Skip to main content
sharethis

นาเกลือเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่สารพัดปัญหาที่ต้องเผชิญ ทำให้ขาดแรงจูงใจสำหรับคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอด เส้นทางสายเกลือจึงดูเหมือนจะค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย

จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ทำนาเกลือสมุทร เมื่อปี 2554 พบว่าจังหวัดสมุทรสาคร มีเกษตรกรที่ทำนาเกลือ 242 ครัวเรือน พื้นที่ 12,572 ไร่ จังหวัดเพชรบุรี มีเกษตรกรที่ทำนาเกลือ 137 ครัวเรือน พื้นที่ 9,880 ไร่ และจังหวัดสมุทรสงคราม มีเกษตรกรที่ทำนาเกลือ 111 ครัวเรือน พื้นที่ 4,535 ไร่

ก่อนที่วิถีการทำนาเกลือจะกลายเเป็นเพียงตำนานและสูญหายไปจากสังคมไทย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร และอุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร จัดกิจกรรรมและนิทรรศการ “เส้นทางสายเกลือ...ที่สมุทรสาคร” ขึ้น เนื่องจากสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีการนาเกลือ นอกจากนี้ยังมีจำนวนเกษตรกรและพื้นที่ทำนาเกลือมากที่สุดในประเทศไทย

ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park กล่าวว่า การจัดนิทรรศการเส้นทางสายเกลือ...ที่สมุทรสาคร เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเกลือ ซึ่ง 3 หน่วยงานได้ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อสืบทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำนาเกลือ และวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ทำนาเกลือในจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้งต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากเกลือให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมเกลือไทยไปสู่สากลได้ในที่สุด

ภายในงานนิทรรศการ“เส้นทางสายเกลือ...ที่สมุทรสาคร” ครั้งนี้  เป็นการเปิดเวทีระดมองค์ความรู้จากเกษตรกรตัวจริงที่ทำนาเกลือมาทั้งชีวิตกว่า 30-40 ปี เช่น ลุงปื๊ด เกษตรกรชาวนาเกลือเจ้าของฉายา “จอมยุทธ์กองเกลือ”  ลุงสมคิด เจ้าของฉายา “จอมยุทธ์เดินน้ำ” รวมทั้งผู้ก่อตั้งโรงเรียนนาเกลือแห่งแรกในประเทศไทย และกลุ่มคนผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากเกลือจนก้าวไกลไปต่างประเทศได้ เช่น กลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง จากจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีการทำนาเกลือแบบต่างๆ  รวมไปถึงการสาธิตกระบวนการแปรรูปเกลือสมุทรในรูปแบบต่างๆ เช่น ไอศกรีมแท่งโบราณดับร้อน,  เกลือขัดผิวทำเองได้ง่ายนิดเดียว, แป้งเกลือจืดผสมทานาคา และไข่เค็มจากดินนาเกลือ  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับเกลือที่สนุกสนานสำหรับเด็กๆ อาทิ ประดิษฐ์กังหันลม, ผลึกเกลือหน้าตาเป็นอย่างไร, การระบายสีน้ำโดยใช้เทคนิคโรยเกลือ  เป็นต้น
    
ลุงปื๊ด หรือ นาย ลิขิต นาคทับทิม  ชาวนาเกลือสมุทรสาครวัย 57 ปีผ่านแสงแดดสายฝนบนวิถีการทำนาเกลือมาค่อนชีวิต เล่าว่า สำหรับอาชีพการทำนาเกลือ ดินฟ้าอากาศถือเป็นเรื่องสำคัญ ปีไหนแล้งมากการทำนาเกลือจะยิ่งดี แต่ถ้าปีไหนฝนชุกชาวนาเกลือก็ย่ำแย่ และยิ่งทุกวันนี้ยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน เด็กรุ่นใหม่ชอบทำงานในโรงงานมากกว่าทำนาเกลือ จึงหาคนงานได้ยาก และยังไม่สามารถหาคนรุ่นต่อไปรับหน้าที่สานต่ออาชีพอย่างจริงจัง

“เมื่อ 7 – 8 ปีก่อนนี้จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 50%  ในปีไหนที่สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน ก็จะได้ผลผลิตน้อย  อย่างพอตากนาเกลือไว้พอน้ำทะเลจะแห้ง ฝนก็กลับตก สลับกันแบบนี้อยู่ตลอด พอเป็นแบบนี้เราก็ขาดทุน อย่างล่าสุด 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเราก็ทำนาเกลือได้อยู่ประมาณ 3 – 4 เดือน เดือนละ 1 -2 รอบ ช่วงเดือนที่เหลือก็จะเป็นช่วงเวลาว่างที่ทำให้แรงงานที่มีต้องไปหางานอื่นทำ ซึ่งส่วนใหญ่พอได้ไปแล้วก็ไม่ยอมกลับมาทำนาเกลือต่อเลย เพราะอยากได้งานประจำ ยิ่งคนรุ่นใหม่เขาก็เลือกที่จะทำงานในอาชีพอื่น ๆ ตั้งแต่แรก ลูกหลานเรายิ่งแล้วใหญ่ เขาเห็นมาตั้งแต่เกิดว่า อาชีพทำนาเกลือทำยาก ทั้งเหนื่อย ทั้งลำบาก ก็ไม่อยากทำกันแล้ว  ขนาดตอนนี้สบายกว่าสมัยก่อนเยอะแล้วนะ มีอุปกรณ์สมัยใหม่  มีเครื่องทุ่นแรง แต่ก็ยังเหนื่อยอยู่ดี เพราะต้องต่อสู้กับแดดกับฝน แล้วราคาเกลือก็ไม่ดี ตัวรายได้ที่ไม่เสถียรก็อาจจะไม่ดึงดูดใจหนุ่มๆสาวๆ” ลุงปื๊ดเล่าให้ฟังถึงสภาพปัญหา

ขณะที่ นายเลอพงษ์   จั่นทอง  ประธานกรรมการสหกรณ์นาเกลือ ต.โคกขาม อ.เมือง เกษตรกรชาวนาเกลือวัย 60 ปีที่ยังคงยึดอาชีพการทำนาเกลือไว้อย่างภาคภูมิใจบนผืนแผ่นดิน 40 ไร่ที่ได้รับการสืบทอดมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  เช่นเดียวกับเพื่อนเกษตรกรในบริเวณเดียวกันรวม 270 ครอบครัว พร้อมกันนี้ยังได้ใช้พื้นที่ของนาเกลือเป็น “ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร หรือ "ศูนย์เรียนรู้การทำนาเกลือ" สำหรับเพื่อนเกษตรกร ประชาชนที่สนใจรวมไปถึงเด็ก ๆ และเยาวชนเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำนาเกลือไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานก่อนที่ อาชีพการทำนาเกลือกำลังจะกลายเป็นตำนานเพราะไร้คนสานต่อ

นายเลอพงษ์เล่าให้ฟังว่า ในอดีตการทำนาเกลือต้องพึ่งพาธรรมชาติและแรงงานเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบ้าง และส่งผลดีการทำนาเกลือขึ้นมาก เช่น  การใช้มอเตอร์ไฟฟ้ามาปั่นกังหันเพื่อวิดน้ำเข้า-ออกจากนา แทนกังหันลมสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น นอกจากนี้ก็เริ่มมีพัฒนาการการทำเกลือแบบใหม่  เช่นที่จังหวัดเพชรบุรีเริ่มใช้และได้ผลดีคือ การทำนาเกลือบนผ้าใบ

“ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ วิถีนาเกลือที่กำลังจะสูญหาย เพราะทุกวันนี้ชาวนาเกลือมีจำนวนลดลงและไม่มีคนรุ่นใหม่มาสานต่อ เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่ทางสหกรณ์ได้พยายามสืบสายวิถีนาเกลือ  โดยนำไปบรรจุลงในหลักสูตรของโรงเรียนท้องถิ่น และเปิดพื้นที่นาเกลือให้นักเรียนได้เข้ามาศึกษากระบวนการทำนาเกลือ และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยปรารถนาให้คนรุ่นใหม่เข้าใจถึงคุณค่าของนาเกลือดังเช่นบรรพบุรุษ และภาคภูมิใจในอาชีพของท้องถิ่น ให้สมดังพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยพระราชทานที่ดินเพื่อประกอบอาชีพนาเกลือให้ชาวโคกขาม”

ด้านนายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ให้ความเห็นว่า การจัดงานครั้งนี้นอกจากเป็นการอนุรักษ์ และสืบสานอาชีพดั้งเดิมของคนสมุทรสาครให้อยู่สืบต่อไปแล้ว

ยังเป็นสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับความสำคัญของเกลือ รวมทั้งการต่อยอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาวิถีการทำนาเกลือ และผลิตภัณฑ์จากเกลือให้มีคุณภาพมาตรฐาน จนสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ 

“ปัจจุบันทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญเกลือกันมากขึ้น เนื่องจากอาชีพทำนาเกลือตามธรรมชาติเริ่มจะหมดไปจากบ้านเรา เป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้ความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น พร้อมช่วยอนุรักษ์และหาวิธีการพัฒนาแหล่งผลิตเกลือ และเส้นทางสายเกลือต่อไป สมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่ผลิตเกลือมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเกลือนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องใช้และขาดไม่ได้มาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะการถนอมอาหาร จึงจัดโครงการเส้นทางสายเกลือขึ้น เพื่อสืบทอดองค์ความรู้การทำนาเกลือ และวิถีชีวิตเกษตรกรนาเกลือ เผยแพร่องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำนาเกลือ และนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ก้าวไปสู่ระดับสากล”

นอกจากนี้ ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ยังกล่าวถึงการจัดนิทรรศการเส้นทางสายเกลือ...ที่สมุทรสาคร ครั้งนี้ด้วย ว่า “องค์ความรู้ที่ได้รับการนิทรรศการครั้งนี้ล้วนแต่สามารถนำไปต่อยอดได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสำหรับเด็ก คู่มือประกอบอาชีพในอนาคต นิทรรศการ และหนังสือความรู้อื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับการประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกลือเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้รอบด้าน และใช้ได้จริงเพื่อแสดงให้เห็นว่าห้องสมุดมีชีวิตไม่ได้จบแค่การมีหนังสือมาให้บริการเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาและบริหารจัดการองค์ความรู้ในท้องถิ่น เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยในที่สุด” 

 

1.นิทรรศการภาพวิถีนาเกลือ


2. แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่อง เกลือ


3. สมพงษ์ รอดดารา  ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรนาเกลือ สมุทรสาคร แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีนาเกลือที่จังหวัดสมุทรสาคร

4.-6. ผลิตภัณฑ์จากนาเกลือ ประเภทต่างๆ ซึ่งนำมาจัดแสดงเพื่อให้ความรู้ภายในนิทรรศการฯ


7.ลุดปื๊ด เจ้าของฉายา จอมยุทธ์กองเกลือ


8. โชว์การรื้อเกลือ


9. ลุงปื๊ด กับภรรยาคู่ชีวิต


10.นาเกลือ


11.ดอกเกลือ ผลิตผลจากนาเกลือ


12.นายเลอพงษ์ จั่นทอง ทายาทและเกษตรกรนาเกลือ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net