Skip to main content
sharethis

ปธน. โอบาม่าได้กล่าวปราศรัย เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมาเรื่องการใช้เครื่องบินไร้คนขับ เรื่องสงครามก่อการร้ายและเรื่องคุกกวนตานาโม แม้จะมีหลายกระเด็นที่ทำให้ภาพของสหรัฐฯ ดูดีขึ้นในแง่สิทธิมนุษยชน แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ ก็ยังคงชี้ให้เห็นปัญหาบางอย่างจากคำปราศรัยของโอบาม่า

 

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบาม่า ได้กล่าวปราศรัยครั้งสำคัญเกี่ยวกับการใช้เครื่องบินไร้คนขับหรือโดรน รวมถึงกรณีคุกกวนตานาโมที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา

อีกหนึ่งวันถัดมา กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มได้กล่าวแสดงความเห็นต่อคำปราศรัยเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของโอบาม่า พวกเขากล่าวแสดงความยินดีที่โอบาม่าเริ่มกล่าวถึงประเด็นที่เคยถูกละเลยมานาน เช่นเรื่องการสังหารนอกกระบวนการกฏหมาย, การใช้อาวุธโดรน, การที่กองทัพสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายสงครามตลอดเวลา รวมถึงวิกฤติที่เรือนจำกวนตานาโม แต่พวกเขาก็พบว่าคำกล่าวของโอบาม่ายังมีส่วนที่เป็นปัญหา

โดยในคำกล่าวปราศรัยของโอบาม่าระบุถึงการที่ปฏิบัติการโดรนของสหรัฐฯ ถูกกล่าววิพากษ์วิจารณ์ทั้งในและนอกประเทศ ในแง่ที่ว่ามีผู้สูญเสียจากการโจมตีเป็นพลเรือนรวมอยู่ด้วย ซึ่งทางสหรัฐฯ ยอมรับว่ามีการสูญเสียของพลเรือนอยู่จริง แต่โอบาม่ากกล่าวว่าพวกเขาจำเป็นต้องทำเพราะต่อสู้กับการก่อการร้าย หากพวกเขาไม่ทำก็จะยิ่งมีพลเรือนสูญเสียมากขึ้น เนื่องจากผู้ก่อการร้ายได้วางเป้าหมายเป็นพลเรือน อีกทั้งเครื่องบินโดรนยังมีประสิทธิภาพในการเจาะจงเป้าหมายมากกว่าการโจมตีด้วยเครื่องบินหรือจรวดมิสไซล์แบบเดิม

อย่างไรก็ตาม โอบาม่ากล่าวว่าจะมีการทำให้การออกคำสั่งใช้เครื่องบินรบโดรนมีความรัดกุมมากขึ้น โดยการพิจารณาจัดตั้งศาลพิเศษหรือคณะกรรมการเฝ้าระวังเพื่อให้อำนาจสั่งการภายนอกอาณาเขตสงครามภายใต้หลักการต่อต้านการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ ซึ่งเขาเชื่อว่าจะสามารถทำให้สงครามการก่อการร้ายจบลงได้ นั่นหมายความว่าการโจมตีด้วยโดรนในอนาคตจะอยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพสหรัฐฯ แทนที่จะเป็นหน่วยงานข่าวกรองกลาง (CIA)

ซีค จอห์นสัน ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงและสิทธิมนุษยชนขององค์กรนิรโทษกรรมสากลในสหรัฐฯ กล่าววิจารณ์ว่า สิ่งที่ควรจะทำกับโดรนไม่ใช่การตั้ง 'ศาลสั่งฆ่า' แต่ควรยกเลิกการขยายคำจำกัดความ 'ภัยต่อความมั่นคง' ทำให้มีคนอยู่ในข่ายสังหารเพิ่มขึ้น และควรให้มีการสืบสวนอย่างเป็นอิสระต่อกรณีการสังหารนอกกระบวนการและมีการเยียวยาเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ

ทางด้านกลุ่มสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union หรือ ACLU) ก็ได้กล่าวว่าพวกเขาสนับสนุนการเพิ่มความรัดกุมของการใช้อาวุธโดรนในปฏิบัติการที่เรียกว่า 'การจู่โจมเพื่อส่งสัญญาณ' ต่อกลุ่มผู้ต้องสงสัย แต่ก็เตือนว่าความคลุมเครือเรื่องผู้มีอำนาจสั่งการตั้งเป้าสังหารยังถือเป็นข้อบกพร่อง

โดย แอนโธนี โรมีโอ ผู้อำนวยการ ACLU กล่าวว่า "...ประธานาธิบดียังคงมีอำนาจกว้างๆ ในการสั่งการสังหารจากภายนอกสนามรบ และการสร้างความโปร่งใสในเรื่องนี้ยังไม่มากพอ และพวกเราก็ไม่เห็นด้วยกับหลักการที่ว่า เราสามารถมีกระบวนการตรวจสอบได้ แต่ไม่ได้ผ่านฝ่ายตุลาการหรือผ่านการตรวจสอบจากศาล"

ทางการสหรัฐฯ ได้ใช้ปฏิบัติการโดรนกับกลุ่มติดอาวุธผู้ต้องสงสัยในประเทศ ปากีสถาน, เยเมน, อัฟกานิสถาน และประเทศอื่นๆ ซึ่งนักวิจารณ์กล่าวหาว่าการโจมตีด้วยโดรนทำให้มีผู้สูญเสียเป็นพลเรือนจำนวนมาก โดยมูลนิธินิวอเมริกาเคยเปิดเผยผลสำรวจว่ามีปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรนของสหรัฐฯ 350 ครั้งตั้งแต่ปี 2004 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,963 ถึง 3,293 ราย เป็นพลเรือนราว 261 ถึง 305 ราย

หลังจากการปราศรัยครั้งล่าสุดของโอบาม่า ทางคณะสืบสวนด้านการใช้โดรนขององค์การสหประชาชาติก็มีปฏิกิริยาในทางบวกต่อคำปราศรัย ขณะที่ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ Globalpost เปิดเผยว่าประชาชนชาวปากีสถานรู้สึกยินดีที่ทางการสหรัฐฯ ยอมรับว่ามีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการโดรนแต่ก็ถือเป็นขั้นแรกเท่านั้น โดยมูชาฮิด ฮุสเซน ประธานกรรมการฝ่ายความมั่นคงของวุฒิสมาชิกในปากีสถานกล่าวว่า สำหรับประชาชนชาวปากีสถานแล้วแค่การยอมรับในเรื่องนี้ยังไม่มากพอจนกว่าจะมีการยุติการใช้ปฏิบัติการโดรน

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ศาลสูงของเมืองเปชาวาร์ประเทศปากีสถานได้ลงความเห็นว่าการโจมตีด้วยโดรนของสหรัฐฯ เป็นเรื่องผิดกฏหมาย และปากีสถานมีสิทธิในการโจมตีเครื่องบินโดรน

ขณะที่ในเยเมน มีเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองผู้ไม่ประสงออกนามรายหนึ่งกล่าวชื่นชมคำปราศรัยของโอบาม่า โดยบอกว่าการโจมตีด้วยโดรนสามารถลดการแพร่อิทธิพลของกลุ่มอัล-เคด้าภายในประเทศเยเมนได้

อีกกรณีหนึ่งคือเรื่องอื้อฉาวในเรือนจำกวนตานาโม ซึ่งเป็นคุกขังนักโทษต้องสงสัยในข้อหาก่อการร้าย โดยสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาอย่างมากเรื่องการทรมานนักโทษ การบังคับสอดท่ออาหารให้กับนักโทษที่ประท้วงด้วยการอดอาหาร

โอบาม่ากล่าวถึงเรือนจำกวนตานาโมว่าเป็นเรือนจำที่ใช่งบประมาณสูงมาก และในฐานะประธานาธิบดีเขาเคยพยายามปิดเรือนจำนี้และส่งตัวนักโทษ 67 คนไปยังประเทศอื่นมาก่อน แต่ทางสภาก็ออกข้อห้ามทำให้ไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องขังไปที่อื่นรวมถึงกุมขังในสหรัฐฯ เองได้

องค์กรนิรโทษกรรมสากล หนึ่งในองค์กรสิทธิมนุษยชนได้กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อคำปราศรัยของโอบาม่าว่า โอบาม่าทำถูกต้องในการกล่าวย้ำถึงความจำเป็นต้องปิดคุกกวนตานาโม เรื่องการสร้างความโปร่งใสมากขึ้น และยอมรับว่าการใช้เครื่องบินโดรนมีปัญหา แต่ก็ต้องการให้โอบาม่ามีปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้เรียกร้องให้โอบาม่าดำเนินคดีหรือไม่ก็ปล่อยตัวนักโทษในคุกกวนตานาโม แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอจัดตั้งคณะกรรมการกองทัพในสหรัฐฯ ขึ้นอีกครั้ง โดยบอกว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฏหมายและไม่มีความจำเป็น

ทางด้านศูนย์เพื่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (CCR) ก็บอกว่าโอบาม่าควรมีการส่งตัวนักโทษและปิดเรือนจำกวนตานาโมโดยทันที ทาง CCR สนับสนุนการตัดสินใจยกเลิกการสั่งห้ามส่งตัวนักโทษไปยังเยเมน ซึ่งคำสั่งห้ามดังกล่าวทำให้ผู้ต้องขังครึ่งหนึ่งต้องติดอยู่ในคุกกวนตานาโม แต่ทาง CCR ก็ผิดหวังกับคำกล่าวที่ว่าทางการจะปล่อยตัวแต่ผู้ที่ได้รับการพิสูจน์ความผิดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจาก CCR คิดว่าประธานาธิบดีวสหรัฐฯ ได้ใช้คุกกวนตานาโมกักขังนักโทษโดยไม่มีข้อหาและไม่ได้มีการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม

เรือนจำกวนตานาโมตั้งอยู่ที่ฐานทัพเรืออ่าวกวนตานาโมประเทศคิวบา ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2002 ในสมัยของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช โดยมีเป้าหมายเพื่อกักขังนักโทษในนามสงครามปราบปรามการก่อการร้าย แต่ก็มีรายงานเรื่องการทรมานนักโทษและการใช้วิธีรุนแรงในการให้นักโทษรับสารภาพ ทำให้สหประชาชาติเคยเรียกร้องให้สหรัฐฯ ปิดคุกแห่งนี้มาก่อน โดยก่อนหน้านี้ในปี 2009 ก็โอบาม่าก็ได้ลงนามในยกเลิกคณะกรรมการทหารในกวนตานาโมและให้มีการปิดคุกแห่งนี้แต่ถูกปฏิเสธจากผู้พิพากษาศาลทหาร และเมื่อปี 2011 ก็มีการลงนามในกฏหมายที่ห้ามการส่งตัวนักโทษไปในประเทศสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถปิดตัวเรือนจำแห่งนี้ได้

และเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็เกิดเหตุนักโทษในเรือนจำกวนตานาโม 102 คนเริ่มอดอาหารเพื่อประท้วงการถูกละเมิดสิทธิ แต่ก็ยังมีการ 'บังคับป้อนอาหาร' ด้วยการต่อท่อสายยาง เช่นกรณีของ ซามีร์ นาจี อัล ฮะซัน มอกเบล นักโทษจากเยเมนผู้บอกว่าตนถูกจับเป็นผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายทั้งที่แค่เดินทางไปหางานทำที่อัฟกานิสถาน

นอกจากนี้ CCR ยังได้วิจารณ์อีกว่า คำปราศรัยของโอบาม่ายังคงมีท่าทีอันตรายในการดำเนินสงครามต่อกลุ่มอัล-เคด้าและ 'กลุ่มที่เกี่ยวข้อง' ซึ่งไม่มีการระบุเจาะจง สิ่งที่อันตรายคือพื้นฐานนโยบายการตั้งเป้ากับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง แม้ว่าจะมีการจำกัดแคบลงแต่ก็ชวนให้ตั้งคำถามเรื่องการตีความ เช่น ในอดีตกระทรวงยุติธรรมเคยตีความว่า 'สิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคง' ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานที่ส่อถึงการกระทำในอนาคตอันใกล้

ทางด้าน ACLU ก็เห็นด้วยไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องคุกกวนตานาดม คือ การคืดว่าควรสั่งปิดเรือนจำนี้ รวมถึงยกเลิกคณะกรรมการทหารในกวนตานาโมซึ่งเป็นกลุ่มที่ขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

ACLU แสดงความชื่นชมโอบาม่าที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการกักขังผู้คนโดยไม่มีการพิจารณาคดี แต่ก็วิจารณ์ว่าโอบาม่ายังไม่มีแผนการชัดเจนในการจัดการกับนักโทษที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาคดีหรือได้รับพิจารณาให้ปล่อยตัว และที่สำคัญที่สุดคือการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ควรเร่งดำเนินการโดยทันที

"หลังจากเป็นประธานาธิบดีมา 4 ปี ปธน. โอบาม่า ได้เริ่มพูดถึงก้าวแรกที่เป็นการริเริ่มความพยายามในการทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในขณะหาเสียง คือการปิดคุกกวนตานาโม และเล็งเห็นว่าหากไม่สามารถกระทำได้จะทำให้เกิดความสุญเสียต่อมนุษย์อย่างไร" โรมีโอ ประธาน ACLU กล่าว "เขาพูดถูกที่ว่าพวกเราคงไม่อาจย่ำอยู่บนจุดยืนการทำสงครามได้ตลอด แต่ในตอนนี้มันถึงเวลาแล้วที่ต้องนำประเทศเราออกจากเส้นทางสงครามและรื้อฟื้นหลักนิติธรรมกันโดยทันที ไม่ใช่ในอนาคตที่ยังไม่มีกำหนด"

 


เรียบเรียงจาก

Obama’s Speech on Drone Policy, The New York Times, 23-05-2013

'Not Good Enough': Rights Groups Respond to Obama's Foreign Policy Speech, Common Dreams, 24-05-2013
Obama drone oversight proposal prompts concern over 'kill courts', The Guardian, 24-05-2013

Obama's drone speech well-received by Pakistan, Yemen, UN, Global Post, 24-05-2013
 

ข้อมูลเพิ่มเติม

http://en.wikipedia.org/wiki/Guantanamo_Bay_detention_camp

"เรือนจำกวนตานาโมกำลังจะฆ่าผม" เรื่องราวของผู้ประท้วงอดอาหารในคุกโหด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net