สุรพศ ทวีศักดิ์: ความย้อนแย้งของ ‘ศาสนา-เสรีภาพ’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ไม่มีหลักฐานว่า พุทธะอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับ “ระบบการปกครองที่พึงประสงค์” เอาไว้อย่างชัดเจน พอที่จะสรุปอย่าง “ฟันธง” ได้ว่า ระบบการปกครองตามทรรศนะของพุทธะเป็นราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย

คราวที่แล้วผมพูดถึงข้อสังเกตของ Alexis de Tocqueville ว่าในสหรัฐอเมริกา “เสรีภาพ” มอง “ศาสนา”  เป็น “สหายที่ร่วมกันต่อสู้...” นี่เป็นความจริงในรัฐฆราวาส (Secular State) ที่รัฐกับศาสนาเป็นอิสระจากกัน รัฐถือว่าศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่ก้าวก่ายศาสนจักร ขณะที่ศาสนาอยู่ได้ด้วยศรัทธาของเอกชน เคารพและสนับสนุนสิทธิพลเมือง นักบวชหรือศาสนจักรก็ระมัดระวังที่จะไม่แสดงความเห็นทางการเมืองที่ก้าวล่วงกิจการของรัฐ

แต่กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ได้ รายทางช่างเต็มไปด้วยเรื่องราวย้อนแย้ง (irony) ของศาสนากับเสรีภาพ หากเราไปอ่าน “ความคิดทางการเมืองจากเปลโต้ถึงปัจจุบัน” ของ เอ็ม.เจ.ฮาร์มอน (แปลโดยเสน่ห์ จามริก, 2555) จะพบว่า แรกทีเดียวพระเยซูไม่ได้สอนแนวคิดทางการเมืองเลย คำสอนของท่านที่ถูกมองว่ามีนัยทางการเมืองมีเพียงว่า “ดังนั้นจงมอบแด่เซซาร์ ในสิ่งที่เป็นของเซซาร์ และจงมอบแด่พระเจ้า ในสิ่งที่เป็นของพระเจ้า” (Matthew XXII: 21) และที่ว่า “อาณาจักรของตูข้าไม่ใช่ของโลกนี้” (John XVIII:36)

บรรดาสาวกในระยะต่อมาต่างหากที่ตีความคำสอนของพระเยซูสนับสนุนอำนาจทางการเมืองอย่างจะแจ้ง ดังทรรศนะของเซนต์ปอล (St.Paul) ที่ว่า

...อำนาจทั้งปวงที่เป็นอยู่ตั้งขึ้นโดยพระเจ้า ดังนั้นใครก็ตามที่ขัดขืนอำนาจเท่ากับขัดขืนพระบัญญัติของพระเจ้า...จงมอบสิ่งทั้งหมดที่พึงเป็นของตัวแทนพระเจ้า คือ มอบความเคารพแด่ผู้ที่ความเคารพพึงเป็นของเขา มอบธรรมเนียมแด่ผู้ที่ธรรมเนียมพึงเป็นของเขา มอบความกลัวแด่ผู้ที่ความกลัวพึงเป็นของเขา มอบเกียรติแด่ผู้ที่เกียรติพึงเป็นของเขา (Romans XIII:1-7)

นี่คือที่มาของความคิดทางการเมืองแบบ “เทวสิทธิ์” ที่ถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของพระเจ้า และอำนาจในการปกครองทั้งปวงในโลกนี้มาจากพระเจ้า คือพระเจ้ามอบอำนาจให้ศาสนจักรปกครองอาณาจักรทางจิตวิญญาณ เพื่อความรอดชองชีวิตในโลกหน้า และให้อำนาจแก่กษัตริย์ปกครองอาณาจักรทางโลก เพื่อความรอดของชีวิตในโลกนี้ นี่คือทฤษฎี “ดาบสองเล่ม” ที่ให้ศาสนจักรมีอำนาจควบคู่กับอาณาจักร โดยที่อาณาจักรต้องคล้อยตามศาสนจักร เพราะความรอดในโลกนี้เป็นสิ่งชั่วคราว แต่ความรอดในโลกหน้าเป็นนิรันดร์

ต่อมาศาสนจักรและอาณาจักรเกิดความขัดแย้งกัน และภายในศาสนจักรเองก็มีความขัดแย้งจนเกิดขบวนการปฏิรูปศาสนา เกิดนิกายโปรเตสแตนต์ที่ต่อต้านการผูกขาดอำนาจของศาสนจักรแห่งโรม มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) คือหนึ่งในนักคิดคนสำคัญในขบวนการปฏิรูป เขาเสนอให้ "หวนกลับไปหาศาสนาที่บริสุทธิ์ธรรมดา และดั้งเดิมกว่า กล่าวคือ ศาสนาที่คนทั้งปวงสามารถเข้าใจและยึดมั่น โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การแปลความลัทธิอย่างบิดเบือนของวงการอำนาจฝ่ายนักบวช"

ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเข้าใจพระวัจนะในคัมภีร์ และเข้าถึงพระเจ้าโดยตรงด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านสื่อกลางคือพวกนักบวชหรือศาสนจักร เขากล่าวว่า "คนทั้งปวงเสมอกันในสายตาของพระเจ้า และในความสามารถที่จะเข้าใจพระวัจนะของพระองค์"

แต่แม้ลูเธอร์จะเสนอให้มี “เสรีภาพทางศาสนา” เขากลับมีความคิดทางการเมืองแบบเทวสิทธิ์ เขาเห็นว่า "คริสตศาสนิกเสมอกันในสายตาของพระเจ้า แต่ไม่เสมอกันในความสามารถที่จะทำการปกครอง เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นไปไม่ได้ และอำนาจต้องรวมอยู่ในมือของเจ้าผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจในนามของพระเจ้า"

และเมื่อปล่อยให้ปัจเจกแต่ละคนมีเสรีภาพตีความพระวัจนะในคัมภีร์ ปรากฏว่ามีการตีความผิดไปจากคัมภีร์เดิมมากขึ้นเรื่อยๆ ลูเธอร์จึงเรียกร้องให้รัฐเข้ามามีบทบทควบคุม ข้อเสนอให้คนมีเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่แรกจึงถูกข้อเสนอหลังทำให้ศาสนาขึ้นต่อรัฐ หรือเป็น “ศาสนาแห่งรัฐ”  และรัฐกลายเป็นผู้ผูกขาดการตีความศาสนาแทนศาสนจักรไป

ต่อมาฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ได้อ้างคำพูดของลูเธอร์ว่า "ถ้าคนทั้งปวงเสมอกันในสายตาของพระเจ้าได้ แล้วทำไมจะเสมอกันในความสามารถทางการปกครองไม่ได้" ฉะนั้น ประโยคว่า "คนทั้งปวงเสมอกันในสายตาของพระเจ้า" ที่ผู้พูดไม่ได้ตั้งใจสนับสนุนประชาธิปไตยตั้งแต่แรก ได้ถูกนำมาอ้างสนับสนุนประชาธิปไตยในระยะต่อมา

แล้วในที่สุด ความเสมอภาคและเสรีภาพก็กลายเป็นสิ่งที่พระเจ้าให้มาเพื่อสนับสนุนอิสรภาพและประชาธิปไตย ดังปรากฏใน “คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา” วรรคสองที่ว่า เราถือว่าความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือมนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระเจ้าผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้น ได้แก่ ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข” นี่น่าจะเป็นรากฐานที่มาของความคิดที่ว่า เสรีภาพและศาสนาคือ “สหายร่วมกันต่อสู้...” ตามที่ Tocqueville ตั้งข้อสังเกต

เมื่อหันมาดูพุทธศาสนา มีหลักฐานในพระไตรปิฎกชัดเจนว่า คำสอนของพุทธะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองมากกว่าคำสอนของพระเยซู คือมีทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับการเริ่มต้นของ “สังคมการเมือง” และเกี่ยวกับ “คุณธรรมทางการเมือง”

เช่น ในอัคคัญญสูตรที่พุทธะเล่าถึงการเกิดสังคมการเมืองว่า เกิดจากการที่สมาชิกของประชาคมมาประชุมตกลงกันเลือกผู้ปกครองขึ้นมา (ซึ่งบ่งว่า “อำนาจของผู้ปกครองมาจากความยินยอมของประชาชน”) ผู้ปกครองคนแรกที่ถูกประชาคมเลือก เรียกว่า “มหาชนสมมติ” ต่อมาผู้ปกครองเช่นนั้นกลายเป็นเจ้าที่ดินสำหรับทำการเกษตรจำนวนมาก จึงถูกเรียกว่า “กษัตริย์” และเมื่อปกครองดีราษฎรรัก จึงเรียกว่า “ราชา”

แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่า พุทธะอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับ “ระบบการปกครองที่พึงประสงค์” เอาไว้อย่างชัดเจน พอที่จะสรุปอย่าง “ฟันธง” ได้ว่า ระบบการปกครองตามทรรศนะของพุทธะเป็นราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย

ผิดจากแนวคิดทางการเมืองของคริสต์ที่อธิบายเรื่องอำนาจของผู้ปกครองเอาไว้อย่างชัดเจน เช่น จอห์น แคลวิน (John Kalvin) ผู้ต่อยอดความคิดปฏิรูปศาสนาของลูเธอร์อธิบายว่า อำนาจทั้งปวงมาจากพระเจ้า และเป็นอำนาจเด็ดขาดที่ต่อต้านไม่ได้ ถ้าประชาชนถูกกดขี่ เขาอาจร้องเรียนต่อผู้ปกครอง แต่เขาก็ยังต้องให้ความเคารพเชื่อฟังอยู่นั่นเอง “ผู้ปกครองที่เลวมีสิทธิ์ได้รับความเคารพเชื่อฟังเท่ากับผู้ปกครองที่ดี” เพราะพระเจ้าไม่ได้ทำอะไรโดยปราศจากจุดประสงค์ จึงชัดแจ้งว่าผู้ปกครองที่เลวนั้น พระเจ้าประทานมาให้อยู่เหนือเรา เพื่อเป็นการลงโทษสำหรับบาปของเรา

แต่แทนการอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจและระบบการปกครอง พุทธะกลับสอน “คุณธรรมทางการเมือง” มากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นการเสนอให้ผู้ปกครองหรือรัฐใช้ “พระคุณ” มากกว่า “พระเดช”

ปัญหามีว่าเนื้อหาสาระของคุณธรรมทางการเมืองที่พุทธะสอนมีรายละเอียดอย่างไร จึงทำให้ตีความกันไปว่า “พุทธศาสนาค่อนไปทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากกว่าประชาธิปไตย” เราจะอภิปรายประเด็นนี้ในฉบับหน้า

 

 

 

หมายเหตุ : ชื่อบทความเดิม พุทธศาสนากับประชาธิปไตย (4): ความย้อนแย้งของ ‘ศาสนา-เสรีภาพ’

เผยแพร่ใน “โลกวันนี้วันสุข” ปีที่ 8 (14) ฉบับที่ 408 (20 -26 เมษายน 2556)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท