Skip to main content
sharethis

 

ภาพรณรงค์เกี่ยวกับอันวาร์ ภายหลังคำพิพากษา ที่มีการเผยแพร่กันในโซเชียลมีเดีย

 

คำพิพากษาอันวาร์

ในห้วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคำพิพากษาฎีกาให้จำคุกนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ อดีตคนทำงานสื่อทางเลือกในพื้นที่ชายแดนใต้ ถึง 12 ปี ในข้อหาเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง หลายคนรู้จักนายมูฮาหมัดอัณวัรว่า อันวาร์บูหงารายา หรือหากมีการพูดถึงอันวาร์ คนก็จะนึกถึงบูหงารายา หรือหากพูดถึงบูหงารายา คนก็จะนึกถึงอันวาร์

ทว่าในความเป็นจริงแล้วอันวาร์ ไม่ได้มีบทบาทเพียงการทำสื่อทางเลือกอิสระในนามสำนักสื่อบูหงารายาเท่านั้น แต่ทุกคนหรือทุกองค์กรที่เขาไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย แม้เพียงเวลาสั้นๆ กลับเป็นการจุดประกายให้คนอื่นได้ทำงานต่อไปได้อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะงานด้านสื่อสันติภาพและสื่อภาษามลายู อันเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิมปาตานี

นับเป็นบทบาทสำคัญในระยะเวลาเพียง 3 - 4 ปีที่เขาโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อประชาสังคมในพื้นที่ หรือหลังจากได้รับการปล่อยตัวเมื่ออุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 แต่อันวาร์ก็ถูกจำคุกไปแล้วเป็นเวลา 1 ปีเศษ เพราะศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกในคดีเดียวกันนี้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 เป็นเวลา 12 ปี

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา เป็นวันที่อิสรภาพของเขาต้องสิ้นสุดลงอีกครั้ง เมื่อศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ด้วยข้อหาเป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานี หรือ ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต เป็นอั้งยี่และกบฏเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรไทย ฯลฯ


อันวาร์ กับสำนักสื่อบูหงารายา

ทวีศักดิ์ ปิ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของอันวาร์ ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการวิทยาลัยประชาชน ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นคนหนึ่งที่สามารถบอกเล่าถึงบทบาทของอันวาร์ในบทบาทงานด้านสื่อประชาสังคมในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะบทบาทในช่วงของการเป็นบรรณาธิการสำนักสื่อบุหงารายา หรือ Bungaraya

ทวีศักดิ์ เล่าวว่า อันวาร์ เป็นคนหนึ่งที่คิดทำเรื่องทางเลือกขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คนแรกๆ แต่สำนักสื่อบุหงารายา ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 เป็นการรวมตัวของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างสื่อทางเลือกในการรายงานข่าวและความคืบหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้คนในพื้นที่มีกระบอกเสียงเป็นของตนเองในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ โดยไม่บิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง และไม่ใช่การรายงานจากแหล่งข่าวศูนย์กลางของรัฐไทยเท่านั้น

ต่อมาในปี 2552 อันวาร์ได้เริ่มเข้ามาร่วมงานกับสำนักสื่อบุหงารายาในฐานะบรรณาธิการ โดยได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกในองค์กร ด้วยเหตุผลที่ว่า อันวาร์มีทักษะในการเขียนข่าวและบทความ อันเป็นความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการของสำนักข่าวเนชั่น (Nation)

อีกเหตุผลหนึ่งคือ เพราะอันวาร์มีเวลาว่างมากกว่าสมาชิกคนอื่นๆ ที่เป็นนักศึกษา โดยอันวาร์เข้ามาทำหน้าที่ตรวจชิ้นงานของสมาชิกที่ส่งมาให้ ทั้งที่เป็นบทความหรือข่าว ก่อนที่จะอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ของสำนักสื่อบูหงารายา BungarayaNews ในการเผยแพร่ข้อมูลตั้งแต่แรก

ต่อมาอันวาร์และสมาชิกได้ร่วมคิดค้นหาวิธีการเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยช่องทางวิทยุของสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน(Media Selatan) และสถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) จังหวัดปัตตานี ในรูปแบบของการร่วมจัดรายการ มีการทำหนังสือบุหงารายาบุ๊ก (Bungaraya Book) และจดหมายข่าวบุหงารายอนิวส์ (Bungaraya News) ขึ้นมา

อันวาร์เป็นคนที่มีความฝันแนวแน่ที่จะทำสื่อทางเลือกในพื้นที่ ด้วยความรัก ความชอบของเขา เขาจึงมีความพยายามอย่างมากในการสร้างสื่อให้เกิดขึ้นจริง เป็นสมาชิกคนหนึ่งที่คิดค้นวิธีการต่างๆในการเผยแพร่ข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ หนังสือ จดหมายข่าว เป็นต้น เพื่อช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนในพื้นที่ตามข้อเท็จจริง

แต่ในปี 2554 สื่อทางเลือกในพื้นที่ได้เกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว อันวาร์จึงได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบในการนำเสนอด้วยการเน้นไปทางการการทำโครงการด้านการศึกษาทางเลือก เช่น มีการอบรมการเรียนรู้เรื่องสิทธิต่างๆ ในพื้นที่ เรื่องสันติภาพ เรื่องเยาวชน เรื่องตาดีกา เป็นต้น ซึ่งทำให้อันวาร์กลายเป็นนักกิจกรรมไปในตัวด้วย เพราะต้องเป็นวิทยากรในกิจกรรมต่างๆ แต่ก็ทำในนามของสำนักสื่อบุหงารายาตลอดเวลา

ที่ผ่านมา สำนักสื่อบูหงารายาเคยทำงานร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมในการจัดโครงการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ เช่น การอบรมการเขียนข่าว การเขียนบทความ อบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและกิจกรรมด้านสันติภาพ

ต่อมา อันวาได้ร่วมกับกลุ่มที่มีชื่อว่า เครือข่ายเยาวชนกับการสร้างสันติภาพที่ร่วมกับกลุ่มมะขามป้อม จังหวัดเชียงใหม่จัดโครงการฟอรั่มระยัตในพื้นที่ต่างๆ ทั้งที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี อำเภอรือเสาะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น และได้ร่วมเป็นทีมงานเครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนาสู่อาเซียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)

ด้วยวิธีการทำงานของเขาที่มีหลากหลายรูปแบบ และได้ร่วมงานกับทีมงานต่างๆ มากมาย แต่ยังใช้ชื่อของสำนักสื่อบูหงารายา จนทำให้อันวาร์ได้รับฉายาว่า อันวาร์บุหงารายา ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงชื่ออันวาร์คนก็จะนึกถึงบูหงารายา และถ้าเอ่ยถึงบูหงารายา คนก็จะนึกถึงอันวาร์ ซึ่งทุกคนที่ทำงานในภาคประชาสังคมในพื้นที่ รวมทั้งคนทั่วไปส่วนใหญ่ล้วนจะรู้จักดี

ในอีกด้านหนึ่งของอันวาร์ เป็นคนที่เห็นความสำคัญของภาษามลายู จึงได้เริ่มและเน้นการใช้ตัวอักษรยาวีในการเขียนงานเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภาษามลายูในพื้นที่ด้วย เนื่องจากภาษามลายูที่ใช้อักษรยาวีเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของคนในพื้นที่ ในขณะที่สังคมมลายูส่วนใหญ่ทั้งในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียจะใช้อักษรรูมี

อันวาร์เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถในการออกแบบมาก เขาพยายามใช้ตัวอักษรยาวีในการเขียนงานภาษามลายูในงานต่างๆ ทั้งการออกแบบป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ การเขียนนิตยสาร เอกสารต่างๆ เพราะถือว่าเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาษามลายูต่อไปในอนาคตต่อไปด้วย

 

ผู้จุดประกายผลิตสื่อภาษามลายู

ขณะที่ “รอมละห์ แซแยะ” ภรรยาของอันวาร์ ก็เป็นอีกคนที่รับรู้และเห็นถึงบทบาทของเขาในงานภาคประชาสังคม และมองเห็นถึงแรงบันดานใจที่ต่อมากลายเป็นการจุดประกายให้หลายๆ คนได้สานต่อจนถึงปัจจุบัน

รอมละห์ เล่าว่า อันวาร์เริ่มเข้าทำงานในภาคประชาสังคมในปี 2552 ช่วงหลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่ก็เลือกที่จะไม่ไปเรียนต่ออีกหลังจากถูกจับขณะเรียนอยู่ปี 2 ในคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ต่อมาปี 2553 อันวาร์ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสันติภาพ หรือ School of Peace ที่ประเทศอินเดีย ประกอบกับเริ่มทำกิจกรรมเล็กๆ อีกหลายกิจกรรม โดยเฉพาะการทำสื่อสันติภาพกับองค์กรในมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นจุดแรกเริ่มที่อันวาร์ได้ทำงานสื่อสันติภาพอย่างจริงจัง ในช่วงนั้นเองที่รอมละห์ได้รู้จักกับอันวาร์

ในช่วงอันวาร์เริ่มจัดฝึกอบรมข่าววงเล็กๆ อันวาร์เองก็ได้เข้าฝึกอบรมข่าวที่โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ด้วย นับเป็นรุ่นแรกๆ ของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ โดยอันวาร์เริ่มพูดคุยถึงแนวคิดที่จะผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

จนกระทั่งโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ จะจัดโครงการค่ายฝึกอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงเดือนเมษายน 2555 อันวาร์ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนและเริ่มเดินสายไปยังโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือโรงเรียนปอเนาะในพื้นที่ แม้กระทั่งทีมพี่เลี้ยงค่ายส่วนใหญ่ก็มาจากฝ่ายการศึกษาของสำนักสื่อบูหงารายา ซึ่งโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติเพื่อผลิตนักข่าวและสื่อภาษามลายูในพื้นที่ชื่อ “ซินารัน” ในช่วงปลายปีเดียวกัน

แต่ก็ใช่ว่าอันวาร์จะมีแต่งานสื่อที่ดูเหมือนเป็นอาสาสมัครเท่านั้น อันวาร์ยังได้สมัครเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อดังของภาคใต้ มีสำนักงานอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่ทำงานได้เพียงไม่กี่เดือนก็ลาออก เนื่องจากความไม่สะดวกหลายอย่าง

รอมละห์ เล่าว่า เดิมมีการพูดคุยกันว่าอันวาร์จะมีอิสระในการทำงานอยู่ในพื้นที่ โดยเขียนข่าวส่งข่าวไป แต่ในความเป็นจริงคือ ต้องเดินทางไปหาดใหญ่ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 3-4 วัน ซึ่งการเดินทางไปมาดังกล่าวทำให้ไม่สะดวก จึงลาออกมาทำงานอิสระ คือทำข่าวลงเว็บไซต์บูหงารายา

ในช่วงของการทำหนังสือบุหงารายาบุ๊ก ได้ตั้งเป็นสำนักพิมพ์เพื่อผลิตสื่อส่งพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อการเรียนการสอน 3 ภาษา คือ ภาษามลายู ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยมีผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาแล้ว เช่น เป็นหนังสือการ์ตูน 3 ภาษา ต่อมาหลังจากอันวาร์ได้ถอนตัวไปคนที่เหลือได้ตั้งเป็นกลุ่มAWAN BOOK และดำเนินการรณรงค์เรื่องการใช้สื่อภาษามลายูและผลิตสื่อ 3 ภาษาต่อไป

รอมละห์ เล่าว่า อันวาร์ชอบทำงานสื่ออิสระที่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้านได้ อันวาร์มักบอกว่า ความเป็นมลายูมุสลิมปาตานีมีความสวยงามอยู่หลายอบ่างที่จะต้องนำเสนอออกมา “โดยเฉพาะภาษามลายู ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของเรา แต่เราลืมไปแล้ว แต่เราก็ไม่มีสื่อภาษามลายูมากนัก ที่จะทำให้คนได้อ่านและพูดภาษามลายูได้”

สำหรับสำนักสื่อบูหงารายา ไม่เพียงเป็นสื่ออิสระเท่านั้น แต่มีคุณค่าทางความรู้สึก แม้ว่าอันวาร์ไม่ใช่คนที่ก่อตั้งสำนักสื่อนี้ แต่อันวาร์ชอบชื่อนี้ เพราะคำว่า บูหงารายา แปลว่าดอกชบา เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของพื้นที่

แม้ว่าปัจจุบันสำนักสื่อบูหงารายาสลายตัวไปแล้ว กลุ่มคนที่ทำงานร่วมในสำนักสื่อนี้ต่างก็มีงานขับเคลื่อนอยู่ในพื้นที่อยู่ต่อไป เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่อันวาร์เข้าไปมีสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสื่อสันติภาพและสื่อภาษามลายู

รอมละห์ บอกว่า อันวาร์กลายเป็นขวัญใจหรือไอดอลของรุ่นน้องๆ ในพื้นที่หลายคน โดยพยายามเดินตามรอยและผลงานของอันวาร์เองก็มีคนนำมาฉายซ้ำมากขึ้น

 

ความหมายของสันติภาพ

แม้สถานะอันวาร์ในปัจจุบันคือ ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงต่อรัฐ ทว่ารอมละห์ก็ย้ำว่า “บทบาทของอันวาร์ในช่วงที่ผ่านมาเป็นภาพที่ชัดเจนถึงการต่อสู้ด้วยปากกาและตัวอักษร โดยเชื่อว่านั่นเป็นการสู้เพื่อสันติภาพ คนที่รู้จักอันวาร์จึงพยายามช่วยเขาทุกวิถีทางที่เชื่อว่าจะมีผล”

สิ่งที่กล่าวมานั้น อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เชื่อว่าหากลองค้นหาชื่อของเขาในอินเตอร์ไม่ว่าด้วยภาษาไทยหรือภาษามลายู ก็อาจจะพบผลงานของเขาอีกหลายชิ้น ทั้งที่เป็นงานเขียนและภาพเคลื่อนไหวในชื่อและหัวข้อต่างๆ โดยเฉพาะผลงานเกี่ยวกับภาษามลายู ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการปลุกกระแสการรื้อฟื้นภาษามลายูเพื่อการสื่อสารขึ้นในพื้นที่ จนสามารถกล่าวได้ว่า ปัจจุบันภาษาไม่ได้เป็นเงื่อนไขของความรุนแรงในพื้นที่อีกต่อไปแล้ว อันเนื่องมาจากมีการยอมรับและส่งเสริมสนับสนุนภาษามลายูในระดับนโยบายของรัฐไทยแล้ว

จึงไม่น่าแปลกใจที่กระแส “Save Anwar” หรือ “Free Anwar” จะกระจายไปได้อีก อย่างที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ หากแต่การขับเคลื่อนเรื่องของเขาภายในพื้นที่ ยังอาจไม่ร้อนแรงมากนัก ด้วยเกรงว่าอาจมีผลกระทบศาลสถิตยุติธรรม และผู้ต้องขังคดีความมั่นคงก็หาได้มีอันวาร์เพียงคนเดียว

 

=================

 

ข้อมูลประกอบ

 

สรุปคำพิพากษา

(คัดลอกจากรายงานเรื่อง “วิเคราะห์คำพิพากษาคดี "มูฮาหมัดอัณวัร" กับคำชี้แจงของ กอ.รมน.” ของสำนักข่าวอิศรา)

ศาลจังหวัดปัตตานี ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 มีด้วยกัน 4 สำนวน โดย นายมูฮาหมัดอัณวัร เป็นจำเลยที่ 3 ในสำนวนแรกจากจำเลย 6 คน ขณะที่อีก 3 สำนวนมีจำเลย 5 คน

คำฟ้อง :

คำฟ้องของโจทก์ (พนักงานอัยการ) สรุปว่า ระหว่างเดือน สิงหาคม 2546 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้ง 11 คนกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

- เป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานี หรือ ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต

- เป็นอั้งยี่และกบฏเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรไทย และยึดอำนาจปกครองในส่วนของ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลาบางส่วน เพื่อตั้งประเทศหรือรัฐใหม่ที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง

- สะสมกำลังพลและอาวุธ สมคบกันตระเตรียมการและวางแผนการเพื่อเป็นกบฏและเพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อก่อการร้าย ใช้กำลงประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานของรัฐและประชาชนทั่วไป

พฤติการณ์ :

จำเลยทั้ง 11 คนกับพวกสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จับกลุ่มปรึกษากันเพื่อจะกระทำการก่อการร้ายในเขตพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลาบางส่วน

พื้นที่เกิดเหตุ :

ต.ปูยุด อ.เมืองปัตตานี, ต.ยะรัง ต.ปิตูมุดี อ.ยะรัง, ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา

เส้นทางคดี :

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายมูฮาหมัดอัณวัร กับจำเลยรวม 9 คนมีความผิดจริง ให้ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี ยกเว้นจำเลยที่ 2 ที่ 10 และ 11 ที่อายุไม่เกิน 20 ปี ให้ลดโทษ 1 ใน 3 ต่อมาในศาลอุทธรณ์ ศาลให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3 คือนายมูฮาหมัดอัณวัร โจทก์และจำเลยบางรายยื่นฎีกา

ข้อเท็จจริงประกอบพยานหลักฐานที่ศาลฎีกาพิจารณา :

- วันที่ 5 กรกฎาคม 2548 มีคนร้ายร่วมกันฆ่า ด.ต.สัมพันธ์ อ้นยะลา เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.ยะรัง จ.ปัตตานี ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นโรงเรียนประสานวิทยามูลนิธิ หรือ ปอเนาะพงสตา และโรงเรียนบุญบันดาล หรือ ปอเนาะแนบาแด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ และได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 7 รายซึ่งพักอาศัยอยู่ในโรงเรียนทั้งสองแห่งไปซักถาม ก่อนออกหมายจับจำเลยทั้ง 11 คนมาดำเนินคดี

- พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจ เบิกความถึงสาเหตุที่เข้าตรวจค้นโรงเรียนว่า จากการตรวจศพ ด.ต.สัมพันธ์ พบว่าคนร้ายนำโทรศัพท์มือถือของผู้ตายไปด้วย และต่อมาตรวจสอบพบว่า บุคคลที่เรียนและพักอาศัยอยู่ที่โรงเรียนบุญบันดาลรายหนึ่งเป็นผู้นำโทรศัพท์ของผู้ตายไปใช้ และนำไปติดต่อกับบุคคลต่างๆ เช่น ผู้ต้องหาชุดแรก 7 ราย เจ้าหน้าที่จึงคุมตัวไปซักถามโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก (พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457) และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548)

- ผู้ต้องสงสัยทั้ง 7 รายซึ่งให้การเป็นพยานโจทก์ ยอมรับว่าบุคคลที่เรียนและพักอยู่ในโรงเรียนทั้ง 2 แห่งต่างถูกชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานี หรือขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต มีการเข้าพิธีซูเปาะ (สาบาน) ร่วมรับฟังคำบรรยายปลุกระดมเพื่อกอบกู้เอกราชของรัฐปัตตานีกลับคืนมา และฝึกความแข็งแกร่งของร่างกาย พร้อมฝึกจิตใจให้กล้าหาญด้วยการกระทำความผิดกฎหมายรูปแบบต่างๆ รวมทั้งฝึกยุทธวิธีการสู้รบและการใช้อาวุธ

- พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจอีกนายหนึ่ง เบิกความว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเริ่มมีมาตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง กระทั่งกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตริเริ่มจัดระบบการต่อสู้ให้เข้มแข็ง เปลี่ยนยุทธวิธีโดยใช้การหาสมาชิกจากนักเรียนตามโรงเรียนปอเนาะและตาดีกา มีการฝึกพัฒนาเยาวชนที่เป็นสมาชิกเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อแบ่งแยกดินแดน และขบวนการนี้ได้ปฏิบัติการรูปแบบต่างๆ โจมตีหน่วยทหาร ปล้นอาวุธปืน ฆ่าผู้นำท้องถิ่น และล่าสุดคือลักลอบฆ่าตัดคอ ด.ต.สัมพันธ์

- ศาลเชื่อว่ามีขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหมายกระทำการแบ่งแยกราชอาณาจักร ยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ทั้งใช้กำลังประทุษร้ายกระทำการอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย รวมทั้งกระทำการอันใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ โดยมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาล อันเป็นความผิดฐานกบฏและก่อการร้ายจริง แม้คำเบิกความจะเป็นคำให้การชั้นสอบสวนและซักถามจะเป็นการซัดทอดจากผู้เป็นสมาชิกของขบวนการด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นการปัดความผิดของตน เป็นเพียงการเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่ประสบพบเห็นมา มีการนำชี้สถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่ามีอยู่จริง

คำพิพากษา :

- คดีรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดจริง (เป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานีที่มุ่งหมายกระทำการแบ่งแยกราชอาณาจักร) เฉพาะจำเลยที่ 3 นายมูฮาหมัดอัณวัร กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลจึงพิพากษาแก้ (แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์) ให้จำคุก 12 ปีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

คำชี้แจงจาก กอ.รมน.

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แถลงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2556 ว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 25 กรกฎาคม 2550 ให้จำคุกจำเลยคนละ 12 ปีจำนวน 9 คน คือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 (นายมูฮาหมัดอัณวัร เป็นจำเลยที่ 3) จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 7 ถึงที่ 11 ในความผิดต่อความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร แต่ในขณะที่กระทำความผิด จำเลยที่ 2 ที่ 10 และที่ 11 มีอายุไม่ถึง 20 ปี ให้ลดมาตราส่วนโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 8 ปี และให้ยกฟ้องจำนวน 2 คน คือจำเลยที่ 4 และที่ 6

ต่อมาจำเลยทั้ง 9 คนยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีคำพิพากษาเมื่อ 16 มิถุนายน 2552 ให้ยกฟ้องเพิ่มเติมจำนวน 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และ ที่ 3 (นายมูฮาหมัดอัณวัร) พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีและจำเลยที่เหลือ 7 คนได้ยื่นฎีกาขัดค้าน ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า จากคำพิพากษาดังกล่าวได้มีการสร้างกระแสในเชิงปฏิเสธและไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจดังนี้

1.ผู้พิพากษาของประเทศไทยปฏิบัติหน้าที่ในพระนามขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์ศาสนูปถัมภก คือให้การอุปถัมภ์ทุกศาสนา ไม่แบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติต่อทั้งศาสนาพุทธ อิสลาม คริสต์ หรือศาสนาอื่นๆ ดังนั้นการอ้างอิงถึงความไม่ยุติธรรมจากเรื่องศาสนาจึงไม่มีเหตุผลอันควรสำหรับกระบวนการยุติธรรมของศาลไทย อีกทั้งผลการพิจารณาของศาลไทยมิได้มีผลความเชื่อถือเฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงสามารถนำไปประกอบเป็นหลักฐานในการพิพากษาคดีระดับสากลด้วย

2.กระบวนการศาลยุติธรรมของไทยมีขั้นตอนที่ได้ให้ความเสมอภาคระหว่างจำเลยและผู้กล่าวหา ตลอดทั้งยึดถือในหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมอยู่ในตัว จึงได้มีขั้นตอนที่ใช้ความละเอียดในการพิพากษาคดีถึง 3 ขั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มิได้ตัดสินโดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ อีกทั้งศาลแต่ละระดับจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีที่แยกจากกัน และไม่มีการแทรกแซงซึ่งกันและกัน โดยจำเลยทุกคดีจะมีสิทธิในการร้องขอความยุติธรรมได้รวม 3 ชั้น และสิ้นสุดที่ศาลฎีกา จึงเห็นได้ว่าศาลของประเทศไทยได้ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมในการให้โอกาสต่อทั้งจำเลยและฝ่ายผู้ฟ้อง คืออัยการ

3.นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ถูกตั้งข้อกล่าวหาร่วมกับพวกอีก 11 คน เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2548 จากพฤติกรรมร่วมกันซ่องสุมผู้คนทำการฝึกเพื่อต่อต้าน ทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาจากหลักฐานและพยานบุคคลแล้วพิพากษาให้ลงโทษจำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เป็นเวลา 12 ปี

หลังจากนั้น นายมูฮาหมัดอัณวัร และเครือญาติมีความเห็นว่าศาลชั้นต้นมิได้ให้ความยุติธรรมเพียงพอ จึงได้ดำเนินการร้องขอความยุติธรรมผ่านศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้อง ต่อมาฝ่ายอัยการซึ่งเป็นทนายความของรัฐเห็นว่ารูปคดีของ นายมูฮาหมัดอัณวัร ยังมีข้อสงสัยในพฤติกรรมอันมีผลต่อความมั่นคงสันติสุขของประชาชน ชุมชน และประเทศ จึงได้เสนอเรื่องให้พิจารณาในระดับสูงสุดคือศาลชั้นฎีกา ด้วยพยานหลักฐานที่ครบถ้วนและมีความชัดเจนมิอาจโต้แย้งได้ ศาลฎีกาจึงได้พิพากษายืนตามศาลขั้นต้น คือ จำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เป็นเวลา 12 ปี นับว่าเพียงพอต่อการให้ความยุติธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว

4.ในอดีตก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ศาลของประเทศไทยได้เคยพิพากษายกฟ้องคดีความที่มีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมตกเป็นผู้ต้องหาจำนวนหลายราย ดังนั้นการที่จำเลยผู้หนึ่งผู้ใดจะถูกพิพากษาอย่างไรจะขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและดุลยพินิจของผู้พิพากษาที่มิได้มุ่งแต่จะใช้บทลงโทษเฉพาะต่อประชาชนแต่เพียงประการเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงหลักการอื่นๆ ที่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net