Skip to main content
sharethis



สืบเนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 21 มี.ค.56 ลงมติในวาระที่ 1 ไม่รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 14,264 คน ทำให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้ตกไปตามกระบวนการนิติบัญญัติ

ล่าสุด (9 เม.ย.56) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดยยงยุทธ เม่นตะเภา กรรมการอำนวย คสรท. และ วิไลวรรณ แซ่เตีย  รองประธาน คสรท. เดินทางยื่นหนังสือต่อ นิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ประธานวุฒิสภา และพลตำรวจตรี ขจร สัยวัตร์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคมวุฒิสภา เพื่อขอให้นำหลักการและเหตุผลของร่างที่เสนอชื่อโดยประชาชน 14,264 รายชื่อ  เข้าไปพิจารณาในชั้นการประชุมของวุฒิสภา เนื่องจาก ส.ส.จงใจละเมิดสิทธิของประชาชน และปิดกั้นขัดขวางการใช้สิทธิทางการเมืองโดยตรงของประชาชนที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 และผู้ใช้แรงงานสิบกว่าล้านคน ไม่มีโอกาสเสนอหลักการและเหตุผลในการแก้ไขกฏหมายประกันสังคมทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ และไม่ได้รับสิทธิเป็นกรรมาธิการวิสามัญ 1 ใน 3 ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ

จากนั้นได้เดินทางไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยื่นหนังสือต่อ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จากกรณีสภาผู้แทนราษฎรไม่รับหลักการร่างของประชาชนครั้งนี้ด้วย

นพ.นิรันดร์ ให้สัมภาษณ์ว่า คณะอนุฯ จะต้องตรวจสอบว่าสาเหตุที่การไม่รับหลักการของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีข้อเท็จจริงที่มีเหตุผลอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ตามมาตรา 87 รัฐธรรมนูญ ระบุให้รัฐส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับดังกล่าว ซึ่งเน้นความเป็นอิสระของคณะกรรมการกองทุนประกันสังคมนับว่าให้ประโยชน์ต่อแรงงานในระบบทั้งหมด

นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การที่คนงานเสนอกฎหมายด้วยตัวเอง สะท้อนถึงความตื่นตัวของภาคประชาชน ในการขยับเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ ซึ่ง ส.ส. น่าจะเข้าใจ ยอมรับและนำร่างมาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ

นพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา นอกจากร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้แล้ว ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการที่กฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนไม่ได้รับความเอาใจใส่ในการพิจารณาของรัฐสภาอีกหลายฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.แร่ ร่าง พ.ร.บ.ประมงพื้นบ้าน ร่าง พ.ร.บ.การจัดการทะเลชายฝั่ง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะตรวจสอบกระบวนการของรัฐสภาในการพิจารณารับหลักการกฎหมายต่างๆ รวมถึงร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในการจัดทำข้อเสนอต่อการแก้ไขกฎหมายต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net