Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

องค์กรฟรีดอมเฮาส์ แถลงข่าวเปิดตัวรายงานเสรีภาพสื่อโลก ประจำปี 2013 โดยในปีนี้ได้จัดให้ประเทศไทยลดสถานะจากประเทศ “เสรีบางส่วน” (partly free) เป็นสถานะ “ไม่เสรี” (not free) เนื่องมาจากการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อกังวลเรื่องการเอาผิดตัวกลางอินเทอร์เน็ต (ประชาไท, 1 พ.ค.56)

 

คำแถลงของฟรีดอมเฮาส์สะท้อนให้เห็นว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเท่ากับเป็นการยืนยันว่า “สิทธิ เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญไทยรับรอง ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่โลกสมัยใหม่ยอมรับ” ฉะนั้น เมื่อใช้เกณฑ์สิทธิ เสรีภาพตามหลักสากลมาวินิจฉัย ประเทศไทยจึงเป็นประเทศ “ไม่เสรี” (not free) เนื่องจากไม่มี freedom of speech ในเรื่องสถาบันกษัตริย์ มองในแง่นี้ ม.112 ก็คือกฎหมายที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ฝ่ายนิยมเจ้ามักจะอ้างว่า เมืองไทยมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ไม่เหมือนใครในโลก ไม่จำเป็นต้องเดินตามประชาธิปไตยแบบฝรั่ง เป็น “ประชาธิปไตยแบบวัฒนธรรมไทย” ก็ได้ สถาบันกษัตริย์ของเราก็ไม่เหมือนอังกฤษ ญี่ปุ่น เพราะพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นธรรมราชาผู้ทรงทศพิธราชธรรม

แต่ที่จริงแล้ว แม้เราจะอ้างหลักการของเราเอง คือ “หลักทศพิธราชธรรม” (ที่จริงหลักนี้ก็เอามาจากอินเดีย) และอ้างอย่างซื่อตรงต่อหลักการเดิม ก็จะเห็นได้อีกว่า “ม.112 ย่อมขัดต่อหลักทศพิธราชธรรม” ด้วยเช่นกัน

เพราะตามเนื้อหาของทศพิธราชธรรมนั้นถือว่า ผู้ปกครองมีหน้าที่รับใช้ราษฎร และต้องซื่อตรง โปร่งใส วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ แม้แต่นักวิชาการฝ่ายนิยมเจ้าอย่างบวรศักดิ์ อุวรรโณ ก็ตีความว่า “ทศพิธราชธรรมคือหลักธรรมาภิบาล” โดยเราย่อมรู้ว่าเงื่อนไขของความเป็นธรรมาภิบาลที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ “ความโปร่งใสตรวจสอบได้” ฉะนั้น กษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมจึงต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ปัญญาชนสยามอย่างสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็อ้างหลักทศพิธราชธรรมเพื่อยืนยันเสมอๆว่า “สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และต้องโปร่งใส วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้”

ฉะนั้น ม.112 ที่ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ จึงไม่เพียงแต่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลเท่านั้น หากยังขัดต่อหลักทศพิธราชธรรม “อย่างถึงราก” อีกด้วย

ที่ว่า ม.112 ขัดต่อทศพิธราชธรรมอย่างถึงราก ก็เพราะว่าสาระสำคัญของทศพิธราชธรรมยึดโยงอยู่กับความหมายของ “ธรรมแบบพุทธ” กล่าวคือ ในภูมิปัญญาอินเดียโบราณที่เรารับเอามาผ่านพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์นั้นเขาใช้คำว่า “ธรรม” ในความหมายที่ซับซ้อน (พอๆกับคำว่า “God” ในภูมิปัญญาคริสต์ อิสลาม) และกินความหมายกว้างครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง

“ธรรม” หมายถึงกฎสากลของจักรวาลหรือธรรมชาติและกฎธรรมชาติก็ได้ หมายถึงความประพฤติของปัจเจกบุคคลที่เรียกว่าศีลธรรมจรรยาก็ได้ หมายถึงความดี (กุศลธรรม) ความชั่ว (อกุศลธรรม) สภาวะที่ไม่มีความหมายดี-ชั่ว (อัพยากตธรรม) ก็ได้ หมายถึงศีลธรรมทางสังคม เช่น หน้าที่ของผู้ปกครองหรือรัฐ ความเป็นธรรม ความยุติธรรมก็ได้ หมายถึงวัฒนธรรมและอารยธรรมก็ได้ ส่วนที่หมายถึงระบบการปกครองของรัฐหรือกฎหมาย เขาก็เรียกว่า “พระธรรมศาสตร์” เป็นต้น

แต่โดยรวมๆ แล้ว เราอาจแยกความหมายของธรรมออกเป็นสองความหมายหลักๆ คือ

1) ธรรมในความหมายที่ยึดโยงอยู่กับพระพรหม หรือพระเจ้า ผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์ ธรรมในความหมายนี้คือ “โบราณธรรม” หรือธรรมเก่าแก่ที่ใช้กันมาในวัฒนธรรมพราหมณ์ก่อนพุทธกาลหลายพันปี เป็นธรรมที่กำหนดอุดมการณ์ปกครองรัฐตามทฤษฎีเทวโองการ ที่ถือว่าผู้ปกครองเป็น “เทวราชา” วางระบบกฎหมายที่เรียกว่า “พระธรรมศาสตร์” เพื่อใช้กำหนดหน้าที่ทางชนชั้นตามระบบวรรณะสี่เป็นต้น

ปรัชญาการปกครองตามทฤษฎีนี้ถือว่า “มนุษย์นั้นชั่วร้าย ต่อกลัวราชทัณฑ์ จึงจักปฏิบัติตามธรรม” ฉะนั้น พระพรหมจึงประกาศิตให้กษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาดปกครองโลก เพื่อควบคุมให้ผู้คนปฏิบัติตามธรรม หรือกฎระเบียบสังคมตามที่กำหนดไว้ในพระธรรมศาสตร์

2) ธรรมในความหมายที่ยึดโยงอยู่กับกฎธรรมชาติ คือ “ธรรมแบบพุทธ” จะว่าไปก็คือธรรมที่พุทธศาสนาเสนอขึ้นมาเพื่อโต้แย้งโบราณธรรมแบบพราหมณ์ในสาระสำคัญ เช่น พราหมณ์ว่าพระพรหมสร้างโลก พุทธแย้งว่าโลกเกิดขึ้นตามกฎเหตุปัจจัยทางธรรมชาติ พราหมณ์ว่ามีอัตตา พุทธแย้งว่าเป็นอนัตตา พราหมณ์ว่าระบบวรรณะสี่มาจากพรหมลิขิต พุทธแย้งว่าระบบวรรณะเกิดจากวิวัฒนาการทางสังคม ที่เปลี่ยนแปลงได้และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามกฎอนิจจัง มนุษย์คือผู้ลิขิตชีวิตและสังคมของตนเอง

พราหมณ์ว่าผู้ปกครองเป็น “เทวราชา” ทรงอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามเทวโองการ พุทธแย้งว่าผู้ปกครองคือ  “สมมติราชา” ที่ราษฎรสมมติขึ้น มีความชอบธรรมในการปกครองจากการทำหน้าที่รับใช้ราษฎรตามหลักจักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ ทศพิธราชธรรม (หรือหากเป็นคณะบุคคลปกครองก็ใช้วัชชีธรรม)

ในแง่ปรัชญาการปกครอง พุทธศาสนามองว่าธรรมชาติของมนุษย์มีสองด้านคือ ด้านมืด (อกุศลมูล-โลภ โกรธ หลง) และด้านสว่าง (กุศลมูล-เสียสละ เมตตา ปัญญา) และมองว่า “ด้านสว่าง” คือธรรมชาติที่เป็นแก่นแท้ของมนุษย์ ฉะนั้น มนุษย์จึงสามารถเรียนรู้เพื่อแปรด้านมืดให้กลายเป็นด้านสว่างได้ตลอดเวลา พุทธศาสนาไม่ได้เน้นการบังคับควบคุมเก็บกดด้านมืดของมนุษย์ด้วยการใช้อำนาจ แต่เน้นส่งเสริมการเรียนรู้ให้คนรู้จักคิดจนเกิดความเข้าใจหรือเกิดปัญญา เพื่อแปรด้านมืดเป็นด้านสว่างให้เกิดขึ้นทั้งภายในปัจเจกบุคคล และวัฒนธรรมทางสังคม

การปกครองตามทรรศนะของพุทธศาสนาจึงเน้นไปในทางให้การศึกษาส่งเสริมธรรมชาติด้านสว่างของมนุษย์ให้งอกงาม ซึ่งหมายความว่าต้องส่งเสริมการมีเสรีภาพที่จะเลือกของราษฎรเป็นประการสำคัญด้วย หลักทฤษฎีธรรมราชาที่ทรงทศพิธราชธรรมตามทรรศนะของพุทธศาสนา จึงเป็นหลักการให้ผู้ปกครองหรือรัฐใช้พระคุณมากกว่าพระเดช ต้องไม่เผด็จการแบบหลักเทวโองการ

ฉะนั้น เมื่อว่าโดยเนื้อหาสาระแล้ว หลักทศพิธราชธรรมจึงไปกันได้กับระบอบประชาธิปไตยที่มี freedom of speech มากกว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามทฤษฎีเทวโองการ ถ้าอ้างหลักทศพิธราชธรรมอย่างซื่อตรง เราต้องอ้างเพื่อให้ “ยกเลิก ม.112” ไม่ใช่อ้างเพื่อคง ม.112 เอาไว้

นอกจากคำว่า “ธรรม” จะมีความหมายซับซ้อนดังกล่าวแล้ว คำว่า “ราชา” หรือ “กษัตริย์” ก็มีความหมายซับซ้อนเช่นกัน กล่าวคือในสังคมอินเดียโบราณมีทั้ง “ระบบราชาธิปไตย” ที่กษัตริย์หรือราชาทรงอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามเทวโองการแบบพราหมณ์ เช่น กษัตริย์ในรัฐใหญ่ๆอย่างมคธ โกศล เป็นต้น และมี “ระบบสภาขัตติยะ” ที่ราชาหรือกษัตริย์ถูกเลือกจากสภาของชนชั้นปกครอง เช่น สภาขัตติยะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์และวัชชี เป็นต้น

ระบบที่กษัตริย์ถูกเลือกโดยสภานี่เองน่าจะเป็น “บริบท” อันเป็นที่มาของความคิดเรื่อง “สมมติราชา”

ตามนัยอัคคัญสูตร และทฤษฎีธรรมราชาที่พุทธะเสนอเพื่อโต้แย้งทฤษฎีเทวโองการแบบพราหมณ์ ดังอภิปรายตอนที่แล้ว

 

 

 

หมายเหตุ : จากบทความเดิมชื่อ พุทธศาสนากับประชาธิปไตย (7) ความซับซ้อนของ ‘ธรรม-ราชา’ เผยแพร่ใน “โลกวันนี้วันสุข” (11-17 พฤษภาคม 2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net