นวพล ลีนิน: ถามภาคประชาสังคม ใครคือประชาชน? ใครสมควรถูกฆ่า?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คำกล่าวอ้างถึงแหล่งที่มาของปัญหาความทุกข์ร้อนที่เรามักได้ยินคือ “ประชาชน” อย่างที่เข้าใจกันว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยต้องล้มลุกคลุกคลานมากว่า 80 ปี จากการใช้อำนาจทหารเข้าจัดการการเมืองการปกครอง ทั้งที่แนวคิดประชาธิปไตยเชื่อว่าอำนาจมีฐานรากมาจากประชาชน ดั่งสำนวนที่กล่าวว่า  “เสียงสวรรค์คือเสียงของประชาชน” ตามกระบวนการประชาธิปไตย ผู้ใดได้ยินเสียงสวรรค์ เสียงนั้นย่อมนำทางผู้นั้นไปสู่ความเข้าใจอำนาจรัฐ ด้วยความเข้าใจว่าเขาสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมใดๆที่ขับเคลื่อนไปโดยรัฐได้อย่างไร ระหว่างมีส่วนร่วมด้วยตัวของเขาเอง หรือมีส่วนร่วมผ่านผู้อื่น ในฐานะตัวแทนประชาชนผู้รับฟังเสียงสวรรค์นั้น นั้นคือแนวทางประชาธิปไตยซึ่งมีอุดมคติเชื่อมโยงกับความศรัทธาในพลังมหาประชาชน ด้วยการยึดโยงกันอย่างซับซ้อน

ประชาชน(People)  พลเมืองหรือประชากร ( Population) มวลชน ( masses) คำสามคำนี้ มีความเหมือนกันคือเป็นเซตใหญ่ของเซตย่อยของคนหรือมนุษย์ (Human) แม้คนคนเดียวพูดว่าเขาคือประชาชนเสียงของเขาจะเป็นเสียงสวรรค์หรือไม่นั้น คำตอบยิ่งซับซ้อนมากกว่า เพราะคนหนึ่งคนเชื่อมโยงสู่ความเป็นครอบครัว กลุ่มเครือญาติ กลุ่มสายใยอุปถัมภ์ กลุ่มท้องถิ่น กลุ่มสังคมชนเผ่า ในความเป็นคนเพียงคนเดียว ในบทบาทชีวิตของเขา พระ ตำรวจ ทหาร ผู้พิพากษา ผู้ติดเชื้อโรคร้าย นายกรัฐมนตรี โจรผู้ร้าย โสเภณี นักกีฬาฟุตบอล พ่อค้า นักการเมือง นักมวย พระราชา ข้าราชการ คนตกงาน รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ต้องหา ทหารพราน ผู้ต้องโทษ ทนายความ  นักการเมือง นักธุรกิจ  หรือบทบาทใดก็ตามที่ชีวิตมอบให้คนนั้น ต่างหนีไม่พ้นความเป็นคนหรือมนุษย์ (Human)

 
ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมเวทีภาคประชาสังคมสรุปเดินทางเข้าร่วม การหารือแนวทางสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพDiscussion on Approaches to supporting the Peace Dialogueวันพุธที่ 10 เมษายน 2556 เวลา 9.00 – 12.00 น. ณ ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมกับองค์กรประชาสังคม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกเดินเท้าทางจากบ้านที่นราธิวาสเวลา 6 โมงเช้า ไปถึงสถานีขนส่งนราธิวาส ซึ่งระยะทางระหว่างบ้านกับสถานีขนส่งห่างกันราว 500 เมตร ก่อนถึงประตูรั้วทางเข้าสถานีขนส่ง ผมเห็นรถบัสขนส่งคันเก่าสีน้ำเงินวิ่งออกมา แวบความคิดแรกว่าผมควรโบกรถคันนี้ดีไหม เพราะจะได้นั่งรถชมเส้นทางสายนราธิวาสปัตตานีไปเรื่อยๆ แต่อีกความคิดหนึ่งท้วงขึ้นว่ารถตู้น่าจะเร็วกว่า และในจังหวะความคิดนั้นความหิวก็ท้วงขึ้นว่า “ไปกินข้าวแกงกับกาแฟที่ร้านกะห์สถานีก่อน” เมื่อชั่งน้ำหนักการโต้เถียงโดยความคิดตัวเอง จึงตัดสินใจด้วยตัวเอง เพื่อประโยชน์ของตัวเองว่าไปรถตู้ดีกว่า แล้วจึงรู้ว่านั้นเป็นการตัดสินใจที่ทำให้แผนการเดินทางคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอยู่มาก เพราะกว่ารถตู้ออกจากสถานี รถต้องรอผู้โดยสารจนถึง 9 โมงเช้า ทำความเข้าใจว่าเจ้าของรถตู้มีความจำเป็นต้องรอผู้โดยสาร หากผู้โดยสารไม่มากพอในแต่ละเที่ยวโดยสารมันไม่คุ้มค่าน้ำมัน แม้ผู้โดยสารส่วนหนึ่งเห็นว่ามันนานมากแล้ว แต่อำนาจสิทธิขาดเป็นของเจ้าของรถตู้ เป็นความลำบากใจของเขาด้วยที่ต้องรอผู้โดยสารให้มากพอ ร่วมเส้นทางจากบ้านถึงสถานที่ประชุมประมาณร้อยกว่ากิโลเมตรผมต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง  
 
นั้นเป็นสาเหตุให้ผมมาถึงสถานที่ประชุมสักสิบโมงกว่าๆ งานนี้เจอคนรู้จักหลายคน  และหลายท่านเป็นเพื่อนกันทางเฟสบุ๊คโดยไม่เคยเจอตัวจริงเลย คนแน่นห้องประชุมมะเดื่อ ทางคณะผู้จัดเปลี่ยนห้องประชุมจากมะปรางมาเป็นห้องมะเดื่อเพื่อความสะดวก คาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่าสองร้อยคนโดยประมาณ เวทีด้านหน้าห้องประชุม ดร.นอเบิร์ต โรเปอร์ส กำลังบรรยายเรื่อง “ การหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ” ผมไปทันช่วงที่กำลังบรรยายถึงเปรียบเทียบสถานการณ์ความขัดแย้ง กระบวนการสันติภาพที่กำลังเกิดขึ้นว่าอยู่ในระดับไหน ความเป็นไปได้ของการพูดคุย จากหลายแห่งทั่วโลกนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดน
 
ในเวทีได้เปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ให้บรรดาผู้เข้าร่วม โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้เคลื่อนไหวประเด็นความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปประเด็นจากที่ประชุมเป็นที่น่าชื่นชมว่า ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับความหมายของคำว่าภาคประชาสังคมชายแดนใต้ โดยผู้เข้าร่วมหลายท่านได้ตั้งคำถามถึงความเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ทำอย่างไรให้เสียงของผู้คนในระดับรากหญ้าได้ดังขึ้นมา โดยสรุปประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นคือ
 
1.จุดร่วมที่สำคัญคือภาคประชาสังคมเดินหน้าต่อไปภาคประชาสังคมทำงานอย่างเป็นระบบมาก  ขึ้นสร้างข้อเสนอทีเป็นรูปธรรม
 
2.ทำอย่างไรให้  องค์กรภาคประชาสังคม (CSO, Civil Society Organization ) สามารถปรับสภาพ กลายเป็น party C หรือกลุ่มตัวแทนของฝ่ายประชาชนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการนำสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพจัดตั้งสภาประชาสังคม
 
3.ทำอย่างไรให้การพูดคุยในกระบวนการสันติภาพเข้าไปถึงประชาชนในระดับรากหญ้า การเปิดพื้นที่รับฟังเสียงชาวบ้านให้มากพอ จนพัฒนาเป็นข้อเสนอจากภาคประชาชน
 
โดยภาพรวมการจัดเวทีประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ แม้บททิ้งท้ายของท่านประธานเวทีภาคประชาสังคม ที่ฟังแล้วผมรู้สึกตกใจ ที่สื่อไปถึงฝ่ายขบวนการว่าให้กลุ่มขบวนการเลือกเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ที่แขวนปืนแทนเป้าหมายชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ เข้าใจได้ว่าท่านมีความประสงค์ที่ดี ในประโยคที่ทีเล่นทีจริงนั้น
 
ใครกันแน่คือประชาชนหากเราขบคิดเพียงมุมที่ว่า ประชาชนคือคนธรรมดาทั่วไป ผู้มีชีวิตด้วยศักดิ์ศรีในฐานะผู้บริสุทธิ์ ในฐานะผู้ประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงครอบครัว คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม เด็กและเยาวชน ในขณะเดียวกันฝ่ายกองกำลังของขบวนการ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ระดับสูงนั้นพวกเขามีสิทธิที่จะถูกกำหนดให้เป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำลายล้าง หรือพูดให้ง่ายขึ้นคือคือ “สมควรตาย”ด้วยหรือ ในสภาวะความขัดแย้งที่รุนแรง เวทีภาคประชาสังคมกำลังเป็นความหวังหนึ่งที่คนระดับล่างสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะเวทีภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งก่อเกิดขึ้นจากผลของสถานการณ์ความรุนแรง ชีวิตและทรัพย์สินผู้คนในพื้นที่สูญเสียในระดับที่มากพอ มากพอกระทั่งผลักดันให้ผู้คนส่วนหนึ่งเห็นว่าพวกเขาไม่สามารถนิ่งเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเริ่มสานเครือข่ายเชื่อมต่อผู้ที่ต้องการให้สถานการณ์ความรุนแรงยุติลง เชื่อมต่อคนกับคน คนกับองค์กร ดำเนินการไปสู่ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสภาภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ความย้อนแย้งของประชาธิปไตย นั้นคือสังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่เกิดจากการรวมตัวของเผด็จการหน่วยย่อย นั้นคือความหลากหลายในปัจเจกบุคคล เพราะเราต่างคือประชาชน อำนาจแห่งปัจเจกชนในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดด้วยตัวเอง อำนาจในสิทธิที่จะกำหนดใจตัวเอง (Right to Self Determination) เรามีสิทธิในตัวแห่งตน นั้นแน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้ว เสียงส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิชี้ขาดว่าใครหรือคนกลุ่มใดสมควรมีชีวิตอยู่หรือสมควรตาย หากเราต่างเป็นประชาชนไม่อาจส่งเสียงในนามประชาชนเพียงโดดๆได้ดังมากนัก ผู้มีอำนาจมักกล่าวอ้างที่มาของเสียงประชาชน ความขัดแย้งเกิดจากการนำพลังมวลชนมาสร้างฐานอำนาจ โดยยกความสูญเสียเลือดเนื้อของมวลชนฝ่ายตน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเรียกร้องความยุติธรรม ในทางรัฐศาสตร์การชุมนุมเคลื่อนไหวเป็นวิถีทางหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย เท่าที่ผ่านมาการชุมนุมเรียกร้องในประเทศไทยนั้น ต้องเกิดความสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อและทรัพย์สินเสียก่อนจึงจะบรรลุเป้าหมาย ทั้งที่วิถีการที่มีขั้นตอนและมีแบบแผนในการขับเคลื่อนพลังภาคประชาสังคมนั้นถูกกำหนดไว้ชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ  นั้นพิสูจน์ได้ว่าประชาชนและรัฐไทยมีบทเรียนในการปะทะสังสรรค์กันไม่เพียงพอ และสะท้อนเรื่องตลกร้ายที่ว่าพลังอำนาจของประชาชนนั้นแม้ตายไปแล้วก็ยังส่งผลได้หากปลุกขึ้นมา เป็นตลกร้ายที่เราอาจหัวเราะกันไม่ออกในความเป็นความตาย และความทุกข์ยากลำบากนั้น
 
สำหรับภาคประชาสังคมการชุมนุมโดยสงบ หากขับเคลื่อนตามขั้นตอนยื่นข้อเสนอที่ถูกต้องมักไม่ได้รับการใส่ใจจากรัฐบาลมากเท่าที่ควร ฝ่ายนำจึงมักใช้วิธีการระดมพลังมวลชนให้มากที่สุดเพื่อการกดดันรัฐบาล ยอมรับหรือไม่ก็ตาม ประชาชนส่วนหนึ่งต้องสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อรักษาอำนาจของผู้คนกลุ่มหนึ่งไว้ แม้กระทั่งตำรวจทหารเจ้าหน้าที่อีกด้านหนึ่งของพวกเขาคือประชาชน ทหารหาญผู้เสียชีวิตในสงครามตามท้องเรื่องในประวัติศาสตร์ ที่เรามักได้ยินว่าบรรพบุรุษเสียสละเลือดเนื้อเพื่อแลกแผ่นดินมา ส่วนใหญ่ของทหารในกองทัพคือไพร่ศักดินาที่ถูกเกณฑ์ไปรบ ซึ่งก็คือลูกหลานของประชาชนระดับล่างนั้นเอง
 
ทั้งนี้ภาคประชาสังคมจำเป็นต้องวิวัฒน์ไปเพื่อให้เกิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด เพื่อสร้างบทเรียนที่ดีให้รัฐปรับตัว หากเราต้องการทราบว่าประชาชนมีส่วนร่วมต่อสังคมและชุมชนของเขามากน้อยแค่ไหน ตัวชี้วัดหนึ่งที่สามารถสังเกตได้ง่ายคือ การดูแลรักษาทรัพย์สินสาธารณะประโยชน์ของรัฐ ร่วมถึงการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอย่างเต็มใจ ชุมชนใดที่ผู้คนในชุมชนใส่ใจปัญหาของชุมชนตนเอง นั้นแสดงว่าชุมชนนั้นเปิดพื้นที่มากพอจนผู้คนในชุมชนเกิดความรู้สึกรักในชุมชน รักด้วยความเข้าใจว่าเขาก็เป็นผู้หนึ่งที่เป็นเจ้าของชุมชนนั้น และการวิวัฒน์ไปสู่การเมืองภาคประชาสังคมในท้ายที่สุด คือความหวังในการจัดการอยู่ร่วมกันของผู้คนทั่วโลก ทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วย
 
โจทย์ที่สำคัญของภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้คือสร้างพื้นที่ให้ประชาชนร่วมหาทางออก โดยไม่ต้องฆ่ากันอีก ในคำถามข้อ 1) (ตอบแบบอัตนัยว่า) ใครกันคือประชาชน? ข้อ 2) ใครกันคือผู้สมควรถูกฆ่า? จากตัวเลือก 4 ข้อ คือ
 
a) เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐโดยเฉพาะผู้ติดอาวุธ
b) กองกำลังฝ่ายขบวนการ
c) ประชาชนผู้บริสุทธิ์
d) ไม่มีข้อถูก     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท