Skip to main content
sharethis

Media Inside Out จัดวงถกสื่อใหม่ มุมจากนักข่าวออนไลน์ รุ่นใหม่ รุ่นเก่า นักกิจกรรมประเด็นต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย

29 พ.ค.56  ที่โรงแรมเดอะเวสทิน  แกรนด์ สุขุมวิท กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ (Media Inside Out) โดยความสนับสนุนของ USAID Sapan Program จัดสัมมนาหัวข้อ คนรุ่นใหม่-สื่อใหม่-ในสังคม-การเมือง ในช่วงบ่ายมีวิทยากรต่างสาขาอาชีพที่เกี่ยวกับการใช้สื่อรูปแบบใหม่มาร่วมพูดคุย 5 คน ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวจากบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป บรรณาธิการข่าวจากประชาไท อดีตนักศึกษาผู้ก่อตั้งกลุ่มกิจกรรมทางการเมือง “กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” นักวิชาการด้านสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และตัวแทนจากกลุ่ม Save Anwar มีผู้ดำเนินรายการเป็นที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชน

สมฤทธิ์ ลือชัย สื่อมวลชนและนักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิธีกรในงานกล่าวเปิดประเด็นว่าบทบาทของสื่อใหม่มีผลต่อสังคมการเมืองอย่างมาก เราได้เห็นว่าเว็บไซต์เผยแพร่ข่าวสารมากขึ้นๆ การเผยแพร่นั้นจึงไม่ใช่แค่การนำเสนอแต่เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองของประชาชนต่อรัฐมากขึ้นด้วย เพื่อจะตรวจสอบตรวจตรา คานอำนาจรัฐ ยกตัวอย่างในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เรียกว่า “ม็อบมือถือ” มือถือเป็นสื่อใหม่ในขณะนั้น ตอนนี้ผ่านมา 21 ปี สื่อใหม่มีพัฒนาการมากขึ้น ส่งข้อมูลเร็วกว่าในอดีต และเผยแพร่ได้ทันทีทันใด

นภพัฒน์จักร อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวภาคสนามและผู้ดำเนินรายการของเนชั่นแชนแนล พูดถึงการใช้สื่อใหม่ในอาชีพนักข่าวว่า เริ่มทำงานข่าวในยุคที่สื่อใหม่ได้รับความนิยมและมีความสำคัญแล้ว ถ้าจะให้เปรียบเทียบความแตกต่างของสื่อเก่ากับสื่อใหม่จึงเป็นเรื่องยาก

สำหรับสื่อใหม่ที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือบล็อก มีข้อดีที่ใช้ต้นทุนต่ำ นำเสนอง่าย ทำได้รวดเร็ว คนก็เข้าถึงมากขึ้น ทำให้แข่งขันกับสื่อกระแสหลักใหญ่ๆ ที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีมากกว่าได้ดีขึ้น ทั้งที่ยังลงทุนต่ำกว่า นอกจากนี้สื่อใหม่ยังทำให้เข้าถึงแหล่งข่าว หรือสื่อสารกับแหล่งข่าวได้โดยตรงได้ง่ายมากๆ ไม่ต้องกังวลว่าจะผ่านตัวกลางที่ต้องตรวจสอบกันว่าได้มาจากแหล่งข่าวจริงหรือไม่ เช่น การติดต่อนักวิชาการมี่แสดงความเห็นในโลกออนไลน์ต่างๆ สื่อใหม่ทำให้เห็นความหลากหลายของผู้คนทั่วๆไป จากการที่เข้ามาแสดงความเห็นตอบโต้กับข่าวที่เผยแพร่ออกไป

แต่ทั้งนี้ การใช้สื่อใหม่มากๆ ก็อาจจะมีข้อเสียที่ทำให้มีความรอบคอบน้อยลงได้ เพราะการนำเสนอไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองจากบรรณาธิการ ไม่ต้องให้ตรวจสอบก่อนเผยแพร่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักข่าวจะไม่มีความรอบคอบเลย นักข่าวเองเมื่อนำเสนออะไรออกไปแล้ว คนจำนวนมากได้อ่าน มีผลตอบรับหรือแรงปะทะกลับมาจากหลายทิศทาง แน่นนอนว่านักข่าวก็จะได้เรียนรู้ที่จะตรวจสอบตัวเองทุกๆ ครั้ง อย่างไรก็ตาม ถ้ามองว่ายอดไลค์ยอดแชร์ เป็นสิ่งที่สะท้อนความนิยม ก็มีข้อควรระวังไม่ให้มันกลายเป็นหลุมพราง สนุกไปกับการผลิตซ้ำข่าวหรือแสดงความเห็นเพื่อเอาใจคนอ่านโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง นอกจากนี้ที่ต้องระวังอีกก็คือการถูกแฮกค์ข้อมูล  

พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ประชาไท พูดถึงการทำสื่อใหม่ในฐานะสื่อหลักของการทำข่าวแบบประชาไทว่า

ตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง ประชาไทเกิดมาเพื่อเป็นสื่อใหม่ เพราะสื่อกระแสหลักที่นำเสนอกันมามักตัดบางประเด็นออกไป หรือเสนออยู่ในเกร็ดข่าวเล็กๆ น้อยๆ แต่ประชาไทได้หยิบประเด็นเหล่านั้นมานำเสนอให้กว้างขึ้น ให้ความสำคัญมากขึ้น เช่นเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ โดยนำเสนอทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นช่องทางที่มีมีต้นทุนต่ำและนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งงานเขียน ภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือวิทยุก็ได้

พิณผกากล่าวว่า สื่อใหม่มีข้อดี คือ ทำเห็นการตอบรับของคนได้ง่ายมากว่าในขณะหนึ่งคนในสังคมสนใจอะไร ไม่สนใจอะไร เพราะนอกจากจะนำเสนอแล้วสื่อใหม่ยังสามารถเปิดพื้นที่ให้คนที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วยได้เข้ามาแสดงความเห็น ความสนใจจึงดูได้จากผลตอบรับ ถ้าคนสนใจมาก มีผลตอบรับมาก เช่นเดียวกับที่ประชาไทได้รับความนิยมเพิ่มจากเดิมอย่างมากนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร แต่ก็เป็นเพราะการเปิดให้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นนี้เองที่ทำให้ผอ.ประชาไทถูกดำเนินคดีจนตัดสินใจปิดตัวลงตอนนั้น และปรับระบบให้คนที่ไปแสดงความเห็นแสดงตัวเพื่อให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศ เราไม่อาจบอกได้ว่าตัวเลขที่ปรากฏในสื่อใหม่จะสะท้อนความจริงของสังคม การเคลื่อนไหวบางอย่างในสื่อใหม่อาจดูมีพลังมาก มีคนเข้าไปแสดงความเห็นอย่างคึกคัก แต่เอาจริงๆ ให้ออกมาเคลื่อนไหวกัน กลับมีน้อยมากๆ ที่สำคัญก็คือคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต ตัวอย่างที่สะท้อนได้ชัดก็คือ จำนวนคนติดตามผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างอภิสิทธิ์ที่มีมากกว่ายิ่งลักษณ์ แต่ในความเป็นจริง อภิสิทธิ์ไม่ใช่คนที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากการเลือกตั้ง

สำหรับประชาไท การใช้สื่อใหม่ทำข่าว เช่น โทรศัพท์มือถือ  มีข้อดี คือทำให้คล่องตัวมาก เพราะพกพาไปได้ทุกที่ นอกจากนี้เว็บไซต์ก็ยังมีพื้นที่ไม่จำกัดอย่างหนังสือพิมพ์ ดังนั้นการนำเสนอจึงไม่มีข้อจำกัดด้านปริมาณเนื้อหาด้วย

แต่หากจะมีข้อบกพร่องก็คงเป็นการตรวจสอบ เช่น พบคำผิดบ่อย แต่ทั้งนี้ก็เปิดโอกาสให้คนอ่านสามารถท้วงติงได้

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ผู้ก่อตั้ง “กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” พูดถึงการใช้สื่อใหม่เพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว หันมาใช้สื่อใหม่อย่างเฟซบุ๊คเป็นที่ประชาสัมพันธ์ แทนที่จะแปะโปสเตอร์ตามสถานที่จริง ถ้ามีงบประมาณเพื่อรณรงค์อะไรสักอย่างก็เลือกทำในเฟซบุ๊ค ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดคือการประชาสัมพันธ์งานชำแหละคำพิพากษาคดีจ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร ก็ซื้อโฆษณาจากเฟซบุ๊คโดยเลือกเผยแพร่ไปยังกลุ่มคนที่สนใจข่าวของประชาไท แล้วก็มีคนเข้ามาดูจำนวนมาก มากกว่าการประชาสัมพันธ์แบบอื่นๆ ทั้งที่ใช้ต้นทุนเท่ากัน คนรุ่นนี้ใช้สื่อเหล่านี้โดยไม่ได้มองว่านี่เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่มองว่านี่คือทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งใช้มากขึ้นก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องทำ แต่แน่นอนว่าการประชาสัมพันธ์ไม่ใช่แค่การโฆษณา ต้องดูจังหวะเวลาการเผยแพร่ด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าสารต้องเข้ากลุ่มคนที่ต้องการแน่ๆ

ปราบแสดงความเห็นต่อวลี  “ยาวไปไม่อ่าน” ว่าเป็นเรื่องที่เจออยู่แล้ว คนในโลกออนไลน์ชอบอ่านอะไรสั้นๆ ย่อยง่าย จนกลายเป็นว่าคนที่อ่านยาวๆเป็นเพียงคนส่วนน้อย แต่คนจำนวนมากคนอ่านและแชร์อะไรสั้นๆโดยไม่ได้สนใจข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่ได้อ่านเนื้อหาสาระจริงๆ ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะสุดท้ายแล้วจะมาดูแพ้ชนะกันตรงที่ว่าฝั่งไหนมีคนสนับสนุนมากกว่ากัน แต่ในทางปฏิบัติการนำเสนออะไรสั้นๆก็ต้องทำ เพื่อให้เข้าถึงคนจำนวนมากได้ วิธีการก็คือ ต้องเสนอประเด็นที่ผูกพันกับอารมณ์คนอ่าน เพื่อโยงเขาไปสู่ประเด็นที่เรานำเสนอและต้องการให้เขาคล้อยตาม และไม่ให้เข้าใจประเด็นที่ต้องการสื่อคลาดออกไป

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ฝ่ายสื่อสาธารณะ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เห็นว่าสื่อใหม่ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่ม LGBT มาก สำหรับตัวเองนั้นไม่ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่เสียทีเดียว เป็นกลางเก่ากลางใหม่มากกว่า เพราะมีโอกาสทำสื่อวารสารแบบเก่าที่ลงมือทำเองตั้งแต่ซีร็อก เย็บเล่ม ส่งไปต่างจังหวัด ซึ่งตอนนั้นไม่มีสื่ออินเตอร์เน็ตใดทั้งสิ้น ก็ถือว่าสนุกดี แต่มีปัญหาตรงการเผยแพร่เนื้อหา เพราะส่งหนังสือไปให้สมาชิกตามต่างจังหวัด ก็มีโอกาสที่คนรับจะไม่ใช่คนสั่ง หนังสือตกไปอยู่ในมือของคนอื่น ซึ่งมองว่าเนื้อหาที่คนรักเพศเดียวกันอ่านเป็นสิ่งผิดปกติ ดังนั้นสื่อเก่าจึงอาจสร้างผลกระทบต่อผู้รับสารมาก

สำหรับสื่อใหม่ เริ่มมาใช้เมื่อปี 2546 ที่เริ่มมีอินเตอร์เน็ต ตอนนั้นแม้จะใช้อะไรได้ไม่มากแต่ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ แล้วก็มีคนเข้ามาแสดงความเห็นเยอะมาก รู้สึกว่าสื่อใหม่ตอบโจทย์ LGBT เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่อาจจะไม่เปิดเผยตัวเองในที่สาธารณะ แต่อินเตอร์เน็ตทำให้เขามีตัวตนอย่างเต็มที่ ในขณะที่สื่อเก่า เช่น หนังสือ มีราคาแพง ต้นทุนสูง เสี่ยงที่วางขายไม่ได้ แต่สื่อใหม่เปิดโอกาส เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่า เร็วกว่า ราคาถูกจนถึงฟรี เหลือแค่เราที่จำนำเสนอประเด็นอะไรไปเท่านั้น แต่อีกทางหนึ่ง ก็น่ากังวลว่า เมื่อสื่อใหม่มีครบทุกอย่างแล้ว คนก็จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวจริง แต่อยู่กับโลกออนไลน์มากกว่าโลกจริง กลายเป็นว่าเราทำงานโดยไม่มีคนสนับสนุน ไม่มีคนออกมาแสดงตัวว่ามีปัญหา ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนั้น ในโลกออนไลน์คึกคัก แต่กิจกรรมออฟไลน์เงียบเชียบมาก

อิสมาอีล ฮายีแวจิ บรรณาธิการสำนักสื่อ Wartani ตัวแทนจากกลุ่ม Save Anwar (กลุ่มเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ซึ่งถูกขัง 12 ปีฐานเป็นสมาชิก BRN) 

อิสมาอีล เล่าถึง Wartani ว่าเป็นสื่อที่เกิดจากคนในพื้นภาคใต้ที่รวมตัวกัน รวมทั้งอันวาร์ด้วย เพราะต้องการนำเสนอเรื่องราวในพื้นที่ที่ยังตกหล่นจากสื่อหลักหรือสื่อนอกพื้นที่ นำเสนอทำประเด็นต่างๆ ที่คิดว่าสื่ออันยังเสนอได้ไม่ครอบคลุม เพราะสื่อเหล่านั้นทำข่าวเพื่อตอบสนองความต้องการของคนนอกพื้นที่และยังไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริงๆซึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดที่ตัวเนื้อหาก็ได้ นอกจากนี้ก็ต้องการเป็นกระบอกเสียงให้แก่ชาวบ้าน แน่นอนว่าเราสามารถนำเสนอได้มากกว่า เพราะมีข้อดีคือการเป็นคนในพื้นที่ที่เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป ชาวบ้านจึงไว้ใจและมีความหวังว่าจะช่วยเหลือพวกเขาได้

สำหรับสื่อใหม่ ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะใช้ง่ายและมีราคาถูก มีโอกาสที่จะถูกควบคุมจากรัฐน้อย เพราะมีพลังมาจากคนข้างล่าง สื่อใหม่เข้าถึงชาวบ้าน รับฟังความเห็นของชาวบ้านที่ไม่กล้าหรือไม่เคยบอกสื่อหลักเนื่องจากความกลัวการถูกข่มขู่ หรืออะไรก็ตาม แต่เราได้นำเสนอความเห็นเหล่านั้น แม้ว่าจะเป็นความเห็นที่ตรงกันกับBRN อิสมาอิลจึงเห็นว่า สื่อใหม่ให้โอกาส เปิดพื้นที่ให้คนได้ดีมาก

“วันนี้คุณจะฆ่าหรือกักขังคนที่คิดต่างได้ แต่คุณจะฆ่าหรือกักขังความคิดไม่ได้ คุณจะฆ่ามะโซหรือกักขังอันวาได้ หรือจะฆ่าอีกสิบอีกร้อยคนก็ได้ แต่อย่าลืมว่าคุณไม่สามารถฆ่าความคิดของคนได้” อิสมาลีลกว่า

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ นักข่าว นักเขียน บรรณาธิการและที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชนสรุปข้อดีของสื่อใหม่เพิ่มเติมว่า สื่อใหม่ เป็นของคนรุ่นใหม่ซึ่งอยู่ในสังคมที่ต่างจากคนรุ่นเก่า สื่อใหม่ช่วยเปิดพื้นที่ใหม่ให้คนในสังคมที่มีความหลากหลาย แต่สื่อหลักได้มองข้ามไปอย่างเคยชิน เนื่องจากเน้นการทำงานกับคนที่มีอำนาจในสังคม มีอำนาจกำหนดนโยบาย แต่ไม่สนใจชาวบ้าน แต่สื่อใหม่ทำให้คนมีเสียงดังมากขึ้น คนรุ่นใหม่ได้นำเสนอสิ่งใหม่ๆให้สังคมได้เห็นอย่างกว้างขวาง เรื่องนี้จึงสะท้อนว่าถึงเวลาแล้วที่สื่อหลักควรจะเปิดพื้นที่ให้คนมากกว่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net