ศาลสรุปช่างภาพอิตาลีตายจากกระสุนฝั่งทหาร

ศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้สรุปการไต่สวนสาเหตุการตายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพอิตาลีที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายชุมนุมเสื้อแดง พ.ค. 53 ว่าทิศทางของกระสุนมาจากฝั่งของทหาร แต่ระบุยังไม่ทราบใครเป็นคนกระทำ
 
29 พ.ค. 56 - ห้องพิจารณาคดี 602 เวลา 9.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ สรุปการไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ การเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) บริเวณแยกศาลาแดงถึงราชประสงค์ โดยสรุปว่านายฟาบิโอเสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากฝั่งทหาร อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่า ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ 
 

เอลิซาเบ็ตต้า โปเลนกี น้องสาวฟาบิโอ โปเลนกี พร้อมด้วยมารดา ลาวร่า คิโอริ และพี่สาว อาเรียนนา โปเลนกี
เดินทางมาจากอิตาลีเพื่อร่วมรับฟังคำสั่งศาลที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
 
ด้านทนายความของญาติผู้เสียชีวิต นายคารม พรพลกลาง กล่าวว่ารู้สึกค่อนข้างพอใจกับผลที่ออกมาในวันนี้ เนื่องจากหลักฐานต่างๆ เช่น วิถี หรือลักษณะของกระสุน ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าน่าจะเป็นกระสุนจากเจ้าหน้าที่ทหาร และกล่าวว่าจะดำเนินการฟ้องร้องในขั้นต่อไปในอนาคต ในขณะที่เอลิซาเบ็ตต้า โปเลนกี น้องสาวของผู้เสียชีวิต กล่าวว่าค่อนข้างพอใจกับผลที่ออกมา ส่วนขั้นต่อไปจะทำอะไรต่อต้องปรึกษาครอบครัวก่อน 
 
ในวันนี้ เวลา 19.00 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ถ.เพลินจิต จะมีการแถลงข่าวโดยเอลิซาเบ็ตต้า โปเลนกี และนายชอวน์ คริสปิน ตัวแทนจากคณะกรรมการเพื่อพิทักษ์นักข่าว (Committee to Protect Journalists) ต่อคำสั่งของศาลในคดีดังกล่าวด้วย
 
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว หรือ คดีหมายเลขดำที่ ช.10/2555 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ชันสูตรการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลี เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 55 เพื่อทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
 

0000

คำสั่งชันสูตรพลิกศพ นายฟาบิโอ โปเลงกี
คดีหมายเลขดำที่ ช.10/2555
(เอกสารสรุปโดยศาลอาญากรุงเทพใต้)
 
วันนี้ เวลา 9 นาฬิกา ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำสั่งใต่สวนชันสูตรพลิกศพกรณีการถึงแก่ความตายของนายฟาบิโอ โปเลงกี (Fabio Polenghi) ระหว่างการชุมนุมที่บริเวณถนนราชดำริ
 
คดีสืบเนื่องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ศาลใต่สวนชันสูตรพลิกศพการตายของนายฟาบิโอ โปเลงกี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลากลางวัน ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ขอให้ศาลทำการใต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 
 
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและมารดาผู้ตายแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ แต่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธคำเรียกร้อง กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติจึงมีการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังแยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและอีกหลายพื้นที่ นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ และมีข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการและคำสั่งที่พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และได้มีการออกข้อกำหนดโดยประกาศของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามการชุมนุม การยุงยงให้เกิดความไม่สงบ ประกาศการห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามใช้ยานพาหนะ รวมทั้งงดการให้บริการสาธารณูปโภค เช่น การตัดน้ำตัดไฟ ลดการใช้เรือโดยสารสาธารณะ และรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ 
 
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 5.45 น. ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินมีคำสั่งให้ทหารกองพันทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ซึ่งเป็นหจ้าพนักงานเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี ตั้งแต่แยกศาลาแดงจนถึงแยกราชดำริ และใช้รถสายพานลำเลียงในการเข้าทำลายแนวกั้นของผู้ชุมนุม เจ้าพนักงานดังกล่าวมีอาวุธปืนประจำกาย ได้แก่ อาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 อาวุธปืนเล็กนาวแบบ 11 (HK 33) อาวุธปืนลูกซอง และอาวุธปืนพก โดยได้รัคำสั่งให้ใช้กระสุนปืนจริงและกระสุนปืนซ้อมรบกับอาวุธปืนลูกซอง ส่วนอาวุธปืนเล็กยาวให้ใช้แต่เพียงกระสุนปืนซ้อมรบเพียงอย่างเดียว ระหว่างที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่และเคลื่อนเข้ากระชับพื้นที่นั้น ได้มีนักข่าวซึ่งรวมผู้ตาย เข้าไปทำข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเหตุการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น กลุ่มผู้ขุมนุม นักข่าว และผู้ตายได้วิ่งหลบหนีจากแยกราชดำริไปยังแยกราชประสงค์ เมื่อผู้ตายวิ่งมาถึงบริเวณเกาะกลางถนนหน้าบริษัทสายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ปรากฎว่าผู้ตายถูกยิงล้มลง จากนั้นมีคนนำผู้ตายไปส่งที่โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาล 
 
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร เห็นว่า ผู้ร้องมีพยานปากนักข่าวในประเทศและต่างประเทศเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่าเห็นผู้ตายถูกยิงล้มลงขณะที่วิ่งหลบหนีไปทางเยกราชประสงค์ระหว่างที่เจ้าหนักงานกำลังเคลื่อนมาจากแยกศาลาแดง พยานทั้งสองปากเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เขี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนปืนยิงมาจากทางเเยกศาลาแดงซึ่งเป็นทิศทางที่เจ้าพนักงานกำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จนถึงแยกราชดำริ อีกทั้งแพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายและผู้แปลผลการชันสูตรพลิกศพยังเบิกความสอดคล้องต้องกันโดยสรุปว่าบาดแผลของผู้ตายน่าจะเป็นบาดเเผลที่เกิดจากกระสุนปืนที่ยิงออกมาจากอาวุธปืนที่มีความเร็วสูง เมื่อไม่ปรากฎจากการไต่สวนว่ามีบุคคลอื่นเข้ามาก่อเหตุใดๆ ทั้งกระสุนปืนที่เจ้าพนักงานใช้ประจำการในการเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุเป็นกระสุนปืนขนาด .223 ที่ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 และอาวุธปืนเล็กยาวแบบ 11 (HK 33) ที่มีประสิทธิภาพในการยิงวิถีไกลและมีความเร็วสูง และได้ความจากนักข่าวต่างประเทศ พยานมารดาผู้ตาย ว่าในขณะเกิดเหตุพยานได้วิ่งไปทิศทางเดียวกับผู้ตายและถูกยิงด้วยกระสุนปืนในบริเวณใกล้เคียงกับผู้ตายที่บริเวณด้านหลังข้างขวาและกระสุนปืนฝั่งใน
 
ต่อมาแพทย์ได้ผ่าตัดเอาหัวกระสุนปืนออก พบว่าเป็นหัวกระสุนปืนจากอาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ซึ่งสอดคล้องกับอาวุธปืนที่เจ้าพนักงานใช้ประจำกายในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงผู้ตาย ถูกยิงมาจากด้นเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเจ้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ 
 
จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายฟาบิโอ โปเลงกี ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลตำรวจ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 11.30 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท