Skip to main content
sharethis

ชี้แจงคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ศาลโลกยึดแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่ได้ยึดหลักสันปันน้ำ หรือเส้นเขตแดนที่ ครม.ไทยปี 2505 กำหนด ตามที่ "ฮีโรของชาวไทย" ยกในศาล และยังได้ประท้วงการกำหนดเส้นขอบเขตของฝ่ายไทยหลายครั้ง โดยการยื่นศาลโลกรอบนี้ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการกล่าวให้ร้ายกันและรักษาความสัมพันธ์อันดีของสองชาติ

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นี้ สำนักข่าว AKP ของกัมพูชา ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของ กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา ใจความโดยสังเขประบุว่า ระหว่างที่มีการไต่สวนที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ระหว่างวันที่ 15 ถึง 19 เมษายนนั้น ในเวลาใกล้เคียงกัน ได้มีนักการเมืองไทยและสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ให้แก่ประชาชนไทย โดยกล่าวหากัมพูชาในหลายประเด็น

เพื่อให้ความกระจ่างแก่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประชาชนไทย กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา ต้องการที่จะชี้แจงข้อมูลดังนี้

 

1. แผนที่ 1/200,000 หรือ แผนที่ภาคผนวก 1 เกิดขึ้นจากคณะกรรมการผสมฝรั่งเศส-สยาม ในปี ค.ศ. 1907 ซึ่งไม่ใช่แผนที่ซึ่งทำขึ้นเองโดยฝรั่งเศสเพียงฝ่ายเดียว อย่างที่ฝ่ายไทยกล่าว

2. ในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ยึดถือแผนที่นี้ เพื่อใช้วินิจฉัย

3. ศาลไม่ได้ใช้หลักสันปันน้ำ หรือเส้นที่กำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรีไทยในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1962 (หมายเหตุ - หลังคำวินิจฉัยศาลโลก 15 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1962) ตามที่ผู้ซึ่งถูกขนานนามว่า "ฮีโร่ของชาวไทย" (หมายถึง อลินา มิรอง) ยกขึ้นระหว่างให้การ

4. ในเวลาที่มีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการตีความในเดือนเมษายนปี 2011 กัมพูชาได้ใช้แผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งได้มาจากสถานบันภูมิศาสตร์แห่งชาติ ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแผนที่ฉบับเดียวกับที่ศาลใช้ในปี ค.ศ. 1962 เพื่อวินิจัยคดี จึงไม่ใช่แผนที่คนละฉบับกับที่กัมพูชาเคยยื่น

5. ในทศวรรษที่ 1960 หลังจากที่คณะรัฐมนตรีไทยได้กำหนดแนวขอบเขตรอบปราสาทพระวิหารนั้น กัมพูชาได้ประท้วงโดยผู้นำระดับสูงสุดหลายครั้ง ดังนี้แสดงรายละเอียดไว้กับศาลโลก เช่น

ที่สมเด็จนโรดมสีหนุ ในฐานะประมุขของรัฐ ได้ประท้วงในระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่จอมกสานเมื่อ 4 มกราคม ปี ค.ศ. 1963 และระหว่างการแถลงข่าวที่พนมเปญเมื่อ 22 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1967

ที่เจ้าชายนโรดม คันทล นายกรัฐมนตรีได้ประท้วงโดยยื่นจดหมายต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเมื่อ 23 เมษายน ค.ศ. 1966

ฮวด สัมบัติ ผู้แทนถาวรของราชอาณาจักรกัมพูชาที่สหประชาชาติได้ประท้วงเมื่อ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1966

 

ดังนั้น กัมพูชาไม่เคยยอมรับแนวขอบเขตรอบปราสาทพระวิหารที่ไทยประกาศฝ่ายเดียวในปี ค.ศ. 1962 ซึ่งตรงข้ามกับที่ไทยอ้างว่ากัมพูชายอมรับ

เพราะฉะนั้น ที่บอกว่ากัมพูชาได้ยอมรับเส้นแสดงอาณาเขตที่กำหนดโดยคณะรัฐมนตรีไทยนั้นเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ

6. สิ่งที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องไปยังศาลขณะนี้ ไม่ใช่การยื่นคำร้องในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร หรือการอ้างเส้นเขตแดน แต่เป็นเพียงการยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความในคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ. 1962 ที่ระบุว่า

"ศาล...พบว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา;

ดังนั้น ไทยอยู่ภายใต้ผลผูกมัดที่จะต้องถอนกำลังทหารและตำรวจ หรือยามรักษาการ หรือคนเฝ้า ซึ่งอยู่ที่ปราสาทหรือบริเวณอาณาเขตของดินแดนกัมพูชา"

7. นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยได้อ้างว่าครอบครองพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ตามที่ระบุในสิ่งพิมพ์ฉบับทางการ ของกระทรวงการต่างประเทศในปี ค.ศ. 2008 และ 2011 ไม่ใช่การอ้างของฝ่ายกัมพูชาอย่างที่ฝ่ายไทยโกหก

8. ในอดีต ตามหลักกฎหมายของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ว่า ถ้าแบบจำลองตั้งอยู่บนเหตุผล ทั้งแบบจำลองและเหตุผลไม่อาจแบ่งแยกได้ นี่เป็นหลักสำหรับปฏิบัติของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและในคดีปัจจุบันของปราสาทพระวิหาร

สรุป กัมพูชาเชื่อว่าเป็นการดีกว่า ถ้าจะให้คดีนี้อยู่ภายใต้การตัดสินใจของศาลซึ่งมีความสุขุม แทนที่จะนำไปเผยแพร่ด้วยข้อมูลที่บิดเบือน หรือกล่าวให้ร้ายกัน ทั้งนี้เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net