Skip to main content
sharethis

แต่ไหนแต่ไรมา คนทั่วไปอาจจะมีภาพความรับรู้เกี่ยวกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีห่างไกลตัวพอสมควร ขณะเดียวกัน ด้วยความเป็นกระทรวงที่ไม่ได้เป็นที่หมายปองของนักการเมืองนัก และไม่ค่อยมีข่าวคราวใดๆ ออกมา นอกจากเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องยอมรับว่า ยากที่จะเป็นข่าวที่ถูกไฮไลท์

ทว่า ราวสัปดาห์กว่าที่ผ่านมา ข่าวคราวข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนัดกันแต่งชุดดำประท้วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล โดยกำหนดวันเคลื่อนไหวในวันจันทร์ที่ 20 พ.ค. เล็ดลอดออกมาสู่สื่อมวลชน พร้อมจดหมายเปิดผนึกที่ระบุว่า “ไว้ทุกข์ให้กับความถถดถอยของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย”

จดหมายเปิดผนึกระบุประเด็นปัญหาหลักๆ อยู่ สองประการ คือ

ประการแรก การตัดงบประมาณสำหรับการวิจัยในเรื่องสำคัญลง อย่างเช่นการวิจัยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ งานวิจัยเทคโนโลยีรากฐานสำหรับการประยุกต์ใช้ในกาพัฒนาด้านต่างๆ ในระยะยาว ก็ถูกตัดงบประมาณลง โดยงบประมาณปี 2557 นั้น ถูกปรับลดงบวิจัยลงประมาณร้อยละ 30 ของที่เคยได้รับในปี 2556

ประการต่อมาก็คือระเบียบใหม่ที่ขาดความคล่องตัว เช่น การลงนามข้อตกลง แม้เป็นกรณีที่ได้รับทุนวิจัยจากต่างประเทศซึ่งเป็นความผูกพันระดับหน่วยงาน และการจัดซื้อจัดจ้างที่มีจำนวนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก่อน แม้ว่าการวิจัยและการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ จะถูกระบุอยู่ในแผนแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นปัญหาเทคนิคที่ทำให้บุคลาการถูกจำกัดกรอบการทำงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่คนในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ส่วนหนึ่งคิดว่า การแทรกแซงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเสมือนการบั่นทอนอนาคตของชาติเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ที่อาจคุ้นเคยกับการแก้โจทย์ยากๆ ในห้องทดลอง เมื่อมาเจอกับการตอบโต้เร็วจากนักการเมืองอย่างนายวรวัจน์ ผลก็คือการนัดหมายแต่งดำถูกยกเลิกไปหลังจากที่นายวรวัจน์เรียกนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าพบเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพียงสามวันก่อนการนัดประท้วง และสั่งให้นายทวีศักดิ์สั่งไม่ให้พนักงาน สวทช.เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว พร้อมกับชี้แจงข้อเท็จจริงซึ่งปรากฎในใบปลิว ให้กับพนักงาน สวทช. เป็นเหตุให้ผู้อำนวยการ สวทช.ส่งอีเมล์ไปยังพนักงานของสวทช.ทุกคน ไม่ให้แต่งชุดดำประท้วง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ในวันที่ 20 พ.ค.

ไม่เพียงเท่านั้น แหล่งข่าวในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บางรายยังระบุว่า นายวรวัจน์ยังสั่งให้ตรวจสอบคอมพิวเตอร์และอีเมลภายในทั้งสำนักงาน สวทช. เพื่อค้นหาว่าใครเป็นผู้ทำใบปลิวและจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว

 

รัฐมนตรีมีปัญหา ?

กล่าวสำหรับนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล เป็นส.ส. จากจังหวัดแพร่ ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็น ครม. ชุดแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากนั้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นลำดับ ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในวันที่ 27 ต.ค. 2555

แม้เขาจะอธิบายว่าตัวเองเป็นคนประสานงานง่าย ใช้ความนุ่มนวล ไม่มีปัญหาเรื่องความไว้วางใจจากคนในพรรค แต่ก็หนีไม่พ้นถูกต่อต้านจากคนในกระทรวงที่เขาเข้าไปดำรงตำแหน่ง

ในสมัยดำรงตำแหน่งที่กระทรวงศึกษาธิการ นายวรวัจน์ก็เคยตั้งเป้า “ยกเครื่อง” กระทรวงศึกษาฯ โดยบอกว่าจะเน้นการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่ขณะเดียวก็เผชิญกับการต่อต้านตั้งแต่เรื่องการปรับปรุงห้องทำงานขนาดใหญ่ มีการเปิดเพจเฟซบุ๊ก จับตาอย่าให้วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุลโกงประเทศ แต่เมื่อไปดูข้อมูลในเพจ พบว่าเป็นข้อมูลที่ปรากฎในสื่อผสมด้วยอารมณ์เป็นส่วนใหญ่ บางประเด็นก็เป็นเรื่องจับแพะชนแกะไป มีผู้ติดตามเพจอยู่ประมาณ 1300 คน

เมื่อมาอยู่กทระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เขาให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ ระบุมีเป้าหมายว่ากระทรวงต้องพัฒนาเทคโนโลยีตัวเองออกไป โดย หนึ่ง ต้องบูรณาการในกระทรวง เทคโนโลยีต้องรองรับระบบการผลิตของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มองเป็นรายชิ้น นักวิจัยอยากทำอะไรก็ทำ ต่อไปต้องขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์รัฐบาล รองรับการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง

“เมื่อผมไปอยู่กระทรวงนี้ก็จะแก้ปัญหาเป็นรายชนิด ตอนผมอยู่สำนักนายกฯ ก็ทำงานคู่กับกระทรวงพาณิชย์ เกษตรฯ ผมจะเข้าไปดูแลการผลิตทั้งภาครัฐและเอกชน ก็จะเพิ่มขีดความแข่งขันของประเทศได้ ซึ่งนโยบายจะชัดเจน เพราะคนไม่เคยรู้ว่ากระทรวงนี้ทำอะไร”

แต่ข่าวใหญ่เกี่ยวกับตัวเขาคงไม่พ้นประเด็นเรื่องการเลื่อนลงนามความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐ ที่ซึ่งเขาขอเลื่อนกำหนดการไป แม้เจ้าตัวจะอธิบายว่าการเลื่อนเดินทางไม่เกี่ยวกับกระแสข่าวการปรับ ครม. แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องความพร้อมของกระทรวงมากกว่า เพราะการลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีผลผูกพันกับยุทธศาสตร์ และงานวิจัยต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องหารือโดยรอบคอบ และต้องหาข้อสรุปให้ชัดเจนและรัดกุม ขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในกลุ่มข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถึงการเลื่อนการลงนาม MOU ไทย-สหรัฐฯ ในเรื่องวิทยาศาสตร์ออกไป ทั้งที่เจรจาตกลงร่วมกันระหว่างสองประเทศมานานนับสิบปี จนทำให้ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก

แทรกแซงกระทรวงวิทย์ บั่นทอนอนาคตชาติ!!?

จากข้อมูลที่ค่อยๆ ทยอยปรากฏออกมา นั้น ส่วนงานที่ได้รับผลกระทบและเป็นส่วนที่เป็นคลื่นใต้น้ำลูกใหญ่ในกระทรวงก็คือ สวทช. ซึ่งเป็นส่วนงานที่ใช้งบประมาณส่วนใหญ่ของกระทรวง กว่าร้อยละ 80

หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น อยู่บนวัฒนธรรมการบริหารที่ค่อนข้างเป็นอิสระ โดยมีหน่วยงานที่เป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติองค์กรในกำกับของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรมหาชน มีหน่วยงานที่ขึ้นตรงในระดับกรมอยู่เพียงสี่หน่วยงานเท่านั้น ประเด็นนี้เองที่น่าจะเป็นประเด็นใหญ่ใจความของเรื่อง เมื่อหน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐรู้สึกว่ากำลังถูกแทรกแซงจากข้าราชการการเมืองซึ่งลงรายละเอียดยิบย่อยในด้านการบริหารจัดการงบประมาณทำให้การทำงานไม่คล่องตัว ขาดความเป็นอิสระ

สวทช. เป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติในกำกับของรัฐที่มีบุคลากรวิจัยในระดับปริญญาโท-เอกอยู่กว่า 870 คน และกว่าร้อยละ 43 เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ ตามแนวนโยบายของรมว.คนปัจจุบัน บุคลากรสายงานวิจัยบางส่วนต้องไปศึกษางานด้านที่ไม่ถนัด ไปทำงานส่งเสริมรัฐบาลในประเด็นที่น่าจะไม่ใช่เรื่องของ สวทช. โดยตรง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความห่างไกลจากความรับรู้ของประชาชน แม้นักวิทยาศาสตร์บางคนจะกล่าวว่า การแทรกแซงการทำงานของคนในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือการบั่นทอนอนาคตชาติ แต่ขณะนี้ ดูเหมือนว่า นักวิทยาศาสตร์ในกระทรวงจะยังหาแนวร่วมที่จะมาทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาได้น้อย ต่างกับกระทรวงอื่นๆ ที่ “เป็นการเมือง” อย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุขที่กำลังก่อหวอดอย่างมีประสิทธิภาพขับไล่รมว. จากการประกาศจะนำนโยบาย P4P มาใช้

จากบทความ ‘การเมืองร้อน ๆ ในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย’ โดย paceyes ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์นี้ ไม่ใช่ประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างเจ้ากระทรวงกับพนักงาน สวทช. เท่านั้น แต่มันได้แพร่กระจายไปทั่วองค์กรต่างๆ ภายใน กวท. อย่างไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน ตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวง และการตีความและความเข้าใจต่อระบบวิจัยและระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National innovation System) ของ นักการเมืองและบุคลากรมีความแตกต่างกันมาก (โดยเฉพาะในกรณีนี้)

“บุคคลากรวิจัย ถือได้ว่าเป็นมันสมองของชาติ การที่มีเจ้ากระทรวงที่มีวิสัยทัศน์และเข้าใจการบริหารพวกเขาเหล่านั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองในรัฐบาล ที่จะต้องสรรหาบุคคลที่มีวุฒิภาวะเหมาะสมและเข้าใจงาน มาเป็นเจ้ากระทรวง และไม่เพียงแต่ กวท. เท่านั้น กระทรวงอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ก็เช่นกัน คงต้องฝากประเด็นนี้ไปถึงพรรคเพื่อไทยให้พิจารณาอย่างระมัดระวัง” บทความพยายามเสนอทางออก อย่างไรก็ตามหากมองในอีกมุมหนึ่ง บุคลากรภายในกระทรวงวิทย์ก็อาจจะต้องขยันให้ข้อมูลที่ไปพ้นประเด็นตัวบุคคลมากกว่านี้ และอธิบายให้สังคมเกิดความเข้าใจถึงประเด็นปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่ออนาคตการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมกว่านี้ด้วยเช่นกัน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเมืองร้อน ๆ ในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย

วรวัจน์...รัฐมนตรี "เก้าอี้เจ๊แดง" "ท่านเยาวภา ผมว่าไม่มากเลย Low Profile"

ฟัง คน สวทช. เผยเบื้องหลังใบปลิว “มันอัดอั้น...เกินที่จะทน!”

“วรวัจน์” แจงปมใบปลิวยิบ เชื่อถูกต้านเพราะกลัวเปลี่ยนตัว ผอ.สวทช.

ผอ.สวทช.ร่อนอีเมล์ถึง พนง.ทุกคน ให้งดการเข้าร่วมกิจกรรมแต่งดำประท้วงในวันที่ 20 พ.ค.นี้.-หลัง “วรวัจน์” เรียกพบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net