Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในภาวะที่เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่องระหว่างการเจรจาสันติภาพ รัฐไทยจะต้องมีหลักประกันกับประชาชนว่า  กระบวนการพูดคุยสันติภาพ จะช่วยลดความรุนแรงลงได้อย่างไร

ความปั่นป่วน ความรุนแรง และความสูญเสีย ที่เพิ่มความถี่มากขึ้น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้   แม้จะเป็นสิ่งที่ถูกวิเคราะห์ ถูกคาดการณ์เอาไว้แล้วว่า เมื่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มต้นขึ้น ความโกลาหล ความปั่นป่วน และความรุนแรงที่จะแสดงออก โดย กลุ่มขบวนการต่าง ๆ ทั้ง ขบวนการที่มีตัวแทนร่วมโต๊ะพูดคุยกับหน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทย หรือ กลุ่มที่ไม่มีโอกาสร่วมโต๊ะพูดคุย หรือ กลุ่มที่เสียประโยชน์จาก กระบวนการสร้างสันติภาพที่เริ่มต้นขึ้น ต่างก็ฉวยโอกาส แสดงออก ด้วยก่อเหตุความรุนแรง เพื่อสื่อสารไปยังรัฐบาลไทย
แต่ทุกครั้งของ การก่อเหตุความรุนแรง และเกิดความสูญเสียขึ้นกับประชาชนทั่วไป หรือกับเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ตาม   ย่อมส่งผลให้ขวัญกำลังใจ ของคนที่อยู่ในพื้นที่ และคนไทยทั้งประเทศ ที่คาดหวังต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับลดน้อยและเสื่อมถอยลงเป็นลำดับ   กลายเป็นความกังวลสงสัย และแคลงใจว่า สุดท้ายแล้ว กระบวนการสร้างสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ จะทำให้ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กลายเป็น คบเพลิงแห่งสันติภาพที่ส่องสว่างไปทั่วประเทศได้หรือไม่
โดยเฉพาะ เหตุการณ์ที่ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ยิงกราดประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 6 ศพที่ รูสะมิแล ปัตตานี และในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 3 ขวบรวมอยู่ด้วย เป็นสิ่งที่สร้างความเศร้าสลดใจหดหู่ใจอย่างยิ่ง   แม้ว่านี่ไม่ใช่ เด็กศพแรกที่ต้องสังเวยให้กับความรุนแรงป่าเถื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2005 ก็มีการบุกเข้ายิงในครอบครัวประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทำให้สมาชิกในครอบครัว 9 คนเสียชีวิตทันที ในจำนวนมีเด็กวัย 8 เดือนรวมอยู่ด้วย และหลังจากนั้นก็มีอีกในหลายเหตุการณ์ที่เด็กทารกต้องมาจบชีวิตลงอย่างน่าเวทนา

อย่างไรก็ตาม เมื่อ กระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพ ได้เริ่มต้นขึ้น คนไทยส่วนใหญ่ก็คาดหวังว่า ความรุนแรงที่กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก และประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นหลักที่ฝ่ายรัฐไทย เสนอให้กับ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนที่แล้วที่เริ่มต้นการพูดคุย แต่แม้ว่ากระบวนการสันติภาพจะผ่านพ้นไปแล้ว 2 เดือน ความโหดร้ายป่าเถื่อนก็ยังไม่ลดลง กลับจะเพิ่มมากขึ้น

ความรู้สึกไม่เชื่อมั่นต่อ กระบวนการสร้างสันติภาพ ระหว่าง รัฐไทย กับ แกนนำบีอาร์เอ็น ก็ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อบรรยากาศเป็นแบบนี้ รัฐไทย จะต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกเชื่อมั่นจากสังคม ไม่น้อยไปกว่าการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ กับ ฝ่ายขบวนการเพียงด้านเดียว

รัฐไทย จะต้องแสดงให้ คนไทยทั้งประเทศ เห็นว่า ยุทธศาสตร์ในการสร้างสันติภาพภาคใต้ เป็นยุทธศาสตร์ที่จะสร้างความหวังให้กับคนไทยที่ต้องการเห็นสันติภาพเกิดขึ้นจริง แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า สันติภาพที่แท้จริงจากการะบวนการพูดคุยนั้นจะต้องอาศัยเวลา แต่ด้วยสถานการณ์ที่ กลุ่มขบวนการที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสันติภาพ หรือ กลุ่มขบวนการที่กำลังสร้างอำนาจต่อรอง โดยการเร่งสร้างความถี่ก่อเหตุความรุนแรงอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่รัฐไทย จะต้องแสดงความรับผิดชอบ และมีหลักประกันกับประชาชนว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพ จะช่วยลดความรุนแรงลงได้อย่างไร

ไม่เพียงแต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกลุ่มขบวนการ หรือ กลุ่มที่เสียประโยชน์ จากการสร้างสันติภาพในภาคในใต้เท่านั้น แต่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ทั้งกลุ่มการเมือง และพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ถือเป็นตัวแปรสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ที่จะนำไปสู่การล่มสลาย หรือ การคงอยู่ของกระบวนการสร้างสันติภาพภาคใต้  

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การสร้างสันติภาพภาคใต้ ของรัฐบาลไทย นอกจากจะต้องรับมือกับ ฝ่ายขบวนการแล้ว ยังจะต้องรับมือ กับ กลุ่มการเมือง และพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอคอยสันติภาพในภาคใต้ และต่อสังคมโลกที่เฝ้าจับตาการสร้างสันติภาพในภาคใต้ของรัฐไทย

ยุทธศาสตร์สันติภาพใต้ของรัฐบาลไทย จึงต้องผ่านการระดมสรรพกำลัง ระดมองค์ความรู้จากทุกกลุ่มทุกฝ่าย มีคณะทำงานที่ชัดเจนในแต่ละยุทธศาสตร์ เพื่อที่จะกำหนดย่างก้าวที่จะทำให้ กระบวนการสันติภาพในภาคใต้ ไม่สะดุดหยุดลง และเป็นกระบวนการที่เป็นความหวังให้กับคนไทยทั้งประเทศ และทำให้คนไทยทั้งประเทศพร้อมที่จะให้การสนับสนุนกระบวนการนี้ต่อไป

สำหรับคนไทยทั้งประเทศ สิ่งที่ทำได้ ในช่วงเวลาอันโหดร้ายนี้ คือการเฝ้ารอ “สันติภาพในภาคใต้” อย่างอดทน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net