Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในประเทศไทยนั้นนอกจากการทำงานในอาชีพที่ต้องใส่เครื่องแบบ เช่น ทหาร ตำรวจ หรือข้าราชการและพนักงานเอกชนบริษัทบางบริษัทแล้ว นักเรียนและนิสิตนักศึกษาจะต้องใส่ชุดเครื่องแบบตามที่สถานศึกษาได้กำหนดไว้สำหรับ “ชาย” และ “หญิง” หากแต่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือยังมีนิสิตนักศึกษาหลายท่านที่ไม่สามารถ หรือไม่ต้องการระบุตนเองเข้าสู่ความเป็นชายหรือเป็นหญิงตามเพศสรีระ (Sex) ตามกำเนิดของตน หากแต่ต้องการระบุตนเองเข้ากับเพศสภาวะ (Gender) ของตน ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้นักศึกษาแต่งเครื่องแบบตามเพศสภาวะของตนเองได้ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น กล่าวคือนักศึกษาชายที่มีจิตใจเป็นหญิง ก็มาสามารถใส่เครื่องแบบนักศึกษาหญิงได้ ในขณะเดียวกัน นักศึกษาหญิงที่มีจิตใจเป็นชาย ก็สามารถใส่ชุดเครื่องแบบชายได้ แต่ชุดนักศึกษานั้นต้องถูกกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย หรือบางสถานศึกษาก็อนุโลมให้นักศึกษาแต่งกายไปรเวทที่สุภาพเข้าเรียนได้

หากแต่ว่าการอนุญาตหรืออนุโลมดังกล่าวมักเป็นการอนุญาตด้วยคำพูด (Verbal) โดยไม่มีการทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร (Written) ดังนั้นจึงเป็นการเปิดช่องว่างให้ผู้ที่มีอำนาจในพื้นที่ใช้วิจารณญาณของตนเองในการจัดการกับนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศเหล่านี้ เช่น อาจารย์บางท่านอาจไม่อนุญาตให้นักศึกษาที่แต่งเครื่องแบบข้ามเพศเข้าเรียน เป็นต้น และปัญหาที่พบบ่อยคือนักศึกษาที่แต่งกายข้ามเพศจะต้องแต่งกายให้ตรงกับเพศสรีระของตนในวันสอบด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันการทุจริต และวันรับพระราชทานปริญญาบัตร ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยและการถวายพระเกียรติต่อองค์ประธานในพิธี แม้ว่านักศึกษานั้นๆ จะแต่งกายข้ามเพศในวันที่มีการเรียนการสอนตามปกติ

ในประเด็นการเข้าสอบนั้น ระเบียบในการเข้าสอบได้ระบุชัดเจนว่านักศึกษาชายและหญิงต้องใส่ชุดนักศึกษาที่ถูกต้องตามกฎระเบียบ แต่ในทางปฏิบัติ อาจารย์และเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะให้นักศึกษาเข้าสอบหรือไม่ ทำให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่ใช้การตีความและใช้อคติส่วนตัวของตนเองในการตัดสินได้ เช่น อาจารย์บางท่านอาจอนุญาตให้นักศึกษาเข้าสอบ บางท่านอาจไม่ให้ ทำให้นักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเลือกระหว่างการทำตามกฎระเบียบของสถานศึกษาด้วยการบังคับตัวเองให้ใส่เครื่องแบบตามเพศสรีระของตน หรือการละเมิดกฎระเบียบของสถานศึกษาและใส่เครื่องแบบตามเพศสภาวะของตนเอง

นอกจากนี้ในกรณีของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเหตุการณ์ที่นิสิตชายใส่ชุดนิสิตหญิงเข้าสอบและเป็นประเด็นถกเถียงทั้งภายในคณะ มหาวิทยาลัย และในพื้นที่สื่อมวลชนว่าสรุปแล้ว เรื่องเครื่องแบบกับความหลากหลายทางเพศนั้นควรมีทางออกอย่างไร หรือกรณีนักศึกษาทอมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยอนุญาตให้ใส่ชุดนักศึกษาชายได้ เพราะนักศึกษากระเทยสามารถใส่ชุดนักศึกษาหญิงได้แต่เมื่อนักศึกษาทอมใส่ชุดนักศึกษาชายกลับโดนอาจารย์ต่อว่าว่า “ยังดูเป็นผู้หญิงอยู่” หรือกรณีที่นักศึกษาทอมใส่กางเกงเข้าสอบที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วโดนปฏิเสธให้เข้าสอบ[2] โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมออกหนังสือราชการอธิบายถึงเหตุผลการไม่อนุญาตให้เข้าสอบ แต่กลับระบุว่านักศึกษาขาดสอบ อีกทั้งกระบวนการในการรับเรื่องการร้องเรียนของนักศึกษาเป็นไปอย่างไม่เห็นอกเห็นใจ (Insensitive)[3] ต่อตัวนักศึกษาและมองว่านักศึกษาเป็นตัวปัญหา

ในเรื่องพิธีเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรนั้น สถานศึกษาส่วนใหญ่ออกกฎเกณฑ์ชัดเจนว่าบัณฑิตชายและหญิงต้องแต่งกายอย่างไร อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อนุญาตให้บัณฑิตที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถใส่ชุดบัณฑิตหญิงเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรได้ โดยต้องทำเรื่องขออนุญาตเป็นรายบุคคลและต้องแนบใบรับรองแพทย์ว่ามีสภาพจิตใจบกพร่องเพราะเพศสภาวะไม่ตรงกับเพศสรีระ หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตที่อนุญาตให้นักศึกษากระเทยสามารถใส่วิกเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรได้ แทนที่จะต้องตัดผมสั้น

ดังนั้นทางเลือกของนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันจึงมีเพียงแค่ การยอมรับว่าตนเองมีสภาพจิตใจบกพร่องและเป็นภาระหรือเป็นตัวปัญหาของระบบราชการในมหาวิทยาลัย และการร้องเรียนผ่านกระบวนการและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สถานศึกษายอมรับได้เป็นกรณีๆ ไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรื่องความเป็นอยู่ของนิสิตนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องเครื่องแต่งกายอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เรื่องห้องน้ำที่มีเพียงแค่ห้องน้ำสำหรับชายและหญิง ซึ่งการที่นักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศต้องตัดสินใจใช้ห้องน้ำตามเพศหรือข้ามเพศนั้นนอกจากเป็นเรื่องที่กระทบตนเองแล้วยังกระทบต่อนิสิตนักศึกษาชายหญิงที่ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นๆด้วย

หรือเรื่องการถูกรังแก (Bully) และการถูกเหยียดหยามหรือเลือกปฏิบัติ (Discrimination) อื่นๆ ในชีวิตประจำวันที่ทำให้นักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศอาจต้องใช้เวลาไปกับการจัดการปัญหาเหล่านี้จนไม่มีเวลาและกำลังใจในการศึกษาอย่างเหมาะสม เช่น ความกังวลว่าตนเองจะได้เข้าห้องสอบหรือไม่ ซึ่งเป็นความเครียดที่ไม่ควรเกิดขึ้นในวันสอบเพราะนักศึกษาทุกท่านควรได้รับการปฏิบัติต่อเหมือนๆ กันไม่ว่าพวกเขาจะมีฐานะอย่างไร สังกัดอยู่ในชาติพันธุ์ใด นับถือศาสนาใด หรือเป็นเพศใดๆ

การเรียกร้องสิทธิในความหลากหลายทางเพศในเรื่องชุดเครื่องแบบ หรือการแต่งกายนั้นอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องการแต่งกายเป็นสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของมนุษย์แต่ละคนให้ออกมาปรากฏได้ชัดเจนที่สุด และการแต่งกายเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน หรือหลายท่านอาจตั้งคำถามว่าทำไมนักศึกษาไม่เรียกร้องให้ยกเลิกชุดเครื่องแบบไปเสียเลยเพราะการบังคับให้มนุษย์ใส่เครื่องแบบอะไรก็ตามต่างก็ถือว่าเป็นการลดทอนอัตลักษณ์ของมนุษย์เหมือนกัน หากแต่สังคมนั้นมีความแตกต่างเพราะนักศึกษาหลายท่านก็ภาคภูมิใจและต้องการใส่เครื่องแบบนักศึกษาของมหาวิทยาลัยตน

ดังนั้น การเรียกร้อง “สิทธิที่จะเลือกใส่เครื่องแบบตามเพศสภาวะ” หรือสิทธิที่จะใส่ชุดสุภาพจึงเป็นการเรียกร้องสิทธิทางเพศของนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศโดยไม่ละเมิดสิทธิของนักศึกษาท่านอื่นๆ และไม่ใช่การไม่ให้เกียรติสถาบันการศึกษา

สิ่งที่น่าจะเป็นข้อเสนอให้กฎระเบียบของมหาวิทยาลัยมองเห็นความแตกต่างในอัตลักษณ์ของมนุษย์มากขึ้นคือการยอมรับว่าความแตกต่างทางเพศนั้นมีอยู่ และการสร้างข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรและการสื่อสารข้อมูลอย่างชัดเจนระหว่างผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตนักศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้เกิดพื้นที่การประนีประนอมระหว่างความหลากหลายทางเพศและกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันในพื้นที่สถานศึกษานั้นๆ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงมีการเปลี่ยนแปลง มีพลวัตรและพัฒนาการในเรื่องความหลากหลายทางเพศ และความแตกต่างในอัตลักษณ์ของมนุษย์ ดังนั้นสถานศึกษาศึกษารวมถึงสังคมต้องยอมรับและปรับตัวเข้ากับความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อให้กฎระเบียบและการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลกปัจจุบัน




[1] อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และนิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[2] นักศึกษาหญิงจะต้องใส่ “กระโปรง” เข้าสอบเท่านั้น ซึ่งหากนักศึกษาใส่กางเกงมาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ และต้องไปเปลี่ยนชุดจากกางเกงเป็นประโปรงมาเข้าสอบ โดยที่ทางมหาวิทยาลัยได้มีบริการให้เช่ากระโปรงบริเวณด้านหน้าห้องสอบ

[3] เช่น การตั้งคำถามว่า “ตอนเป็นเมนส์ รู้สึกยังไง” “เกิดมาไม่เคยใส่กระโปรงเลยเหรอ” “ฝืนใจแค่นิดเดียวทำไมทำไม่ได้” หรือการตอบโต้กับการอธิบายของนักศึกษาด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล เช่น “นี่คุณพูดจาคล่องมาก อธิบายเก่งมาก ผมจะเขียนว่าคุณก้าวร้าวเจ้าหน้าที่ก็ได้นะ” เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net