Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
เห็นโฆษณางานรางวัล “นาฏราช” ครั้งที่ 4 ที่จะมีขึ้นในอีก 7 วันข้างหน้าแล้วก็นึกถึงความร้ายกาจของสัตว์โลกที่เรียกเรียกตัวเองว่าคน นอกจากจะมีความสุขกับการฆ่าฟันพี่น้องร่วมแผ่นดินอย่างโหดเหี้ยมแล้ว ยังชวนกันถ่มถุยใส่ราวกับกับว่าเขาไม่ใช่มนุษย์เหมือนกับตน

เพราะงานนี้จงใจจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นวันครบสามปีของการสังหารหมู่ที่บริเวณราชประสงค์เมื่อเดียวกันของปี พ.ศ.2553ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่นำมาสู่การประท้วงในครั้งนั้น ต่างก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าพี่น้องของเรามากมายต้องสิ้นชีวิตด้วยน้ำมือของทหารไทยและด้วยอาวุธสงคราม ท่ามกลางสายตานับล้านที่จับจ้องมองอยู่ทั่วเมืองไทยและทั่วโลก น้ำตาของผู้สูญเสียและคนที่รักเขายังไม่ทันเหือดแห้ง ความเป็นธรรมและความยุติธรรมยังไม่ปรากฎ ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ก็ยังคลุมเคลือจนอาจต้องรอให้ประวัติศาสตร์ประชาชนบังเกิดขึ้นจึงจะย้อนมาตัดสินอีกครั้ง แล้วทำไมงานที่สามารถเลือกจัดวันใดก็ได้จึงต้องมาเลือกจัดกันในวันนี้

หรือฆ่าเขาแล้วยังไม่หนำใจ ต้องลากศพเขามาทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนเอาเก้าอี้ตีศพนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519?

ความจริงก็เข้าเค้า เพราะเหตุการณ์ทั้งสองนี้เป็นเสมือนภาพยนตร์โดยผู้กำกับภาพยนตร์คนเดียวกันแท้ๆ

อย่ามาอ้างครับว่า งานนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและไม่ต้องการให้ใครนำการเมืองมาเกี่ยวข้อง การตายของบุคคลใดก็ตามถือเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์และละเอียดอ่อนอย่างที่สุด ยิ่งเป็นการตายที่ไม่ควรตาย และด้วยน้ำมือของคนที่เขาเคยยกมือไหว้อย่างเคารพนับถือมาในอดีต ก็ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นที่สุด นี่เขากำลังจะจัดพิธีสงฆ์ งานรำลึก และผลักดันให้เกิดการค้นหาความจริงกันอยู่แท้ๆ เกิดมีคนกลุ่มหนึ่งออกมาประกาศกลางเมืองว่าไม่สนใจ ไม่สำคัญ และพร้อมจะเดินข้ามศพเขาไป ด้วยการจัดงานที่ไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดเป็นวันนั้นเลย ก็ต้องถามกลับว่าใครพยายามจะยั่วยุสร้างเงื่อนไขความโกรธแค้นให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองขึ้นมาอีก หากต้องจัดงานในวันอาทิตย์ก็ยังมีวันอาทิตย์อีกกว่าห้าสิบวันให้เลือกได้ แล้วทำไมต้องทำกันอย่างนี้

กรรมการจัดงาน “นาฏราช” มีอยู่นับสิบคน ไม่มีใครสักคนล่ะหรือที่เป็นผู้ใหญ่พอจะห้ามปรามทัดทานหรืออย่างน้อยก็ตักเตือนกันภายใน ไม่จำเป็นต้องมีจุดยืนทางการเมืองเหมือนฝ่ายเสื้อแดงหรอกครับ เพียงความเป็นคนของตัวเองก็น่าจะพอแล้ว ใครรู้จักประธานและกรรมการของงานนี้ช่วยถามให้ผมทีเถิดว่าหัวใจของเขาเป็นอะไรไป?

หรือมีใครที่สั่งการ แนะนำ กดดัน บีบคั้นอะไรลงมา เพื่อให้งานนี้ทำหน้าที่ลบความทรงจำและข่าวสารการรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารประชาชนในวันนั้นเมื่อสามปีที่แล้ว ตกลงความพยายามในการบิดเบือนและลบประวัติศาสตร์ภาคประชาชนที่สั่งให้ทำมาตลอดชีวิตอันโสมม ยังไม่สิ้นสุด และยังเดินหน้าด้านทำอยู่ต่อมาเหมือนเดิมใช่ไหม?

ใครสักคนต้องตอบสาธารณชนว่า ที่กำหนดจัดงานกันในวันที่ 19 พฤษภาคม ทั้งที่รู้ทั่วเมืองว่าเป็นวันอะไรนั้น เป็นเพราะความทมิฬหินชาติในหัวใจ หรือเพราะปิศาจที่ไหนมันสั่งลงมา

ก็งานนาฏราชนี้เอง ที่นายพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจงได้ขึ้นมาตะโกนไล่คนออกจาก “บ้านพ่อ” พ่อใครที่ไหนของนายพงษ์พัฒน์ คงต้องไปถามเขาดูเอง แต่สำหรับคนรู้และพอจะเข้าใจ เขาก็จดจำไว้ในใจว่างานนี้เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไรแน่ และยิ่งทำให้การจัดงานนาฏราช ตอน เหยียบพี่น้องร่วมชาติ ครั้งที่ 4 ในวันอาทิตย์หน้านี้ เป็นที่ประจักษ์ใจมากขึ้นว่าอะไรเป็นอะไร ก็ต้องขอบคุณนายพงษ์พัฒน์ไว้เสียด้วย ฐานที่ทำให้เงาะที่ซ่อนอยู่ใต้รูปทองมันชัดเจนขึ้นมา จะเป็นเพราะความเขลา ความคลั่ง หรือเจตนาจะเล่นบทนี้เพื่อส่งเสริมการงานอาชีพของตัวเองและครอบครัวก็ตาม ถือว่ามีประโยชน์ในระยะยาวทั้งนั้น

ใครรู้จักใครฝากถามด้วยครับว่า:

ประธานและกรรมการงาน “นาฏราช” เขามีความคิดอันลึกซึ้งของเขาอย่างไร

สถานีโทรทัศน์ที่จะถ่ายทอดสดหรือเทปงานนี้ เขาคิดและวางแผนจะมีส่วนร่วมกับแผนการเมืองครั้งนี้อย่างไร

บรรดาผู้สนับสนุนการจัดหรือสปอนเซอร์ทุกยี่ห้อสินค้าของงานนี้ เขาร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองกับฝ่ายที่ฆ่าประชาชนด้วยหรือไม่

ศิลปินและคนที่ไม่ใช่ศิลปินทุกคนที่จะเดินขึ้นเวที “งานนาฏราช” เพื่อรับรางวัล มอบรางวัล เชิญรางวัล ร่วมแสดง เป็นพิธีกร ตลอดจนผู้จะไปร่วมงานนั้น มีความกระดากใจบ้างหรือไม่ที่รู้ว่าเลือดคนไทยไหลนองแผ่นดินกันในวันนั้นเมื่อปี พ.ศ.2553
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net