Skip to main content
sharethis



เมื่อวันที่ 30 เม.ย.56 ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดงานเสวนาภาคประชาชนในหัวข้อ “สถานการณ์ไทย-กัมพูชา: หลังแถลงปิดคดีเขาพระวิหาร” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ศ.ดร. ชุมพร ปัจจุสานนท์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬา รศ.ดร.พวงทอง  ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และพิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ประชาไท

สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวว่า สิ่งที่ผมจะพูดในวันนี้คือการปูพื้นฐานทางประวัติศาสตร์เรื่องความขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดนในบริเวณเขาพระวิหาร แต่ก่อนอื่นต้องเรียนให้ทราบก่อนเลยว่าความเชื่อที่ว่าหากชนะในศาลโลกคราวนี้ ซึ่งสื่อส่วนใหญ่มักเชื่อว่าถ้าเราชนะ เราจะได้เขาพระวิหารคืนนั้นไม่เป็นความจริง เพราะนี่เป็นเพียงการตีความคำพิพากษา เรื่องเขาพระวิหารจบไปแล้วตั้งแต่ปี 2505

ในยุคล่าอาณานิคมไทยเคยทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส 3 ฉบับในปี 1893 1904 1907 และไทยได้ให้สัตยาบันด้วยจึงทำให้มีข้อผูกมัด ในสนธิสัญญาปี 1904 ข้อที่ 1 ระบุไว้ว่า ให้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน แต่ในข้อที่ 3 กลับระบุว่า การปักปันเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามคณะกรรมการผสมปักปันเส้นเขตแดน จึงเกิดคำถามว่าต้องยึดตามข้อ 1 หรือข้อ 3 สุดท้ายจึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการผสมขึ้น และเกิดการปักปันเส้นเขตแดนจนเกิดเป็นแผนที่ระวางดงรักหรือ ดงเร็ก ที่สื่อไทยเรียกว่าแผนที่ 1:200,000


(คลิกดูได้ที่ http://wms.cfcambodge.org/mambo/images/stories/CartePreahvihear.jpg)


นักประวัติศาสตร์เรียกแผนที่ฉบับนี้ว่าแผนที่แบนา ตามชื่อประธานคณะกรรมการปักปันเสนเขตแดนของฝรั่งเศสทั้งๆ ที่เป็นการปักปันโดยคณะกรรมการร่วม โดยประธานคณะกรรมการของฝ่ายไทยคือ พลเอกหม่อมชาติเด่นอุดม แต่การที่เรียกแผนที่นี้ว่าแผนที่แบนา แทนที่จะเรียกว่าแผนที่เด่นอุดม-แบนา เพื่อให้เกิดจินตนาการว่าฝรั่งเศสทำแผนที่นี้เพียงฝ่ายเดียว หลังจากทำแผนที่ฉบับนี้เสร็จ รัฐบาลไทยได้ขอให้ฝรั่งเศสตีพิมพ์แผนที่ดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 50 ฉบับโดย 6 ฉบับเก็บไว้ในต่างประเทศ 44 ฉบับเก็บไว้ที่ไทย เป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้นยอมรับแผนที่ระวางดงรัก

อีกคำอธิบายหนึ่งของฝ่ายที่เชื่อว่าเขาพระวิหารคือของไทยคือ ไทยเคยทำสนธิสัญญาลับกับฝรั่งเศสยกเขาพระวิหารให้เป็นของไทย ซึ่งไม่เป็นความจริงไทยไม่เคยทำสนธิสัญญาลับกับฝรั่งเศส สนธิสัญญาลับกับต่างประเทศที่ไทยทำมีฉบับเดียวที่ทำกับอังกฤษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยเสด็จเยือนเขาพระวิหาร โดยมีการทำจดหมายขออนุญาตฝรั่งเศสก่อนนั่นหมายความว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้นตระหนักดีว่าเขาพระวิหารไม่ได้อยู่ในดินแดนไทย

ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามอินโด-จีน ในอนุสัญญาโตเกียวปี 2484 ญี่ปุ่นแบ่งดินแดนที่ยึดในกัมพูชาบางส่วนมาให้ไทยได้แก่ พระตะบอง เสียมราช ศรีโสภณ และจำปาสัก แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยจำต้องคืนดินแดนดังกล่าวให้กับกัมพูชาในอนุสัญญาวอชิงตัน 2489 เส้นเขตแดนไทยจึงกลับสู่รูปแบบเดิมในยุคล่าอาณานิคม

ในปี 2497 ฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามที่เดียนเบียนฟูจนนำไปสู่การกำเนิดรัฐใหม่ 3 รัฐได้แก่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในปี 2502 กัมพูชายื่นคำร้องให้ศาลโลกประกาศว่าเขาพระวิหารอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา คณะผู้พิพากษามีมติ 9-3 ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในดินแดนกัมพูชา เมื่อศาลโลกตัดสินเช่นนี้จึงเกิดคำถามว่าต้องทำอย่างไรกับพื้นที่โดยรอบตัวประสาท (vicinity) กระทรวงมหาดไทยจึงออกแผนที่ตามมติ ครม. ปี 2505 เพื่อระบุพื้นที่โดยรอบปราสาทเขาพระวิหาร 

 

(แผนที่ตามมติครม. ปี 2505 ดูเพิ่มเติม: http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?t=573819&page=8)

 

หลังคำพิพากษา ไทยมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลโลกภายในระระเวลา 10 ปี แต่ไทยก็ไม่ได้ใช้สิทธิ์ดังกล่าวเท่ากับแสดงว่าไทยยอมรับคำตัดสินของศาลโลกอย่างชัดเจน

ความขัดแย้งในยุคปัจจุบันเริ่มจากการทำ MOU ปักปันเส้นเขตแดนทางบกปี 2543 และ MOU ปักปันเส้นเขตแดนทางทะเลปี 2544 ระหว่างนายนพดล ปัทมะ และนายฮอนำฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยและกัมพูชา ศาลปกครองมีคำตัดสินให้ยกเลิก MOU ทั้งสองฉบับ โดยการยกเลิก MOU 2543 รัฐบาลไทยได้แจ้งไปยังรัฐบาลกัมพูชาทำให้สถานะถูกยกเลิกแน่นอน แต่ MOU ปี 2544 รัฐบาลไทยไม่มีการแจ้งโดยสถานะจึงถือว่ายังไม่ยกเลิก ซึ่งนับเป็นโชคดีของไทย เพราะเราได้ประโยชน์จาก MOU ฉบับนี้มาก อีกทั้งการปักปันเส้นเขตแดนทางทะเลเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าทางบกมาก

ความเข้าใจผิดๆ ของคนไทยที่น่าสนใจในเรื่องนี้มี 3 ประเด็น ประเด็นแรก เรามักเข้าใจว่าแถลงการณ์ของคุณนพดลทำให้ไทยเสียดินแดน ทั้งๆ ที่แถลงการณ์ดังกล่าวคุณนพดลกล่าวแค่ว่าจะทำงานร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อนเท่านั้น ประการที่ 2 เรามักเชื่อว่าเส้นสันปันน้ำคือเส้นเขตแดน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว แผนที่เดียวที่ระบุว่าเส้นสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนคือแผนที่ L7017 หรือแผนที่ 1:50,000 เป็นแผนที่ทางการทหารที่กัมพูชาใช้ ไม่สามารถเอามาใช้ปักปันเส้นเขตแดนได้

 


(แผนที่ L7017 ดูเพิ่มเติม:
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=688949)

ความเข้าใจผิดประเด็นสุดท้ายคือทฤษฎีที่ผมเรียกว่าทฤษฎีโทรศัพท์มือถือที่กล่าวว่าว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาแต่ตั้งอยู่ในดินแดนไทย เหมือนมือถือของกัมพูชาวางอยู่บนโต๊ะของไทย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นความเข้าใจผิดๆ ทั้งสิ้น

ปัจจัยเรื่องการแปลก็มีปัญหาเรื่องความเข้าใจที่ผิดพลาด ผู้แปลว่า คุณมิรอง ทนายสาวที่กำลังกลายเป็นวีรสตรีในขณะนี้กล่าวว่า แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นแผนที่ปลอม ซึ่งบางทีมันอาจจะแปลได้ว่าแผนที่ผิดพลาด หรือแผนคลาดเคลื่อนก็ได้ พอเราได้ยินเช่นนี้ เราก็คิดกันไปเองว่าคุณมิรองทำลายความน่าเชื่อถือของแผนที่ภาคผนวก 1 ลงได้ ทั้งๆ ที่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะที่เราต่อสู้กันทั้งหมดก็เพราะเรื่องแผนที่ภาคผนวก 1 (annex 1) หากกล่าวว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นของปลอม เราต้องตอบให้ได้ว่าเหตุใดคณะตุลาการศาลโลกจึงยอมรับในปี 2505

ผมคิดว่าทางออกของปัญหานี้ที่ดีที่สุดคือการใช้แนวทางพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint development area) ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการแก้ปัญญาเรื่องเส้นเขตแดนภายในภูมิภาค แต่วิธีนี้คนไทยไม่ชอบ คิดเพียงอย่างเดียวว่าจะเอาเขาพระวิหารมาเป็นของไทย สุดท้ายการแก้ไขปัญหาอาจเป็นการใช้ความรุนแรง และเราก็จะกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีภายในภูมิภาคแทน

ชุมพร ปัจจุสานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขอเริ่มจากการย้อนไปดูการพิจารณาคดีปี 2505 ก่อน กัมพูชาขอให้ศาลโลกกระทำ 3 อย่าง 1. ประกาศว่าเขาพระวิหารอยู่ในอธิปไตยของเขมร 2. ประกาศให้ไทยถอนกำลังทหาร และตำรวจออกจากพื้นที่โดยรอบ 3. ให้ไทยส่งคืนวัตถุทางประวัติศาสตร์ของเขมรคือให้รัฐบาลกัมพูชา ในภายหลังกัมพูชาได้ส่งคำร้องอีกหนึ่งข้อคือให้ศาลโลกยอมรับแผนที่ภาคผนวกหนึ่ง แต่ศาลโลกไม่รับพิจารณาเพราะถือว่าเป็นข้อเสนอที่มาทีหลัง สำหรับคำตัดสินของศาลโลกใน 3 ประการแรกมีดังนี้ 1. เขาพระวิหารอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา นั่นหมายความว่าทั้งน่านฟ้า และใต้ดินเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ทฤษฎีโทรศัพท์มือถือที่อาจารย์สุรชาติพูดถึงจึงไม่เป็นความจริง ข้อ 2. ไทยต้องถอนกำลังออกจากเขาพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งคนไทยมักไม่อ้างคำตัดสินข้อนี้ มักอ้างแค่ข้อหนึ่งเท่านั้น ส่วนข้อ 3 ไม่มีประเด็นที่น่าสนใจ

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้สืบเนื่องจากที่กัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก กัมพูชาขึงขอให้ศาลโลกตีความเรื่องเส้นเขตแดนใหม่ ในรัฐธรรมนูญศาลโลกมาตราที่ 60 ระบุว่า การขอให้ศาลตีความ ต้องเป็นการขอให้ตีความคำพิพากษา (judgment) เท่านั้น และในมาตรา 98 ของ rule of court ระบุไว้ว่าศาลจะรับตีความก็ต่อเมื่อมีข้อพิพาท (dispute) เกี่ยวกับขอบเขต และความหมาย (scope&meaning) ของคำพิพากษาเท่านั้น  การต่อสู้ระหว่างไทยและกัมพูชาจึงเป็นการถกเถียงว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับมาตร 60 ของรัฐธรรมนูญศาลโลกหรือไม่

สำหรับกัมพูชา กัมพูชาต้องการให้ศาลโลกระบุขอบเขตของพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งกัมพูชาต้องการให้เป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 โดยในคำอธิบายประกอบคำพิจารณาคดีของศาลโลกกล่าวว่า “เหตุที่ศาลตัดสินว่าเขาพระวิหารอยู่ในกัมพูชา เพราะอ้างอิง (motive) จากแผนที่ภาคผนวก 1” ศาลยังกล่าวอีกด้วยว่า “ศาลไม่ยอมรับเส้นปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน” เมื่อเป็นเช่นนี้ไทยจึงตกที่นั่งลำบาก แต่ไทยก็ยกคำอธิบายในส่วนท้ายของศาลโลกมาว่า “ที่ศาลได้กล่าวไปเป็นส่วนของการให้เหตุผลทางกฎหมาย (legal reasoning) ไม่ใช่คำพิพากษาที่มีผลบังคับ (binding force)” คือมองสองส่วนแยกกัน

ประเด็นของฝ่ายไทยในการต่อสู้ครั้งนี้คือไม่เคยมีข้อพิพาท (dispute) ระหว่างไทยและกัมพูชา หลังจากไทยออกแผนที่ตาม มติ ครม. ปี 2505 เจ้าสีหนุได้มาสำรวจปราสาทเขาพระวิหารเพื่อเปรียบเทียบแผนที่ของทั้งสองประเทศ และกล่าวว่า “ต่างกัน เมตร สองเมตร ไม่เป็นอะไร” เป็นเครื่องแสดงว่ากัมพูชายอมรับแผนที่ของไทย แต่กัมพูชาก็โต้ตอบว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นแผนที่ที่ไทยทำขึ้นฝ่ายเดียว ทนายทีมไทยยังกล่าวอีกว่า ไทยเองก็ถอนทหารออกมาและล้อมรั้วลวดหนามมาตั้งแต่มีคำพิพากษา อีกทั้งยืนยันชัดเจนว่าไม่ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 มาตั้งแต่ต้น เหตุใดอยู่ดีๆ กัมพูชาจึงขอตีความใหม่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วถึง 50 ปี

อย่างไรก็ตามกัมพูชาเองก็ไม่เคยตกลงกับไทยให้ใช้แผนที่ของตน ถ้าหากเอาแผนที่ที่ไทยกับกัมพูชาทำมาซ้อนทับกัน พื้นที่จะเหลื่อมกันอยู่ประมาน 43 ไร่ ซึ่งกินพื้นที่บริเวณตลาดกับบันไดทางขึ้นไปด้วย หากศาลยอมรับแผนที่ฉบับนี้ ย่อมเกิดความไม่พอใจในหมู่คนไทยแน่นอน


(ภาพพื้นที่ 43 ไร่ ดูเพิ่มเติม: http://www.facebook.com/thaiarmedforce)

กล่าวโดยสรุปกัมพูชาพยายามให้ศาลรับตีความคำพิพากษาเพราะต้องการความชัดเจนในขอบเขตและความหมาย ในขณะที่ไทยพยายามไม่ให้ศาลรับตีความคำพิพากษาโดยอ้างว่า ไทยกับกัมพูชาไม่เคยมีข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดน โดยความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่าต่างฝ่ายต่างก็มีน้ำหนัก และศาลต้องตัดสินใจว่าในการพิจารณาคดีนั้น คำพิพากษากับคำอธิบายประกอบเป็นสิ่งที่แยกจากกันได้หรือไม่ ทนายทั้งสองฝ่ายเก่งทั้งคู่ จึงต้องรอดูว่าศาลจะรับฟังเหตุผลของฝ่ายไหน

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ประเด็นที่จะพูดในวันนี้มี 2 ประเด็น 1. คือโอกาสของประเทศไทย 2. คือสิ่งที่ไทยเผชิญ ทีอาจนำไปสู่การเสีย 4.6 ตารางกิโลเมตร ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

การถ่ายทอดสดบรรยากาศระหว่างการสู้คดีเป็นการทำให้ประชาชนตื่นตัว กลุ่มชาตินิยมจึงฉวยโอกาสนี้อ้างว่าประเทศไทยชนะกัมพูชาแล้ว แต่ในความเป็นจริง เราคงพูดเช่นนั้นไม่ได้ จริงๆ แล้วไทยมีแต่แพ้กับเสมอตัว

ในขณะที่ไทยบอกว่าไม่เคยมีข้อพิพาท กัมพูชาได้โต้แย้งว่ามีข้อพิพาทมาโดยตลอด เช่นการที่ไทยรื้อรั้วลวดหนามของกัมพูชา มีคำสั่งจากกระทรวงกลาโหมของไทยว่าหากมีผู้ข้ามเขตแดนมาให้ยิงได้เลย นายกรัฐมนตรีนโรดมของกัมพูชาเองเคยประท้วงเรื่องดังกล่าวไปยังสหประชาชาติ จนกระทั่งเลขาธิการสหประชาชาติต้องส่งนาย นิลส์ กัสซิง มาเป็นผู้ดูแลสถานการณ์ความรุนแรงบริเวณชายแดน ในปี 2505 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชาเคยส่งบันทึกช่วยจำมาให้รัฐบาลไทยหยุดการรุกรานกัมพูชา ซึ่งทั้งหมดนี้มีเอกสารเป็นหลักฐานประกอบชัดเจน ฉะนั้นหากพิจารณาจากประเด็นเรื่องข้อพิพาท จึงมีแนวโน้มสูงที่ศาลจะรับตีความ

อย่างไรก็ตามไทยมีอีกข้ออ้างหนึ่งคือ อ้างพันธกิจของศาลโลกนั่นคือหน้าที่ในการรักษาสันติภาพ (peace) ของโลก ไทยอ้างว่าผลของการตีความคำพิพากษาอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระลอกใหม่ระหว่างไทย-กัมพูชา คุณมิรองได้ไปจ้างคณะวิจัยเส้นเขตแดน (boundary research) เพื่อจัดทำแผนที่หลายฉบับเพื่อมาหักล้างความน่าเชื่อถือของแผนที่ 1:200,000 ที่เกิดจากคณะกรรมการผสม โดยอ้างว่าแผนที่ดังกล่าวไม่มีความแม่นยำ หากศาลบังคับใช้อาจเกิดความขัดแย้งได้ ในขณะที่กับพูชาเองก็อ้างเรื่องสันติภาพเช่นกัน โดยอ้างว่าตั้งแต่ปี 2505 ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเรื่องพื้นที่โดยรอบ (vicinity) ตัวปราสาททำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นหลายครั้ง หากศาลชี้ขาดไปเลยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของใครจะช่วยยุติความขัดแย้งลงได้ ศาลโลกจึงต้องเลือกระหว่างปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเอง หรือตัดสินชี้ขาดให้เกิดข้อสรุป

อันที่จริงประเด็นเรื่อง 4.6 ตารางกิโลเมตรไม่ควรกลับมาเป็นประเด็นอีกเพราะในการทำ MOU ปี 2543 นายนพดลสามารถเจรจาให้กัมพูชาตัดพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรออกไปได้แล้ว นายนภดลเป็นผู้แนะนำให้รัฐบาลกัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ในฐานะคำแนะนำจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่คนไทยกลับมองว่านายนพดลยกประเทศให้กับกัมพูชา ในแถลงการณ์ร่วม “ด้วยไมตรีจิต” ระหว่างไทยกัมพูชาระบุไว้ว่า

  1. พื้นที่เขาพระวิหารที่จะขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะไม่นับรวมพื้นที่ด้านเหนือและด้านตะวันออกของตัวปราสาท
  2. ไทยและกัมพูชาจะบริหารพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรร่วมกัน โดยผู้ได้รับอำนาจจากรัฐบาลไทยและกัมพูชา
  3. การขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะไม่ส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดน

หลังจากนั้นรัฐบาลกัมพูชาได้จัดทำแผนที่ฉบับใหม่ส่งไปให้กับคณะกรรมการมรดก (UNESCO) โลกพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 32 ซึ่งเมื่อเทียบกับแผนที่เดิมที่ส่งมาในการประชุมครั้งที่ 31 พบว่าพื้นที่ลดลงมากกว่าครึ่ง เนื่องจากตัดพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลกเมตรออกไปแล้ว หลังจากส่งภาพแผนที่ดังกล่าวไปยังคณะกรรมการมรดกโลก รัฐบาลกัมพูชาก็นำภาพดังกล่าว ลงในเว็บไซต์ของรัฐบาลให้ประชาชนได้รับรู้ แต่สุดท้าย MOU 2543 กลับถูกยกเลิก และทุกวันนี้ภาพแผนที่ดังกล่าวถูกเอาออกจากเว็บไซด์ของรัฐบาลกัมพูชาแล้ว นี่อาจหมายความว่ารัฐบาลกัมพูชาจะไม่ยอมอ่อนข้อให้ไทยอีกต่อไป

เรื่องสุดท้ายที่จะพูดคือพวกลัทธิชาตินิยมที่มักหยิบเอาเรื่องเขาพระวิหารมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และสร้างข่าวลือผิดๆ เช่นการเสียเขาพระวิหารจะนำไปสู่การเสียพื้นที่ทางทะเลในอ่าวไทยที่เป็นแหล่งแก๊สธรรมชาติ ซึ่งไม่เป็นความจริง ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เคยมีการผลักดันวาระให้เอาเขาพระวิหารออกจากการเป็นมรดกโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านที่ดีไม่ควรทำ แต่ทำไปเพื่อสร้างความนิยม คุณสุวิทย์ คุณกิตติ รมต. กระทรวงต่างประเทศในขณะนั้นเคยไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการมรดกโลกและกลับมาแถลงต่อสื่อมวลชนว่าไทยได้ walk out ออกจากคณะกรรมาธิการมรดกโลก ซึ่งไม่เป็นความจริง จนคณะกรรมการมรดกโลกต้องออกจดหมายมาชี้แจงว่าไม่เคยมีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวในที่ประชุม

โดยสรุปแล้วเหตุที่เขาพระวิหารถูกทำให้เป็นประเด็นตลอดเวลาเพราะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม ไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งคนไทยในพื้นที่ ปากบอกว่ารักชาติ แต่ไม่เคยสนใจเลยว่าประชาชนในพื้นที่เขาเดือดร้อนมากแค่ไหน

พิณผกา งามสม กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้สวนดุสิตโพลได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ โดยได้ไปสอบถามประชาชน 1,500 คน ว่าในช่วงนี้สนใจข่าวเรื่องใดมากที่สุด อันดับหนึ่ง 82% บอกว่าสนใจเรื่องคดีเขาพระวิหาร แต่เมื่อมาดูในอินเตอร์เน็ท มีผู้อ่านข่าวเรื่องนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับข่าวแนวเดียวกันในช่วงปี 2543 ในโซเชียลมีเดียเองก็ไม่ค่อยมีคนสนใจเรื่องนี้ มีการทำคลิ๊ปชาตินิยมออกมา เช่น “จดหมายเหตุกรุงเสีย” และ “ชายแดนกำลังจะตาย” ก็มีคนดูเพียงสองแสนคน อาจเพราะว่าคนไทยเบื่อที่จะติดตามแล้ว เนื่องจากประเด็นมันซ้ำไปซ้ำมา

ปัญหาของเรื่องเขาพระวิหารมี 2 ประเด็น ข้อแรกคือการหยิบยกขึ้นมาเพื่อโจมตีคู่แข่งทางการเมือง และส่วนใหญ่มักเชื่อมโยงกับคุณทักษิณ ชินวัตร ข้อที่สองคือประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม และวาทกรรมเสียดินแดน สื่อไทยไม่ค่อยนำเสนอแง่มุมที่ดีของประเทศเพื่อนบ้าน เสนอแต่ภาพการด้อยพัฒนาและความป่าเถื่อน ชอบเสนอข่าวเรื่องคนงานต่างด้าวทำผิดกฎหมาย ในขณะที่ข่าวเรื่องนายจ้างไทยกดขี่แรงงานต่างด้าวกลับไม่ถูกนำเสนอมากนัก ยิ่งเป็นประเทศกัมพูชายิ่งหนักเป็นพิเศษ นอกจากความเชื่อทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีการเชื่อมโยงไปถึงเรื่องคุณทักษิณอีก

จากการติดตามสื่อกัมพูชาพบว่าเขานำเสนอข่าวเรื่องนี้น้อยมาก อาจเป็นเพราะเสรีภาพสื่อของเขาอาจยังไม่เยอะเท่าไทย คนที่พูดถึงเรื่องนี้ได้มีแค่สองคนคือนายกฯฮุนเซ็น กับนายฮอนำฮง รมต.กระทรวงต่างประเทศ ออกมาพูดสั้นๆว่า “กัมพูชาจะยอมรับคำตัดสินของศาลโลก และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยต่อไป เพราะทั้งสองประเทศรักกันเหมือนลิ้นกับฟัน” อีกทั้งกล่าวอีกด้วยว่ากัมพูชาจะพยายามรักษาความสงบทั้ง “ภายใน และภายนอก” ตรงนี้น่าสนใจ เหมือนกัมพูชากำลังส่งสัญญาณมาที่ไทยว่า เรารักษาความสงบภายในประเทศเราได้ แล้วไทยทำได้หรือเปล่า?

ตัวสื่อกัมพูชาเองก็มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะอยู่ไม่น้อย อย่างเช่นตอนมีข่าวเรื่องผู้สื่อข่าวไทยวางรูปอดีตกษัตริย์ของกัมพูชาไว้ในที่ไม่เหมาะสม สื่อกัมพูชาตกลงกันเองว่าจะไม่นำเสนอข่าวเรื่องนี้เพราะอาจทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ ประเด็นเรื่องเขาพระวิหารนี้ก็เช่นกัน สื่อกัมพูชาประหลาดใจที่เห็นประเทศไทยตื่นตัวกับเรื่องนี้ คนกัมพูชาเขาไม่ได้ใส่ใจว่าเขาจะได้ผลประโยชน์มากแค่ไหนจากศาลโลก เขาแค่อยากยุติความขัดแย้งชายแดนที่คาราคาซังมานาน เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้สื่อของเขาจะมีเสรีภาพไม่มากนัก แต่เขาระมัดระวังมากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับสื่อไทย

สิ่งที่สื่อไทยไม่ค่อยนำเสนอคือเรื่องผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง เช่นชาวบ้าน ทหารหรือนักธุรกิจในพื้นที่ชายแดน ประชาไทเคยลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่สูญเสียที่อยู่จากการปะทะ พบว่าคนในพื้นที่รวมถึงทหารเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนกัมพูชาอย่างสันติ หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่ปัญหาคือสื่อกระแสหลักไม่ชอบภาพเหล่านี้ สื่อจึงไม่สามารถสะท้อนเสียงของคนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net