‘จิตรา’ ชวนฟังพิจารณาคดีคนงานไทรอัมพ์ฯ ชุมนุมสมัย รบ.อภิสิทธิ์ เผยถูกขู่

จิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย และอดีตประธานสหภาพฯ ดังกล่าว โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีที่ จิตรา น.ส.บุญรอด สายวงศ์ อดีตเลขาธิการสหภาพฯ และนายสุนทร บุญยอด เจ้าหน้าที่สภาศูนย์กลางแรงงาน ถูกฟ้องดำเนินคดีในข้อหา "ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อการวุ่นวานขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สังการในการกระทำความผิดนั้น เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดนั้นให้เลิกแล้วไม่เลิก" ในคดีหมายเลขดำที่ อ.620/2554 ซึ่งมีพนักงานอัยการ สนง.อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สนง.อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ โดยจะมีการพิจารณาคดีที่ห้องพิจารณาคดี 707 ศาลอาญารัชดา

เมื่อปลาย ส.ค. 55 มีการเบิกความพยานฝ่ายโจทก์ไปแล้ว ซึ่งนำโดย พล.ต.ต. วิชัย สังข์ประไพ อดีตผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งได้ลาออกจากตำรวจ หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิดทางวินัย รวมทั้งมีมูลความผิดทางอาญา(คลิกอ่านรายละเอียด)

กรณีที่เป็นคดีความของคนงานไทรอัมพ์ฯ นั้นมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 27 ส.ค.52 ซึ่งเป็นการชุมนุมของคนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และ แม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ พร้อมองค์กรแรงงานและประชาชนกว่า 1,000 คน ไปยังทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหลังจากได้ยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนหน้านั้น

โดยในวันดังกล่าว มีการใช้เครื่องขยายเสียงระดับไกล หรือ LRAD กับผู้ชุมนุมด้วย ซึ่งหลังจากนั้น นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งได้ทำหนังสือประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกร้องให้ถอนการออกหมายจับโดยทันที รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

ชี้กระทบต่อสิทธิการชุมนุม

จิตรา กล่าวด้วยว่า อยากให้ผู้ที่สนใจเรื่องสิทธิในการชุมนุมเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีนี้ เพราะหากมีคำตัดสินออกมาในทางลบย่อมส่งผลต่อสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในวันเกิดเหตุคนงานเพียงมาชุมนุมเพื่อสอบถามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาต่อนายกรัฐมนตรี คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยรับปากว่าจะแก้ปัญหา แต่กลับถูกออกหมายจับและดำเนินคดี ทั้งๆที่เป็นการชุมนุมโดยสงบผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเป็นอย่างดี ส่วนการที่คนงานล้นลงมาที่ผิวถนนก็เป็นเพราะสภาพที่มีคนจำนวนมากเนื่องจากไม่ได้มาชุมนุมเพียงโรงงานเดียว แต่มาอย่างน้อย 3 โรงงานที่ประสบปัญหาในขณะนั้น แต่กลับเป็นเครื่อง LRAD เพื่อสลายการชุมนุม พร้อมด้วยการออกหมายจับตนเองและพวก

เผยถูกคุกคาม แต่ยังไม่ปักใจเชื่อ 100%

นอกจากนี้ จิตรา ยังเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ถูกข่มขู่คุกคามด้วยว่า ในวันนี้พี่สาวตนที่อยู่ต่างจังหวัดแจ้งมาว่า มีชายแปลกหน้า 2 คน มาถามหาตนกับผู้ใหญ่บ้าน โดยอ้างตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน รวมทั้งถามกับผู้ใหญ่บ้านด้วยว่าหมู่บ้านนี้มีเสื้อแดงมากหรือไม่ พร้อมบอกด้วยว่าให้ จิตราระวังตัวระวังตัวเพราะเล่นของสูง โดยจิตรามองว่าแม้ตนเองจะไม่ปักใจเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เกี่ยวข้องกับคดีนี้หรือไม่ แต่ตนเองก็ไม่ได้มีเรื่องขัดแย้งส่วนตัวกับใครมาก่อน จึงมองว่าเป็นการขุมขู่คุกคาม

สำหรับประสบการณ์การถูกข่มขู่คุกคามนั้น จิตรา ในฐานะที่ทำกิจกรรมด้านการเมืองและแรงงานมานาน กล่าวด้วยว่า ตนเองถูกข่มขู่และคุกคามมาโดยตลอด โดยเฉพาะตั้งแต่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร ปี 49 มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมาตั้งจุดตรวจบริเวณหน้าโรงงาน(คลิกอ่านเพิ่มเติม) หลักออกไปคัดค้านการรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ก็ถูกทำร้ายร่างกาย หลังใส่เสื้อ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” ออกโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ก็ถูกข่มขู่ทั้งในออนไลน์และภายนอก รวมถึงถูกให้ออกจากงาน แม้กระทั้งที่สำนักงานสหภาพแรงงาน หน่วยงานความมั่นคงก็ให้บ้านข้างๆ ไปอบรมพร้อมสอดส่องความเคลื่อนไหวของสหภาพ หรือที่อยู่ปัจจุบันก็เคยมีกลุ่มชายแปลกหน้าแต่ตัวคลายเจ้าหน้าที่มาถ่ายรูป เป็นต้น

 

สำหรับความผิดกรณีร่วมกันมั่วสุมก่อการวุ่นวานขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 215 และ 216 นั้นบัญญัติไว้ว่า

มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิด การวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความ ผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการ กระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิด ตาม มาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท