Skip to main content
sharethis

12 เม.ย. 56 - สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายงาน "ผลสำรวจความคิดเห็น ผลกระทบภาคอุตสาหกรรม 1 ไตรมาส หลังปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ " โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สืบเนื่องจาก รัฐบาลได้มีนโยบายปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งเป็นเวลาครบ 3 เดือน หรือ 1 ไตรมาส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นจากสมาชิกอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เกี่ยวกับผลกระทบที่ได้รับจากการปรับค่าจ้าง โดยจัดทำระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2556 – 11 มิถุนายน 2556 พบว่าผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME ได้รับผลกระทบจนถึงธุรกิจประสบการขาดทุน คิดเป็นร้อยละ 80 ขณะที่ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 23.33 ขาดสภาพคล่อง และผู้ประกอบการร้อยละ 10.42 แจ้งว่าอาจจะต้องถึงขั้นปิดกิจการ ซึ่งหากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมอาจทำให้ต้องมีการลดปริมาณการผลิต ซึ่งนำไปสู่การลดจำนวนพนักงาน/แรงงานรวมไปถึงการเลิกจ้าง (แต่การว่างงานในปีนี้คงไม่เห็นภาพชัดเจน เพราะแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายไปในโรงงานขนาดใหญ่และโรงงานต่างชาติซึ่งกำลังเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามการสนับสนุนของ BOI)

          
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ซึ่งเป็น SME ซึ่งแจ้งว่าได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างครั้งนี้กว่าร้อยละ 58 ก็ยังคิดว่าสามารถประคองธุรกิจได้ ในด้านการปรับตัวของภาคเอกชนได้ให้น้ำหนักการลดจำนวนพนักงาน/แรงงาน รวมทั้งลดการทำงานล่วงเวลาและลดสวัสดิการ ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่นการลดขั้นตอนการผลิตและการนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ การใช้วัสดุให้น้อยลงหรือวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำ ส่วนแนวคิดในด้านการลงทุนไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 60 แจ้งว่าไม่เคยคิดที่จะย้ายฐานการผลิต แต่ผู้ประกอบการร้อยละ 26 มีแนวคิดจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศกัมพูชา พม่า และลาว
          
ทั้งนี้ เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐฯ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 แจ้งว่าไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ มีเพียงร้อยละ 28 ที่เห็นว่ามาตรการของรัฐฯพอช่วยได้บ้างแต่น้อยมาก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการที่รัฐฯช่วยได้มากที่สุดคือ การชดเชยส่วนต่างของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการช่วยเหลือสภาพคล่องด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่ง SME สามารถเข้าได้ถึงจริง 
          
รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างในช่วง 1 ไตรมาสแรกของปี 2556 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
          
ประเภทของธุรกิจที่ตอบแบบสอบถาม : 
          
ผู้ที่ตอบแบบสอบถาม พบว่าเป็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 85.54 และภาคธุรกิจให้บริการร้อยละ 13.46 โดยลักษณะธุรกิจของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า ขายในประเทศร้อยละ 47.83 เป็นผู้ประกอบการส่งออกร้อยละ 37.68 และเป็นธุรกิจรับจ้างการผลิต (OEM) ร้อยละ 14.49 นอกจากนี้พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กร้อยละ 66 และขนาดกลางซึ่งมีแรงงานอยู่ระหว่าง 300-500 คน คิดเป็นร้อยละ 26 และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่คิดเป็นร้อยละ 8.0
          
ด้านผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการ :
          
1. ค่าแรงที่ปรับขึ้นมีผลกระทบต่อต้นทุนรวม (Total Cost) 
          
พบว่าผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรง 300 บาท ส่งผลให้ต้นทุนรวมสูงขึ้นมากเกินกว่า 15% มีอยู่ร้อยละ 54 ผลกระทบปานกลางระหว่าง 7-10% คิดเป็นร้อยละ 24 และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบน้อยโดยมีต้นทุนรวมสูงขึ้นระหว่าง 3-5% คิดเป็นร้อยละ 18 สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบต่อการปรับค่าจ้างครั้งนี้คิดเป็นร้อยละ 4
          
2. ความสามารถในการปรับราคาสินค้าในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 56
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่แจ้งว่าไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ คิดเป็นร้อยละ 47.06 ส่วนที่สามารถปรับราคาได้ร้อยละ 52.94 โดยแบ่งเป็นปรับราคาได้น้อย 43.14% ปรับราคาได้ปานกลาง 7.84% และปรับราคาได้เท่ากับหรือมากกว่าต้นทุนที่สูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 1.96
          
3. ผลกระทบต่อสถานะ กำไร/ขาดทุน ของธุรกิจ
         
จากแบบสอบถาม พบว่าผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศจนทำให้ธุรกิจประสบปัญหาขาดทุนคิดเป็นร้อยละ 80 โดยแบ่งเป็น ขาดทุนน้อยจนถึงปานกลาง 52% และขาดทุนมาก 28% ส่วนผู้ประกอบการซึ่งธุรกิจยังคงรักษาระดับกำไรคิดเป็นร้อยละ 20 โดยแบ่งเป็น กำไรคงเดิม 12% และกำไรลดลง 8%
          
4. ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ขาดทุนต่อธุรกิจในอนาคต
          
ผู้ประกอบการซึ่งแจ้งว่าได้ผลกระทบต่อการปรับค่าจ้างครั้งนี้ พบว่าร้อยละ 58.33 สามารถประคองธุรกิจได้ ผู้ประกอบการร้อยละ 16.67 แจ้งว่าอาจต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ขณะที่ต้องถึงขั้นเลิกกิจการร้อยละ 10.42 และมีเพียงร้อยละ 6.25 เท่านั้นที่แจ้งว่าไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการประกอบธุรกิจ
          
5. แนวทางการแก้ไขและปรับตัวของธุรกิจ
          
จากแบบสอบถามในลักษณะเป็นคำถามเปิด ผู้ประกอบการได้แจ้งแนวทางการแก้ปัญหาและการปรับตัวของธุรกิจ เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง ดังนี้
 
1. ลดจำนวนพนักงาน/แรงงาน คาดว่าจะลดลงเฉลี่ย 10-50% โดยเริ่มลดตั้งแต่ปลายปี 2555
2. เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน เช่น การอบรมทักษะแรงงาน สามารถทำงานได้หลายตำแหน่ง และเพื่อเพิ่มผลผลิต
3. ลดการทำงานล่วงเวลาและลดสวัสดิการ
4. ปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่น การลดขั้นตอนการผลิต, ใช้เครื่องจักรทดเพื่อแทนแรงงาน
5. ลดต้นทุนการผลิต เช่น นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้, ใช้วัสดุน้อยลงหรือใช้วัสดุที่มีต้นทุนต่ำ
 
6. อื่นๆ เช่น เพิ่มหรือเปลี่ยนประเภทสินค้า, ย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศ CLMV, และการปรับราคาขาย
          
6. แนวคิดในการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ
          
ในด้านการย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในต่างประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 59.18 ไม่มีแนวคิดในการย้ายฐานการผลิตไปในต่างประเทศ และร้อยละ 14.29 ตอบว่ามีแนวคิดแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นหรือดำเนินการอย่างไร 
สำหรับผู้ที่แจ้งว่ามีแนวคิดและแผนงานที่จะไปลงทุนในต่างประเทศมีร้อยละ 26.53 โดยส่วนใหญ่มีแผนที่จะเริ่มไปศึกษาและลงทุนอย่างจริงจังในกลางปี 2556 โดยเกือบทั้งหมดมีแผนจะไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศที่น่าสนใจ เรียงลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้ 1.กัมพูชา 2.พม่า 3.ลาว 4.อินโดนีเซีย และ 5.เวียดนาม
          
มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ :
          
แบบสอบถามเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐสามารถช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการได้มากน้อยเพียงใด สามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้
          
1. ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด
          
ผู้ประกอบการร้อยละ 54.39 แจ้งว่าไม่ช่วยอะไร ขณะที่ตอบว่าช่วยได้น้อย คิดเป็นร้อยละ 28.07 และช่วยได้ปานกลางร้อยละ 3.51 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่แจ้งว่า ไม่รู้ว่ารัฐฯมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอะไร คิดเป็นร้อยละ 14.03 ซี่งการชี้แจงเช่นนี้ ทางรัฐบาลควรจะรับไปประกอบการพิจารณา
          
2. ผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม 
          
จากแบบสอบถามของผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่เห็นชัดเจน พบว่าร้อยละ 42.05 จะมีการลดจำนวนคนงาน ร้อยละ 20.28 ลดปริมาณการผลิต ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 15.94 แจ้งว่าอาจต้องถึงขั้นเลิกจ้างงาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่บอกว่าอาจต้องเลิกกิจการหรือย้ายฐานการผลิต คิดเป็นร้อยละ 13.04 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการร้อยละ 8.69 แจ้งว่าไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
          
3. ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออะไรมากที่สุด
          
จากแบบสอบถาม ผู้ประกอบการร้อยละ 23.33 ประสบปัญหาสภาพคล่อง อันเกิดจากผลประกอบการขาดทุน โดยมาตรการที่ภาคเอกชนต้องการจากรัฐฯ เรียงลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้
1. ชดเชยส่วนต่างค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นในระยะแรก, ลดภาษีต่างๆ และลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
2. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่สามารถเข้าถึงได้ และส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศในทุกๆ ด้าน
3. งบประมาณส่งเสริมประสิทธิภาพแรงงานและเครื่องจักร
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net