการ เพื่อสร้างกติกาที่ free and fair แก่ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต่อสู้เพื่อให้ยกเลิก ม.112 การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ระบบยุติธรรม กองทัพ ให้อยู่ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

หากไม่ต่อสู้เพื่อให้ความเป็นกลางเป็นไปได้ การกล่าวอ้างความเป็นกลาง อ้างการนำเสนอข่าวสาร ข้อเท็จจริง ความคิดเห็นทุกด้านอย่างสมดุล ก็เป็นเพียงการแสดงออกอย่าง “หลงผิด” หรือเป็นเพียงการหลอกตัวเองและลวงโลกไปวันๆเท่านั้นเอง

 

 

 

  

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท