ถมทรายหาดพัทยาไม่คืบ ซื้อทรายระยองเจอค้าน-หาแหล่งใหม่ รอตรวจสีทราย


 

จากกรณีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหาดพัทยาเหนือ ซึ่งบางจุดชายหาดเหลือเพียง 3 เมตร ผู้สื่อข่าวเดินทางลงสำรวจพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการเต็นท์ร่มริมหารายหนึ่งที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ กล่าวว่า เขาต้องลดจำนวนเต๊นท์ร่มริมหาดลงแทบทุกปี ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์จะไม่มีรายได้ในส่วนนี้เลย อีกทั้งยังไม่มีนักท่องเที่ยวที่มานั่งเนื่องจากน้ำทะเลกัดเซาะเข้ามาสูงจนถึงบริเวณที่ตั้งร่มริมหาด ที่ผ่านมาได้มีการทวงถามไปยังเมืองพัทยาถึงความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาแต่กลับรับได้คำตอบว่า ต้องรอการตรวจสอบทรายที่จะนำมาถมว่ามีสีสันเข้ากันกับทรายหาดพัทยาหรือไม่ และไม่อาจระบุระยะเวลาที่แน่นอน  อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนได้แก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยนำกระสอบทรายมาวางตามแนวที่ตั้งเต๊นท์ร่มริมหาดของตน เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถนั่งได้

ทางด้านนายรณกิจ เอกะสงห์ รองนายกเมืองพัทยาได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ทางเมืองพัทยาได้จัดสรรงบประมาณในการทำโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไว้จำนวน 430 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่าเป็นผู้ดูแลให้ทั้งหมด ขณะนี้กำลังเร่งแก้ไขปัญหาในส่วน 500 เมตรแรก ตั้งแต่โค้งดุสิต ซึ่งปัญหาที่ทำให้ล่าช้า เนื่องจากทรายที่มีแวคเตอร์ (สีสัน) ใกล้เคียงกับทรายบริเวณหาดพัทยานั้นต้องไปนำมาจากปากน้ำระยอง ขณะที่ชาวบ้านปากน้ำระยองกังวลว่าการเอาทรายมาแล้วจะทำให้ตลิ่งพัง ทำให้ชาวบ้านไม่ยอมจนผู้ว่าราชการจังหวัดระยองต้องระงับเรื่องนี้ไว้ก่อน

รองนายกเมืองพัทยา กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังส่งสีสันเม็ดทรายจากแหล่งอื่นให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตรวจสอบว่ามีความเหมาะสมที่จะเอามาถมเสริมทรายตามที่วางโครงการไว้หรือไม่ ซึ่งทางทีมวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังจะวิเคราะห์ส่วนต่างๆ อบจ.พัทยา จึงต้องรอคำตอบก่อนเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวลดน้อยลงแต่อย่างใด

ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า การที่ชายหาดพัทยาถูกกัดเซาะอย่างเร็วและรุนแรงนั้นเกิดจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ธรรมชาติคือคลื่นลมใหญ่ขึ้น อีกทั้งทางต้นน้ำฝั่งหาดจอมเทียนพบว่าบริเวณนั้นมีการกัดเซาะและลงโครงสร้างทำให้ทิศทางของการเคลื่อนที่ตะกอนเปลี่ยนไป ภาพรวมของตะกอนที่เคยเข้าสู่หาดพัทยาน้อยลง บวกกับในพัทยากัดเซาะมาจนถึงแนวกำแพงกันคลื่น ทำให้คลื่นโดนปะทะและพาทรายออกนอกชายฝั่งได้เร็วขึ้น

ดร.ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า การกัดเซาะบริเวณหาดพัทยาน่าจะรุนแรงกว่านี้ในอนาคตเพราะคลื่นลมเปลี่ยนทิศทางและมีมรสุมมากขึ้น จากการคาดการณ์พบว่าจำนวนทรายที่ยังค้างอยู่ที่หาดพัทยาในปัจจุบัน หากไม่มีการเร่งแก้ไข ภายใน 5-6 ปี หาดพัทยาจะไม่เหลือหาดอีกในช่วงน้ำขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการฟื้นฟูหาดพัทยา โดยการเอาทรายกลับมาเติมหาดพัทยาตามที่วางแผนไว้คือ 360,000 คิวบิกเมตร พบว่าสามารถทำให้มีหาดอยู่ได้อีกประมาณ 10-15 ปี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท