การต้อนรับประชาคมอาเซียนแบบปักธงชาติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

(ที่มาของภาพประกอบ: ประชาไท)

ทุกคนทราบเป็นอย่างดีว่า  การเปิดประชาคมอาเซียนซึ่งเริ่มต้นด้วยการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในภูมิภาค สังคมไทยมีความตื่นตัวสูงในการต้อนรับประชาคมอาเซียน ความตื่นตัวนั้นสามารถสังเกตได้ที่จากสถานที่ราชการ โรงเรียนเกือบทุกแห่งปักธงชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ มีโรงเรียนแห่งหนึ่งเขียนคำเชิญในภาษาของประเทศสมาชิกทุกประเทศบนกำแพงรอบโรงเรียน โรงแรมหลายแห่งก็ติดแผ่นป้ายไวนิลต้อนรับประชาคมอาเซียน ในร้านหนังสือมีหนังสือเกี่ยวกับอาเซียนหลายสิบเล่มวางจำหน่ายอยู่  ในงานเทศกาลต่างๆอาทิ งานกาชาด  ก็มีกิจกรรมในงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาเซียน 

แต่ “ความตื่นตัว” ที่เราสามารถเห็นได้ในทุกสถานที่นั้น ไม่ได้หมายความว่าสังคมไทยมี “ความพร้อม” ที่จะต้อนรับประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริง ความจริงแล้วการเตรียมตัวเหล่านี้เป็นการจัดการประเภทผักชีโรยหน้าซึ่งใช้งบประมาณมาก แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความพร้อมที่แท้จริงในสังคม 

ความพร้อมเพื่อต้อนรับอาเซียนไม่ได้หมายความว่า คนไทยทุกคนต้องรู้ทุกเรื่องแบบผิวเผินเกี่ยวกับประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ แต่นโยบายที่เกี่ยวกับการต้อนรับอาเซียนของประเทศไทยมีลักษณะนี้เป็นส่วนใหญ่ในทุกระดับ 

หลังจากมีกระแสอาเซียน มีหนังสือหลายๆ เล่มเกี่ยวกับอาเซียนจำหน่ายอยู่ที่ร้านหนังสือ แต่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือความรู้ตัวไป โดยแทบจะไม่มีข้อมูลทางด้านวิชาการ หนังสือเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการแนะนำประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะสำหรับเด็กนักเรียน แต่ปัญหาคือแทบไม่มีหนังสือที่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมในการต้อนรับประชาคมอาเซียน เพื่อต้อนรับอาเซียน เราจำเป็นต้องเข้าใจระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจหรือระบบการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน แต่งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มีไม่มาก และงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ก็ยิ่งมีน้อย 

เมื่อเราต้องการทราบธงชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนมีลายแบบไหน เราสามารถหาข้อมูลนี้ได้จากหนังสือหรืออินเตอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องปักธงชาติของประเทศสมาชิกทุกประเทศหน้าโรงเรียน นี่คือการสิ้นเปลือง การเรียนภาษาก็เช่นเดียวกัน คนไทยชอบแนะนำคำทักทาย คำขอบคุณ คำเชิญ ฯลฯ ในภาษาของประเทศสมาชิกทุกประเทศให้นักเรียนท่อง คำถามคือ เราจำเป็นต้องรู้คำเหล่านี้ในภาษาของประเทศสมาชิกทุกประเทศหรือไม่ และความรู้เหล่านี้มีความหมายอะไรบ้าง  ไม่มีประเทศสมาชิกสหภาพอียูที่แนะนำคำทักทายของประเทศสมาชิกทุกประเทศให้ประชาชนรู้จัก ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศที่เสียเวลาและใช้งบประมาณกับกิจกรรมลักษณะนี้น่าจะมีแต่ประเทศไทยประเทศเดียว 

เมื่อไปประเทศมาเลเซีย เราคงจะไม่เจอธงชาติประเทศสมาชิกอาเซียนปักอยู่หน้าตึกใดๆ แทบจะไม่มีไวนิลเกี่ยวกับอาเซียนด้วย ดูเหมือนว่าประเทศนี้ไม่มีความตื่นตัวต้อนรับประชาคมอาเซียน แต่สภาพเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศนี้ไม่มีความพร้อม แค่ไม่จำเป็นต้องมีความตื่นตัวแบบประเทศไทย เพราะมีความพร้อมมานานแล้ว เนื่องจากประเทศมาเลเซียมีระบบการศึกษาที่สืบเนื่องมาจากระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษ โดยภาพรวมคนมาเลเซียมีทักษะภาษาอังกฤษค่อนข้างสูง นักวิชาการเกือบทุกคนในทุกด้านสามารถนำเสนอบทความวิชาการหรือบรรยายในภาษาอังกฤษได้อย่างดี ประชาชนมาเลเซียทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อสายใดก็ตาม ต้องเรียนภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนโดยมีประชาชนครึ่งหนึ่งของอาเซียนเป็นผู้ใช้ 

นอกจากชาวมลายูซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุด ในประเทศมาเลเซียยังมีเชื้อสายอื่นๆ เช่น เชื้อสายจีน เชื้อสายอินเดีย เชื้อสายสยาม ฯลฯ แต่ละเชื้อสายมีสิทธิที่ใช้ภาษาของตัวเอง คนเชื้อสายจีนและเชื้อสายอินเดียมีโรงเรียนประถมที่ใช้ภาษาของตัวเองในการเรียนการสอน ส่วนคนเชื้อสายสยามสามารถเรียนภาษาไทยในวัดโดยมีพระเป็นครูสอนภาษา 

ตามนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East Policy) รัฐบาลมาเลเซียส่งนักศึกษาจำนวนมากไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี โดยเฉพาะในด้านสาขาวิชาสายวิทย์ เช่นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสร์ แพทย์ศาสตร์ ฯลฯ นักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้เรียนในภาษาอังกฤษ แต่เรียนในภาษาญี่ปุ่นหรือเกาหลีเป็นเวลาอย่างน้อยสี่ปี 

โดยสรุป ประเทศมาเลเซียไม่เพียงแค่มีความพร้อมทางด้านภาษาที่สำคัญในอาเซียนเช่นภาษามลายูและภาษาอังกฤษ ยังมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่มีความรู้เกี่ยวกับประเทศอาเซียน+3 ได้แก่ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน นอกจากนี้ก็ยังมีชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียที่มีสายสัมพันธ์และสามารถใช้ภาษาอินเดีย และยังมีนักศึกษาไปศึกษาต่อในประเทศออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ สถานการณ์เช่นนี้หมายความว่า ประเทศมาเลเซียมีความพร้อมที่จะต้อนรับประชาคมอาเซียนรวมถึงประเทศอาเซียน+6 ด้วย ไม่ใช่แค่อาเซียน+3 เท่านั้น 

นี่คือความแตกต่างระหว่าง “ความตื่นตัว” กับ “ความพร้อม” ที่จะต้อนรับประชาคมอาเซียน เรายังมีเวลาอีกประมาณสองปีครึ่ง ที่จะเลิกกิจกรรมปักธงชาติประเทศสมาชิกอาเซียน แต่มอบให้ความรู้และทักษะที่้ใช้งานได้จริงให้กับประชาชนเพื่อเตรียมพร้อมที่จะ"เข้าสู่"ประชาคมอาเซียนแทน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท