'แอมเนสตี้' ประณามการประหารชีวิตครั้งล่าสุดในไต้หวัน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้การประหารชีวิตนักโทษครั้งล่าสุด 6 คนในไต้หวันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณของการเอาโทษประหารกลับมาใช้ หลังจากที่รัฐเคยแถลงว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิต

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ออกแถลงการณ์ประณามการประหารชีวิตในไต้หวันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งประหารนักโทษจำนวน 6 คน โดยเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ไต้หวันได้ประหารชีวิตนักโทษอีก 6 คน ในปี 2554 ประหารชีวิต 5 คน และในปี 2553 ประหารชีวิต 4 คน ซึ่งนับป็นครั้งแรกหลังจากมิได้ประหารชีวิตเลยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่นๆ ได้เรียกร้องให้ไต้หวันปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การยุติโทษประหารชีวิตอย่างเป็นขั้นตอน

ทั้งนี้ ไต้หวันเป็นหนึ่งในแปดประเทศหรือดินแดนในเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการประหารชีวิตบุคคลเมื่อปี 2555 และการที่ไต้หวันประหารชีวิตนักโทษหกคนเมื่อปีที่แล้วทำให้กลายเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากสุดอันดับห้าของภูมิภาค
 
0000
 
ไต้หวัน การประหารชีวิตเพิ่มอีกหกครั้งเป็นสัญญาณการกลับคืนมาของโทษประหาร
 
ทางการไต้หวันประหารชีวิตชายหกคนเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 เม.ย.) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากที่รัฐเคยแถลงจุดยืนที่จะยกเลิกการกระทำอันโหดร้ายเช่นนี้
 
ผู้ที่ถูกประหารประกอบด้วยเจิ้งตุงชุง (Chen Tung-Jung) เจิ้งชุยจิ้น (Chen Jui-Chin) หลินจิ้นเต (Lin Chin-Te) จาเป่าฮุย (Chang Pao-Hui) ลีเจียชวน (Li Chia Hsuan) และจี้จุนอ้าย (Chi Chun-I) 
 
การประหารชีวิตล่าสุดครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่เดือนหลังมีการประหารชีวิตนักโทษหกคนเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นการประหารชีวิตเพียงครั้งเดียวในปีที่แล้ว 
 
“การประหารชีวิตบุคคลถึง 12 ครั้งในไต้หวันในเวลาไม่ถึงหกเดือน ทำให้เกิดคำถามที่จริงจังต่อรัฐเกี่ยวกับจุดยืนที่จะยกเลิกโทษประหาร” แคเธอลีน เบเบอร์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว 
 
“ประธานาธิบดีหม่ายิ่งเฉียวควรประกาศใช้ความตกลงเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวโดยทันที และจัดให้มีการอภิปรายระดับชาติเพื่อยกเลิกการใช้โทษดังกล่าวในอนาคต”
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ มานเฟรด โนวัก (Manfred Nowak) อดีตผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และไอดี้ ริเดล (Eibe Riedel) จากคณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้ไปเยือนประเทศไต้หวัน และเรียกร้องให้มีความตกลงยุติการใช้โทษประหารดังกล่าว
 
ทั้งโนวักและริเดลต่างเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลให้พิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในรายงานที่พวกเขาเขียนและเผยแพร่ที่กรุงไทเปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 คณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศมีข้อเสนออย่างจริงจังให้รัฐบาลไต้หวันเพิ่มความพยายามมุ่งไปสู่การยกเลิกโทษประหาร และสำหรับขั้นตอนแรกที่สำคัญ ควรนำความตกลงเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวมาใช้ ทั้งยังกระตุ้นให้รัฐบาลปฏิบัติตามมาตรการเชิงปฏิบัติและเชิงสารบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โทษประหาร และให้ลดโทษประหารในทุกคดีกรณีที่เป็นการลงโทษโดยอาศัยหลักฐานที่ได้จากการบังคับให้สารภาพโดยการทรมาน ในระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนยกเลิกโทษประหาร
 
รัฐบาลไต้หวันแสดงปฏิกิริยาต่อข้อสังเกตดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่ “ยาก” สำหรับไต้หวันที่จะยกเลิกโทษประหารในปัจจุบัน และได้จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อทบทวนความเป็นไปได้ของการยกเลิกโทษประหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป
 
ในรายงานประจำปีว่าด้วยการลงโทษประหารและการประหารชีวิตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมือต้นเดือนที่แล้วระบุว่า ไต้หวันเป็นหนึ่งในแปดประเทศหรือดินแดนในเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการประหารชีวิตบุคคลเมื่อปี 2555 และการที่ไต้หวันประหารชีวิตนักโทษหกคนเมื่อปีที่แล้วทำให้กลายเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากสุดอันดับห้าของภูมิภาค
 
ในปัจจุบัน มีนักโทษประหาร 50 คนในไต้หวันซึ่งรอที่จะถูกประหารเนื่องจากได้ดำเนินการตามขั้นตอนขออภัยโทษต่าง ๆ จนหมดแล้ว
 
ปรกติแล้วทางการจะไม่แจ้งให้สมาชิกในครอบครัวทราบถึงกำหนดการประหารชีวิตล่วงหน้า โดยจะทราบข่าวก็ต่อเมื่อได้รับแจ้งให้ไปรับศพจากที่เก็บศพ
 
นอกจากนั้น ยังมีข้อกังวลอย่างร้ายแรงต่อการไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรม สำหรับคดีที่มีการใช้โทษประหารในไต้หวัน 
 
เมื่อเดือนเมษายน 2555 ศาลสูงไต้หวันเพิกถอนคำสั่งประหารชีวิตชายสามคนในคดีฆาตกรรมสามีภรรยาเมื่อ 21 ปีที่แล้ว เพราะพบว่าเป็นการลงโทษโดยอาศัยคำรับสารภาพที่ไม่น่าเชื่อถือ
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านโทษประหารทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท