Skip to main content
sharethis


ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนรัฐบาลไทยที่เข้าร่วมพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ในฐานะนักวิชาการ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา ได้ถ่ายทอดเรื่องราว บรรยากาศ อุปสรรค ความหวัง จากการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ ฉายภาพอนาคตสันติภาพชายแดนใต้ ดังนี้

บรรยากาศการพูดคุยเป็นอย่างไร

“ครั้งแรกที่พูดคุย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 รู้สึกว่าสิ่งที่ได้เห็นภาพชัดขึ้น คือได้รู้จักและเข้าใจตัวตนของขบวนการบีอาร์เอ็นมากขึ้น และได้เข้าใจถึงความต้องการของขบวนการ

อีกทั้งทำให้เห็นภาพว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นตัวหลัก หรือเป็นกลไกที่สำคัญที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้เรามีความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า จากลักษณะบทบาทของเขา สิ่งที่เขาทำซึ่งมันมีความสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงทำให้มีความเชื่อมันว่า การพูดคุยกับครั้งนี้ เป็นการพูดคุยที่ถูกแนวทาง และถูกกลุ่ม สามารถที่จะคลี่คลายปัญหาด้วยการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้

ตัวแทนฝั่งขบวนการมีกี่คน

ครั้งแรก(28 มีนาคม) มี 6 คน ครั้งนี้เพิ่มเป็น 7 คน เป็นคนขบวนการพูโล 1 คน และจากบีอาร์เอนซึ่งมาจากหลายสาย ซึ่งก่อนหน้านี้มีทั้ง BRN Congress และ BRN Coordinate แต่ครั้งนี้ มาในนาม บีอาร์เอนเดียว

พัฒนาการจากการพูดคุยครั้งแรกกับครั้งนี้เป็นอย่างไร

คือ การแสดงออกให้เห็นถึงสาเหตุที่เขาต้องต่อสู้ ซึ่งมีความผูกพันในเรื่องประวัติศาสตร์ ความรู้สึกของประชาชนที่ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐ และสิ่งที่ประชาชนมุสลิมมลายูปาตานีถูกกระทำอย่างโหดร้ายต่างๆในอดีต ซึ่งต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นเยอะมากในช่วงเวลา 40 – 50 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้นความรู้สึกที่โกรธแค้น ความรู้สึกที่ไม่พอใจต่อความสูญเสียต่างๆ บวกกับ จิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ ศาสนา เป็นตัวที่ทำให้เกิดความคิดที่ตกผลึกร่วมกันในอุดมการณ์ในการต่อสู้

มีการพูดคุยเรื่องข้อเสนอ 5 ข้อ ที่ขบวนการบีอาร์เอ็น ประกาศทางเว็บไซต์ยูทูปอย่างไร

ในที่ประชุม ฝ่ายรัฐบาลไทยไม่ได้เสนออะไรใหม่ แต่ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นคนที่เสนอประเด็นนี้ขึ้นมา พร้อมกับชี้แจงรายละเอียดของแต่ละข้อถึงสาเหตุทีต้องเรียกร้อง

ฝ่ายขบวนบีอาร์เอ็นให้เหตุผลในแต่ละข้อที่แตกต่างกัน เช่น ประเด็นที่ต้องการให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นทั้ง Facilitator (ผู้ประสานงาน) และ Mediator หรือผู้ไกล่เกลี่ย เขาบอกว่าต้องการให้มีความชัดเจนและยกระดับกระบวนการเจรจาสันติภาพ คือ ถึงขั้นตอนเจรจา หากเป็นแค่การพูดคุย (Dialogue) อาจเป็นผู้ประสานงาน จึงต้องการให้มาเลเซียเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เพราะจะทำให้มาเลเซียมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ในแง่ที่จะผลักดันการประชุม การพูดคุย ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การเจรจา การต่อรองหาทางออก เขาต้องการให้มีความชัดเจน เขาคงจะมีความเชื่อมันว่ารัฐบาลมาเลเซียน่าจะมีความเป็นกลางในการที่จะทำให้เกิดกระบวนการนี้ได้

ส่วนประเด็นที่จะให้ประเทศสมาชิกอาเซียนหรือโอไอซี (OIC) และเอ็นจีโอ (NGO= องค์กรพัฒนาเอกชน) เข้ามาในกระบวนการพูดคุยด้วยนั้น ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการให้เข้ามาเป็นสักขีพยาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจหรือมีหลักประกันว่า สิ่งที่มีพูดคุยกัน มีคนอื่นรับรู้และรับทราบด้วย หากมีข้อตกลงหรือลงนามอะไรกัน ก็จะมีพยานที่รู้เห็นด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีการยอมรับจาก ประชาชนในพื้นที่และนานาชาติ

ส่วนเรื่องความยุติธรรม หรือหมายจับและคนที่ติดคุก เป็นข้อเสนอเก่าทีเคยมีการนำเสนอมาแล้ว

ประเด็นอื่นๆ ที่ให้ยอมรับขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นผู้นำในกระบวนการพูดคุยและการเจรจา คือยอมรับกลุ่มอื่นๆด้วย แต่ต้องให้บีอาร์เอ็นเป็นผู้นำในการพูดคุย เพราะเชื่อว่าบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการที่สะท้อนความต้องการของประชาชนและเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่

ส่วนเรื่องการยอมรับสิทธิของความเป็นเจ้าของ หรือ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง (Self determination) เป็นข้อเรียกร้องที่เป็นหลักสากล คือ พี่น้องประชาชนในพื้นที่หรือประชาชนชาวมุสลิมมลายูปาตานี (bungsa Malayu Patani) จะต้องมีสิทธิในเรื่องความเป็นเจ้าของในพื้นที่ตรงนี้ เป็นสิทธิในการที่จะกำหนดชะตากรรมของตัวเอง

ส่วนที่ให้พูดถึงขบวนการบีอารเอ็นว่า ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่ให้ยอมรับว่าเป็นผู้ปลดปล่อยนั้น มีความหมายที่กว้าง ไม่ได้ขยายความในประเด็นนี้

ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อทางขบวนการบีอาร์เอ็นชี้แจงอย่างละเอียดมาก ใช้เวลามากพอสมควร ในการพูดคุยเรื่องนี้ และที่ประชุมก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จนจบการพูดคุยในเวลาประมาณ 2 ทุ่มของวันที่ 30 เมษายน 2556 คณะฝ่ายไทยรับฟังข้อเสนอทั้งหมด แต่ไม่ใช่ว่ารับข้อเสนอ เพียงแต่รับจะนำไปพิจารณา และจะนำผลการพิจารณามาพูดคุยในการพูดคุยในครั้งต่อไป

นอกจากนี้ตัวแทนฝ่ายไทยได้พยายามเน้นย้ำตลอดเวลาว่า ต้องการให้ลดความรุนแรงก่อน เพราะเป็นความคาดหวังของประชาชนทั่วประเทศ และประชาชนในพื้นที่ก็ต้องการความสงบสุข เพื่อให้เห็นว่าการพูดคุยสันติภาพมีพัฒนาการ ในส่วนนี้บีอาร์เอ็นบอกว่าเขากำลังพิจารณาอยู่ แต่ก็ต้องมีการพูดคุยในเรื่อง ข้อเสนอ 5 ข้อให้มีความชัดเจนเสียก่อน เราก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป

ประเด็นที่ค่อนข้างหนักที่สุดก็คือ ในช่วงการพูดคุยเรื่องบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียในการเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย (Mediator) และเรื่องที่จะให้โอไอซี อาเซียนและเอ็นจีโอ เข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยด้วย มีการพูดคุยระดมความเห็นกันอย่างหนัก เพราะมีรายละเอียดที่ต้องพูดคุยกันเยอะมาก แต่ไม่ถึงกับการทุ่มเถียงกันหรือการทะเลาะกัน

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า มันมีผลที่เกี่ยวพันกับเรื่องหลายๆเรื่อง เช่น จะให้สถานะของมาเลเซียเปลี่ยนไป ส่วนประเด็นที่จะให้โอไอซี หรืออาเซียนและเอ็นจีโอเข้ามาส่วนร่วม มีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ รวมถึงอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น ในช่วงนี้ใช้เวลาคุยนานมากและยังไม่สามารถที่จะสรุปได้ในการประชุม

แม้แต่ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานการพูดคุย ก็ออกตัวว่า เขาเองก็ตัดสินใจไม่ได้ ที่จะให้มาเลเซียเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย ถ้าจะให้ทำอย่างนั้น ก็ต้องมีเงื่อนไขว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเห็นด้วยที่จะให้มาเลเซียเป็น Mediator

หากบีอาร์เอ็นต้องการให้มาเลเซียเป็น Mediator แต่รัฐบาลไทยไม่ยอม ก็เป็นไม่ได้ ประการที่ 2 คือฝ่ายมาเลเซียก็จะต้องนำไปคุยกับรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีว่า จะยอมรับหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ ต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่สามารถที่จะพูดคุยกันได้เพียงแค่วันเดียว อาจจะเป็นไปได้ หรือมีความจำเป็นในระยะยาว ก็เลยยังไม่ได้ข้อสรุป

แม้บางช่วงมีการพูดคุยกันอย่างหนักในบางประเด็น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย มีท่าทีที่อยากล้มโต๊ะการเจรจาหรือยุติการพูดคุย เห็นได้ชัดว่า ในที่ประชุมไม่มีบรรยากาศนี้เลย

เมื่อไม่สามารถที่จะหาข้อสรุปได้ ทั้ง 2 ฝ่ายก็เลยนัดพูดคุยกันอีกในครั้งหน้า ทางฝ่ายรัฐบาลไทยก็อยากจะให้มีการพูดคุยกันในทุกๆรอบ 30 วัน เพราะต้องการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันและสร้างแรงผลักดันในความต่อเนื่อง

เมื่อถึงตอนนี้ กลุ่มบีอาร์เอ็นดูจากตารางงานของพวกเขาแล้ว ปรากฏว่าบางคนติดภารกิจส่วนตัว กำหนดจึงขยับไปเป็นวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ไม่ใช่อย่างที่มีข่าวว่า เป็นการเว้นวรรคและไม่พอใจกัน ทางฝ่ายรัฐบาลไทยยืนยันว่า อยากจะให้รักษาความต่อเนื่องเหมือนที่เคยทำ แต่ฝ่ายขบวนการมีเวลาไม่ลงตัว ก็เลยขอขยับเวลาไปหน่อย

ท่าที่ของทั้ง 2ฝ่าย มีความแข็งกร้าวหรือไม่

ไม่ปรากฏในฝ่ายเรา เท่าที่ผมเห็น ฝ่ายเราพูดจาด้วยความสงบนิ่ง พูดแบบแลกเปลี่ยน ด้วยท่าทีที่นุ่มนวล ไม่ใช้เสียงดัง หรือแบบโต้เถียงกัน ไม่มีอาการเคร่งเครียด ฝ่ายเขาก็มีท่าทีเหมือนกัน ไม่ใช้คำรุนแรง เป็นการคุยแบบฉันท์มิตร แต่คุยเรื่องหนักบรรยากาศก็เลยดูแบบตึงๆ หน่อย พยายามที่จะหาทางออกกัน

ประเด็นเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันมาก ต้องใช้เวลาคุยกันเยอะ ก็เลยหนักหัวกันหน่อยในบางช่วง จึงมีการขอพักเบรกเป็นช่วงๆ แล้วก็มานั่งคุยกันต่อ มีการขอพัก 5 นาทีหรือ 10 นาที แล้วกลับมานั่งคุยกันต่อเป็นช่วงๆ ปกติการประชุมก็ต้องมีเบรกอยู่แล้ว ก็ใช้โอกาสนั้นเบรกไปเลย จากนั้นก็กลับมาคุยกันต่อ พอกลับมาก็คุยกันต่อได้

เขาแสดงท่าทีให้เรามั่นใจหรือเชื่อมั่นหรือไม่ว่าเขาสามารถสื่อสารไปยังฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ที่ก่อเหตุความรุนแรงได้ และจะทำอย่างไรที่จะให้เราเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ในพื้นที่จะมาสู่แนวทางที่ดีขึ้น ความรุนแรงลดลง

มีอยู่ 2 ส่วน การแสดงความเชื่อมั่นต่อกันนี้ ฝ่ายรัฐมีการพูดแสดงออกในทำนองว่า มีข้อวิพากษ์วิจารณ์และความคาดหวังต่อฝ่ายรัฐบาลได้รับการมอบหมายมา และทุกคนก็มีสถานภาพเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ มีตำแหน่ง เช่น เลขาธิการ สมช. เลขาธิการ ศอ.บต เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและฝ่ายตำรวจที่นั่งตรงนี้ อยู่ในฐานะที่รัฐบาลมอบหมายมา

แต่อีกด้านหนึ่งฝ่ายรัฐก็มองคณะของบีอาร์เอ็นอย่างเชื่อมั่นว่า พวกท่านก็มีสถานภาพ แต่อยากให้แสดงออกเพื่อยืนยันถึงความเชื่อมั่นจากประชาชนที่มีอยู่ข้างนอก หรือที่อยู่ที่บ้าน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในสายตาคนไทยทั่วไปหรือแสดงให้คนในพื้นที่เอง

มีความเชื่อมั่นว่า พวกเขาสามารถเข้าไปเป็นตัวแทนที่ถูกต้อง หรือเป็นตัวแทนที่แท้จริงในเรื่องการควบคุมการก่อเหตุ ความรุนแรงหรือการแก้ปัญหาการปฏิบัติการที่เกิดในพื้นที่ได้ แสดงให้เราเห็นว่าสามารถที่จะลดความรุนแรงได้ อะไรอย่างนี้ ตัวแทนฝ่ายรัฐอยากให้เขาแสดงออกให้ชัดเจน

คำถามนี้ ทางบีอาร์เอ็นก็บอกว่า ข้อเสนอ5 ข้อนั้น ก็สะท้อนความต้องการที่ได้รับมอบหมาย มาจากกองกำลังที่อยู่ในพื้นที่ หรือในเครือข่ายพวกเขาในพื้นที่

เขาบอกว่า การลดความรุนแรงพวกเขาก็กำลังพิจารณากันอยู่ แต่จะทำได้เมื่อผ่านการพูดคุยใน 5 ข้อนี้แล้ว ถ้าพูดคุยใน 5 ข้อนี้ได้ ก็ลดความรุนแรงได้ มันไม่ใช่เรื่องยาก ตอนนี้ขอคุยในเรื่องที่มีการค้างใจอยู่ในข้อเสนอ 5 ข้อ ให้ชัดเจนก่อน

อีกอย่างหนึ่งที่เขาบอกมา มันก็สะท้อนให้เห็นความพยายามของพวกเขา ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ยอมรับ (การลดความรุนแรง) ตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้ว แต่จากสถิติที่เรามองเห็น ความรุนแรงมีการเปลี่ยนเป้าหมายการก่อเหตุไปสู่เป้าแข็ง ที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร

จะเห็นได้ว่าจำนวนของการโจมตี หรือการก่อเหตุมุ่งสู่เป้าที่แข็งมีมากขึ้น มากกว่าครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์ในเดือนที่ผ่านมา จะเป็นการพุ่งเป้าที่ทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ถืออาวุธ แล้วก็ไม่มีการโจมตีในเขตเมืองใหญ่ เมืองเศรษฐกิจ ในชุมชุน ถ้ามีก็ไม่ทำให้เกิดความตายหรือความสูญเสีย อาจจะมีก่อกวนเล็กๆน้อยๆ

ผมมองว่า นี่อาจจะเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างเหมือนกัน ถ้าหากเราตีความได้ สิ่งนี้เขาไม่ได้พูดว่าเขารับปากจะทำ แต่ก็เป็นสัญญาณบางอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า เขาสามารถที่จะจัดการอะไรในพื้นที่ได้ ในแง่ของทิศทางหรือเป้าหมายของการก่อเหตุความรุนแรง

นายฮัสซัน ตอยิบก็พูดเป็นนัยเรื่องนี้ในช่วงสุดท้าย อันนี้ทำให้เรามีความรู้สึกว่า เขาเองก็พยายามจัดการความรุนแรงอยู่เหมือนกันในแบบของเขา

เขายอมรับหรือไม่ว่า เหตุรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เป็นฝีมือของพวกเขาทั้งหมด

เขาบอกว่า จะกล่าวหาว่าเป็นของบีอาร์เอ็นทั้งหมดไม่ได้ เขาก็ยืนยัน เพราะมันมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความโกรธแค้นหรือความรู้สึกที่ประชาชนเองอาจจะถูกกระทำ มีความแค้นต่อรัฐและมีการตอบโต้ เหตุอะไรต่างๆทั้งหมด เขาไม่ได้รับผิดชอบทั้งหมด เขาก็ยอมรับไปอย่างนั้น

แต่เราก็สามารถที่จะคุยกันได้ว่า ถ้าหากทางรัฐสนองตอบต่อปัญหาความอยุติธรรม ความต้องการที่พูดถึง คืออาจจะลดเหตุการณ์ได้ เพราะมันเกิดจากความโกรธแค้น ไม่พอใจความอยุติธรรมต่างๆ ที่มี

เขาก็บอกว่า หากรัฐจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ ตัวเงื่อนไขก็ต้องลดลง แล้วเหตุการณ์ก็จะลดลง ฝ่ายรัฐก็เสนอว่า ไม่ว่าเขาจะรับผิดชอบทั้งหมดหรือไม่ก็ตาม แต่เขาก็เป็นตัวที่สำคัญ เจ้าหน้าที่รัฐก็เชื่อว่า ถ้าหากเขาร่วมมือกับฃฝ่ายรัฐ ช่วยกันจัดการแก้ปัญหาความรุนแรงหรือลดความรุนแรง ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้

ในเงื่อนไข 5 ข้อ นอกจากจะมีคำว่า การปลดปล่อย ยังมีคำว่า นักล่าอาณานิคม และยังเรียกร้องให้ทุกคน ทุกเชื้อชาติ ศาสนาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องความเป็นธรรมร่วมกัน มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

นี่เป็นคำที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์นักล่าอาณานิคมหรือ colonialism หรือจักรวรรดินิยม ซึ่งเกิดจากปัญหาภายในประเทศไทย การสร้างชาติสร้างรัฐเมื่อร้อยปีที่แล้ว ดินแดนต่างๆถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นรัฐไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ในทางวิชาการใช้คำว่า internal colonialism หรืออาณานิคมภายใน สิ่งนี้เกิดขึ้นในทุกประเทศที่ส่วนกลางมีอำนาจเหนือส่วนท้องถิ่นหรือพื้นที่หน่วยการเมืองย่อยๆ หรือดินแดนชายขอบ

ลัทธิอาณานิคมภายในเกิดจากการกระจุกตัวหรือรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป ถ้าหากมีการกระจายอำนาจมันก็จะลดความรู้สึกต่อต้านได้ ผมคิดว่าคำในสมัยใหม่ในทางการเมืองยังสามารถตีความได้ ลัทธิอาณานิคมภายในสามารถปรับและแก้ได้

แต่การใช้คำของเขา ผมคิดว่านี่เป็นคำทางการเมือง คือเขาก็มองในประวัติศาสตร์ คือรัฐสยามเข้าไปยึดครองดินแดนของเขาในที่นี้ ก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว แต่ตอนหลังมีพัฒนาการกลายเป็นหน่วยการเมืองหน่วยเดียวกันไปแล้ว

ในการสร้างชาติเมื่อประมาณร้อยกว่าที่แล้ว ในช่วงรัชกาลที่ 5 ปัตตานีหรือดินแดนปาตานี หรือเจ็ดหัวเมืองก็เข้ามาอยู่ในรัฐชาติในประเทศไทย

ในปีค.ศ.1909 คือช่วงที่มีการทำสนธิสัญญาไทย-อังกฤษ ที่มีการปักปันเขตแดนอย่างเป็นทางการในช่วงเดียวกันกับการปักปันเขตแดนแถวเขาพระวิหารเมื่อปี ค.ศ.1907 ที่มีปัญหาจนทุกวันนี้นั้น ช่วงนั้นไม่มีการถกเถียงกันมาก ตอนนั้นในทางกฎหมายมันลงตัวไปแล้ว ไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องชายแดน แต่มีข้อประเด็นในการทางเมือง ก็คือกลุ่มคนที่เป็นชาติพันธุ์มลายูมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่นี้ มีความรู้สึกว่า ตัวเองถูกยึดครอง

อันนี้เป็นข้อโต้แย้งโต้เถียงที่เกิดขึ้นในทางประวัติศาสตร์ แต่เมื่อเกิดรัฐไทย ทุกอย่างมันลงตัวในแง่ของการเป็นประเทศไทย มีความเป็นหนึ่งเดียวตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ว่า นี่คือประเทศไทย

การข้อเรียกร้องแยกดินแดนเป็นประเทศใหม่ได้นั้น จะต้องกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ความขัดแย้งทางการเมืองระดับสูง และมีความวุ่นวายมากจึงจะทำได้ ซึ่งคงเป็นไปได้ยากในปัจจุบัน

แสดงว่าฝ่ายการเมืองระมัดระวังในการใช้คำ และขอบเขตการเคลื่อนไหวพอสมควร

ใช่ คำในทางการเมืองนี้คือ การเรียกร้องความรู้สึกร่วมของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ หรือชาวปาตานี ที่ยังมีความรู้สึกผูกพันกับประวัติศาสตร์ หรือลักษณะอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ ประวัติศาสตร์และศาสนาซึ่งยังมีอยู่ไม่น้อย ผมคิดว่าเรียกร้องได้ไม่มีปัญหา ถ้ารัฐบาลไทยใช้วิธีการจัดการปัญหาทางการเมืองโดยสันติ ไม่ใช่ความรุนแรงก็จะไม่มีปัญหา

แต่ถ้ารัฐบาลใช้กำลังมาปราบปราม ก็จะทำให้เสียความชอบธรรม ซึ่งตรงนี้ผมมองว่า รัฐไทยยังไม่สูญเสียความชอบธรรมถึงขนาดนั้น แม้จะมีความผิดพลาดในอดีต แต่ยังมีขอบเขตที่สามารถปรับตัวได้ ถ้าเปรียบเทียบกับกรณีอื่นๆ อย่างของประเทศอินโดนีเซีย หรือติมอร์ตะวันออกที่หลุดไปจากอินโดนีเซียเลย เพราะใช้ความรุนแรง มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่เริ่มต้น

ส่วนของเรา แม้มีปัญหามาเป็นร้อยปี สองร้อยปี ในทางกฎหมายและสถานภาพยังถือว่ามีความมั่นคงอยู่ แต่เราก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า มีการโต้แย้งท้าทายได้ในทางการเมือง

ส่วนการที่บีอาร์เอ็นเรียกร้องทุกเชื้อชาติให้ต่อสู้ ไม่ใช่เพียงเฉพาะมลายูมุสลิมเท่านั้น

ถ้ามองในแง่กลับกัน ก็สะท้อนว่า เขายอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างทางการเมืองกับคนพุทธ จีนในดินแดนมลายูว่าต้องอยู่ร่วมกัน การยอมรับนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการต่อสู้ในครั้งนี้ การทำร้ายคนพุทธที่ผ่านมา ฝ่ายขบวนการต้องแก้ปัญหาด้วย ถ้าเขาไม่สามารถลบความกลัวไปได้ เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดจากคนพุทธหรือคนที่ไม่ใช่คนมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งถ้าทำไม่ได้ ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่ชอบธรรม แต่ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่มีการประกาศยอมรับในครั้งนี้

เนื่องจากในอดีต อาจจะเกิดความผิดพลาดจากคนบางกลุ่มของเขาที่ปฏิบัติผิดพลาดและเกินเลย ทำให้สูญเสียความชอบธรรมที่ทำร้ายคนบริสุทธิ์ ซึ่งเขาก็ยอมรับและตระหนักว่า เป็นสิ่งที่ทำให้สูญเสียความชอบธรรม เขาพยายามปรับใหม่ ซึ่งข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ดี ซึ่งสามารถมองในเชิงบวก จะเป็นสิ่งที่สามารถนำมาพิจารณาได้ว่า ถ้าหากต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติระหว่างคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา ต้องจัดการให้เหมาะสม

แนวโน้มจะนำไปสู่บรรยากาศที่ดีขึ้นหรือไม่

ใช่ ผมยังเชื่อคำพูดของนายฮาซัน ตอยิบ ในตอนท้ายของการประชุมครั้งที่แล้วว่า แม้จะไม่มีความคืบหน้า เราก็ต้องค้นหาสิ่งที่เป็นก้นบึ้งของปัญหา คราวหน้าเราจะพบกันด้วยรอยยิ้ม และความรักที่มีต่อกัน แม้จะมีอุปสรรค แต่ด้วยความพยายามร่วมกัน เราจะผ่านพ้นไปได้ หากเป็นประสงค์ของพระเจ้า สิ่งเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข ผมก็หวังเช่นนั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net