บทสัมภาษณ์นิติม่อน (2): โลกทัศน์ของนิติม่อน

ตอนก่อนหน้านี้เราทำความรู้จักกับตัวตนของนิติม่อน ผ่านการวิพากษ์ตัวเองของนิติม่อนในแบบที่แม้แต่นิติม่อนก็ยังอาจไม่เคยรู้จักตัวเองแบบนั้นมาบ้างแล้ว การสนทนายังคงดำเนินต่อไป จากนี้เราจะมาพิจารณากันว่านิติม่อนมองโลกยังไง มองปัญหาสังคมผ่านแวดวงศิลปิน วงการนักเคลื่อนไหว ฯลฯ อย่างไร ซึ่งน่าจะทำให้ภาพของนิติม่อนชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
 

-นิติม่อนคิดอย่างไรกับการเซ็นเซอร์และวัฒนธรรมเซ็นเซอร์ตัวเอง
เราเซ็นเซอร์ตัวเองในแง่กฎหมายตามตัวบท เพราะเป็นอะไรที่เราสู้ไม่ได้ เราสุ่มเสี่ยงได้ถึงขีดนี้ ซึ่งอีกนิดนึงก็จะตกหน้าผาอยู่แล้ว เราไม่ต้องการจะเอาตัวเองโดดลงไปตาย ถ้าเซ็นเซอร์หมายถึงว่าห้ามไม่ให้ตัวเองทำทุกอย่างตามใจชอบ มันก็อยู่แล้ว ใครๆ ก็เป็น ถ้ายังพูดอยู่บนฐานเหตุผลได้ เราถือว่าเราอาจจะไม่จำเป็นต้องเซ็นเซอร์นะ ยกเว้นมันเริ่มเข้าไปปะทะตรงจุดที่เริ่มกระเทือนสิทธิของใครหรือของอะไรบางอย่างที่ได้รับการปกป้องตามหลักการสากล หรือตามกฎหมายพิเศษเฉพาะ

เราเล่นเรื่อง 112 แต่ไม่เคยเอาอะไรเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาเล่นเลย เราเล่นในมิติของวัฒนธรรมและเสรีภาพในชีวิตประจำวัน ด้วยท่าทีของเรา เราพยายามเป็นมิตรอยู่แล้วด้วยไง เอ่อ แต่มนุษย์ล่องหนเล่นนะ คนอื่นเล่น แต่เราต้องรับผิดชอบในฐานะ บก. บางทีเราก็ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบและเนื้อหาที่มันไปโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ในโลกศิลปะทั่วไปเขาถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกครั้งที่ใครทำในประเด็นแบบนี้ หรืออย่างเรื่องศาสนา เขาก็ต้องโดนไง ในต่างประเทศเวลาโดนมันคือค่าใช้จ่าย เขาลงทุนชีวิตของเขาไปแล้วได้สิ่งที่เขาต้องการกลับมาไง อย่างน้อยคือทำให้สังคมทบทวนต่อประเด็นที่ได้ยื่นเข้าไป แต่ประเทศไทยไม่มีพื้นที่ที่เสนอไปแล้วนำไปสู่การสร้างข้อถกเถียงหรือทบทวนเลยไง มีแต่แบบว่า.. ผิด ! ตายซะ ผิด ! หายไปซะ มันยกระดับการคุยกันไม่ได้ เป็นประเทศอื่นนี่มันโดนเขียนบทความลงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบทความในแง่ชื่นชมหรือต่อต้าน อย่างน้อยก็เป็นเหตุเป็นผลทำให้เกิดการขยายเรื่องราวต่อ ม่อนม่อนๆ

-ศิลปินที่ทำงานแอ็คชั่นจะต้องเป็นผู้ชี้ทางสว่างให้สังคม หรือว่าเห็นว่ามีคนทำประเด็นอยู่แล้วค่อยเข้าไปซับพอร์ต
ส่วนมากที่เราเห็นก็เป็นการเล่าเรื่องนะ ใครก็ชี้ได้ทั้งนั้นแหละ ศิลปะมันทำงานด้วยวิธีพูดที่วิธีอื่นหรือสื่ออื่นทำไม่ได้ ในวงการศิลปะที่เรียนๆ มาชอบอยู่อันนึงคือที่อาจารย์มณเฑียร บุญมาเคยพูดว่า จริงๆ แล้ว หน้าที่ของศิลปะคือต้องขยายความเป็นไปได้ หมายความว่าชีวิตมันยังมีอะไรที่ยังเป็นไปไม่ได้อยู่อีกเยอะมาก ทั้งที่มันควรจะมีได้ อะไรที่มนุษย์ควรจะต้องทำ อะไรที่สัมพันธ์กับความต้องการของเรา แล้วมันยังชนกับขอบเขตหรือขีดจำกัด ไม่ว่าจะเชิงวัฒนธรรม เชิงกฎหมาย หรืออะไรก็ตาม ทั้งที่ถ้าเราก้าวข้ามไอ้สิ่งเหล่านั้นออกไปได้แล้วมันจะดีขึ้นเนี่ย นั่นแหละคือจุดปะทะที่ศิลปะจะต้องขยายและตีแนวรบออกไปเรื่อยๆ อย่างน้อยศิลปะจะเล่าเรื่องหรือเสนอสิ่งที่ยังไม่เคยมีอยู่ หรือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าความปกติที่เราอยู่มันไม่ปกติ อันนั้นคือหน้าที่ของศิลปะที่จะต้องทำ ส่วนทำสำเร็จหรือไม่ก็อีกเรื่องนึง อย่างที่ว่าสัมพันธ์กับอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะวัฒนธรรมการวิจารณ์ ม่อนม่อนๆ
 

-นิติม่อนมองแนวโน้มศิลปินปัจจุบันที่ไม่แตะประเด็นสังคมการเมืองอย่างไร
มิติการเมืองมันไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาหรือในม็อบ การเมืองอยู่ในชีวิตประจำวันทั้งหมดนั่นแหละ ศิลปินทุกคนมี agenda (วาระ) ทางการเมืองของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ในสังคม หรือเรื่องที่สัมพันธ์กับการบริหารปกครองประเทศ ถ้าจะบอกว่าจะมีคนมาแตะเรื่องการเมืองการปกครองมากขึ้นไหม พูดยากจัง เราว่าแนวโน้มน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ที่ว่าศิลปินจะเข้าใจว่าศิลปะมีพลังทางการเมืองยังไง แต่ว่ามันจะไปใช้ในการเมืองเรื่องไหนก็อีกเรื่องนึง

หลังจากมีโซเชียลมีเดีย มีอินเทอร์เน็ต คนรับข้อมูลได้ง่ายได้เยอะขึ้น หลังปี 49 เห็นได้ชัดว่าคนใส่ใจเรื่องสิทธิเสรีภาพเยอะขึ้น มันน่าจะเกิดขึ้นในวงการศิลปะเหมือนกันไง

ศิลปินกระแสหลักจะเข้าข้างคนชนะก่อนเสมอ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในภาวะที่ไม่มีคนชนะที่ชัดเจน เขาก็เลยปิดตัวเอง หนีไปอยู่ในโลกของตัวเอง ส่วนศิลปินที่ไม่ได้มีภาวะการเมืองในการทำงาน แค่มีอย่างเดียวคือการโหนกระแส ฉกฉวย ไม่รู้จะเรียกว่าดีหรือไม่ดี จริงๆ มันเป็นเทรนด์ทั่วโลกเลยดีกว่า ที่ว่าเอาเรื่องการเมืองมาอยู่ในเรื่องศิลปะ เราไม่คิดว่ามันเกิดขึ้นแค่เมืองไทยหรอก คือกระแสความขัดแย้งแบบนี้มันเกิดขึ้นทั่วโลก

คือต้องดูพัฒนาการของศิลปะโลกไง มันถึงจุดที่มันถกกันแล้วว่าศิลปะมีพลังทางสังคมยังไง ตั้งแต่ ร็องซิเยร์ (Jacques Rancière) เสนอเรื่อง political aesthetics ว่าสุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องของการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมทางสังคม หรือการปรับเปลี่ยนระดับของ paradigm (กระบวนทัศน์) สังคมอะไรก็ตาม ทำให้ทุกวันนี้ศิลปินทุกคนเลยต้องรู้หน้าที่ของศิลปะว่าศิลปะไม่ใช่แค่สิ่งที่ทำออกมาจากแรงบันดาลใจอย่างเดียว นั่นมันโลกตั้งแต่ยุค 70 ยุคดาลี (Salvador Dali) ซึ่งมันอยู่ในบรรยากาศของฟรอยด์ (Sigmund Freud) เข้ายุคของยุง (Carl Jung) เข้ายุคของนักคิดใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ละคนก็เริ่มเอาศาสตร์ต่างๆ มาบูรณาการเข้าหากัน มันทำให้ระบบความคิดของโลกมันเริ่มเดินแล้วเริ่มขยายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ศิลปินก็เป็นแนวหน้าหนึ่งในการที่เข้าไปสู่จุดที่เป็นขอบเขตของความเป็นไปได้ใหม่ด้วย เลยทำให้ศิลปะเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยชัดเจน ซึ่งทั้งโลกเริ่มทำงานศิลปะในฐานะของการเมืองในชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ แล้ว ส่วนเมืองไทยยังไม่ค่อยเห็น แต่จะมามากขึ้นไหม เราเชื่อว่ารุ่นใหม่ๆ จะมามากขึ้น แต่การเมืองเรื่องไหนในชีวิตนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เอาแค่เรื่องรับน้องก็เป็นการเมือง คือการไม่พูดถึงการเมืองก็เป็นการเมืองไง ม่อนม่อนๆ
 

-หนังฮอลลีวูดปัจจุบันแทบทุกเรื่องก็พยายามจะมาจับประเด็นการเมืองอย่างพวกซอมบี้ที่รัก อัพไซด์ดาวน์ ขนาดเป็นหนังโรแมนติก อย่างนั้นใช่ไหม
เราว่าเอาไว้ดูชักว่าวอ่ะ จริงๆ เรารู้สึกว่าแบบนี้อันตรายกว่า ตรงที่ว่าไม่เสนอทางแก้อะไร แถมเลี้ยงไข้ไปวันๆ ซึ่งเคยมีนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ จะมีจุดสังเกตบางส่วนคือ ช่วงก่อนหน้านั้นอาจจะสักห้าปี สิ่งที่จะฟ้องออกมาคือ พวกชนชั้นนำทั้งหลายจะเริ่มเดือดร้อนเรื่องการแสดงความคิดเห็น เช่น พวกหมอ พวกครู เป็นต้น ส่วนศิลปิน นักแสดงละคร เริ่มโดนเซ็นเซอร์ แต่เรารู้สึกว่ายุคนี้เป็นยุคที่มันทั้งห้ามและปล่อย มันเป็นยุคแห่งการเลี้ยงไข้ มันน่ากลัวกว่า จริงๆ การเปลี่ยนแปลงต้องถึงจุดวิกฤต คนมันต้องเป็นไข้ตัวร้อนก่อน เป็นๆ หายๆ มันไม่สรุปสักที ความน่ากลัวมันอยู่ตรงที่ชนชั้นนำสามารถเลี้ยงไข้ได้ ความประนีประนอมแบบไทยนี่แหละที่มันไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ม่อนม่อนๆ
 

-มองภาพรวมของกลุ่มกิจกรรมเคลื่อนไหวของบ้านเรายังไง
เห็นแต่กรุงเทพฯ อ่ะ เห็นอีสาน เต้นฮาเล็มเชค ฟรีสมยศ แล้วเชียงใหม่อ่ะ เชียงใหม่ก็มีหลายคนนะ เราสงสัยในแง่ของโซเชียลมีเดีย เน็ตมันก็เข้าถึงทุกจังหวัดนี่ แต่สุดท้ายทำไมงานแอ็คชั่นก็ยังมีแต่กรุงเทพ เชียงใหม่ อะไรเงี้ย organizing force มันอยู่ที่ think tank อยู่ที่ไหน ไม่มีอำนาจสื่อที่จะไปบันทึก แต่หลายงานที่เกิดขึ้นทั้งกรุงเทพฯ และเชียงใหม่มันมีคอนเนคชั่นของสื่ออยู่แล้วไง ตอนนี้ถ้าเราจะคิดกลยุทธ์ที่ทำให้สื่อสนใจ เราจะไปที่ไหนล่ะ ม่อนม่อนๆ

เราเชื่อว่าความเคลื่อนไหวมีเกือบทุกที่ เพียงแต่มันอยู่ในความสนใจของสังคมหรือเปล่า ซึ่งความสนใจของสังคมมันสัมพันธ์กับเรื่องสื่อมวลชนด้วย แต่การเรียนการสอนด้านสื่อมวลชนไม่เคยสอนให้สนใจในสิ่งที่อยู่นอกความสนใจของมวลชน มองแค่พื้นที่การตลาดในการขายสื่อแค่กรุงเทพฯ ไม่เคยเชื่อว่าทั้งประเทศคือพื้นที่ของการขายสื่อไง เพราะงั้นเวลาทำข่าวก็ทำแต่ข่าวเฉพาะกรุงเทพฯ ผู้ว่ากรุงเทพฯ จึงเป็นประเด็นของทั้งประเทศ มันเลยไม่มีผู้ว่าของจังหวัดอื่น หรือไม่เห็นการเลือกตั้งท้องถิ่นของจังหวัดอื่นเป็นเรื่องสำคัญ ข่าวคอร์รัปชั่นในแต่ละพื้นที่ถึงได้เป็นข่าวเงียบๆ ที่รู้กันเองอยู่แค่ไม่กี่คน ม่อนม่อนๆ

-มองกลุ่มกิจกรรมที่ไม่มีฐานคิดทฤษฎีอย่างเสื้อแดงเสื้อเหลืองแบบบ้านๆ ทั่วไปยังไง
ถ้าคนมุ่งมั่นแล้วทำจริงๆ แล้วใช้ประสบการณ์ของตัวเองเข้าแลกอยู่ตลอดเนี่ยก็สามารถพัฒนาทฤษฎีของตัวเองขึ้นมาได้เหมือนอย่างพี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) ชัดมาก สิ่งที่พี่หนูหริ่งพูดมาจากประสบการณ์ล้วนๆ เลย พอเอาทฤษฎีเข้าไปจับนี่ เป็นแนวคิดใหม่ๆ ของโลกทั้งนั้นเลย ความใส่ใจและความมุ่งมั่นที่จะเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำหรือในสิ่งที่สังคมเป็นเนี่ย ทำให้เขาพัฒนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้ ไม่ต้องเรียนในระบบไง แต่มันเป็นเรื่องของโอกาสด้วยหรือเปล่า อย่างพี่หนูหริ่งก็อยู่ในสถานะที่สามารถจะทดลองอะไรแบบนั้นได้ เราว่าเขาจังหวะดี เขาเคยบอกว่าที่เขามีทุกวันนี้ได้เพราะมีพี่คนหนึ่งที่กระจกเงาคอยดูแลเขา แต่ก็..แล้วเอ็นจีโออื่นๆ ทำไมไม่มีแบบนี้

ถ้าเราไม่มองรูปแบบของการเรียนรู้ เราว่าทุกคนปฏิบัติในแบบของตัวเองอยู่แล้วในการใช้ชีวิต แล้วถ้ามองแบบกลยุทธ์ ถ้าเกิดเราจะรบให้ชนะมันก็ต้องมีแผนไง อันนี้เป็นคำถามในใจเราเหมือนกันเนี่ย สิ่งที่แอคทิวิสต์ทำ สิ่งที่เขาหวังคืออะไร คือเกิดแอ็คชั่นอย่างเดียว หรือว่าเกิดการไปคิดต่อ คือบางกิจกรรมเหมือนแค่ทำให้เกิด เพราะว่ากระแสมันมา กลัวตกกระแส

คือเราก็เคารพความรู้สึกเจ็บปวดบางอย่างที่ผลักเขาออกมาทำนะ แต่ไม่รู้ว่าเขาประเมินกันบ้างหรือเปล่าว่าแต่ละครั้งที่ออกไปแอ็คชั่นนี่มันเหนื่อยเปล่าหรือเปล่า เราว่าแอ็คชั่นทุกวันนี้มันควรอยู่บนฐานคิดเรื่องการสร้างการเรียนรู้ แต่เพราะไม่มีสังคมของการวิจารณ์กันไง คือทำก็ทำได้ แต่มันต้องเกิดการตรวจสอบหรือการพูดคุยกันต่อไง อย่างแรกที่อยากให้กลุ่มแอคทิวิสต์ทำคือวิจารณ์กันเองให้ได้ก่อน

แล้วที่สำคัญกว่าเรื่องการวิจารณ์คือการกล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ ส่วนใหญ่เวลาแอคทิวิสต์ทำอะไรก็ตาม คนกลุ่มอื่นๆ ก็จะบอกว่าดีจังทำเลย ดีจัง แต่ไม่มีใครมาถกว่า เฮ้ย มันไม่เวิร์กตรงนั้นว่ะ ไอ้นี่มันไม่ดีว่ะ ทำให้ไม่เกิดการเกลาในสิ่งที่ทำไป ถ้ามันเกิดวัฒนธรรมตรงนี้มันก็ไม่จำเป็นว่าต้องมาจากฐานความรู้แบบอคาเดมิก เคยได้ยินคำนิยามคนไม่รู้หนังสือในศตวรรษที่ 21 ว่าคือคนที่ไม่สามารถลบความรู้เก่าแล้วเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ อันนี้สำคัญกว่าในโลกข้อมูลข่าวสาร ม่อนม่อนๆ
 

-มองอย่างไรกับงานภาพถ่ายสมยศ + Try Arm ที่ฮือฮามาช่วงก่อนหน้านี้
เราเซฟไว้หมดแล้ว เราเก็บข้อมูลตั้งแต่ตอนปล่อยแรกๆ Try Arm ลิงก์กับสมยศโดยตรงเรื่องสหภาพแรงงานที่เขาสู้มา แต่เราไม่คิดว่าวิธีการนำเสนอจะต้องเป็น Try Arm กับสมยศแบบหนึ่งต่อหนึ่งแบบนี้ พอมันถูกปล่อยเยอะๆ มันทำลายตัวเองแล้ว มันเฝือ มันไม่แข็งแรงแล้ว ก็มีคนพยายามจะถอดรหัสว่าอย่างช็อตที่มีปืนจ่อหัว โออิชิบนโต๊ะคืออะไร แล้ว narrative (การเล่าเรื่อง) มันไม่แข็งแรงด้วยแหละ ว่ามันกำลังทำอะไร ก่อนหน้านั้นมีอีกชุดที่เป็นผู้หญิงถูกมัดมือแล้วเล่นคอมพ์ นั่นก็เหมือนกัน โออิชิเป็นสตอรี่เกินไปนะ


ภาพชุดจากเฟซบุ๊ก สำนักพิมพ์หมูหลุม (https://www.facebook.com/mooloom)
 

เรื่องแรกคือเหมือนกับหน้ากากสมยศที่ถูกเอาไปใช้แบบ .. ไปเรื่อยอ่ะ มันถูก generalize ประเด็นให้กลายเป็น freedom ไปหมด ไม่ว่าจะอะไรก็ freedom ไปหมด แต่ freedom จริงๆ แล้วมันมีความหมายจริงๆ เหรอ อิสรภาพคืออะไร จริงๆ แล้วเราต้องการอิสรภาพในเรื่องอะไร เราพูดให้ชัดๆ ได้ไหม แล้วเราจะพูดให้ชัดๆ ผ่านอะไร อันนี้มันต่อเป็นประเด็นที่สองคือเรื่องรูปแบบ เราสังเกตว่า แอคทิวิสต์ส่วนใหญ่ในบ้านเรามักจะทำงานแบบตามโมเดล มักจะไปเห็นการเคลื่อนไหวในเมืองนอก เห็นกิจกรรมของศิลปินเมืองนอกแล้วทำตามดื้อๆ คือเห็นอะไรที่ใครทำก็หยิบมาใช้บ้างเพราะคิดว่าน่าสนใจ แต่ไม่ได้คิดว่ามันมีเชิงความหมายของปรากฏการณ์ของบริบทว่ามันคืออะไร เหมือนที่ไปทำเป็นกราฟิตี้ ทำเป็นฝ่ามือ ถึงจะจุดติด แต่ความหมายของฝ่ามือมันคนละอย่าง ตอนที่อองซานใช้มันมีความซับซ้อนของการใช้ฝ่ามือ ฝ่ามือของอองซานมีความหมายเฉพาะอยู่เพราะอองซานเคยใช้ฝ่ามือในฐานะสัญลักษณ์ทางการต่อสู้มาก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะงั้นพอถูกเขียนลงไปบนมือมันมีความหมายขึ้นมาทันที แล้วมันทำให้คนอื่นที่ทำตามเหมือนเป็นพลังเสริมให้กับสิ่งที่อองซานทำ แต่ฝ่ามือที่เมืองไทยทำคือแบบว่า อ๋อ.. อองซานทำก็เลยเขียนบ้าง แค่นั้นไง คือมันไม่มีความหมายเฉพาะเจาะจงอะไร ไม่มีต้นทุนมาก่อนว่ามันเกิดอะไรขึ้น

เช่นเดียวกันคือต้นทุนของ Try Arm กับสมยศเป็นเรื่องเดียวกัน ในแง่ประวัติศาสตร์เขามีบางอย่างร่วมกันมา แต่เวลาเอาออกมาใช้ในฐานะสิ่งที่คนภายนอกอ่านเข้ามาอีกที เขาอาจจะไม่ได้รู้เรื่องนั้นด้วยก็ได้ เพราะงั้นเวลาคนใส่ชุดกางเกงในแล้วถ่ายรูปนี่มันมีความหมายยังไงในสังคมนี้ มันมีความหมายอื่นอีกที่เขาคุมไม่ได้

เวลาทำงานไม่ใช่แค่หยิบโมเดลของคนอื่นมาทำตามรูปแบบ หรือแค่หยิบเอาสิ่งที่ตัวเองรู้มาวางคู่ๆ กันไป รวมๆ กันไว้ในภาพๆ เดียว แต่เอามาวางก็อยากให้มีความหมาย คนใส่กางเกงในคืออะไร แล้วจะไปสัมพันธ์กับสมยศยังไง แล้วมันจะไปสัมพันธ์กับคนที่เราต้องการจะส่งสารไปถึงยังไง พูดง่ายๆ ว่าการเปลือยหรือใส่กางเกงในมันแรงกว่าคอนเทนท์ไปแล้ว พยายามจะให้ดึงดูด เพราะการที่เขาคิดว่าต้องทำให้แรงหรือเปล่า

เราก็คิดเหมือนกันว่าถ้าเราเป็น Try Arm เราจะเล่นยังไง สมยศไอแพดเราเล่นกับ Try Arm แล้ว เสื้อที่นายแบบเราใส่เป็นของ Try Arm อันนี้ก็ไม่มีใครรู้เหมือนกัน ฮ่า ฮ่า บางทีเราลองคิดช็อตง่ายๆ ตรงโรงงาน Try Arm แต่งตัวธรรมดา พนักงานโรงงานใส่หน้ากากสมยศ ยืนอยู่ในโรงงาน มันก็ทำงานได้อีกแบบนึง

make awareness (สร้างความตื่นตัว) มันเป็นคาถาติดปากของแอคทิวิสต์เมืองไทย ทำไงให้คนสนใจ ทำไงให้คนหันมามอง แล้วไงต่อ คือทำตัวเป็นไม้ขีดไฟ เผาแล้วไม่ได้อะไรตอบแทนด้วย คือถือว่าเราได้เปรียบระดับหนึ่งตรงที่พวกเรามีความรู้ทางด้าน visual culture (วัฒนธรรมทางสายตา) ระดับหนึ่งนะ แต่จริงๆ เราคิดว่ามันเกิดจากการสั่งสมได้ ถ้าเราดูงานคนอื่นเยอะๆ แล้วเรามองไปในระดับวิพากษ์ไม่ใช่แค่ว่าน่าสนใจน่ะ เหมือนงานของ Banksy (ศิลปินข้างถนนชาวอังกฤษที่มีผลงานติดตานักเคลื่อนไหว) ถ้าดูระดับวิพากษ์จะเห็นว่าถ้าเราแค่เอาหุ่นคนใส่ชุดสมยศไปตั้งที่ใดที่หนึ่งมันก็ไม่มีความหมายรุนแรงอะไรเลย เทียบกับเอาอนุสาวรีย์อากงไปวางในศาล มันมีความหมายเฉพาะแต่ละอันไม่เหมือนกัน แม้แต่การถูกถ่ายเป็นรูป ความหมายก็เปลี่ยนอีกนะ ก็เพิ่มขึ้นอีกชั้นนึงนะ เราพยายามที่คิดคอนเทนท์ก่อนไง ว่าควรจะต้องพูดอะไรบ้าง แล้วไอ้ที่จะพูดเนี่ยในสายตาคนปกติทั่วไปเขาพูดกันด้วยอะไร เราต้องประเมินออเดียนซ์ (audience = ผู้ชม) ของเราด้วย คิดจากฐานของออเดียนซ์กลับมาหาเรา ไม่ได้คิดจากที่ว่าเรามีอะไรที่เราจะต้องส่งให้คนอื่นเฉยๆ แอนิเมชั่นของเราถึงไม่เกิดไง เพราะเรามีออเดียนซ์แต่เราไม่มีปัญญาทำ เป็นการล้มเหลวที่สวยงาม ฮ่าฮ่า


ตัวอย่างผลงานกราฟิตี้ของ Banksy (ภาพจาก http://whitehotmagazine.com)

 

อีกผลงานของ Banksy นักโทษกวนตานาโมในดิสนีย์แลนด์ (ภาพจาก www.digitalmeetsculture.net)
 

ในฐานะที่ทำตัวเป็นคนไม่ค่อยรู้เรื่อง เราจะไม่รู้ว่าสมยศแล้วไงกับกางเกงในวะ ทำอย่างนี้มันก็จะสื่อสารกับคนที่รู้เรื่องอยู่แล้ว ก็คือคนกลุ่มเดิม แล้วมันไม่ชี้ชวนให้คนอื่นมาร่วมด้วย ถ้าจะชี้ชวนให้คนอื่นรู้สึกสนใจด้วยเนี่ย ควรถ่ายให้เซ็กซี่กว่านี้

-นักกิจกรรมควรจะออกมาปกป้องหรือตอบโต้กรณีที่มีคนโจมตีกิจกรรมของตัวเองหรือเปล่า ควรจะเข้าไปสู่การดีเบตเรื่องงานของตัวเองไหม
มีสิทธิปกป้องนะ ยืนยันในสิ่งที่ตัวเองทำ แล้วแต่เกม แล้วแต่วิธีออกมาด้วย การเงียบก็เป็นเกมหนึ่งเหมือนกันไง การเงียบก็เป็นการดีเฟนด์ได้เหมือนกัน หรือการทำให้คนชื่นชมให้ได้ทั้งที่จริงๆ ดีไซน์เป็นยาพิษอยู่ข้างใน ก็เป็นกลยุทธ์เหมือนกัน การตอบโต้บางครั้งจำเป็น บางครั้งไม่จำเป็น จะคุยไม่คุยแล้วแต่เงื่อนไข เหมือนตอนที่นัดสัมภาษณ์นี่เรายังคิดอยู่เลยว่าจำเป็นหรือเปล่า แต่ถ้าสิ่งที่เราอธิบายมันสามารถไปขยายผลกับกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากเราได้ เราถึงได้โอเค การยกระดับในการคุยเป็นสิ่งจำเป็น

ถ้าการดีเฟนด์เป็นการปกป้องความรู้เก่าในตัวเราอย่างเดียวก็เป็นเรื่องแย่ ต่อให้มีสิทธิก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ หรือกับตัวเอง แต่ถ้าเราสามารถดีเบตกับคนอื่นแล้วคนอื่นยิงเข้ามาในจุดที่เราพบว่าเดิมต้องการจะรักษาตรงนั้นไว้มันผิด มีเหตุมีผลที่ทำให้สิ่งที่เราเชื่อมันผิด เราต้องเปิดใจรับให้ได้ ตรงนั้นต่อให้มีสิทธิเราอาจจะไม่ต้องดีเฟนด์ ไม่ใช่การยึดมั่นถือมั่นในจุดยืน แต่ทำให้จุดยืนเราขยับพื้นที่ขยายไปสู่จุดอื่นที่มีประสิทธิผลมากกว่า พูดง่ายๆ คือมีสิทธิแต่ไม่ได้จำเป็นเสมอไป เหมือนคำ ผกาทำนมอากง ก็มีสิทธิดีเฟนด์ถ้าทำให้ประเด็นยังแข็งแรงอยู่ แต่ถ้าประเด็นเขาอ่อนจริงๆ เขาก็ต้องยอมรับตัวเอง

-นิติม่อนมองสันติวิธีอย่างไร
นิติม่อนทำงานแบบ make friends not war ทำยังไงก็ได้ไม่ให้เสียเพื่อน นิติม่อนไม่มีแรงและไม่มีปืน แล้วก็ไม่มีตังค์ด้วย มันคงสันติแหละ
 

-รู้สึกอย่างไรกับนิติพงษ์
ม่อนม่อนๆ ...
 

- อยากจะพูดอะไรอีกไหม
ม่อน ม่อน ม่อนๆ

สัมภาษณ์วันที่ 7 มีนาคม 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท