Skip to main content
sharethis

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งแรกของสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย (National Union of Journalists Thailand) โดยที่ประชุมมีมติเลือก 'สุเมธ สมคะเน' จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นประธานสหภาพฯ  ในช่วงวันกรรมกรสากล 'ประชาไท' คุยกับ  'สุเมธ สมคะเน' เกี่ยวกับความเป็นมาและเป็นไปของสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมสื่อแห่งแรกของไทย

 


ภาพโดย คิม ไชยสุขประเสริฐ

 


ความเป็นมาของการก่อตั้งสหภาพแรงงาน
เริ่มมาจากหลังเกิดวิกฤตการเมืองหลายครั้ง โดยเฉพาะล่าสุด คือ เมื่อปี 53 นักข่าวภาคสนามกลุ่มหนึ่ง ยื่นข้อเรียกร้องถึงสมาคมนักข่าวและองค์กรวิชาชีพสื่อและองค์กรต้นสังกัด 9 ข้อเพื่อเรียกร้องเรื่องสวัสดิการ-สวัสดิภาพในการทำงาน ผ่านไปสองปียังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร บางที่ก็ได้รับการปรับปรุงแก้ไข บางที่ยังไม่มีการแก้ไขตามที่ยื่นข้อเรียกร้องเข้าไป จึงมานั่งคิดปรึกษากันว่าจะหาทางออกทางไหนดี ก็เลยมาจบที่ว่าตั้งสหภาพแรงงานกลางของนักข่าวขึ้นมา ทำกันเอง ดูแลกันเอง มีการเตรียมงาน คุยกันมาตลอด จนกระทั่ง ก.ย. 55 ได้ดำเนินเรื่องจดทะเบียน สหภาพแรงงานกลาง และต้นมกราคมที่ผ่านมา ก็มีการประชุมใหญ่เป็นครั้งแรก
 

ใครเป็นสมาชิกได้บ้าง
ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 เป็นพนักงานในองค์กรสื่อที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ คือเป็นบริษัทอะไรก็ได้ ที่ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน วิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือเว็บไซต์  ก็สามารถที่จะมาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเราได้ เบื้องต้นก็อยากได้พี่น้องๆ ที่เป็นนักข่าวภาคสนามก่อน แต่พอเป็นสหภาพแรงงาน มันเฉพาะนักข่าวไม่ได้หรอก อาจเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด พนักงานขับรถ ช่างภาพ คนที่ทำงานในองค์กรสื่อทั้งหมด
 

ทำไมถึงเลือกจดทะเบียนสหภาพฯ แบบอุตสาหกรรม
เนื่องจากหลายองค์กรสื่อ ผู้ประกอบการยังมองภาพลักษณ์ของสหภาพแรงงานไม่ค่อยดี ณ วันนี้ องค์กรสื่อที่มีสหภาพแรงงาน มีแค่สองที่ คือบางกอกโพสต์ กับเนชั่น กรุ๊ปเท่านั้น แต่อีกหลายที่ผู้บริหารก็ไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่กับการมีสหภาพแรงงาน
 

มองว่าอะไรคืออุปสรรคที่องค์กรสื่อก่อตั้งสหภาพแรงงานไม่ได้สักที
ปัญหาสำคัญคือการรวมตัวของคนทำงานในองค์กรสื่อเอง ที่ยังมีมุมมองทัศนคติที่ไม่ตรงกันบ้าง และปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ต้นสังกัดไม่ยินยอม ทำให้การต่อสู้เรียกร้องของนักข่าวเองไม่ดีเท่าที่ควร แต่ในรูปแบบของสหภาพฯ ที่ทำนี้ ไม่ได้เน้นการก่อม็อบประท้วง แต่เข้ามาเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้พี่น้องที่ทำงานภาคสนาม ไม่ว่า ช่างภาพ สื่อมวลชน คนขับรถ ช่วยเหลือพี่น้องภาคสนาม ที่มีปัญหาการจ้างงานหรือปัญหาสวัสดิการ สวัสดิภาพ
 

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างไร
ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ทางสมาชิกของสหภาพฯ ขององค์กรหนึ่ง เช่น 20% ของพนักงานสำนักพิมพ์ ก. ต้องเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกลาง เราถึงจะเข้าไปช่วยเหลือได้ โดยในกระบวนการต่อสู้เรียกร้อง หนึ่ง คุณต้องช่วยเหลือตนเองก่อน มีการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาต่อรองกับบริษัท ถ้าไม่ได้ และยังมีปัญหา สหภาพแรงงานกลางถึงเข้าไปช่วยเหลือได้

ทั้งนี้่ การจัดตั้งสหภาพแรงงานกลาง ส่วนหนึ่งก็คือเป็นการจุดประกายให้พี่น้องสื่อที่ทำงานภาคสนาม รู้จักปกป้องสิทธิ สวัสดิการ สวัสดิภาพของเราให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพสากล

จริงๆ สื่อเป็นผู้ใช้แรงงานอยู่แล้ว เราอาจไม่ใช่ผู้ใช้แรงงานที่ต้องใช้กำลังเหมือนช่างก่อสร้าง หรือตามโรงงาน แต่กิจการด้านสื่อสารมวลชน ถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งเหมือนกัน เราก็ทำงานเหมือนทุกคน แต่ค่าตอบแทนหรือสวัสดิการตาม พ.ร.บ.แรงงาน หลายเรื่องเรากลับถูกละเลย หรือถูกละเมิดสิทธิมาหลายสิบปี หลายองค์กรสื่อไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน 


ปัญหาที่พบมีอะไรบ้าง 
การช่วยเหลือเรื่องรักษาพยาบาล หลายที่ยังมีแค่ประกันสังคม ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล ค่าล่วงเวลา (โอที) บางที่มีบางที่ไม่มี ซึ่งไม่เท่าเทียมกัน โดยตำแหน่ง เราทำงานนักข่าวเท่ากัน ไม่ว่าอยู่ฉบับเล็กหรือฉบับใหญ่ แต่ค่าตอบแทนทางวิชาชีพกลับไม่เท่ากัน ทั้งที่ทำงานเสี่ยงอันตรายเหมือนกัน


งานเสี่ยงอันตรายเช่นอะไรบ้าง
เช่น การทำข่าวในสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง อุปกรณ์ป้องกันเราไม่มี บาดเจ็บมาก็รักษาเพียงแค่ประกันสังคม ไม่มีความช่วยเหลืออื่น อย่างมาตรฐานสากล ถ้านักข่าวคนหนึ่งจะลงไปทำงานในสถานการณ์ความรุนแรง ไม่ว่าม็อบ หรือกรณีเกิดภัยพิบัติ ต้องเป็นนักข่าวที่ได้รับการอบรมตามมาตรฐานวิชาชีพว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไร เข้าพื้นที่อย่างไร อย่างในอาเซียนเอง เช่นในอินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ จะมีการฝึกนักข่าว ไม่ใช่พนักงานเพิ่งจบใหม่ เข้ามาแล้วลุยในสนามเลย โดยไม่มีประสบการณ์

สิ่งนี้คือสิ่งที่คนทำงานสื่อภาคสนามหลายคนเรียกร้อง แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล-ช่วยเหลือจากองค์กรวิชาชีพสื่อเท่าที่ควร เนื่องจากอุปสรรคหลายอย่างในการพูดคุย  ปัญหาเรื่องต้นทุน


ภาพโดย สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์


เป้าหมายสูงสุดของสหภาพแรงงานคืออะไร
การดูแลช่วยเหลือพี่น้องคนทำงานสื่อด้วยกันเอง อุดช่องว่างระหว่างองค์กรวิชาชีพกับนักข่าวภาคสนาม ต้นสังกัดหรือองค์กรวิชาชีพอาจจะช่วยระดับหนึ่ง และหากไม่เพียงพอต่อการทำหน้าที่ของคนที่ทำงานภาคสนาม หากตรงไหนที่เราช่วยได้ เราก็จะเข้าไปช่วยเหลือ


ตอนนี้มีสมาชิกเท่าไหร่แล้ว
ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่ได้ตรวจสอบว่ามีสมาชิกเท่าไหร่ น่าจะยังไม่ถึงร้อย แต่เราก็ยังรับสมาชิกอยู่เรื่อยๆ


เก็บค่าสมาชิกยังไง
ค่าแรกเข้าปีละ 100 บาท และค่าสมาชิก 200 บาทต่อปี


มีเงินอุดหนุนจากที่อื่นๆ ไหม
ไม่มี - เพิ่งได้รับบริจาคสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์มา 100,000 บาท เป็นต้นทุนเบื้องต้น


ประเมินว่าแนวโน้มของสหภาพฯ จะเป็นอย่างไร
ในระยะยาว เชื่อว่ามันจะสำเร็จ แต่ตอนนี้มันเป็นช่วงรอยต่อ ให้ความรู้ให้ความเข้าใจกัน เพราะคนยังมองว่าสหภาพแรงงาน ต้องก่อม็อบประท้วง ต้องหยุดงานอย่างเดียว ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ เรามีบทบาทอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ ทั้งในแง่การฝึกอบรม ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งต่อไปเราจะมีการประสานงานกับสหภาพแรงงานสื่อในต่างประทเศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งก้าวหน้ากว่าเรามาก ไทยเป็นประเทศที่สามในอาเซียนที่สื่อมีสหภาพแรงงาน


ที่ผ่านมา ดำเนินงานอะไรไปแล้วบ้าง
ยังเป็นกระบวนการด้านกฎหมายเพื่อให้สหภาพแรงงานสามารถดำเนินงานต่างๆ ได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ รวมถึงอยู่ในช่วงประกาศสมาชิกมาช่วยกันกำหนดบทบาทท่าที การเคลื่อนไหวของสหภาพฯ 

ฝากไว้ว่า สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง เป็นองค์กรที่พี่ๆ น้องๆ ในภาคสนามช่วยกันผลักดันขึ้นมา อยากให้พี่น้องนักข่าวทุกคน รวมทั้งช่างภาพ ผู้ช่วย ที่อยู่ในภาคสนาม ช่วยกันสนับสนุนและผลักดันให้เดินหน้า เพราะในอนาคตมันอาจเป็นช่องทางที่ช่วยเหลือเราได้ ในกรณีเกิดข้อพิพาทแรงงานขึ้นมา เพราะที่ผ่านมา การที่เราถูกนายจ้างเลิกจ้าง เวลานักข่าวถูกเลิกจ้าง การต่อสู้มันก็โดดเดี่ยวเดียวดาย แต่คราวนี้จะไม่โดดเดี่ยวแล้ว จะมีการช่วยเหลือกันในระบบมากขึ้น เราจะช่วยกันยกมาตรฐานวิชาชีพทั้งเรื่องค่าตอบแทนต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานสากล อย่างน้อยไม่ต้องเทียบกับอเมริกา หรือยุโรป ในอาเซียนด้วยกัน เราก็ต้องไม่น้อยหน้าฟิลิปปินส์ กับอินโดนีเซีย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net