ทักษิณโฟนอิน ดันนิรโทษกรรมประชาชน ไม่ได้กลับบ้านไม่เป็นไร

ญาติผู้เสียชีวิต,นักวิชาการ ประสานเสียงนิรโทษกรรมประชาชน เร่งรัดดำเนินคดี  เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ศปช.ชี้รัฐบาลเพิกเฉยต่อข้อเสนอ นักวิชาการ มธ.ทวงรายงานการละเมิดสิทธิจาก กสม. สมศักดิ์ เจียมฯ ชี้หากนิรโทษกรรมให้กับผู้สั่งการ จะมีการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมไม่สิ้นสุด

 
 
19 พ.ค.2556  กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ได้จัดกิจกรรมชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อปี 2553 โดยกิจกรรมได้เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าและมีกำหนดสิ้นสุดในเวลา 01.00 น. 
 
คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างจังหวัดตั้งแต่เช้าและกระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่ราชประสงค์ โดยเวทีปราศรัยมีเวทีใหญ่ของ นปช. กลางแยกราชประสงค์ และยังมีเวทีย่อยอีกอย่างน้อย 3 จุด คือ เวทีของนักกิจกรรมนำโดย กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลของ สุดา รังกุพันธุ์ บริเวณ BTS ราชดำริ ซึ่งมีนิทรรศการภาพของฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพอิตาลีที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ด้วย  เวทีของกลุ่มคนเสื้อแดงกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.)  บนถนนราชดำริ และเวทีกลุ่มญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ บริเวณหน้าวัดปทุมฯ นำโดย นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของพยาบาลอาสา กมนเกด อัคฮาด หน่วยกู้ชีพที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมฯ 
 
ต่อไปจะเป็นประเด็นในการปราศรัยจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวที่ได้นำเสนอในการชุมนุมครั้งนี้ 
 
 
 

น.ส.อลิซาเบต้า โปเลนกี น้องสาวของนายฟาบิโอ โปเลนกี  ช่างภาพชาวอิตาลี ที่เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมเมื่อ 19 พ.ค. 2553 ได้เข้าร่วมรำลึกกิจกรรม 3 ปี การสลายการชุมนุม โดยได้กล่าวรำลึกบริเวณ นิทรรศการ 'ภาพสุดท้าย กรุงเทพ 2553' ซึ่งเป็นภาพถ่ายของนายฟาบิโอ โปเลนกี ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงระหว่างเดือนเม.ย. - พ.ค. 53 ก่อนที่เขาจะถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 19 พ.ค. 53 ณ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าราชดำริ

หลังจากแนะนำตัว เธอกล่าวสั้นๆ ว่าขอบคุณคนเสื้อแดง และรู้สึกตื้นตันมากกับกิจกรรมวันนี้ จนพูดไม่ออก นอกจากนั้น เธอเล่าว่า พี่ชายไปลาก่อนที่จะมาทำงานที่เมืองไทย ว่าพี่ชายของเธอเป็นช่างภาพที่มีแนวคิดช่วยคนทุกข์ยาก แต่ในที่สุดก็ต้องมาจบชีวิตเช่นนี้  เธอไม่ได้คาดหวังให้คนฆ่าพี่ชายต้องถูกลงโทษรุนแรงหรือประหารชีวิต แต่เพียงขอให้ความจริงปรากฏออกมา เธอกล่าวอีกว่า รู้สึกผิดคาดที่กระบวนการยุติธรรมที่นี่เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คิด

 
 
ต่อจากการกล่าวรำลึกของ น.ส.อลิซาเบต้า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวถึงกรณีการแสดงความสะใจของคนบางส่วนต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 และประเด็นเรื่องการผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า รู้สึกแย่ที่ยังเห็นคนชั้นกลางบางส่วนยังรู้สึกสะใจกับความสูญเสียของคนเสื้อแดง แม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วถึง 3 ปี และสำหรับกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้เกิดการใช้ความรุนแรง กำลังทหาร อาวุธในการสลายการชุมนุมซ้ำได้เรื่อยๆ เจ้าหน้าที่รัฐฆ่าคนไม่เป็นไร เมื่อไหร่ที่ประเทศไทยจึงจะพ้นวงจรนี้เสียที

"ผมอยากให้สังคมตระหนักว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้วนั้นเป็นสิ่งที่ผิดหลักการอย่างรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธกับคนธรรมดาโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร" สมศักดิ์ระบุ

 
 

ณ เวทีใหญ่ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เวลาประมาณ 16.00 น. นาย โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม  ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยชี้แจงเหตุผลว่าคนเสื้อแดงไม่ควรไปทำอะไรที่เป็นการคุกคามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เนื่องจาก ข้อแรก นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเหมือนกันกับคนทุกๆ คน  สำหรับเหตุผลข้อต่อมาก็คือการออกมาพูดดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อคนเสื้อแดง เช่น การพูดว่าเหตุการณ์เมื่อปี 53 มีการแทรกแซง

คนเสื้อแดงมีหน้าที่ทำให้โลกเข้าใจว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลได้เพราะหลีกเลี่ยงการเลือกตั้ง ไม่ใช่ชนะการเลือกตั้ง อัมสเตอร์ดัมประกาศขอให้เรียกพรรคประชาธิปัตย์ว่า พรรคแห่งทหาร ที่ไม่ค่อยมีคนสนับสนุน และพยายามทำทุกอย่างเพื่อลิดรอนอำนาจของประชาชน  เป็นหน้าที่ของคนเสื้อแดงที่จะทำให้โลกเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ความจริงประพฤติตัวอย่างไร

เขาประกาศว่าในการเดินทางไปพูดในนานาประเทศ จะบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นพรรคเสรีนิยม และเรียกร้ององค์กรพรรคเสรีนิยมขับไล่พรรคประชาธิปัตย์ออกจากการเป็นสมาชิก

อัมสเตอร์ดัมยังได้เสนอต่ออีกว่า คนเสื้อแดงต้องเรียกร้องให้ต่างชาติสนใจคดีก่อการร้ายของ นปช. เพราะคนที่ก่อการร้ายก็คือคนที่เอาผู้นำของเราเข้าคุก  หากต้องการพัฒนาประชาธิปไตยในไทย ต้องมาช่วยกันเรียกร้องการประกันตัวนักโทษการเมือง และนักโทษ 112 เพื่อกู้คืนชื่อเสียงด้านสิทธิเสรีภาพ นอกจากนั้นแล้วยังต้องปฏิรูปสภาพภายในเรือนจำ ปลดปล่อยนักโทษการเมือง

อัมสเตอร์ดัมบอกด้วยว่า เขากำลังจะไปพบนักโทษการเมืองเผาศาลากลางอุดร และเป็นหน้าที่ของคนเสื้อแดงที่จะไปเยี่ยมนักโทษการเมืองเหล่านี้ เป็นหน้าที่ที่จะทำทุกอย่างให้นักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัว ถึงเวลาแล้วที่จะพูดถึงเหตุการณ์ปี 53 ด้วยความภาคภูมิใจ  สำหรับเขา เขาภูมิใจในตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ และรอคอยวันเวลาที่ทักษิณจะได้รับการยอมรับในประวัติศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็น และคนเสื้อแดงไม่สามารถให้พรรคประชาธิปัตย์เขียนประวัติศาสตร์ของเรา เป็นหน้าที่ที่เราต้องควบคุมประวัติศาสตร์

"เราควรพูดถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและต่อสู้ใต้กรอบของกฎหมายเพื่อสิทธิของเราทุกคน" เขากล่าวทิ้งท้าย

 
 
ญาติฯจี้รัฐบาลเร่งรัดคดี สนับสนุนร่างนิรโทษกรรมของวรชัยและให้เร่งลงนาม ICC
 
ในช่วงเย็น กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง เม.ย.-พ.ค.2553 ได้อ่านแถลงการณ์บนเวทีย่อยหน้าวัดปทุมวนาราม โดยมีข้อเสนอสามข้อคือให้เร่งสืบสวนสอบสวนคดีที่ยังติดค้างอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)  กระทรวงการต่างประเทศ เร่งดำเนินการลงนามตามขอบเขตศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพราะเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ทำการสั่งการให้ใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามครบมือ เข้าสลายการชุมนุม  นอกจากนั้นยังประกาศจุดยืนสนับสนุน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมประชาชน ของนายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย เพราะจะเป็นการนิรโทษเฉพาะประชาชนโดยไม่เกี่ยวกับฝ่ายการเมืองและผู้สั่งการให้ฆ่าประชาชน เพราะประชาชนต่างเป็นเหยื่อทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนสีเสื้ออะไร แต่ทุกคนก็คือประชาชน 
 
 
ทักษิณโฟนอิน หนุน กม.นิรโทษ ฉบับ วรชัย เหมะ ช่วยนักโทษการเมือง ไม่ได้กลับบ้านไม่เป็นไร
 
เวลาประมาณ 20.40 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินมายังที่ชุมนุมเพื่อปราศรัยสดกับคนเสื้อแดงที่เวทีราชประสงค์โดยกล่าวว่า วันนี้เป็นการรำลึกถึงพี่น้องที่เสียชีวิตไป 90 กว่าศพ และยังเสียชีวิตต่อเนื่องเพราะการบาดเจ็บหรือแก๊สน้ำตา มันเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันที่ผู้มีอำนาจใช้กำลังทหารอย่างเกินกว่าเหตุในการปราบปรามประชาชนของตัวเอง และยังแสดงความเสียใจกับครอบ คุณไข่กี วงษ์ราศรี ที่เสียชีวิตเมื่อเช้ามืดหลังเดินทางมาถึง กทม.จากโรคหัวใจล้มเหลว และขอบคุณคนเสื้อแดงที่ยังเดินทางมาร่วมรำลึกอย่างหนาแน่นอีกครั้ง 
 
อดีตนายกฯ กล่าวถึงนักโทษการเมืองด้วยว่า ยังมีนักโทษการเมืองในเรือนจำอีกจำนวนหนึ่ง บางคนเป็นไทยมุงแต่ถูกตัดสินจำคุก 30 กว่าปี วรชัย เหมะ กับคณะจึงมาหารือเพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเขาก็เห็นด้วยแม้จะไม่ได้กลับบ้านก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้ประชาชนได้รับการนิรโทษกรรม 
 
“ขวางทักษิณกลับบ้านไม่เป็นไร แต่ขอเอาประชาชน เอาเจ้าหน้าที่ระดับล่างก่อน แต่ไม่ยกเว้นแกนนำ ซึ่งก็เป็นกฎหมายที่อาจจะถกเถียงกันหน่อยว่า กรรมเดียววาระเดียวกันแต่ให้คนนี้ ไม่ให้คนนี้ แต่ไม่เป็นไร ให้พี่น้องได้ออกมา เพราะพี่น้องออกมาสู้ด้วยจิตบริสุทธิ์ ควรได้รับการนิรโทษกรรม” 
 
“วันนี้กฎหมายนิรโทษกรรมของวรชัย ผมไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นผมถือว่าให้พี่น้องเราหลุดออกจากห้องขังมาก่อน เพราะเขาเหล่านั้นคือผู้บริสุทธิ์ อย่าทำร้ายเขาเลย เขาคนจน แค่นี้เขาก็แย่อยู่แล้ว ทำร้ายเขาทำไม ขอเห็นใจ ศาลให้ประกันตัวเถอะ บางคนก็ไม่ยอมให้ประกัน มันจะหนีไปไหน จนจะตาย” ทักษิณกล่าว
 
 
ประกาศเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ/องค์กรอิสระควรมีอยู่ แต่ต้องใช้อำนาจในขอบเขต มีการถ่วงดุลตรวจสอบ 
 
อดีตนายกฯ กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยว่า จะต้องผลักดันให้มีการดำเนินการต่อสู้เพื่อให้ประชาธิปไตยกลับมาเบ่งบานอย่างแท้จริงอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่ายังสนับสนุนให้มีองค์กรอิสระ แต่จะต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลโดยหน่วยงานอื่น ไม่ใช่แค่เพียงจาก ส.ว. ซึ่งจำนวนมากก็มาจากการแต่งตั้ง จะต้องใช้อำนาจในขอบเขตของกฎหมาย ไม่ขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจ 
 
“ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ศาลรัฐธรรมนูญจะห้ามสภานิติบัญญัติออกกฎหมาย ในฝรั่งเศสมีบทบัญญัติไม่ให้ทำลายหลักแบ่งแยกอำนาจชัดเจน วันนี้ต้องขอร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า ขอให้สภานิติบัญญัติเขาทำหน้าที่ของเขา แบ่งแยกอำนาจชัดเจน เขามาจากประชาชน ถ้าเขาไม่ดี ประชาชนก็ไม่เลือกเขาเอง การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเดินต่อ” อดีตนายกฯ กล่าว 
 
“วันนี้เราต้องสามัคคีกัน ความเห็นต่างได้ แต่เมื่อถึงเวลาต้องรวมกันเป็นหนึ่งให้ได้ เพื่อรักษาประชาธิปไตยของเรา เพื่อคืนความเป็นธรรมให้สังคมไทย เราเสียสละ พร้อมต่อสู้ แต่เป้าหมายเราเพื่อคนไทยทั้งประเทศ และต้องต่อสู้กันแบบอหิงสา ไม่มีการใช้อาวุธ ให้รู้ว่าเรามีจิตวิญญาณของความรักประเทศไทย อยากเห็นประเทศมีความเป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเสียหายมาก หลายประเทศที่ใช้กระบวนการตุลาการภิวัตน์ ต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะแก้ไขเรียกความศรัทธาคืนได้ ผู้พิพากษาส่วนใหญ่เป็นคนดี รักวิชาชีพของตัวเอง แต่มีผู้พิพากษาบางท่านโดยเฉพาะผู้ใหญ่บางท่าน เป็นผู้ที่ขายจิตวิญญาณของตนเองเรียบร้อยแล้ว” ทักษิณกล่าว
 
เลิกวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองได้แล้ว เพราะศาลยกฟ้อง คนกทม.ควรเลิกเชื่อ ปชป.
 
เขายังพูดถึงวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองด้วยว่า วาทกรรมนี้ควรจะจบลงได้แล้ว เนื่องจากศาลอาญาพิพากษายกฟ้องจำเลยเผาเซ็นทรัลเวิลด์ในทุกคดี เนื่องจากหลักฐานอ่อนและวันนี้ต้องบอกว่า วาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองควรจะจบได้แล้ว สรุปอีกครั้ง ศาลอาญาพิพากษาจำเลยเผา CTW ทุกคดี ชี้หลักฐานอ่อน รวมทั้งหยิบยกคำเบิกความของ พ.ต.ท.ชุมพล บุญประยูร ที่ปรึกษาด้านอัคคีภัยของห้างเซ็นทรัลที่ระบุว่า หากเจ้าหน้าที่ห้างไม่ถูกไล่ออก ไม่มีห้างไม่มีทางไหม้ได้เนื่องจากระบบการป้องกันดีเยี่ยม แต่เพราะถูกกลุ่มผู้ถืออาวุธไล่เจ้าหน้าที่ออก นอกจากนี้ยังหยิบยกกรณีที่ศาลแพ่งพิพากษาให้บริษัทเทเวศน์ประกันภัยจ่ายเงินสินไหมให้ CTW โดยชี้ว่าไม่ใช่การก่อการร้าย 
 
“ประชาธิปัตย์ใช้วาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองไปสองรอบ รอบแรก กิน ส.ส.กทม. รอบสองกินผู้ว่ากทม. เพราะเขารู้ว่าคนกรุงเทพขี้ตกใจ ธรรมชาติมนุษย์ ถ้าช่วยตัวเองได้ดี จะเกิดความระแวงความกลัวได้ง่ายกว่าเกิดความรักความผูกพัน เวลาบอกว่าจะทำอะไรดีๆ เขาพิจารณาทีหลัง แต่เอาเรื่องที่กลัวไว้ก่อน ประชาธิปัตย์รู้จุดอ่อนนี้ดี จึงสร้างให้กลัวพวกเราตลอดเวลา แต่ตอนนี้ความจริงเปิดเผยแล้วก็อยากให้พี่น้อง กทม.ตื่นเถิด” ทักษิณกล่าวพร้อมระบุว่า ใครก็ตามหรือพรรคประชาธิปัตย์ชี้ช่องให้จับกุมผู้วางเพลิงตัวจริงได้ เขาพร้อมจะมอบเงินรางวัลให้ 10 ล้านบาท  
 
ทักษิณยังพูดถึงแรงตอบโต้กรณีที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไปพูดในเวทีประชาธิปไตยที่มองโกเลียว่า พอนายกฯ ไปพูดก็ออกมาตอบโต้กันใหญ่ ทั้งที่สิ่งที่พูดนั้นเป็นความจริง
 
จะให้นายกฯ ไทยพูดเรื่องโอท็อปบนเวทีประชาธิปไตยหรือไง ประเทศที่มีอารยธรรมเขาไม่โกหก ต้องพูดความจริง มันยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่จะบอกว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มที่แล้วได้ยังไง ถามว่ามันหายไปไหน ก็หายเพราะไปปล้นมันตอนปฏิวัติ คนถูกปล้นเป็นผมที่บังเอิญเป็นพี่ชายนายกฯ พูดความจริงก็เต้นกันใหญ่ โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” ทักษิณกล่าวและว่า แม้แต่การโพสต์เฟซบุ๊กของเขาเรื่องธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นการเข้ามาแทรกแซง โดยเขาระบุว่า เป็นเพียงการโพสต์เสนอความคิดเห็นในฐานะที่เคยบริหารจนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้มาก่อน หากจะนับว่าเป็นการแทรกแซงก็เป็นการแทรกแซงทางความคิด  
 
ย้อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ไทยรักไทยจนปัจจุบัน
 
นอกจากนี้อดีตนายกฯ ยังพูดถึงประวัติศาสตร์การถูกโค่นล้มอำนาจที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งพรรคไทยรักไทยในปี 2542 ซึ่งหลังเดินสายหาเสียงจนได้รับเสียงตอบรับที่ดีก็มี “ลูกน้องเก่าเฉลิม (อยู่บำรุง)” ร้องทุกข์กับ ป.ป.ช.กล่าวหาเรื่องซุกหุ้น จากนั้นเขาก็กล่าวหาว่า มีคนจาก ป.ป.ช. ระบุว่าจะช่วยเหลือเรื่องคดี โดยเรียกค่าใช้จ่าย 600 ล้าน แต่เขาปฏิเสธ จนเมื่อถึงชั้นศาลรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนก็ยังไว้วางใจ ทำให้พรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งถึง 250 ที่นั่ง โดนใบแดง 2 ที่นั่ง เหลือ 248 ที่นั่ง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่พรรคการเมืองได้ที่นั่งถึงครึ่งเนื่องจากประชาชนอยากทดลองกับพรรคที่มีนโยบายชัดเจน จากนั้นในชั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินให้เขาไม่มีความผิด ด้วยมติ 8 ต่อ 7 จึงได้มีโอกาสมาทำงานให้เกิดขึ้นจริงตามที่หาเสียง อยู่ในวาระครบ 4 ปีเป็นคนแรก การเลือกตั้งครั้งต่อมาปี 2548 ได้รับเลือกตั้งสูงถึง 377 จาก 500 เสียง และนั่นคือที่มาของปัญหาจนถึงทุกวันนี้ เพราะได้รับความไว้วางใจมากเกินไป โตเกินไป 
 
มี รมต.คนหนึ่งเป็น รมต.คนนอก มาบอกทันทีว่าเราโตเกินไป เราจะมีปัญหา เพราะเราเป็นรัฐบาลพรรคเดียวเป็นครั้งแรก อยู่ครบวาระแล้วยังได้เสียงสนับสนุนเยอะ ขณะที่ประชาธิปัตย์เหลือน้อยไม่มีศักยภาพ เขาจะเริ่มต้นโจมตีรัฐบาลผ่านสื่อก่อน แล้วตอนนั้นสื่อก็ไม่ให้ความเป็นธรรม” ทักษิณกล่าวและว่า จนในที่สุดเมื่อครอบครัวขายหุ้นชินคอร์ปก็จึงเป็นที่มาของ “ฝีแตก” ทั้งที่การขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีกฎหมายรองรับว่าไม่ต้องเสียภาษี ไม่เหมือนการซื้อขายสินค้าทั่วไป เพื่อดึงดูดนักลงทุน เป็นการปฏิบัติกันโดยทั่วไป
 
เขากล่าวต่อว่าหลังจากนั้นก็มีม็อบนำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล อีกเกือบปีจนเขาประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในเดือน เม.ย.49 แต่พรรคฝ่ายค้านก็บอยคอตเลือกตั้ง 
 
“พรรคการเมืองทั้งหมดที่เป็นฝ่ายค้านในวันนั้น ถูกสั่ง ถูกชี้นำให้บอยคอตการเลือกตั้ง หวังที่จะให้มีกระบวนการโนโหวต และให้เห็นว่าพรรคไทยรักไทยได้คะแนนน้อยกว่าโนโหวต ไม่มีความชอบธรรมเป็นรัฐบาล แต่พี่น้องก็เลือกเราถึง 16 ล้านเสียง โนโหวตทุกพรรครวมกันยังแค่ 14 ล้านเสียง จึงเป็นรัฐบาลต่อ ต่อมาก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกผลการเลือกตั้ง อ้างว่าหันก้นออกนอกคูหา ผิดกฎหมาย ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วก็ยืดเยื้อจนประกาศเลือกตั้งในเดือน ธ.ค.49 แต่ปฏิวัติเมื่อ 19 ก.ย.49 เหตุผลในวันนั้นก็อ้างว่ามีคนปล่อยข่าวว่าเสื้อเหลืองจะมาเป็นล้าน ผู้สนับสนุนรัฐบาลจะมาปะทะกัน ซึ่งไม่มี แต่เป็นข้ออ้าง และก่อนปฏิวัติเดือนสิงหาคม วาทกรรมของสลิ่มทั้งหลายคือ “คาร์บ๊อง” ก็เกิดขึ้น มันคือ คาร์บอมจริงๆ จับได้คาหนังคาเขา” ทักษิณกล่าวและว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นขบวนการที่วางไว้แล้วว่าหากลอบสังหารไม่สำเร็จจะทำการรัฐประหาร หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 คนร่วมขบวนก็ได้รับผลประโยชน์กันถ้วนหน้า พรรคประชาธิปัตย์ก็คิดว่าจะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่ชนะ 
 
“ที่ประชาธิปัตย์ไม่ชนะการเลือกตั้ง เพราะคิดอย่างเดียวว่า ทักษิณใช้ตังค์ ทักษิณมีตังค์ ยึดอำนาจแล้ว ยึดตังค์ก็แล้ว แต่ที่ยังยึดไม่สำเร็จมีสองอย่าง คือ ยึดพี่น้องประชาชน และอีกอันหนึ่งคือ หัว ผมไม่ใช่รวยมาโดยไม่ใช้หัว เขาถึงได้แพ้ซ้ำซาก และไม่ยอมเชื่ออลงกรณ์ (เรื่องปฏิรูปพรรค)...ประชาธิปัตย์ทั้งพรรคก้าวไม่เคยพ้นทักษิณเสียที แต่ยิ่งกว่านั้น หัวหน้าพรรคติดหล่มทักษิณเลย ผมอยากให้พรรคประชาธิปัตย์หันมาแข่งขันในระบบที่มีกติกาเท่าเทียม กติกาประชาธิปไตยอย่าไปอิงทหาร อย่าไปหวังว่าเขาจะจัดตั้งให้เป็นรัฐบาลอีกในค่ายทหาร มันไม่มีแล้ว พวกเราไม่ยอม รัฐบาลต้องมาจากประชาชนแล้วพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า” อดีตนายกฯ กล่าว
 
นอกจากนี้เขายังตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า กล่าวหาเขาเรื่องคอร์รัปชั่น แต่พรรค ปชป.เองก็มีปัญหาคอร์รัปชั่นมากมาย ไม่ว่าหนี้ ปรส. สปก.4-01 ยางพารา หรือแม้แต่การประมูลก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่แพงกว่าในสมัยเขาถึง 1.8 หมื่นล้านในขณะที่รองรับคนได้น้อยกว่ามาก 
 
“ผมพูดมาทั้งหมด ไม่ได้ต้องการอะไร ไม่กลับก็ไม่ว่ากัน แค่ขอทวงคืนประชาธิปไตยให้คนไทยเท่านั้น แล้วผมจะไม่เลิกทวงคืนประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ตราบใดที่ยังมีชีวิตและลมหายใจอยู่ จะกี่ปีก็ไม่สาย ถ้าเราได้มีส่วนทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เป็นมรดกที่ดีที่สุดให้ลูกหลาน  ได้สังคมที่มีประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้คนอย่างเสมอหน้า ให้ความเป็นธรรมให้คนไทยทุกคนไม่ว่าลูกเต้าเหล่าใคร สังคมแบบนี้ที่เราอยากได้ ลูกหลานเรามีสมองทุกคน มันหากินได้ถ้าให้โอกาสมัน ไม่กีดกันมัน” ทักษิณกล่าว 
 
 
นักวิชาการทวงรายงานการสลายการชุมนุมจากกรรมการสิทธิฯ
 
ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงวันที่ 17พฤษภาคม 2556  ตั้งคำถามถึงการรวบรวมหลักฐานข้อมูลในเหตุการณ์เมื่อสามปีที่แล้วของ กสม. ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการที่ อมราและคณะไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เหตุผลอย่างเลวร้ายที่สุดนั้นเป็นเพราะต้องการปกป้องชื่อเสียงของตัวเองหรือไม่
 
"ประชาชนย่อมสงสัยว่า การที่อาจารย์และคณะอาจารย์ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่่าวเสียทีจะแสดงให้เห็นได้หรือไม่ว่า อาจารย์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการสากลของหลักสิทธิมนุษยชนโดยแท้ หากแต่กลายเป็นว่า อาจารย์เลือกปกป้องใครบางคน ปกป้องคนบางกลุ่ม บางสถาบันทางการเมือง บางสถาบันทางราชการหรือไม่ หรืออย่างเลวร้ายที่สุดซึ่งผมยังหวังว่าจะเป็นการกล่าวหาที่เกินเลยจากความเป็นจริงไปก็คือ การที่อาจารย์แสดงท่าทีเฉยเมยต่อกรณีดังกล่าวก็เพื่อปกป้องหน้าตาชื่อเสียงของอาจารย์ในแวดวงสังคมที่ใกล้ชิดอาจารย์เพียงเท่านั้น" ยุกติระบุ
 
สำหรับรายงานของ กสม. นั้น ก่อนหน้านี้ (10 เม.ย.56) อมรา ให้สัมภาษณ์ "ประชาไท" ว่า กรรมการสิทธิฯ กำลังพิจารณาร่างรายงานเกี่ยวกับการตรวจสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมฯ ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จแล้ว และจะมีการตรวจสอบจุดที่แก้ไขกันอีกครั้ง คาดว่าจะสามารถเผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์ได้ภายในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานดังกล่าวหยุดชะงักไปตั้งแต่ปลายปี 54 หลังจากมีข่าวการหลุดรอดของร่างรายงานและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 8 ก.ค. ได้เปิดเผยเนื้อหาโดยสรุป 9 กรณีสำคัญ  
 
อนึ่ง เมื่อปี 2553  ยุกติ เคยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หลังสลายการชุมนุมไม่กี่วันตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ในฐานะประธาน กสม. ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมา อมราได้เขียนจดหมายเปิดผนึกชี้แจงว่า ในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของกรรมการร่วมคณะอีก 6 ท่าน และในกรณีที่ข้อมูลไม่ชัดเจน การแสดงออกจึงมีความล่าช้า รอบคอบ และคำนึงถึงองค์กรมากกว่าส่วนตัว
 
 
ศปช.ไม่ออกแถลงการณ์ ระบุข้อเสนอเนื่องในเหตุการณ์ครบรอบสองปีไม่มีความคืบหน้า
 
พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ประสานศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.) เปิดเผยว่า ศปช.ไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆ ในวาระ 3 ปีการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 เนื่องจากเมื่อกลับไปดูข้อเรียกร้องของ ศปช. เมื่อปีที่แล้ว ก็ปรากฏว่ายังไม่ได้รับการตอบสนอง
 
โดยเนื้อหาแถลงการณ์ระบุถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย และ นปช. ว่า ต้องไม่มีการนิรโทษให้กับผู้นำของทุกฝ่ายโดยเด็ดขาด 
 
"การนิรโทษกรรมจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการเปิดเผยความจริงและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน นี่เป็นเงื่อนไขต่ำสุดของการนิรโทษกรรม เป็นเงื่อนไขต่ำสุดที่จะทำให้เกิดเยียวยาเหยื่อและการปรองดองได้จริง" แถลงการณ์ระบุ
 
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ยืนยันสืบทอดเจตนารมณ์วีรชนประชาธิปไตย
'สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้' (สกต.) ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐจัดสรรที่ดินทำกินในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ออกแถลงการณ์ในวาระครบรอบ 3 ปี 19 พ.ค.53 ระบุ จะสืบทอดเจตนารมณ์วีรชนประชาธิปไตย  ยืนหยัดขจัดผลพวงการรัฐประหาร และทวงถามความเป็นธรรมให้กับผู้เสียสละ โดยฆาตกรจะต้องถูกนำตัวมารับโทษ 
   
"ประชาธิปไตยที่ได้มาจากการเสียสละเลือดเนื้อชีวิตของประชาชนไม่เพียงเป็นการยืนยันว่ากระบวนการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลต้องมาจากประชาชนเพื่อเป็นรากฐานแห่งความชอบธรรมในการบริหารประเทศ  หากแต่ที่สำคัญที่สุดอำนาจนั้นต้องใช้เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ต้องใช้เพื่อสร้างความเท่าเทียมในทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างของรายได้ กระจายการถือครองที่ดินหรือเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยการผลิต การเข้าถึงทรัพยากรซึ่งเป็นที่มาของอำนาจ เช่น  ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เข้าถึงกระบวนการกำหนดนโยบายและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ  ตลอดถึงการแก้ไขเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาโครงการต่างๆ ของรัฐที่ผ่านมาในอดีต  เช่นนี้แล้วจึงจะกล่าวได้ว่าเป็นประชาธิปไตยของประชาชน  โดยประชาชน  เพื่อประชาชน" แถลงการณ์ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท