“รัฐ” ไม่ได้เป็นเจ้าของ “สนง.ทรัพย์สินฯ” แต่เป็นแค่ “นอมินี” ของ “กษัตริย์” เท่านั้น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

(1)

Royalist ท่านหนึ่งได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ในเฟซบุ๊กของเขา โดยได้เปรียบเทียบ “สนง.ทรัพย์สินฯ” ไว้อย่างน่าสนใจมาก เพียงแต่ว่า Royalist ท่านนี้ได้ละเลยข้อเท็จจริงที่สำคัญบางอย่างไป ทำให้ข้อสรุปที่ได้จึงกลายเป็นกลับหัวกลับหางกับความเป็นจริง ผมจึงจะยกการเปรียบเทียบดังกล่าวมาเล่าพร้อมกับจะพยายามชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ Royalist ท่านนั้นมองข้ามไปให้ผู้อ่านได้เห็น ซึ่งผมคิดว่าด้วยวีธีนี้น่าจะช่วยให้หลายๆคนสามารถทำความเข้าใจสถานะความเป็นเจ้าของของ สนง.ทรัพย์สินฯได้ง่ายขึ้น

Royalist ท่านนั้นได้เปรียบเทียบไว้ว่า “(สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) เหมือนบริษัทมหาชน ที่ในหลวงทรงเป็น "ประธานกิตติมศักดิ์", รมว.คลัง เป็น "ประธานบอร์ด", ผู้อำนวยการ สนง.ทรัพย์สินฯ เป็น CEO” (โปรดดู facebook:Siriwanna Jill )

อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้ว การเปรียบเทียบนี้ได้ละเลยข้อเท็จจริงที่สำคัญบางอย่างไป กล่าวคือ ไม่มีประธานกิตติมศักดิ์บริษัทมหาชนที่ไหนมีอำนาจแต่งตั้งบอร์ดบริหารของบริษัทเกือบทั้งหมด (โดยทั่วไป อำนาจการตั้งบอร์ดเป็นของ “ผู้ถือหุ้น” ซึ่งก็คือคนที่เป็นเจ้าของบริษัทนั่นเอง) และไม่มีประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัทไหนที่สามารถใช้สอยเงินกำไรของบริษัทแต่เพียงผู้เดียว (โดยทั่วไปกำไรของบริษัทนอกจากจะหักไว้เพื่อการลงทุนเพิ่มหรืออื่นๆแล้วก็ปันผลให้ “ผู้ถือหุ้น” ซึ่งก็คือคนที่เป็นเจ้าของบริษัท)

 (2)         

สนง.ทรัพย์สินฯมีคณะกรรมการซึ่งมีอำนาจดูแลกิจการทั้งหมดของ สนง. โดยมี รมว.กระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง และมีกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 4 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยกษัตริย์ โดย 1 ในกรรมการที่กษัตริย์แต่งตั้งนั้นทำหน้าที่เป็น ผู้อำนวยการด้วย (ดู พรบ.ระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2491 ม.4 ตรี) อย่างไรก็ตามในปัจจุบันกรรมการที่กษัตริย์แต่งตั้งมีทั้งหมดถึง 6 คน (ดู http://www.crownproperty.or.th/about_us_02.php)

จะเห็นได้ว่าอำนาจในการแต่งตั้ง “บอร์ด” ส่วนใหญ่ของ สนง. (หรือของบริษัทถ้าเอาตามที่ Royalist ท่านนั้นได้เปรียบเทียบไว้) ส่วนใหญ่ (ขั้นต่ำ 80% ของบอร์ดทั้งหมด หรือ 86% ตามตัวเลขจริงในปัจจุบัน) ซึ่งรวมถึงคนที่ทำหน้าที่เสมือนเป็น CEO (ตามที่ Royalist ท่านนั้นได้เปรียบเทียบไว้) นั้นอยู่ที่กษัตริย์ ทั้งที่โดยปกติอำนาจนี้ต้องเป็นอำนาจของผู้ถือหุ้น (ซึ่งก็คือเจ้าของบริษัท) เท่านั้น

นั่นหมายความว่าในทางปฏิบัติ “กษัตริย์” เป็น “เจ้าของตัวจริง” ของ สนง.ทรัพย์สินฯ ไม่ใช่ “รัฐ” อย่างที่ Royalist หลายๆคนพยายามยืนยัน เพราะมีอำนาจตั้งบอร์ดแบบเดียวกับผู้ถือหุ้น/เจ้าของบริษัทโดยทั่วไป

(ส่วนเรื่อง “รมว.คลัง เป็นประธานโดยตำแหน่ง” ผมจะกลับมาพูดทีหลัง)

ไม่เพียงเท่านั้น กษัตริย์ยังเป็นผู้เดียวที่สามารถใช้สอยกำไรของ สนง.ทรัพย์สินฯ และเป็นการใช้สอยได้ตามอัธยาศัยไม่ว่ากรณีใดๆ พูดง่ายๆคือเอาไปใช้ยังไงก็ได้ (ดู  พรบ.ระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2491 ม.6 วรรค 2) จะมียกเว้นก็แต่ในกรณีที่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา/วรรคเดียวกัน) ซึ่งก็คือผู้ที่เป็นตัวแทนของกษัตริย์อยู่ดี

จะเห็นได้ว่าโดยปกติบริษัทโดยทั่วไปจะแบ่งกำไรให้ผู้ถือหุ้น (ซึ่งก็คือเจ้าของบริษัท) และผู้ถือหุ้นจะเอากำไรเหล่านั้นไปใช้สอยอะไรก็ได้ตามอัธยาศัยของพวกเขา แต่ในกรณี สนง.ทรัพย์สินฯ คนที่สามารถเอาเงินส่วนนี้ไปใช้สอยได้ก็คือกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว นั่นหมายความว่าในทางปฏิบัติ “กษัตริย์” เป็น “เจ้าของตัวจริง” ของ สนง.ทรัพย์สินฯ ไม่ใช่ “รัฐ” อย่างที่ Royalist หลายๆคนพยายามยืนยัน เพราะเป็นผู้(เดียว)ที่สามารถเอากำไรไปใช้สอยได้แบบเดียวกับผู้ถือหุ้น/เจ้าของบริษัทโดยทั่วไป

               

 (3)

เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเราจำเป็นจำต้องพูดถึงตัวละครสำคัญในวงการธุรกิจตัวหนึ่ง นั่นก็คือคนที่ทำหน้าที่เป็น “นอมินี”

คิดว่าหลายๆคนอาจจะพอทราบอยู่แล้วบ้างว่านอมินีคือคนที่ไม่ใช่เจ้าของตัวจริง ไม่มีอำนาจจริงในบริษัท กำไรไม่ได้เข้ากระเป๋านอมินีโดยตรง แต่อำนาจในการบริหารบริษัทจะอยู่ที่เจ้าของตัวจริง ผลกำไรที่ได้ก็เข้าประเป๋าเจ้าของตัวจริง คนที่เป็นนอมินีเป็นแค่คนที่สมอ้างเอาชื่อมาใส่ว่าเป็นเจ้าของแค่นั้นเอง

กรณี สนง.ทรัพย์สินนี่ก็มี “นอมินี” เข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพราะว่ามีความต้องการอำพรางไม่ให้ประชาชนทราบว่าใครคือเจ้าของตัวจริง

บางคนอาจจะใช้คนขับรถหรือคนใช้เป็นนอมินี แต่กรณี สนง.ทรัพย์สินฯ มี “รัฐ” เป็น “นอมินี” ส่วนคนที่เป็นเจ้าของตัวจริงก็คือ กษัตริย์ เพราะกษัตริย์มีอำนาจจริงในการแต่งตั้งบอร์ด และเป็นผู้เดียวที่มีสิทธิ์ใช้สอยเงินกำไรอย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว

ส่วนกรณีที่ รมว.คลัง มานั่งเป็นประธานบอร์ด ถ้าจะเปรียบเทียบ (อย่างที่ Royalist คนที่ผมพูดถึงตั้งต้นได้เปรียบเทียบไว้) ก็เหมือนกับไปเอาลูกหรือเมียของ “นอมินี” มาใส่ชื่อไว้ว่าเป็นประธานบอร์ด โดยที่บอร์ดที่เหลืออีก 80%/86% รวมถึงคนที่เป็น CEO มาจาก “เจ้าของตัวจริง” เพื่อจะบอกว่า “นี่ไง คนนี้เป็นเจ้าของจริงๆนะ ลูก/เมีย เขาถึงได้มานั่งเป็นประธานบอร์ดไง” ซึ่งก็อำพรางให้แนบเนียบขึ้น หลอกคนส่วนหนึ่งได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง (ถามว่าในทางปฏิบัติถ้าเกิดความขัดแย้งขึ้นมาระหว่างบอร์ด 2 ประเภทนี้ ประธานบอร์ดคนเดียวจะไปสู้รบปรบมืออะไรกับบอร์ดเสียงข้างมาก 80%/86% ที่กษัตริย์/เจ้าของตัวจริงเลือกมากับมือได้หรือ?)

 

 (4)

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะผมจะเสนอว่าสำนักงานทรัพย์สนส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ควรเป็นของรัฐ, ผมเห็นว่าทรัพย์สินส่วนนี้ควรเป็นของรัฐ และควรเป็นของรัฐอย่างแท้จริง (มีอำนาจบริหารองค์กร หักกำไรเข้ารัฐ ฯลฯ) ไม่ใช่แค่ในนามแบบนี้

แต่ที่พูดมาทั้งหมดนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั่นเป็นอย่างไรเท่านั้นเอง

 (5)

ทั้งหมดที่ผมเขียนมานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์กรนิติบุคคลที่มีชื่อว่า “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พรบ.ระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (รวมถึงสถานะ “เจ้าของที่แท้จริง” ของ สนง.ทรัพย์สินฯ และรายละเอียดอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับ สนง.นี้)

ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” แต่อย่างใด (และผมทราบดีว่า “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” กับ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” นั้นเป็นคนละส่วนกัน)

ดังนั้นหากจะโต้แย้งอะไรก็โปรดเข้าประเด็น สนง.ทรัพย์สินฯ ไม่จำเป็นต้องวกไปถึง “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” (เพราะไม่เกี่ยวกัน) และไม่จำเป็นต้องมาบอกซ้ำว่า 2 อย่างนี้เป็นคนละส่วนกัน (เพราะทราบอยู่แล้ว)

ต้องขออนุญาตเขียน “ดัก” ไว้อย่างนี้ เพราะบ่อยครั้งที่พูดเรื่อง สนง.ทรัพย์สินฯทีไร จะต้องมีคนแถไปเรื่อง “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ทุกที

 

***************************************************

 

 

หมายเหตุผู้เขียน :

เพื่อให้เนื้อหาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอเพิ่มเติมประเด็นอีกเล็กน้อยดังต่อไปนี้ 

 
 
อะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องใช้ “นิมินี” ?
 
คำตอบนั้นธรรมดาที่สุด ก็คือเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี, เมื่อ สนง.ทรัพย์สินฯ ได้ชื่อว่าเป็นของรัฐก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี (ดู  พรบ.ระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2491 ม.8 วรรค 2)
 
มาถึงตรงนี้ฝ่าย Royalist มักจะอ้างว่า “บริษัทปูซีเมนต์ไทยเสียภาษีนะ ธนาคารไทยพาณิชย์ก็เสียภาษี” ซึ่งก็ถูกต้อง เพียงแต่ว่าเรากำลังพูดถถึง สนง.ทรัพย์สินฯ ไม่ได้พูดถึงบริษัทเหล่านั้น
 
ถ้าใครหรือนิติบุคคลไหนไปซื้อหุ้นของบริษัทเหล่านั้น พอถึงเวลาที่ได้รับปันผลผู้ถือหุ้นก็จะถูกหักภาษีอีกรอบ แม้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะเสียภาษีแล้วก็ตาม แต่กรณี สนง.ทรัพย์สินฯนั้นไม่ใช่ ปันผลที่ได้จากบริษัทเหล่านั้น สนง.ทรัพย์สินฯไม่ต้องเสียภาษีเหมือนคนทั่วไปหรือนิติบุคคลทั่วไป 
 
 
(เพิ่มเติมเมื่อ 12.12 น. 10 เมษายน 2556)
 
******************************************************

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท