บท บ.ก.ฟ้าเดียวกัน: : กระบวนการสันติภาพเพิ่งจะเริ่ม อย่าเพิ่งล้มโต๊ะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นับจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ตัวแทนรัฐไทยได้ลงนามใน “ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ”กับ “ผู้คนที่มีความคิดเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ”เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย”โดยมีประเทศมาเลเซียทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในกระบวนการดังกล่าวนั้นจนถึงปัจจุบัน (5 พฤษภาคม 2556) ความรุนแรงก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเป็นเหตุให้คนบางกลุ่มเรียกร้องให้ทบทวนหรือยกเลิกกระบวนการพูดคุย-เจรจาด้วยข้ออ้างหลักๆเช่น ยังไม่ถึงเวลาเจรจา, รัฐไทยยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้,มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อการน้อยเกินไป, กระบวนการพูดคุย-เจรจาจะเป็นตัวเร่งให้กลุ่มผู้ก่อการใช้ความรุนแรงเพื่อยกระดับการเจรจาเป็นต้น

ฟ้าเดียวกัน เห็นว่าปฏิบัติการทางการทหารของรัฐไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมานับจากเกิดเหตุโจมตีค่ายทหารกองพันพัฒนาที่4จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแก้ปัญหาไม่ได้ ซ้ำยิ่งเติมเชื้อไฟแห่งความคับแค้นให้ทบทวีมากขึ้นเพราะปฏิบัติการภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฎอัยการศึกเปิดช่องให้เกิดการปฏิบัติแบบลัดขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมส่งผลให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายชาวบ้านในพื้นที่ยิ่งรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยเกิดความรู้สึกแปลกแยกต่อเจ้าหน้าที่รัฐไทยมากขึ้นสภาพการณ์เช่นนี้ทำให้ส่งทหารลงไปเท่าไรก็ไม่พอ เพราะทหารถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา

การพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพก็คือการ“เปิดพื้นที่ทางการเมือง” หลังจากที่ใช้“การทหาร” นำมาถึง 9 ปีแล้วก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้หากไม่เปิดโอกาสให้กับทางเลือกใหม่ๆในการแก้ปัญหา ก็มีแต่จะต้องฆ่ากันไปเรื่อยๆ

ณ ตอนนี้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น (รัฐไทยยังไม่ยอมใช้คำว่า “เจรจา” ด้วยซ้ำ) เป้าหมายเบื้องต้นคือเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้และทำความเข้าใจความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ จุดยืนเป้าหมายของกันและกัน สร้างบรรยากาศให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันก่อนจะยกระดับไปสู่การเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันในอนาคต

การ “เปิดพื้นที่ทางการเมือง” ในแง่หนึ่งก็คือการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้ทบทวนหลักคิด อุดมการณ์ ความเชื่อความรู้ความเข้าใจของตนเอง อันจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การหาทางออกร่วมกันทั้งฝ่ายรัฐไทย และฝ่ายขบวนการซึ่งมีบีอาร์เอ็นเป็นตัวแทน ต้องนำความคิด อุดมการณ์เป้าหมายของตนเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนตลอดจนถกเถียงกันด้วยเหตุผลประเมินและปรับเป้าหมายของแต่ละฝ่ายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

ฝ่ายรัฐไทยคงต้องทบทวนแนวคิดเรื่องชาติ เรื่องอำนาจอธิปไตยเสียใหม่แทนที่จะเอาแต่ยืนกรานตามแนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบว่า “ไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว” การไม่เสียดินแดน แต่เสียความชอบธรรมในการปกครองพื้นที่ไม่ได้ใจของประชาชนในพื้นที่ จะมีประโยชน์อันใด? นอกจากนี้ยังต้องทบทวนประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมทบทวนแนวคิดเรื่องรัฐเดี่ยวแบบแข็งทื่อ และทำความเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเสียใหม่ว่าไม่ใช่ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ

ฝ่ายขบวนการคงต้องออกมาสื่อสารความคิดและจุดยืนของตนต่อสาธารณชนมากขึ้นหลังจากที่อยู่ในเงามืดมานานต้องอธิบายให้สมาชิกและแนวร่วมของตนเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า ที่อ้างว่าทำเพื่อปลดปล่อยปาตานีให้เป็น“เอกราช” เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็น“รัฐอิสลาม” นั้นมีแผนหรือโครงการอะไรรองรับมีอะไรเป็นหลักประกันว่าถ้าได้เอกราชแล้วชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่จะดีขึ้นมีอิสรภาพและได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น หรือหากได้เอกราชมาแล้วประเทศเล็กๆจะอยู่รอดได้อย่างไรในยุคโลกาภิวัตน์ จะบริหารจัดการกันอย่างไรมีทรัพยากรและบุคลากรเพียงพอหรือไม่ การเป็นรัฐอิสลามจะแก้ปัญหาที่เป็นเรื่อง “ทางโลกย์” อย่างเรื่องการจัดสรรทรัพยากรการมีงานทำและมีรายได้ที่เหมาะสมได้แค่ไหน อย่างไร เป็นต้น

ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คงต้องคุยกันว่าต้องการเอกราชและรัฐอิสลามจริงหรือไม่? ถ้าเป้าหมายจริงๆคืออิสรภาพและความยุติธรรมมีหนทางที่จะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้โดยที่ยังอยู่กับรัฐไทยหรือไม่? คำว่า “รัฐอิสลาม” ที่พูดกันอย่างคลุมเครือนั้นหมายถึงอะไรมีประเทศไหนเป็นแม่แบบไปด้วยกันได้กับหลักสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนแบบประชาธิปไตยหรือไม่ถ้าไม่ได้จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าการปกครองในรัฐใหม่จะนำมาซึ่งอิสรภาพและความยุติธรรมมากกว่าการอยู่กับรัฐไทยนอกจากนี้ชุมชนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังต้องทบทวนบทบาทของตัวเองด้วยว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือไม่การเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่กระทำในนามของศาสนานั้นถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

ประชาชนไทยทั่วประเทศเช่นเดียวกับฝ่ายรัฐไทย จำเป็นต้องทบทวนแนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบตลอดจนความรู้ความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์รัฐชาติไทยของตนเสียใหม่ (โดยเฉพาะพวกที่รู้สึกตกใจกับการใช้คำว่า“นักล่าอาณานิคมสยาม” ของตัวแทนบีอาร์เอ็นในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านยูทูบเมื่อวันที่28 เมษายน 2556) สิ่งที่เราต้องตระหนักคือปัญหาชายแดนใต้นั้นมีรากเหง้ามาจากอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่ฝังลึกในหัวของคนไทยจำนวนมากไม่เพียงแต่รัฐไทยจะรับเอามรดกการปกครองแบบอาณานิคมที่ไม่เคยไว้ใจให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาของตนเองเท่านั้น“ประชาสังคมไทย” ก็ยังรับเอาทัศนะแบบ“เจ้ากรุงเทพฯ” มาผลิตซ้ำผ่านงานวิชาการแบบเรียน วรรณกรรม ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ จนทำให้แนวคิดที่ว่าจะไม่ยอมเสียพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียวกลายเป็นอุดมการณ์หลักของคนในสังคมไทยไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดหรือใส่เสื้อสีไหน

แน่นอนว่าการทบทวนความรู้ความเข้าใจของแต่ละฝ่ายเพื่อหาจุดที่เป็นความเข้าใจร่วมอันจะนำไปสู่การหาข้อตกลงร่วมกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลายาวนานอย่างแน่นอนขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่จ้องจะล้มโต๊ะการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพอยู่แล้วทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไทยและฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นต่างก็มีสายกลาง

(หรือสายประนีประนอม) และสายสุดโต่งอยู่ในฝ่ายของตนเองและเชื่อว่าในตอนนี้สายสุดโต่งของทั้งสองฝ่ายคงยังไม่อยากเจรจาเพราะได้ประโยชน์จากความไม่สงบที่เกิดขึ้น (ที่เห็นได้ชัดคืองบประมาณมหาศาลของกองทัพไทยในแต่ละปี)ตลอดจนกลุ่มอิทธิพลนอกกฎหมายที่ฉวยโอกาสผสมโรงก่อเหตุแล้วโยนความผิดให้ฝ่ายขบวนการ ก็คงอยากจะรักษาสภาพ “รัฐล้มเหลว”ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานนอกกฎหมายของตน

คงเป็นหน้าที่ของผู้มีแนวคิดสายกลางในคู่ขัดแย้งหลักทั้งสองที่จะต้องหาทางกุมสภาพการนำ(อย่างน้อยก็ในทางความคิด) ให้ได้และต้องมีการสร้างตาข่ายรองรับไม่ให้กระบวนการสันติภาพพังครืนลงง่ายๆโดยขยายฐานการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพไปสู่ระดับประชาชนทั่วไปอย่างน้อยก็ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงรวมไปถึงองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ไม่มีใครบอกได้ว่าจังหวะเวลาหรือสถานการณ์ที่เหมาะสมในการเริ่มต้นเจรจาอยู่ตรงไหนผู้เข้าร่วมพูดคุยเจรจาเป็น “ตัวจริง”หรือไม่หรือการเจรจาต้องใช้เวลานานเท่าใดจึงจะเริ่มเห็นผลในแง่ของการลดความรุนแรง แต่จากประสบการณ์ในโลกสมัยใหม่ไม่มีความขัดแย้งทางศาสนา-ชาติพันธุ์ใดที่สามารถยุติลงด้วยสงครามเต็มรูปแบบแทบทุกกรณีจะต้องยุติด้วยการเจรจาไม่ว่าจะเป็นกรณีรัฐบาลอินโดนีเซียกับกลุ่มขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์, รัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร, รัฐบาลอังกฤษกับขบวนการไออาร์เอ ฯลฯ

หนทางสู่สันติภาพยังอีกยาวไกลไม่มีใครตอบได้ว่าการเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้จะนำมาซึ่งสันติภาพได้จริงหรือไม่และต้องใช้เวลายาวนานเพียงไร แต่ก็นับเป็นพัฒนาการทางบวกที่สำคัญที่ทำให้เรามีความหวังว่าอาจจะได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท