คณิน บุญสุวรรณ: อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และสืบเนื่องมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นั้น มีความสำคัญและมีลักษณะพิเศษ เพราะมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาร่างกฎหมาย กฎหมาย บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ข้อบังคับ การกระทำหรือแม้แต่กิจการทั้งหลายทั้งปวง ที่บุคคลหรือหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรของรัฐได้กระทำลงไป ดังนั้น อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน และไม่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยหรือตีความกันไปต่างๆ นานา เพราะผู้มีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ คือ ศาลรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียว

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญยังให้ความสำคัญ แก่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย โดยได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจน ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ” ซึ่งแปลความได้ว่า แม้แต่คำพิพากษาศาลฎีกาก็ไม่อาจขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รวบรวมเอาบทบัญญัติในมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญมาแสดงไว้เป็นข้อๆ อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนทั่วไปและสื่อมวลชน รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีโอกาสตรวจสอบและควบคุมมิให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินเลยไปกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้เป็นหลักประกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่กระทำในสิ่งที่เรียกว่า “ตีความตามอำเภอใจ”

อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีใจความและสาระสำคัญโดยสรุปเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1.    ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า มติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้ง มติหรือข้อบังคับนั้น เป็นอันต้องยกเลิกไป (มาตรา 65)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ส.ส. กรรมการบริหาร หรือสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น

ข้อ 2.    ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ หรือสั่งยุบพรรคการเมือง ที่มีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามที่อัยการสูงสุดร้องขอ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองใด ด้วยเหตุดังกล่าว ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกสั่งยุบ มีกำหนดห้าปี (มาตรา 68)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ อัยการสูงสุด หลังจากที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่มีผู้ทราบการกระทำดังกล่าว แล้ว เห็นว่ามีการกระทำเช่นนั้นจริง จึงร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว หรือยุบพรรคการเมืองนั้น

หมายเหตุ การสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบมีกำหนดห้าปี นั้น ไม่มีบัญญัติไว้ในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นหลักการในทำนองเดียวกัน

ข้อ 3.    ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องสิ้นสุดลง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่าสิ้นสุด ก็จะมีผลนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย (มาตรา 91)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ข้อ 4.    ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาและผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ต้องสิ้นสุดลงเมื่อได้กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ดำรงตำแหน่งในหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐ รับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐเป็นพิเศษ หรือใช้สถานะหรือตำแหน่ง เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการประจำ เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนหรือโทรคมนาคม (ตามมาตรา 265 มาตรา 266 มาตรา 267 มาตรา 268 หรือมาตรา 48) หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่า สิ้นสุด ก็จะมีผลนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย (มาตรา 91)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ

ข้อ 5.    ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า มติของพรรคการเมืองใดที่ให้ขับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัด พ้นจากสมาชิกภาพของพรรค ขัดหรือแย้งต่อหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือขัดต่อสถานะการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่าขัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกขับสามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ภายในสามสิบวัน โดยไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าวินิจฉัยว่าไม่ขัด ผู้นั้นก็ต้องพ้นจากความเป็นสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎร นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย (มาตรา 106 (7))

กรณีนี้ ผู้ร้อง คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมือง ที่มีมติขับให้พ้นจากสมาชิกภาพของพรรคการเมือง นั้น

ข้อ 6.    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบ สามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ภายในหกสิบวัน โดยไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าครบหกสิบวันแล้ว ยังหาพรรคใหม่สังกัดไม่ได้ ผู้นั้นต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดหกสิบวัน (มาตรา 106 (8))

กรณีนี้ ผู้ที่จะร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง

ข้อ 7.  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า ความเป็นประธานและรองประธานสภา  ผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ต้องสิ้นสุดลง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เมื่อ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่าสิ้นสุด ก็จะมีผลนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย (มาตรา 124 (4))

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ

ข้อ 8.    ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว มีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้ง แต่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้น เป็นอันตกไป แล้วส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น กลับคืนมายังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาตามลำดับ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มติในการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ต้องใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น มีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นสาระสำคัญ หรือเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปทั้งฉบับ (มาตรา 141)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ประธานรัฐสภา

ข้อ 9.    ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใด มีหลักการเดียวกันกับร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภามีมติยับยั้งไว้ หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่ามีหลักการเดียวกัน จะเสนอร่างนั้นเข้ามาใหม่ไม่ได้ (มาตรา 149 วรรคสาม)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา

ข้อ 10.  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่าขัดหรือไม่ถูกต้อง และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไปทั้งฉบับ แต่ถ้าไม่ใช่สาระสำคัญ ก็ให้ตกไปเฉพาะข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้น และให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการนำบทบัญญัติที่เหลือนอกนั้นไปดำเนินการเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป (มาตรา 154 )

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ หรือนายกรัฐมนตรี

ข้อ 11.  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมรัฐสภา ที่สภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้ง ก็เป็นอันใช้บังคับมิได้ (มาตรา 155)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ หรือนายกรัฐมนตรี

ข้อ 12. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า การกระทำใดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการใช้งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่ามีลักษณะดังกล่าว ก็ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวสิ้นผลไป (มาตรา 168 วรรคหก และวรรคเจ็ด)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ

ข้อ 13. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของบุคคลใดต้องสิ้นสุดลง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม เมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่าสิ้นสุด ก็จะมีผลนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย (มาตรา 182 (3))

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ

ข้อ 14. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดใดเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ หรือเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ตามมาตรา 184 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่าไม่เป็น ให้พระราชกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับมาตั้งแต่ต้น แต่ถ้าหากวินิจฉัยว่าเป็น ก็ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไปได้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า พระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามมาตรา 184 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ดังกล่าว ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด (มาตรา 185)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า

ข้อ 15. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า ความเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องสิ้นสุดลง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เมื่อ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่า สิ้นสุด ก็จะมีผลนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย (มาตรา 209 (7) และมาตรา 247 วรรคสาม)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ

ข้อ 16. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีใดต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 คือ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้ง บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นก็เป็นอันใช้บังคับมิได้ (มาตรา 211)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ กรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งผ่านศาลที่ใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น บังคับแก่คดีที่กำลังพิจารณาอยู่

ข้อ 17. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย กรณีที่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ยื่นคำร้องเพื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ต้องเป็นกรณีที่ผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว เท่านั้น (มาตรา 212)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ และเป็นกรณีที่ผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว

ข้อ 18. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย กรณีที่มีปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ตามที่ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้น เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 214)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้น

ข้อ 19. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า กรรมการการเลือกตั้งผู้ใดที่ถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ เข้าชื่อร้องขอผ่านประธานรัฐสภา ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยว่าพ้น ก็จะมีผลนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย (มาตรา 233)

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ

ข้อ 20. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (มาตรา245 (1))

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ข้อ 21. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชน และมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา 251 (2))

กรณีนี้ ผู้ร้องได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ข้อ 22. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือจงใจปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ หรือไม่ ถ้าหากวินิจฉัยชี้ขาดว่า จงใจ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี แต่ถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาด ดังกล่าว เปลี่ยนไปเป็นของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ข้อ 23. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ (มาตรา 216 วรรคห้า)

“ศาล” ในที่นี้ย่อมหมายรวมถึง ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญเอง ด้วย

 

หมายเหตุ

สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายและการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น มีดังนี้

1. มาตรา 244 (3) ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ ติดตามประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น

2. มาตรา 245 (1) ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เมื่อเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า

3. มาตรา 251 (2) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญยังมีสิทธิพิเศษที่จะดำเนินการในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนิติบัญญัติด้วย ดังต่อไปนี้

1. มาตรา 139 (3) ศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องนำไปใช้บังคับต่อสภาผู้แทนราษฎร

2. มาตรา 168 วรรคเก้า ศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิเสนอคำขอแปรญัตติเพิ่มเติมงบประมาณรายจ่ายต่อคณะกรรมาธิการของสภาได้โดยตรง ถ้าเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรนั้นไม่เพียงพอ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท