Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

             การสืบราชสมบัติในอดีตอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มักมีความไม่แน่นอน มีการแย่งชิงราชสมบัติจนเกิดความรุนแรงนองเลือดบ่อยครั้ง ปัญหาดังกล่าวยังคงตกทอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 5 มีการยกเลิกตำแหน่งวังหน้าและสถาปนาตำแหน่งมกุฎราชกุมารขึ้นแทน สมัยรัชกาลที่ 6 กฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติได้รับการปฏิรูปให้มีความชัดเจนแน่นอนมากขึ้นด้วยการประกาศใช้กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 การประกาศใช้กฎมณเฑียรบาลสะท้อนให้เห็นความกังวลของรัชกาลที่ 6 ต่อปัญหาใหญ่หลวงที่อาจนำหายนะมาสู่ราชตระกูลและราชอาณาจักรอันเนื่องจากการที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงเลือกและแต่งตั้งรัชทายาทไว้ก่อนสวรรคต ซึ่งอาจทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจและราชสมบัติเหมือนในอดีต รวมทั้งเป็นการป้องกันพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีข้อบกพร่องสำคัญมิให้อยู่ในเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์[1] อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งสามรัชกาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  คือ จากร. 5 ถึง ร.7 ก็ยังคงเกิดความตึงเครียดในราชสำนักทุกครั้งในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนรัชกาล นอกจากนั้นผู้มีอำนาจในการกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ก็เป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆไม่กี่คนในราชสำนักเท่านั้น

            ปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้รับการแก้ไขสำเร็จลุล่วงโดยคณะราษฎร ด้วยการเปลี่ยนให้อำนาจส่วนนี้มาอยู่ที่รัฐสภา เมื่อคณะราษฎรก่อการปฏิวัติ 2475 ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เปลี่ยนมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญและจำกัดอำนาจกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปฏิวัติก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักการพื้นฐานจากอำนาจสูงสุดเป็นของกษัตริย์มาเป็นของประชาชน และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ครั้งใหญ่  กล่าวคือ นอกจากจะต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 แล้ว ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกด้วย

            รัฐธรรมนูญสามฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 (มาตรา 4) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475(มาตรา 9) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489(มาตรา 9) บัญญัติให้การสืบราชสันตติวงศ์ต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา(รัฐธรรมนูญสองฉบับแรกบัญญัติให้มีสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร จึงถือว่าสภาผู้แทนราษฎรก็คือรัฐสภา) พระมหากษัตริย์สองพระองค์แรกที่ได้ขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ดังกล่าวยังคงได้รับการสืบทอดในรัฐธรรมนูญต่อมาอีกหลายฉบับ จนกระทั่งภายหลังการรัฐประหารของ รสช. ก็ถูกปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้งในรัฐธรรมนูญ 2534(มาตรา 20  และมาตรา 21 ) และกฎเกณฑ์นี้ยังคงใช้เรื่อยมาในรัฐธรรมนูญ 2540(มาตรา 22 และมาตรา 23 ) และรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 22 และมาตรา 23 ) กล่าวคือ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้วก็ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ เพื่อให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อ”รับทราบ ส่วนกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ก็ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความ “เห็นชอบ”

            อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้วรัฐสภามีหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น และแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และมีกษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งการเลือกหรือให้ความเห็นชอบผู้ใดขึ้นเป็นประมุขแห่งรัฐล้วนเป็นอำนาจของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังพยายามก้าวไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อีกทั้งมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงควรจะได้ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาว่าสถาบันรัฐสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกรัฐสภาทั้งหลายมีบทบาทอย่างไรในการอภิปรายถกเถียงและลงมติเลือกพระมหากษัตริย์

 

การขึ้นครองราชย์ของพระองค์เจ้าอานันทมหิดลโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

            หลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นปกครองประเทศสยามแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิธิราชย์ ทำให้กษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่คณะราษฎรบริหารประเทศได้เพียงปีเศษก็เกิดกบฏบวรเดชซึ่งเป็นการโต้กลับของฝ่ายเจ้าและขุนนางระบอบเก่า หรือเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งของระบอบเก่ากับระบอบใหม่ ได้แก่ ความขัดแย้งเรื่องการตั้งสมาคมคณะชาติ ปัญหาเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ การทำรัฐประหารของพระยามโนปรกรณ์นิติธาดาโดยการออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จนถึงการรัฐประหารของพระยาพหลพลพยุหเสนาและคณะเมื่อ 20 มิถุนายน 2476 และประเด็นสำคัญที่สุดคือ ข้อโต้แย้งเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชสงบลงความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ก็เสื่อมทรามลง เกิดข้อสงสัยในบทบาทของรัชกาลที่ 7 ต่อกบฏบวรเดช ระหว่างที่เกิดกบฏบวรเดช ทรงประทับอยู่ที่หัวหิน แต่เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็เสด็จด้วยเรือเร็วไปประทับที่สงขลาซึ่งเป็นจังหวัดใกล้พรมแดนมลายู รัฐบาลพยายามกราบบังคมทูลเชิญเสด็จกลับพระนครก็ไม่สำเร็จ ทรงประทับที่สงขลานานถึงสองเดือนจนเสด็จกลับในเดือนธันวาคม รวมทั้งปรากฏหลักฐานทางทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ว่ารัชกาลที่ 7 พระราชทานเงินให้แก่พระองค์เจ้าบวรเดชสองแสนบาท[2]

หลังจากเสด็จกลับจากสงขลาเพียงเดือนเดียวรัชกาลที่ 7 ก็เสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ และใช้เวลาขณะประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษต่อรองขอเพิ่มพระราชอำนาจ แต่เมื่อรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองจนเป็นที่พอพระทัยได้พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่จะสละราชสมบัติ รัฐบาลรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อการที่พระองค์อาจจะสละราชสมบัติจึงส่งคณะผู้แทนไปเจรจาแต่ไม่เป็นผล ทรงสละราชสมบัติเมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้นำเสนอเรื่องการสละราชสมบัติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว รัฐบาลจึงได้ออกคำแถลงการณ์ให้ประชาชนทราบถึงที่มาที่ไปโดยสังเขป และสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติว่า[3]

“...ทรงขอร้องต่อรัฐบาลหลายประการ ในประการที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ได้จัดสนองพระราชประสงค์เท่าที่จะจัดถวายได้ ในส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอันนอกเหนืออำนาจที่รัฐบาลจะจัดถวายได้ตามพระราชประสงค์ ...รัฐบาล...ได้พยายามทุกทางจนสุดความสามารถที่จะทานทัดขัดพระราชประสงค์มิให้ทรงสละราชสมบัติ แต่ก็หาสมตามความมุ่งหมายไม่”

 

ต่อไปนี้คือการอภิปรายและการลงมติเลือกพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

           

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33/2477(สามัญ) สมัยที่ 2 (ประชุมวิสามัญ) วันที่ 6-7 มีนาคม พ.ศ. 2477 รัฐบาลเสนอเป็นญัตติด่วนและขอให้สภาผู้แทนราษฎรประชุมลับ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละพระราชสมบัติ และการเลือกตั้งพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ รัฐบาลโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำจดหมายแจ้งสภาผู้แทนราษฎรว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติเมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลได้โทรเลขแจ้งข้อความในพระราชหัตถเลขามาโดยละเอียด รัฐบาลจึงขอส่งคำแปลโทรเลข พร้อมสำเนาหนังสือและโทรเลขที่เกี่ยวข้องมาให้สภาผู้แทนพิจารณาเรื่องการสละราชสมบัติต่อไป[4]

เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางและรับทราบเรื่องการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว[5] ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ต่อไป แต่ก่อนหน้าที่จะเริ่มพิจารณาเรื่องกษัตริย์พระองค์ใหม่อย่างจริงจัง พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล เสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรโทรเลขไปแสดงความอาลัยของสมาชิกสภาต่อรัชกาลที่ 7 [6] แต่พระพินิจธนากร ผู้แทนจังหวัดเชียงใหม่ ไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่า[7]

...ในฐานที่ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกและเป็นผู้แทนราษฎรผู้หนึ่งก็อยากจะได้กราบเรียนถึงความจริงใจ ก็เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติด้วยพอพระทัยเช่นนี้แล้ว เราจะไปวิงวอนและโทรเลขไปดังที่ท่านผู้แทนสกลนคร และผู้แทนจังหวัดสตูลนั้นทำไมกัน...

          ท่านบอกให้โทรเลขเสียใจอะไรกัน

ข้าพเจ้าคัดค้านในเรื่องนี้... ข้าพเจ้าเห็นไม่เป็นการสมควรที่จะโทรเลขไปเสียใจอะไรให้เสียอัฐเปล่าๆ โทรเลขทุกคำที่มีไปเงินไปตกอยู่แก่ต่างประเทศ ...เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพูดถึงในเรื่องนี้ เราพูดในฐานสมาชิก ข้าพเจ้าขอแสดงความรู้สึกอย่างจริงใจทีเดียว ในชีวิตของเราจะหาโอกาสเช่นนี้ยาก เพราะฉะนั้นเหตุใดที่จะแสดงความเสียใจ ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบเลย เหตุผลที่ข้าพเจ้าคัดค้านว่าไม่ควรจะแสดงความเสียใจนั้น ข้าพเจ้าจะได้กราบเรียนดังต่อไปนี้ เราไม่มีโอกาสจะได้พบโอกาสเช่นนี้เลย โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้มีเงินสำหรับส่วนพระองค์...

 

แต่ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวตัดบทว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องอธิบายต่อไป” หลังจากนั้นผู้ทำการแทนประธานสภาฯก็ให้ลงมติ ในที่สุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้ประธานสภาฯ ส่งโทรเลขไปแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ โดยพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง กล่าวแถลงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า[8]

ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ[9]ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนั้นเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล...

 

ขณะที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา  นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  “ที่รัฐบาลเสนอพระองค์แรก  คือ  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สภาฯนี้จะรับหรือไม่รับ”[10]

แต่ น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. ชี้แจงว่า[11] รายนามที่แจกให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นบัญชีรายนามที่จัดทำขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังซึ่งเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ และได้รับการตรวจสอบและรับรองว่าถูกต้องแล้วโดยผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ รัฐบาลปฏิบัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังเสนอรายนามผู้ซึ่งควรจะมีสิทธิตามกฎมณเฑียรบาลนั้นลดหลั่นกันลงไป “เพราะฉะนั้นลำดับที่ควรจะเป็นอย่างไรนั้นได้ดำเนินตามกฎมณเฑียรบาล หาใช่ฝ่ายรัฐบาลเสนอขึ้นไม่”

          หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ กล่าวเสริมว่า[12] ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 9 การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เป็นหน้าที่ของเสนาบดีที่จะอัญเชิญเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์องค์ที่ 1 ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา 8 ของกฎมณเฑียรบาลขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งเจ้านายเชื้อพระวงศ์ลำดับที่ 1 คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับลำดับที่ 1 ก็ให้พิจารณาลำดับที่ 2 ต่อไปตามลำดับ


 บัญชีลำดับสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467[13]


หมายเหตุ :  ที่ขีดเส้นสัญประกาศไว้ใต้พระนามพระองค์ใด หมายความว่า พระมารดาของท่านพระองค์นั้นเป็นเจ้า                                                                                 คือเป็น อุภโตสุชาติ

ด.ยู่เกียง ทองลงยา ผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี อภิปรายว่า[14] “...กฎมณเฑียรบาลนั้นวางขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าซึ่งเป็นกฎหนึ่งแห่งครอบครัวเท่านั้น จึงไม่สามารถจะบังคับสภาผู้แทนราษฎรให้จำต้องปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาลนั้นได้...”

ขณะที่ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวแย้งว่า[15] “...ถ้ากฎหมายใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ใช้ไม่ได้ รัฐธรรมนูญให้ใช้กฎมณเฑียรบาล”

นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ถามว่า[16] พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลมีพระชนมายุเท่าไหร่ และมีคุณสมบัติอย่างไร

เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง กล่าวตอบว่า “10 พรรษา คุณสมบัติก็เรียนอยู่สวิทเซอร์แลนด์...”

ร.ท.ทองคำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี ได้อภิปรายถึงหลักการทั่วไปในการเลือกพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชสมบัติเป็นประมุขของชาติว่า [17] โดยหลักของการเลือกตั้งไม่ว่าระดับใดทั่วโลกต้องมีการวางหลักเกณฑ์คุณสมบัติของบุคคล แต่การเลือกพระมหากษัตริย์มีความสำคัญกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า ฉะนั้นถ้าสภาผู้แทนราษฎรเลือกเจ้านายที่ไม่สมควรขึ้นเป็นกษัตริย์ ทั้งรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร และประชาราษฎรต้องหวานอมขมกลืนรับความขมขื่นตลอดรัชกาล หากเลือกเจ้านายที่คุณสมบัติบกพร่องก็จะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในอนาคตดังเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ทั้งในและนอกประเทศและนำไปสู่จุดหมายที่คล้ายคลึงกัน อาจมีคนเถียงว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับสมัยปริมิตตาญาสิทธิราช[18]มีพระราชอำนาจแตกต่างกัน แต่ขอให้จำไว้ว่า

ถึงแม้พระมหากษัตริย์จะไร้พระราชอำนาจโดยพฤตินัย แต่พระองค์ก็หาทรงไร้พระราชอิทธิพลไม่ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ รัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร มีวัตถุประสงค์ตรงกันในอันที่จะจรรโลงสยามรัฐสีมาอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองตามกาลสมัย บุคคลและคณะบุคคลทั้งสามนี้จะต้องมีความคิดเห็นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นส่วนมาก[19]

 

ถ้าทั้งสามส่วนไม่สมานฉันท์กันก็น่าวิตกว่ารัฐนาวาสยามจะไปไม่ตลอดรอดฝั่ง เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว การเลือกตั้งพระมหากษัตริย์ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คือ สภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงกว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 โดยเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกเจ้านายที่มีคุณสมบัติดังนี้[20]

1.ทรงเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญ

2.ทรงเป็นผู้มีวิทยาคุณ รอบรู้ประวัติศาสตร์ ในการปกครองมนุษยชาติ

3.ทรงมีความรู้ในวิชาทหารบกหรือทหารเรืออย่างน้อยในตำแหน่งชั้นสัญญาบัตร

4.ทรงมีพระอุปนิสสัยรักใคร่ราษฎร และเป็นที่นิยมนับถือของประชาชนทั่วไป

5.ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว

โดยที่คุณสมบัติข้อ 1 เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลือกเจ้านายที่นิยมรักการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ “เพราะการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญจะต้องจิรังกาลไปชั่วฟ้าดินสลาย” ต้องพยายามอย่างยิ่งมิให้มีการปฏิวัติกลับไปกลับมาอย่างเช่นในฝรั่งเศสและอังกฤษ หากมีการปฏิวัติบ่อยครั้งจะทำให้จำนวนพลเมืองร่อยหรออาจเป็นเหตุให้อำนาจภายนอกเข้าแทรกแซงจนเสียอิสรภาพได้[21]

คุณสมบัติข้อที่ 2 จะเป็นหลักประกันให้กับคุณสมบัติข้อที่ 1 เพราะความรอบรู้ประวัติศาสตร์จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงระลึกอยู่เสมอว่าหากฝ่าฝืนประวัติศาสตร์ผลร้ายจะตกอยู่กับพระองค์และประเทศชาติ[22]

คุณสมบัติข้อที่ 3 เพราะเหตุว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพสยามตามรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องรอบรู้วิชาการรบ ซึ่งต้องร่ำเรียนสำเร็จมาจริงๆไม่ใช่แค่มียศเป็นนายทหารพิเศษ[23]

คุณสมบัติข้อที่ 4 สำคัญที่สุดในความวัฒนาถาวรของชาติและความมั่นคงแห่งราชบัลลังก์ พระมหากษัติรย์ต้องทรงเห็นความทุกข์ยากของราษฎร และทรงเผื่อแผ่อารีรักในปวงประชาชาติ หากพระมหากษัตริย์ไร้ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าว  พงศาวดารได้บอกเราว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายภาคหน้า  “...การปฏิวัตรองค์พระมหากษัตริย์นั้นเกือบนับครั้งไม่ถ้วน และปฏิวัตรครั้งไรก็เกิดนองเลือดทุกครั้ง”[24]

คุณสมบัติข้อที่ 5 ไม่ได้หมายความว่าจะเลือกพระมหากษัตริย์ที่ทรงชราภาพ แต่จะไม่เลือกกษัตริย์เด็กที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่เคยปรากฏว่ากษัตริย์ที่ทรงพระเยาว์จะนำความราบรื่นมาสู่ประเทศชาติ นอกจากนั้นราษฎรจะกล่าวหาเอาได้ว่าตั้งกษัตริย์ที่ไม่บรรลุนิติภาวะเพื่อเอาไว้ใช้เป็นเครื่องมือ ถึงแม้จะมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าผู้สำเร็จราชการจะไม่ขัดขวางรัฐประศาสโนบายของรัฐบาลหรือนโยบายของสภาผู้แทนราษฎร “ในที่สุดเราควรวางกฎเกณฑ์ว่าต้องเลือกเจ้านายที่สามารถประกอบพระราชกรณียกิจได้อย่างทันสมัยไม่ใช่ล่วงสมัย และยังไม่ถึงสมัย...”[25]

อย่างไรก็ตาม พ.ต.หลวงรณสิทธิพิชัย ไม่เห็นด้วยกับ ร.ท.ทองคำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี ที่จะให้ถือความเห็นของสภาผู้แทนราษฎรเหนือกฎมณเฑียรบาล เพราะมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นไปตามนัยของกฎมณเฑียรบาลประกอบกับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร หน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงควรพิจารณาแค่ว่าพระองค์เจ้าอานันท์ไม่สมควรอย่างไร ถ้าสมควรแล้วก็ไม่ต้องอภิปรายต่อไป ส่วนกรณีที่พระมหากษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะหากสภาผู้แทนราษฎรเลือกพระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นกษัตริย์ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 10 คือ แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[26]

ร.ท.ทองคำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี อภิปรายชี้แจงว่า[27] ตนมิได้หมายความว่าจะต้องเลือกเจ้านายองค์ที่อยู่นอกกฎมณเฑียรบาล แต่ควรเลือกเจ้านายที่รักชาติ รักประเทศ และรักราษฎรในเวลาที่ราษฎรกำลังคับขัน นอกจากนั้น ร.ท.ทองคำ คล้ายโอภาส ยังกล่าวอีกว่า “ข้าพเจ้าไม่อยากจะไหว้เด็กหรอก ข้าพเจ้าอยากไหว้คนที่มีอายุพรรษามากกว่าเด็ก” คนที่เป็นเด็กราษฎรจะไม่ค่อยเคารพนับถือแต่จะเคารพผู้ใหญ่มากกว่า “ถ้าหากว่าเจ้านายที่อยู่ห่างไกลหรือไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ราษฎรจะไว้ใจหรือเคารพนับถือได้อย่างไร ...ถ้าเรารักรัฐธรรมนูญ เราต้องการเจ้านายที่มีคุณสมบัติดีเอามาช่วยดำเนินประเทศชาติให้เป็นไปตามระบอบรัฐธรรมนูญ”

ที่ประชุมรัฐสภาได้อภิปรายกันต่อไปพอสมควร ซึ่งโดยมากแล้วจะถกเถียงกันว่าควรจะปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาลโดยเคร่งครัดหรือไม่

จากนั้นนายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้สอบถามรัฐบาลถึงการไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสาว่าได้ผลว่าอย่างไรบ้าง[28]

พระสารสาสน์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ จึงได้อ่านบันทึกเรื่องนายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า[29] วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2477 ให้ที่ประชุมได้รับทราบ โดยมีใจความสำคัญว่า[30]

วันที่4 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ณ วังตำบลปทุมวัน โดยนายกรัฐมนตรีได้กราบทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯ ถึงการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลเห็นว่าไม่มีวิถีทางใดที่จะอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้กลับคืนสู่พระนครได้ จึงจำเป็นต้องนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาวินิจฉัยของสภาผู้แทนราษฎร และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะแนะนำผู้ที่สมควรขึ้นครองราชสมบัติแทนต่อไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละพระราชอำนาจในการแต่งตั้งผู้สืบราชสมบัติ จึงเท่ากับว่าพระองค์มีพระราชประสงค์จะให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน จึงมาเข้าเฝ้าขอพระราชทานกราบทูลให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองพระบาทในอันที่จะอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชสมบัติต่อไป สมเด็จพระพันวัสสาฯทรงรับสั่งว่า “เรื่องนี้ฉันไม่มีเสียงอะไร ฉันพูดอะไรไม่ได้ การจะเป็นไปอย่างไรย่อมแล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นประมุขแห่งพระราชวงศ์” หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กราบทูลว่า ตนได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหนึ่งครั้งที่กรุงลอนดอน และกราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติว่าหากลาออกจากราชสมบัติแล้วจะทรงตั้งผู้ใดขึ้นครองราชสมบัติแทนต่อไป ทรงรับสั่งว่าจะไม่ตั้งผู้ใด เพราะจะเป็นการกระทบกระเทือน ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เพราะจะเป็นการป้องกันมิให้มีเหตุยุ่งยากในภายหน้า ซึ่งรัฐบาลก็มีดำริเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่าได้มอบให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย มาเฝ้ากราบทูล(สมเด็จพระพันวัสสาฯ)แล้วว่า เพื่อเห็นแก่พระราชวงศ์ขอให้ทรงรับ สมเด็จพระพันวัสสาฯรับสั่งว่า “ถ้าหากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นดังนั้นก็ต้องทรงรับอยู่เอง ...กรมเทววงศ์ฯได้มาบอกแล้ว ฉันก็ได้รับทราบไว้ แต่ฉันไม่มีเสียงอะไร ทั้งนี้ก็แล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

จากนั้น ร.ต.เนตร์ พูนวิวัฒน์ ขอให้รัฐบาลแถลงเรื่องที่หลวงธำรงไปเข้าเฝ้าพระองค์เจ้าอานันท์ที่สวิทเซอร์แลนด์เพื่อประกอบการวินิจฉัย[31]

น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรี แถลงโดยย่อมีใจความว่า[32] วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ได้ไปเข้าเฝ้าหม่อมสังวาลย์[33] พระองค์เจ้าอานันท์(ได้เข้าเฝ้าพระองค์หญิงใหญ่ และพระองค์น้องสุดด้วย) แต่มิได้มีอะไรอภิปรายกันมากนักเพราะพระองค์เจ้าอานันท์มีชันษาแค่ 10 ขวบ ยังพูดกันไม่ได้เนื้อถ้อยกระทงความ เป็นแต่เพียงเยี่ยมอาการทุกข์สุขเท่าที่เป็นอยู่ เท่าที่สอบสวนดูทรงสบายดี มีผิดปกติเล็กน้อยคือร่างกายเติบโตไม่ได้ขนาด มีหน้าอกแคบกว่ากำหนดเล็กน้อย แต่หาได้เป็นวัณโรคหรือโรคอื่นใดไม่ เมื่อได้พูดถึงเรื่องการที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์เจ้าอานันท์ท่านบอกว่าไม่อยากเป็นด้วยเหตุผล 6 หรือ 7 ประการ แต่จะไม่ขอแถลงในสภาแห่งนี้

แต่นายมังกร สามเสน ขอให้แถลง น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ จึงขออย่าให้จดในรายงานการประชุม ที่ประชุมอนุญาตให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์แถลงถึงเหตุผลที่พระองค์เจ้าอานันทมหิดลไม่อยากเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยไม่มีการจดในรายงานการประชุม[34]

หลังจากนั้น น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ กล่าวถึงการสนทนากับหม่อมสังวาลย์ว่า[35] ตนได้ถามหม่อมสังวาลย์ว่า มีความขัดข้องหรือไม่ในการที่พระองค์เจ้าอานันท์ฯจะขึ้นครองราชสมบัติ หม่อมสังวาลย์ตอบว่า “เรื่องนี้ย่อมสุดแล้วแต่พระพันวัสสาฯ สำหรับท่านไม่มีการขัดข้องหรือมีความเห็นอย่างไร” นอกจากนั้นก็เป็นการสนทนาเรื่องการทุกข์สุขและการศึกษาเล่าเรียน ถ้าเป็นพระเจ้าอยู่หัวแล้วพระองค์เจ้าอานันท์จะทรงประทับที่ไหน ควรจะศึกษาที่ไหน ควรจะรักษาตัวที่ไหน และควรมีมหาดเล็กอย่างไร

เมื่อ น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แถลงผลการเข้าเฝ้าฯเสร็จแล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็อภิปรายกันต่อ ซึ่งโดยมากจะเน้นไปที่คุณสมบัติที่พระองค์เจ้าอานันท์ทรงพระเยาว์ว่าจะมีความเหมาะสมกับตำแหน่งพระมหากษัตริยห์หรือไม่ เป็นต้นว่า

นายไต๋ ปาณิกบุตร อภิปรายว่า “ดูเหมือนว่าถ้าเราตั้งพระเจ้าแผ่นดินที่ยังทรงพระเยาว์เป็นกษัตริย์แล้ว ยังจะต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีก ซึ่งในที่สุดผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั่นเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใช่พระเจ้าอยู่หัวองค์นั้น แล้วก็ทำอะไรไม่ได้เป็นเวลา 10 ปี...”[36] นายไต๋ ยังได้เสนอสภาผู้แทนราษฎรให้วางหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 ว่าประเทศสยามขณะนี้ยังไม่ควรมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นเด็ก[37]

ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า[38] พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นผู้อยู่ต้นที่สุดจึงสมควรเป็นพระมหากษัตริย์แม้จะเป็นเด็กก็ตาม แต่ก็สามารถตั้งผู้รักษาราชการแผ่นดินแทนพระองค์ได้ ผู้รักษาราชการแผ่นดินสามารถตั้งเป็นคณะได้ไม่จำเป็นต้องมีคนเดียว

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ แสดงความเห็นแย้ง นายไต๋ ปาณิกบุตร ว่า[39] การวางหลักเกณฑ์ว่าควรเลือกพระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้เยาว์หรือไม่นั้นเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ

นายสรอย ณ ลำปาง ผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง อภิปรายว่า[40] พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ลำดับต้นสมควรได้ครองราชสมบัติ ถ้าเลือกผู้อื่นต่อไปเมื่อพระองค์เจ้าอานันทมหิดลบรรลุนิติภาวะพระองค์จะทรงเสียพระทัย และอาจเกิดความแตกร้าวระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์หรืออาจเป็นภัยแก่บ้านเมืองก็ได้ การเลือกข้ามไปข้ามมาจึงไม่เหมาะ จะติดอยู่ก็เป็นผู้เยาว์เท่านั้นจึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

นายสวัสดิ์ ยูวะเวส ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ อภิปรายว่า[41] ได้ยินเสียงสมาชิกหลายคนกล่าวถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ ซึ่งกล่าวเป็นที่วิตกห่วงใยต่างๆนานาและต้องการความสำคัญต่างๆ ความจริงความสำคัญของพระมหากษัตริย์จะมีหรือไม่ก็อยู่ที่พวกเรา เราถือตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทำอะไรไม่ผิด และพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทำอะไรเลย พระมหากษัตริย์ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ความสำคัญของพระมหากษัตริย์ไม่มีเท่าไรนัก เพราะฉะนั้นเราก็เลือกได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็ก

ขุนเสนาสัสดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า[42] การเลือกพระมหากษัตริย์นั้นสำคัญยิ่งต้องให้ราษฎรทั้งประเทศนิยมด้วย พระองค์เจ้าอานันทมหิดลยังไม่บรรลุนิติภาวะ ถ้าตั้งท่านเป็นพระมหากษัตริย์ก็ต้องตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกเป็นการเสียเวลามิใช่น้อย

พระพินิจธนากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า[43] เคยรู้จักกับกรมหลวงสงขลาฯพระบิดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลว่าเป็นผู้ที่รักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ถ้าได้ลูกซึ่งเหมือนกับพระบิดาก็เป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง อีกประการหนึ่งพระองค์เจ้าอานันทมหิดลยังเด็กคงใช้จ่ายเงินน้อย ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนมีความสามารถหรืออะไร เรามีรัฐธรรมนูญปกครองตามแบบ เราทำไปโดยสภาทั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงทำผิดมิได้เลย คือ เดอะคิงแคนดูโนรอง(The King can do no wrong)

ในที่สุดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติ โดยผู้ทำการแทนประธานสภาฯ ได้ถามมติของที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า “สำหรับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลองค์นี้ ท่านผู้ใดเห็นด้วย เห็นด้วยหมายความว่าควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ โปรดยืนขึ้น” ผลปรากฏว่า “มีสมาชิกยืนขึ้น 127 นาย” จากนั้นผู้ทำการแทนประธานสภาฯ ถามมติของที่ประชุมอีกครั้งว่า “ท่านผู้ใดเห็นว่าเจ้านายพระองค์นี้ไม่ควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ โปรดยืนขึ้น” ผลปราฏว่า “มีสมาชิกยืนขึ้น 2 นาย”[44] โดยที่ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมิได้ระบุชื่อว่าเป็นผู้ใด

เป็นอันว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยคะแนนเสียงไม่เอกฉันท์ 127 ต่อ 2 เสียง นับเป็นครั้งแรกที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบผู้สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ประมุขแห่งรัฐสยาม

        หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นาวาตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ร.น. พันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์ และเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม)[45] โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์ เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชแทนพระองค์[46]

ช่วงเวลา 12 ปี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล กับ สถาบันกษัตริย์ทั้งโดยผ่านผู้สำเร็จราชการและโดยองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 มีความราบรื่นมากที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรได้วางรากฐานไว้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์ที่มีความโน้มเอียงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยและมีความลงตัวมากขึ้นโดยลำดับ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเกิดเหตุสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสียก่อน และสิ่งที่ตามมาหลังการผลัดแผ่นดินเปลี่ยนรัชกาลได้ปีเศษคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ต้องพบจุดจบด้วยรัฐประหารอย่างน่าเสียดายทั้งๆ ที่เพิ่งถือกำเนิดลืมตามาดูโลกได้เพียงไม่นาน และนั่นไม่เพียงเป็นหายนะของรัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้ได้เพียงปีเศษและหายนะของระบอบประชาธิปไตยที่มีความก้าวหน้าขึ้นเท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงของสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างสิ้นเชิงในเวลาต่อมา

 

การขึ้นครองราชย์ของเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชโดยความเห็นชอบของรัฐสภา

            เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 แล้ว ในวันเดียวกันนั้นรัฐสภาก็ได้จัดประชุมเพื่อเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา โดยในการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 1 ระเบียบวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี แจ้งให้สมาชิกรัฐสภาทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยมีใจความว่า[47] ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มประชวรตั้งแต่วันที่  2 มิถุนายน เป็นต้นมาด้วยอาการพระนาภีไม่เป็นปกติ และทรงเหน็ดเหนื่อยไม่มีพระกำลัง อย่างไรก็ตาม พระองค์ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเสด็จเยี่ยมราษฎรตามปรกติ เมื่ออาการพระนาภียังไม่ทุเลาลงจึงต้องประทับรักษาพระองค์อยู่โดยมิได้เสด็จออกงานตามหมายกำหนดการ ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน  เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตื่นพระบรรทมตอนเช้าเวลา 6 นาฬิกา ได้เสวยพระโอสถแล้วเข้าห้องสรงซึ่งเป็นพระราชกิจประจำวัน จากนั้นจึงเสด็จเข้าพระที่ ครั้นเวลาประมาณ 9 นาฬิกา “มหาดเล็กห้องพระบรรทมได้ยินเสียงปืนดังขึ้นในพระที่นั่ง จึงรีบวิ่งเข้าไปดูเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่ มีพระโลหิตไหลเปื้อนพระองค์และสวรรคตเสียแล้ว” มหาดเล็กห้องบรรทมจึงไปกราบทูลให้สมเด็จพระราชชนนีทรงทราบแล้วเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพ ต่อมาพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ได้เข้าไปกราบถวายบังคม และอธิบดีกรมตำรวจกับอธิบดีกรมการแพทย์ ถวายตรวจพระบรมศพและสอบสวน ได้ความสันนิษฐานได้ว่าคงจะทรงจับคลำพระแสงปืนตามพระราชอัธยาศัยแล้วเกิดอุปัทวเหตุขึ้น จากนั้นประธานรัฐสภาก็ขอให้สมาชิกรัฐสภายืนขึ้นไว้อาลัย “ที่ประชุมยืนขึ้นไว้อาลัยเป็นเวลานานพอสมควร”[48]

            หลังจากนั้นสมาชิกได้ซักถามรายละเอียดรัฐบาลเกี่ยวกับการสวรรคต เช่น มีสิ่งใดหรือไม่ที่ชี้ชัดเจนว่าพระเจ้าอยู่หัวมิได้สวรรคตโดยพระองค์เอง ลักษณะบาดแผลจากการชัณสูตรพลิกศพ เหตุผลและวิธีการสอบสวนสืบสวนคดี การเข้าออกห้องบรรทมนอกจากพระญาติวงศ์แล้วมีใครเข้าออกได้อีกบ้าง เป็นต้น โดยที่พล.ต.ท.พระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งอยู่ในที่ประชุมด้วยเป็นผู้ทำหน้าที่ตอบคำถาม[49]

            อย่างไรก็ตาม หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สมาชิกสภาผู้แทน(พระนคร) เห็นว่าไม่ควรจะพูดเรื่องนี้กันต่อเพราะ

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยและข้าพเจ้าเข้าใจว่ารัฐบาลคงจะต้องทำคำแถลงการณ์โดยละเอียดเมื่อทำการสืบสวนโดยละเอียดภายหลัง เพราะฉะนั้นขอความกรุณาท่านสมาชิกทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ใช่เจ้าถ้อยหมอความ ขออย่าให้มีการพิสูจน์หรือพลิกพระศพกันที่นี่ ขอความกรุณาอย่าซักถามเรื่องนี้ และพูดเรื่องอื่นกันต่อไป”[50]

เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เสนอดังนี้ นายวิลาศ โอสถานนท์ ประธานรัฐสภาจึงให้รัฐบาลแถลงเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ในวาระที่ 3 ต่อไป

        การประชุมในระเบียบวาระที่ 3 รัฐบาลแถลงเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์โดยนัยแห่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 และขอความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญ[51] โดยนายทวี บุณยเกตุ ผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่าการสืบราชสมบัติ ให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งตรงกับมาตรา 9 ข้อ 8 โดยนายทวีได้กล่าวถึงกฎมณเฑียรบาลข้อดังกล่าวให้สมาชิกฟังว่า “ข้อ 8 ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา ท่านก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์” เมื่อมีความชัดเจนเช่นนี้ “รัฐบาลจึงเห็นว่าผู้ที่สมควรจะสืบราชสันตติวงศ์ควรได้แก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงขอเสนอและขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญต่อไป”

            ประธานรัฐสภาจึงขอมติจากที่ประชุมรัฐสภาว่า “ข้าพเจ้าขอความเห็นของรัฐสภา ถ้าท่านผู้ใดเห็นชอบด้วย ขอได้โปรดยืนขึ้น” ผลปรากฏว่า“สมาชิกยืนขึ้นพร้อมเพรียงกัน” เป็นอันว่ารัฐสภาลงมติให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากพระเชษฐาธิราช โดย“มีผู้เห็นชอบเป็นเอกฉันท์”[52]

            จากนั้นนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี จึงขอให้สมาชิกรัฐสภาถวายพระพรชัยขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระเจริญ โดย “ที่ประชุมได้ยืนขึ้นและเปล่งเสียงไชโย 3 ครั้ง”[53]

            ต่อมาประธานรัฐสภาแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ตามมาตรา 10 และมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 กำหนดให้สมาชิกพฤฒสภาที่มีอายุสูงสุด 3 คน เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว ซึ่งประกอบด้วย พระสุธรรมวินิจฉัย เจ้าคุณนนท์ราชสุวัจน์ และนายสงวน จูฑะเตมีย์ มีอายุสูงตามลำดับ และให้ทั้งสามยืนขึ้นแสดงตัวต่อที่ประชุมรัฐสภา[54]

จากนั้นนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีก็ได้แจ้งต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ตนได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลซึ่งบัดนี้พระองค์ได้เสด็จสวรรคตแล้ว จึงได้ยื่นใบลาออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว[55]

-----------------

การเลือกพระมหากษัตริย์สองครั้งแรกโดยการให้ความเห็นชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น ไม่ปรากฏความขัดแย้งรุนแรงหรือมีเหตุเภทภัยอันตรายถึงขั้นเสี่ยงที่จะเกิดความล่มจมต่อราชอาณาจักรอย่างที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อมีการผลัดแผ่นดินมาแต่ครั้งโบราณ และเป็นที่น่าสังเกตว่าในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเรื่องการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และการเลือกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ (ตลอดจนการเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายในเชิงตำหนิติเตียนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนอภิปรายถึงคุณสมบัติด้านลบของพระองค์เจ้าอานันทมหิดล (รวมถึงคุณสมบัติด้านลบของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย) ยังไม่นับว่ามีการแสดงจุดยืนของฝ่ายฝ่ายรัฐบาลว่าให้การสนับสนุนผู้ใดให้สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ดังที่พระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวว่า “ที่รัฐบาลเสนอพระองค์แรก คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล...”(ซึ่งสอดคล้องกับที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวในเวลาต่อมาว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เพราะพระบิดาของพระองค์เจ้าอานันทมหิดล “...ได้ทรงทำคุณประโยชน์แก่ราษฎร และเป็นเจ้านายที่บำเพ็ญพระองค์เป็นนักประชาธิปไตย เป็นที่เคารพรักใคร่ของราษฎรส่วนมาก คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบพร้อมกันเสนอสภาผู้แทนราษฎรขอความเห็นชอบ...”[56]) แม้ น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จะปฏิเสธในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าเป็นการเสนอตามลำดับของกฎมณเฑียรบาลก็ตาม แต่สิ่งที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์อธิบายนั้นอาจจะมีความถูกต้องเพียงบางส่วน เพราะหากรัฐบาลไม่ประสงค์จะให้พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นกษัตริย์ก็ย่อมจะสามารถรวบรวมคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้มากพอที่จะลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบได้ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นอย่างน้อยที่สุดน่าจะเป็นการยืนยันได้ว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนด้วยการไม่คัดค้าน ขณะที่การเลือกเจ้าฟ้าภูมิพลขึ้นครองราชย์นั้น สมาชิกรัฐสภามิได้อภิปรายถึงคุณสมบัติของเจ้าฟ้าภูมิพลกันอย่างกว้างขวางเหมือนกรณีพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าขณะนั้นกำลังอยู่ในบรรยากาศของความโศกเศร้าจากกรณีสวรรคต หรือไม่บรรดาผู้มีอำนาจในขณะนั้นอาจไม่ติดใจในคุณสมบัติของเจ้าฟ้าภูมิพลก็เป็นได้

        อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งประชาชนทั่วไปจะแสดงจุดยืนในการสนับสนุนหรือคัดค้านผู้ใดถือเป็นเรื่องปกติธรรมดามากในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายและการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะคนเหล่านั้นในฐานะผู้แทนของประชาชนกำลังใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนในการเลือกประมุขของรัฐ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าการเลือกพระมหากษัตริย์โดยรัฐสภาในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำได้เฉพาะกรณีที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนมิได้ทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาทเอาไว้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์องค์ก่อนหน้าทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้รัฐสภาก็มีหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าหากในอนาคต รัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกพระมหากษัตริย์เป็นอำนาจของรัฐสภาในทุกกรณี ไม่ว่าพระมหาษัตริย์องค์ก่อนหน้าจะทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาทไว้ก่อนหรือไม่ก็ตาม จะมีสมาชิกรัฐสภาคนใดกล้าอภิปรายถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะขึ้นสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่อย่างตรงไปตรงมาเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่

 

 

*******************************************




[1] คำปรารถ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 41, ตอน 0ก, 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467, หน้า 197-198.

        [2] คำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482 เรื่องกบฏ, กรมโฆษณาการ, หน้า 30.

        ขณะที่หลักฐานจากฝ่ายเจ้า โดยหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้บันทึกไว้ตรงกันว่า รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานเงินจากพระคลังข้างที่ให้กับพระองค์เจ้าบวรเดชจำนวนสองแสนบาท(พูนพิศมัย ดิศกุล, 2543 : 126-127)

        [3] คำแถลงการณ์ของรัฐบาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1337-1338.

        [4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 ถึง ครั้งที่ 34 สมัยสามัญ สมัยที่สอง,เล่ม 2, 12 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 2242-2244.

        [5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2244-2328.

        [6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2329.

        [7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2329-2331.

        [8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2328-2329.

        [9] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

        [10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2331.

        [11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2331-2332.

        [12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2332-2333.

      [13] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 ถึง ครั้งที่ 34 สมัยสามัญ สมัยที่สอง วันที่ 12 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม พ.ศ. 2477 เล่ม 2 หน้า 2430-2433.

        [14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2333.

        [15] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2334.

        [16] เรื่องเดียวกัน

        [17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2334-2335.

        [18] ราชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด(limited monarchy) หรือที่คณะราษฎรใช้คำว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ”

        [19] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2335-2336.

        [20] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2336.

        [21] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2336-2337.

        [22] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2337.

        [23] เรื่องเดียวกัน

        [24] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2337-2338.

        [25] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2338-2339.

        [26] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2339-2340.

        [27] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2340-2341.

        [28] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2345.

        [29] สมเด็จย่าของในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9

        [30] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2346-2348.

        [31] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2348.

        [32] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2348-2349.

        [33] พระชนนีของพระองค์เจ้าอานันทมหิดล และพระองค์เจ้าภูมิพล

        [34] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2349-2350.

        [35] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2350.

        [36] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2352.

        [37] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2354.

        [38] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2355-2356.

        [39] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2356.

        [40] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2356-2357.

        [41] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2358-2359.

        [42] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2359-2360.

        [43] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2362 -2363.

        [44] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2364.

        [45] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2386.

        [46] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2405.

        [47] รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 1-10, 9 มิถุนายน 2489 - 12 สิงหาคม 2490, หน้า 1-2.

        [48] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2.

        [49] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2-5.

        [50] เรื่องเดียวกัน, หน้า 5.

        [51] เรื่องเดียวกัน, หน้า 5-6.

        [52] เรื่องเดียวกัน, หน้า 6.

        [53] เรื่องเดียวกัน

        [54] เรื่องเดียวกัน

        [55] เรื่องเดียวกัน, หน้า 5-6.

        [56] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาลฯ และสภาบันปรีดี พนมยงค์, 2543), หน้า 26.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net