รอบโลกแรงงานพฤษภาคม 2556

แรงงานทั่วเอเชียเดินขบวนวันแรงงาน
 
1 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ว่า แรงงานราคาต่ำหลายหมื่นคน ชุมนุมประท้วงตามท้องถนนในวันแรงงาน หรือเมย์ เดย์ 1 พฤษภาคม เพื่อเรียกร้องขึ้นค่าแรง,ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ดีขึ้น และปรับปรุงสภาพการทำงานในหนึ่งสัปดาห์ หลังจากอาคารที่ตั้งของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในบังกลาเทศ พังถล่ม มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คนแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความปลอดภัยที่หย่อนยาน ทำให้การทำงานตกอยู่ในอันตรายในประเทศยากจนทั้งหลาย
 
แรงงานในอินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศ ต่างเดินขบวน และตะโกนพร้อมกันอย่างกึกก้องในวันแรงงานวันนี้ ขณะที่ บางคนก็แสดงความไม่พอใจต่อการเอารัดเอาเปรียบของธุรกิจขนาดใหญ่ ท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภูมิภาคเอเชีย เป็นฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกหลายบริษัท
 
คนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าหลายพันคนในบังกลาเทศ ก็เดินขบวนไปตามถนนสายต่าง ๆ ด้วย พร้อมเรียกร้องหาความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และให้ลากคอเจ้าของโรงงานนรก รับโทษประหารชีวิต
 
 
บังกลาเทศประท้วงวันแรงงาน ยอดตายตึกถล่มพุ่ง 402 ศพ
 
1 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ว่า คนงานในบังกลาเทศจำนวนมาก เดินขบวนประท้วงเนื่องในวันแรงงานสากล ภายในกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุอาคาร 8 ชั้นถล่มในเขตซาวาร์ เพิ่มขึ้นเป็น 402 รายแล้ว และมีผู้บาดเจ็บกว่า 2,500 คน
 
เมื่อวันพุธ เจ้าหน้าที่สามารถขนย้ายเศษซากปรักหักพังของอาคาร 'รานา พลาซ่า' น้ำหนักกว่า 600 ตันออกได้ราว 350 ตันแล้ว ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 402 ราย โดย 399 รายถูกพบใต้ซากอาคาร ขณะที่อีก 3 รายคือผู้รอดชีวิต ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล
 
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ดำเนินการฝั่งร่างผู้เสียชีวิตในเหตุตึกถล่มที่ไม่อาจระบุตัวตนได้ 18 ร่าง ขณะที่ยังมีผู้สูญหายในเหตุดังกล่าวอีกอย่างน้อย 149 ราย โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ร่างรายชื่อของผู้สูญหาย และได้รับการยืนยันจากนาย ซิลลูร์ เราะห์มาน ชอว์ดูรี ผู้บริหารเขตในกรุงธากา
 
ขณะเดียวกัน คนงานและประชาชนราว 20,000 คน ออกมาเดินขบวนประท้วงในพื้นที่ต่างๆของกรุงธากา และเมืองอื่นๆ โดยผู้ประท้วงบางคนชูป้ายเรียกร้องให้ประหารชีวิตเจ้าของอาคารรานา พลาซ่า และเจ้าของโรงงาน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าบังคับลูกจ้างให้ทำงาน แม้ถูกเตือนว่าพบรอยร้าวในอาคาร ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้มีการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานอีกด้วย
 
ทั้งนี้ เมื่อวันอังคาร ศาลสสูงบังกลาเทศมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ นายโมฮัมเหม็ด โซเฮล รานา เจ้าของอาคารรานา พลาซ่า และสั่งให้อายัดทรัพย์สินของเหล่าเจ้าของโรงงานทั้ง 5 ที่อยู่ในตึกรานา พลาซ่า เพื่อนำเงินไปจ่ายเป็นค่าแรงแก่คนงาน
 
อีกด้านหนึ่ง พระสันตะปาปาฟรานซิส (ที่1) ตรัสในพิธีมิสซาช่วงเช้าที่นครรัฐวาติกันว่า สถานภาพของคนงานผู้เสียชีวิตในบังกลาเทศ ไม่ต่างจากแรงงานทาสที่ได้ค่าแรงอย่างไม่ยุติธรรม ไม่มีงานทำ เพราะผู้จ้างเอาแต่จ้องตัวเลขงบดุล จ้องหาแต่ผลกำไร
 
 
ผู้นำมาเลเซียพูดในวันแรงงานให้คำมั่นเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน
 
1 พ.ค. 56 - เนื่องในโอกาสที่วันนี้เป็นวันแรงงาน ผู้นำมาเลเซียหาเสียงโดยให้คำมั่นว่าจะเพิ่มคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น หากพรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้ง 
 
นายกรัฐมนตรีนาจิ๊บ ราซัค กล่าวว่า พรรคบาริซาน นาเซียนัล จะสร้างหลักประกันที่จะทำให้ทุกคนมีงานทำและสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมเสริมทักษะอาชีพเพื่อให้มีโอกาสที่จะมีรายได้สูงขึ้น นอกจากนี้จะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีเพื่อให้แรงงานและครอบครัวมีชีวิตที่มีความสุข เขาบอกด้วยว่า แรงงานชาวมาเลเซีย 13 ล้านคนมีเหตุผลมากมายที่จะดีใจที่ประเทศมีอัตราว่างงานประจำเดือนม.ค.ปีนี้เพียง 3.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับในชาติยุโรป เช่น สเปนที่มีอัตราสูงถึง 26.2% 
 
นอกจากนี้เขาบยอกด้วยว่า ค่าครองชีพยังอยู่ในระดับควบคุมได้โดยอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนม.ค.ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ 1.3% อัตราคนยากจนลดลงเหลือ 1.7% และรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 29,000 ริงกิตเมื่อปีที่แล้วหรือกว่า 275,000 บาท ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความพยายามของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์สุขของประชาชนเป็นอันดับแรก และรัฐบาลจะยังสานต่องานอีก 5 ปีข้างหน้าหากชนะเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันนาจิ๊บกล่าวแสดงความมั่นใจว่ารัฐบาลจะชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 หากไม่มีความขัดแย้งภายในพรรค ขณะที่บรรยากาศเลือกตั้งเริ่มคึกคักขึ้นแล้วโดยเปิดให้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวาน และเป็นครั้งแรกที่ทหารและตำรวจพร้อมด้วยคู่สมรสได้มีสิทธิลงคะแนนเสียงล่วงหน้า นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้สิทธิล่วงหน้าเช่นกัน
 
 
ชาวกรีกประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจเนื่องในวันแรงงาน
 
1 พ.ค. 56 - กรีซระงับการให้บริการเรือข้ามฟากไปยังเกาะต่าง ๆ รวมทั้งบริการขนส่งสาธารณอื่น ๆ ในกรุงเอเธนส์วันนี้ ก่อนที่ประชาชนจะจัดชุมนุมประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเนื่องในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม
 
ขณะที่เรือข้ามฟากมีกำหนดหยุดบริการทั้งวันในวันนี้ เนื่องจากสมาชิกสหภาพแรงงานในธุรกิจบริการเรือข้ามฟากเข้าร่วมในการประท้วงใหญ่ซึ่งจัดโดยสหภาพ 2 แห่งหลักของกรีซ  บริการขนส่งสาธารณะในกรุงเอเธนส์กลับสู่สภาพปกติเมื่อช่วงเช้าหลังจากยุติการให้บริการรถไฟฟ้าและรถโดยสารในช่วงสั้น ๆ ไปก่อนแล้ว ขณะที่ร้านค้าหลายแห่งยังคงเปิดให้บริการ
 
 
กลุ่มนักเคลื่อนไหวเดินขบวนหลายเมืองในวันแรงงานสหรัฐ
 
1 พ.ค. 56 - เนื่องในวันแรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงานและกลุ่มนักเคลื่อนไหวจัดการเดินขบวนไปตามท้องถนนสายต่าง ๆ หลายเมืองในสหรัฐ
 
บรรยากาศวันแรงงานที่นครซานฟรานซิสโก แรงงานอพยพและบรรดาผู้สนับสนุนเคลื่อนขบวนไปชุมนุมหน้าศาลากลางพร้อมเรียกร้องให้มีการยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานอพยพในสหรัฐ กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้เรียกร้องขอความเสมอภาคทางสังคมและการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหน
 
ขณะที่ในนครลอสแองเจลิส บรรยากาศการชุมนุมเนื่องในวันแรงงาน เต็มไปด้วยสีสันของการเต้นรำ ผู้ชุมนุมราว 2,000 คน เรียกร้องให้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เร่งแก้ปฎิรูปกฎหมายแรงงานอพยพ
 
ส่วนการชุมนุมเนื่องในวันแรงงานที่นครนิวยอร์ค บรรยากาศการชุมนุมส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ มีเพียงผู้ชุมนุมบางคนเท่านั้นที่ถูกตำรวจควบคุมตัวไป
 
 
พักงาน! นักบินแอบหลับ ให้แอร์คุมห้องนักบิน
 
4 พ.ค. 56 - สายการบินแอร์อินเดีย สายการบินแห่งชาติของอินเดีย สั่งพักงานนักบิน นายบี.เค.โซนี,นายรวินธรา นาธ นักบินผู้ช่วย,น.ส.กรรณิกา กาลา  และ น.ส.เจ บัตต์ และพนักงานต้อนรับ อย่างไม่มีกำหนด ฐานร่วมกันละเลยหน้าที่ ด้วยการตั้งระบบออโต้ ไพล็อต หรือ ระบบการควบคุมอัตโนมัติ 
 
โดยนักบินแอบงีบในห้องโดยสารชั้นธุรกิจที่ไม่มีผู้โดยสาร ปล่อยให้พนักงานต้อนรับควบคุมห้องนักบิน ราว 4 ชั่วโมง แล้วเข้ามาดูความเรียบร้อยในห้องนักบินเป็นระยะ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดเมื่อวันที่ 12 เม.ย. บนเที่ยวบินที่ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้ากรุงนิวเดลี โดยเครื่องบินแอร์บัส รุ่นเอ-320 บรรทุกผู้โดยสาร 166 คน
 
 
ตำรวจอินโดฯรวบเจ้าของโรงงานทรมานและบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส
 
5 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอินโดนีเซีย จับกุมตัวนายยูกี อิราวัน เจ้าของโรงงาน พร้อมหัวหน้าคนงานอีก 4 คน ในข้อหาทรมานคนงาน และกักขังหน่วงเหนี่ยวพวกเขาอย่างผิดกฎหมาย โดยชินโต ซิลิตองกา หัวหน้าสอบสวน กล่าวว่า นายอิราวัน และพรรคพวกอีก 4 คนถูกกล่าวหาว่าทรมานและทำให้คนงาน 34 คนสูญเสียอิสรภาพ หลังจากเจ้าหน้าที่บุกจู่โจมบริษัทผลิตหม้ออะลูมิเนียมผิดกฎหมายในเมืองทังเกรัง นอกกรุงจาการ์ตา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
 
คนงานชาย ซึ่งรวมทั้งวัยรุ่นอายุ 17 ปี ถูกบังคับให้ทำงานอย่างน้อยวันละ 16 ชั่วโมง พร้อมอาหาร 2 มื้อต่อวัน และไม่จ่ายค่าจ้าง มานานตั้งแต่ 2 เดือนจนถึง 1 ปีครึ่ง คนงานเหล่านี้ ถูกทรมานร่างกายสารพัดวิธี ซึ่งรวมทั้งใช้บุหรี่จี้ตามตัว และราดด้วยน้ำร้อน หากพวกเขาไม่เชื่อฟัง ในคืนวันที่ ตำรวจบุกจู่โจมนั้น ทั้งหมดถูกล็อกอยู่ในห้องขนาด 8x6 เมตรและบังคับให้นอนบนพื้นคอนกรีตและเสื่อบาง ๆ และไม่มีทางหลบหนีด้วย
 
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีความหวาดกลัวว่า การขึ้นค่าแรงจะกระตุ้นให้ธุรกิจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนาม แต่คนงานในโรงงานอินโดนีเซีย ก็ยังได้รับค่าแรงต่ำที่สุดในเอเชีย รายได้ต่ำกว่าคนงานในจีน หรืออินเดียด้วยซ้ำ
 
 
กู้ภัยซูดานยุติค้นหา ปล่อยคนงานเหมืองตายนับ 100
 
5 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 5 พ.ค. ว่า ปฏิบัติการช่วยเหลือคนงาน หลังทางเดินภายในเหมืองทองคำ จีเบล อามีร์ พังถล่ม ถูกยกเลิกกลางคัน เนื่องจากมีความเสี่ยงและอันตรายมากเกินไป ส่งผลให้คนงานราว 100 ชีวิต ที่ติดค้างอยู่ลึก 40 เมตร อาจไม่รอดทั้งหมด 
 
เหมืองทองคำดังกล่าว อยู่ทางตอนเหนือของแคว้นดาฟูร์ ประเทศซูดาน โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทีมกู้ภัย 9 นาย ที่ลงไปช่วยเหลือคนงาน ก็ติดค้างอยู่ใต้ดินเช่นกันและคาดว่าเสียชีวิตแล้ว เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจยกเลิกการค้นหา นอกจากนี้ยังพบผู้เสียชีวิตด้วย 8 ศพ แต่ไม่ทราบว่าเป็นคนงานหรือทีมกู้ภัยในเบื้องต้น
 
อนึ่ง เมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา เกิดการต่อสู้รุนแรงระหว่างชนเผ่าอาหรับ เพื่อแย่งชิงการควบคุมดูแลเหมืองแห่งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน ประชาชนนับแสนต้องอพยพย้ายถิ่น ทางการจึงสั่งปิดเหมือง แต่อย่างไรก็ดี เหมืองดังกล่าวยังคนมีการใช้งานจนถึงทุนวันนี้.
 
 
คนงานท่าเรือสินค้าในฮ่องกงยุติหยุดงานประท้วงแล้ว หลังตกลงค่าแรงได้
 
7 พ.ค.56 คนงานท่าเรือสินค้าในฮ่องกงยุติหยุดงานประท้วงที่มีมานาน 40 วันแล้ว หลังสามารถตกลงเงื่อนไขขึ้นค่าแรงได้
 
คนงานประมาณ 450 คน ยอมรับเงื่อนไขที่ทางนายจ้างตกลงขึ้นค่าแรงร้อยละ 9.8 ได้แล้ว หลังตอนแรกเรียกร้องค่าแรงสูงกว่าร้อยละ 20 โดยผลการประท้วงส่งผลให้สินค้าที่โกดังเก็บของขนส่งล่าช้า
 
ประธานสหภาพ เปิดเผยว่า ข้อตกลงครั้งนี้ คือความสำเร็จ ไม่เพียงคนงานที่มาประท้วงจะได้ขึ้นค่าแรงเท่านั้น  แต่รวมไปถึงคนงานทุกคนด้วย โดยกลุ่มผู้ประท้วง สัญญาจะกลับมาทำงานโดยเร็ว หลังก่อนหน้านี้ มีการประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ของนายลี กา-ชิง ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองฮ่องกง เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน
 
ด้าน ฮัทชินสัน บริษัทท่าเรือ ที่เจ้าของเป็น นายลี กา-ชิง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง และรวยที่สุดในเอเชียระบุว่า ท่าเรือจะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เร็วๆนี้ เนื่องจากเมื่อเดือนก่อน การหยุดงานประท้วงส่งผลให้เรือขนส่งสินค้าไปใช้ท่าเรือคู่แข่ง 
 
ขณะที่ สมาคมการค้าฮ่องกง ประเมินว่า การหยุดงานดังกล่าวส่งผลให้มีตู้สินค้าตกค้างประมาณ 80,000-90,000 ตู้
 
สำหรับฮ่องกงเป็นท่าเรือพักสินค้าขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ต่อจากนครเซี่ยงไฮ้ ของจีน และสิงคโปร์ ตามลำดับ
 
 
พนักงานสหภาพยุโรปนัดหยุดงานประท้วง หลังมีข้อเสนอลดเงินเดือน เพื่อรัดเข็มขัด
 
7 พ.ค. 56 - พนักงานประจำกว่า 3,500 คน ที่ทำงานให้กับสภาแห่งสหภาพยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของสหภาพยุโรป (อียู) พร้อมใจกันหยุดงานเมื่อวันที่ 7 พ.ค. เพื่อประท้วงข้อเสนอรัดเข็มขัดทางการเงินของยุโรป ที่รวมถึงการลดรายจ่ายพนักงานอียูมูลค่ากว่า 7,000 ล้านยูโร (ราว 2.8 แสนหมื่นบาท) 
 
สหภาพแรงงานระบุว่า พนักงานจะมีอำนาจซื้อลดลง 60% ในอีก 15 ปีข้างหน้า หากมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในตอนนี้
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอัตราเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ของพนักงานของอียูกว่า 5.5 หมื่นคน เป็นหัวข้อที่ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดย ได เวลท์ หนังสือพิมพ์เยอรมนี รายงานว่า มีพนักงานสหภาพยุโรปกว่า 4,365 คน ในปีนี้ที่มีรายรับมากกว่านายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่มีรายได้ 2.1 หมื่นยูโร (ราว 8.4 แสนบาท) ต่อเดือน เสียอีก
 
อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกมาปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว โดยอ้างว่าพนักงานประจำจะได้รับค่าจ้างราว 2,600 ยูโร (ราว 1 แสนบาท) ถึง 4,400 ยูโร (ราว 1.7แสนบาท) ต่อเดือน ส่วนผู้เชี่ยวชาญได้ค่าจ้างราว 4,400 ยูโร ถึง 1.84 หมื่นยูโรต่อเดือน โดยได้โบนัส 16% ของเงินเดือน และได้รับรายได้เพิ่มเติม 400 ยูโรต่อเดือน หากมีลูก 1 คน จนกว่าจะมีอายุครบ 26 ปี และยังได้รับค่าเล่าเรียนจากสหภาพยุโรปอีกด้วย
 
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปอยู่ในระหว่างการปฏิรูประบบฐานเงินเดือนของพนักงานภายใน ซึ่งอาจส่งผลให้มีการลดค่าจ้าง 5% เพิ่มชั่วโมงการทำงานจาก 37.5 ชั่วโมง เป็น 40 ชั่วโมง และขยายอายุการเกษียณ จาก 63 ปี เป็น 65 ปี
 
 
คนงานสิ่งทอบังกลาเทศไม่พอใจเงินชดเชยเหตุตึกถล่ม
 
9 พ.ค. 56 - คนงานที่รอดชีวิตจากเหตุอาคารรานาพลาซาในบังกลาเทศพังถล่มวันที่ 24 เมษายน ไม่พอใจจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับ เพราะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายรักษาอาการบาดเจ็บและการว่างงานไม่มีรายได้
 
คนงานแม่ลูกสองวัย 30 ปี ที่เลี้ยงลูกคนเดียวและเป็น 1 ในคนงาน 3,000 คนที่ทำงานเป็นกะในอาคารรานาพลาซา ชานกรุงธากาเผยว่า ได้รับเงิน 8,500 ตากา (ราว 3,200 บาท) เป็นเงินชดเชยเหมาจ่ายจากสมาคมผู้ผลิตและส่งออกสิ่งทอบังกลาเทศ ทั้งที่เธอมีอาการปวดศีรษะไม่หาย เดินไม่สะดวกและไม่มีงานทำ ซ้ำยังไม่ได้รับเงินล่วงเวลาที่ทำในเดือนเมษายนทั้งหมด 150 ชั่วโมงแม้แต่ธากาเดียว คนงานวัย 25 ปีรายหนึ่งที่สูญเสียพี่น้องสองคนในเหตุดังกล่าวประกาศไม่ยอมรับเงินชดเชย 6,000 ธากา (ราว 2,400 บาท) เพราะไม่พอแม้แต่จะจ่ายค่ายารายเดือนที่เธอต้องกินบรรเทาอาการปวดศีรษะแทบแตก
 
ปกติแล้วคนงานสิ่งทอบังกลาเทศได้เงินเดือนไม่ถึง 3,200 ธากา (ราว 1,280 บาท) แต่เมื่อเกิดเหตุโรงงานสิ่งทอ 5 แห่งพังพร้อมกับอาคารดังกล่าว คนงานจำนวนมากจะยิ่งมีชีวิตลำบากขึ้นเมื่อใช้จ่ายเงินชดเชยจนหมด จำนวนเงินชดเชยของแต่ละคนแตกต่างกัน และบางส่วนขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ทำงาน ผู้นำสหภาพแรงงานระบุว่า เงินชดเชยทั้งต่ำและไม่เป็นธรรม ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้รอดชีวิตจำนวนมากทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง ด้านรองประธานสมาคมผู้ผลิตและส่งออกสิ่งทอบังกลาเทศยืนยันว่า เป็นการจ่ายเงินชดเชยตามมาตรฐานของกฎหมายแรงงาน คาดว่าจะต้องจ่ายให้คนงานหรือญาติผู้เสียชีวิตรวมประมาณ 3,400 คน.
 
 
บิลด์ แทบลอยด์เยอรมัน ปลดพนักงาน
 
12 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ว่า บิลด์ หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี อาจปลดพนักงานมากถึง 200 คน ขณะที่ สื่อสิ่งพิมพ์แห่งนี้ ต้องการประหยัดงบประมาณจำนวนประมาณ 20 ล้านยูโร หรือ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหนังสือพิมพ์เดอร์ สปีเกล รายสัปดาห์ รายงานอ้างแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้หลายแห่งว่า อาเซล สปริงเกอร์ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของแทบลอยด์ชื่อดังเมืองเบียร์ กำลังพิจารณาที่จะปรับลดพนังงานลงระหว่าง 170-200 ตำแหน่งของหนังสือพิมพ์บิลด์ หนังสือพิมพ์รายวันที่มีผู้อ่านมากที่สุดในยุโรป
 
สปีเกล รายงานว่า อาเซล สปริงเกอร์ เชื่ออย่างชัดเจนว่า การลดพนักงานเป็นสิ่งจำเป็นในกิจกรรมหนังสือพิมพ์ของบริษัท และกำลังพิจารณาที่จะประหยัดงบประมาณให้ได้ทั้งสิ้น 20 ล้านยูโร อย่างไรก็ตาม อาเซล สปริงเกอร์ เคยระงับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างมูลค่า 50 ล้านยูโรมาแล้ว
 
ทั้งนี้ พนักงานที่หนังสือพิมพ์บิลด์, เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ และบี.แซด.แทบลอยด์ท้องถิ่นของเบอร์ลิน จะถูกย้ายไปยังบริษัทสาขา บิลด์ ดิจิทัล
 
 
ประกาศปิด โรงงานเสื้อผ้าบังกลาเทศ หลังคนงานประท้วงรุนแรงจากเหตุตึกโรงงานถล่ม
 
14 พ.ค. 56 - ประธานสมาคมสิ่งทอบังกลาเทศเปิดเผยว่า เจ้าของโรงงานประกาศปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย หลังจากคนงานเริ่มก่อเหตุรุนแรง ส่วนรัฐบาลเตรียมอนุญาตให้คนงานจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากนายจ้าง ท่ามกลางแรงกดดันที่ต้องการให้มีการปรับปรุงกฎหมายด้านสภาพการทำงาน
 
หน่วยกู้ภัยของบังกลาเทศประกาศยุติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากใต้ซากอาคารรานา พลาซา ที่เมืองซาวาร์ ชานกรุงธากา ที่พังถล่มเมื่อวันที่ 24 เม.ย. หลังใช้เวลาทั้งสิ้น 20 วัน ในการขุดค้นหาผู้ที่อาจรอดชีวิตจากใต้ซากอาคาร 8 ชั้น  ทั้งนี้ กองทัพบังกลาเทศเตรียมส่งมอบภารกิจต่อให้แก่ทางการท้องถิ่นในวันนี้ (14 พ.ค.) ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตศพสุดท้ายได้ถูกนำขึ้นมาจากใต้ซากเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้ยอดจำนวนผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 1,127 ราย
 
โดยเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปฏิบัติการค้นหา หน่วยกู้ภัยได้ยกเอาแผ่นซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ฐานรากของอาคารออกมา ทหารที่ถูกระดมกำลังมาช่วยรื้อถอนสิ่งปรักหักพังได้รับคำสั่งให้กลับสู่กรมกอง เช่นเดียวกับเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ที่ช่วยในการรื้อถอนหรือเคลื่อนย้าย ได้เคลื่อนออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุและมีการสร้างรั้วไม้ไผ่ล้อมรอบ พร้อมปักธงแดงไว้เป็นสัญลักษณ์ว่าห้ามเข้าไปในบริเวณดังกล่าว
 
นายโมฮัมหมัด อาติกูล อิสลาม ประธานสมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าบังกลาเทศ เปิดเผยว่า เจ้าของโรงงานหลายแห่งตัดสินใจปิดโรงงานเพื่อความปลอดภัย หลังจากคนงานก่อเหตุรุนแรงแทบทุกวันหลังเกิดเหตุตึกถล่ม โดยคนงานกว่าร้อยละ 80 ในเขตอาชูเลีย ก่อเหตุนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องขึ้นค่าจ้าง และเรียกร้องให้มีการประหารชีวิตเจ้าของอาคารรานา พลาซา
 
คนงานหลายหมื่นคนออกเดินประท้วงไปตามท้องถนน ทุบทำลายยานพาหนะและร้านค้าต่างๆ ก่อนที่จะถูกตำรวจจับกุมตัว ขณะที่รัฐบาลเห็นชอบอนุญาตให้คนงานจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากนายจ้าง ที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแรงงานฉบับปี 2006 นอกจากนั้น รัฐบาลยังตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงานและคนงาน เพื่อพิจารณาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า
 
ด้านบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ของโลก 4 แห่ง อาทิ เอชแอนด์เอ็ม, ซีแอนด์เอ, ไพรมาร์ค และซารา เปิดเผยวานนี้ว่า จะให้การสนับสนุนข้อตกลงด้านความปลอดภัยของสถานประกอบการ ที่มีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอเป็นแกนนำ ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งจะเพิ่มการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร การซ่อมแซมพื้นที่ และการยุติการทำธุรกิจกับบริษัทที่ปฏิเสธการปรับปรุงสภาพการทำงาน
 
 
ธนาคาร HSBC จ่อลอยแพพนักงานเพิ่มอีก 14,000 ตำแหน่ง
 
14 พ.ค. 56 - ธนาคารเอชเอสบีซี เผยเตรียมปรับลดพนักงานทั่วโลกเพิ่มเติมอีก 14,000 ตำแหน่ง ส่วนหนึ่งในแผนปฏิรูปเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเสริมกำไร
 
ด้วยมาตรการนี้ ธนาคารวางเป้าหมายประหยัดค่าใช้จ่ายอีก 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หลังต้นทุนเหล่านี้ส่งผลร้ายต่อการกำไรของบริษัทอย่างยิ่ง และแผนเลิกจ้างดังกล่าว เป็นผลให้ช่วง 3 ปีข้างหน้าหรือ 2016 เอชเอสบีซี จะเหลือพนักงานทั่วโลกราว 240,000 ถึง 250,000 ตำแหน่ง
 
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เอชเอสบีซี เผยว่าได้ตัดลดค่าใช้จ่ายรายปีลง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับลดพนักงานไปแล้ว 46,000 ตำแหน่ง ภายใต้แผนปฏิรูปเดิม 3 ปี นับตั้งแต่นายสจ๊วร์ต กัลลิเวอร์ เข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอในปี 2011
 
ทั้งนี้นายกัลลิเวอร์ วางเป้าหมายปรับปรุงความกระฉับกระเฉงด้านปฏิบัติการต่างๆของธนาคาร ด้วยพุ่งเป้าไปที่ตลาดซึ่งกำลังขยายตัวสูงในเอเชีย ขณะที่แบงค์แห่งนี้ได้ปิดหรือขายกิจการไปแล้วกว่า 52 ธุรกิจ
 
 
พนักงานสายการบินตุรกีแอร์ไลน์สผละงานประท้วง
 
15 พ.ค.56 - พนักงานของสายการบินตุรกี แอร์ไลน์ส 14,000 คน นัดกันผละงานประท้วงในวันนี้ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทรับเพื่อนพนักงานกว่า 300 คนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม หลังจากพวกเขาถูกปลดเมื่อปีที่แล้ว ฐานจัดการประท้วงในลักษณะเดียวกันนี้ พนักงานพวกนี้ยังเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน และปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ พนักงานของตุรกี แอร์ไลน์ส มีประมาณ 16,000 คน เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ตุรกี แอร์ไลน์ส ปลดพนักงาน 305 คนฐานผละงานประท้วงหลายวัน
 
แม้ว่าจะมีการเจรจากันหลายเดือน แต่ตัวแทนของสหภาพแรงงานและเจ้าหน้าที่ของสายการบิน ก็ไม่สามารถลงนามในข้อตกลงแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เอ็นทีวี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายฮัมดี ท็อปคู ประธานบริหารของสายการบิน กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายมารองรับสำหรับการประท้วงครั้งนี้ เราจะไม่กดดันพนักงานที่ต้องการเคารพข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน แต่เขาคิดเป็นการส่วนตัวว่า ในช่วงเช้าของวันนี้ สายการบินทั้งหมดจะต้องขึ้นบินโดยไร้ปัญหา
 
ขณะที่ นายเมเหม็ต ซิมเซค รัฐมนตรีคลังแดนไก่งวง ก็กล่าวว่า เราจะไม่อนุญาตให้การบริการของสายการบินตุรกีแอร์ไลน์ส ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนฤดูการท่องเที่ยว
 
 
โรงงานรองเท้า 'กัมพูชา' ถล่ม มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอย่างน้อย 11 ราย
 
16 พ.ค. 56 - เหตุการณ์ชั้นลอยโรงงานผลิตรองเท้าในกัมพูชาถล่ม เมื่อเช้าวันนี้ ได้มีการปรับตัวเลขผู้เสียชีวิตเป็น 2 คน นำมาซึ่งความวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน หลังเกิดเหตุอาคารโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปทรุดและพังถล่มในบังคลาเทศ เมื่อเดือนที่แล้ว
                        
เจ้าหน้าที่กู้ภัยในท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนจากทหาร ได้ค้นหาคนที่ติดอยู่ใต้ซากคอนกรีตที่ถล่มลงมา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นชั้นลอยที่สร้างเอาไว้ผลิตรองเท้าผ้าใบ / ตำรวจในจังหวัดกำปง สปือ ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ เปิดเผยว่า มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 11 คน บางคนอาการสาหัส และการกู้ภัยได้สิ้นสุดลงแล้วเช่นกัน ส่วนคนงานที่เสียชีวิตเป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน
                        
บริเวณชั้นลอยที่ถล่มลงมา ถูกใช้ในการเก็บเครื่องมือและวัตถุดิบในการผลิตรองเท้าด้วย ซึ่งเชื่อว่า ได้ถล่มลงมาเพราะรับน้ำหนักไม่ไหว อันเนื่องมาจากโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง ตัวแทนของสหภาพการค้ากัมพูชา ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ระบุว่า บริษัทวิง สตาร์ ชูส์ เป็นของไต้หวัน และผลิตรองเท้ากีฬายี่ห้อ เอซิคส์ ให้กับญี่ปุ่น
                        
ตำรวจระบุว่า เจ้าของโรงงานได้ถูกสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า โรงงานแห่งนี้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ และมีการก่อสร้างอย่างไร / คนงานหญิงคนหนึ่ง บอกว่า มีคนงานที่โรงงานแห่งนี้กว่า 100 คน แต่เธอไม่ทราบว่า มีคนงานเท่าใดในช่วงที่เกิดเหตุ
                        
นายรง ชุน ประธานสหภาพฯ ของกัมพูชา บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งสร้างความวิตกเพราะโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชา ไม่ได้มาตรฐานสากลในด้านความปลอดภัย ไม่มีหลักประกันเกี่ยวกับคุณภาพของอาคาร และคนงานต่างทำงานในสภาพเสี่ยง
                        
ทั้งนี้กัมพูชาได้มีการลงทุนอย่างเร่งด่วนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้า เนื่องจากเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกที่ดึดดูดนักลงทุนเอเชียและตะวันตก ทำให้อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชา เป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดและมีรายได้จากการส่งออกมากที่สุด และเชื่อว่า มีคนงานในอุตสาหกรรมแห่งนี้มากกว่า 5 แสนคน และเพิ่งจะมีการขึ้นค่าแรงจากเดือนละ 61 ดอลลาร์ หรือราว 1,800 บาท เป็น 75 ดอลลาร์ หรือราว 2,200 บาท ส่วนใหญ่ผลิตเสื้อผ้าส่งตลาดสหรัฐและยุโรป
                        
หนังสือพิมพ์พนมเปญ โพสต์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคมคนงานของโรงงานแห่งนี้ ได้นัดหยุดงานและกีดขวางถนนที่เป็นเส้นทางหลัก นานประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อประท้วงขอขึ้นค่าแรงและให้ปรับปรุงสภาพการทำงาน
                        
การประท้วงขอขึ้นค่าแรงและเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการทำงาน เป็นเรื่องปกติในกัมพูชาซึ่งคล้ายคลึงกับบังกลาเทศ ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าราคาถูกให้กับบรรดาผู้ค้าปลีกจำนวนมากของตะวันตก ซึ่งโศกนาฎกรรมที่เกิดกับโรงงานในบังคลาเทศหลายระลอกได้ดึงดูดความสนใจจากชาวโลก ในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยในประเทศที่อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปกำลังเบ่งบาน และได้ชื่อว่า เป็นแหล่งส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองรองจากจีน
                        
เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุอาคารที่เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เกิดการทรุดตัวและพังถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,100 คน ทำให้เกิดการรณรงค์ในประเทศตะวันตกเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการทำงานในประเทศที่ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์เนมส่งให้ตะวันตก ซึ่งพบว่ามีบริษัทยุโรปมากกว่า 10 แห่ง รวมทั้ง ไพรมาร์ค และเทสโก ของอังกฤษ ได้ลงนามรับรองกฎใหม่ที่จะผูกมัดให้บรรดาโรงงานที่เป็นซัพพลายเออร์ ปรับปรุงสภาพการทำงาน แต่บริษัทของสหรัฐ เช่น แกปและวอลมาร์ท ไม่ได้เข้าร่วมด้วย
 
 
สั่งหยุดงานเหมืองอินโดนีเซียหลังอุโมงค์ถล่ม
 
16 พ.ค. 56 - บริษัทเหมืองแร่ของสหรัฐตัดสินใจระงับการดำเนินงานของเหมืองทองแดงในอินโดนีเซีย หลังเกิดเหตุอุโมงค์พังถล่มเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้คนงานเสียชีวิตไป 4 คน
 
บริษัท ฟรีพอร์ท อินโดนีเซียซึ่งเป็นบริษัทสาขาของฟรีพอร์ท-แม็คโมแรน คอปเปอร์ แอนด์ โกลด์  ของสหรัฐ ตัดสินใจระงับการดำเนินงานของเหมืองแกรสเบิร์กในจังหวัดปาปัวตะวันตก ซึ่งเป็นเหมืองทองแดงใหญ่อันดับ 2 ของโลก หลังเกิดเหตุอุโมงค์ใต้ดินใกล้กับเหมืองพังถล่มลงมาเมื่อวันอังคาร เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิตไป 4 คน และยังมีผู้ที่ติดอยู่ในเหมืองอีก 25 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงเดินหน้าให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ จุดที่เกิดเหตุอุโมงค์ถล่มอยู่นอกเขตตัวเหมือง ห่างจากทางเข้าเหมืองราว 500 เมตร ซึ่งขณะที่เกิดเหตุมีคนงานกำลังรับการฝึกอบรมในบริเวณดังกล่าว 39 คน สำหรับผู้รอดชีวิตทั้ง 10 คน ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บในโรงพยาบาล
 
 
รอยัล แบงค์ ออฟ สก๊อตแลนด์ จะปลดพนักงานกว่า 1,000 ตำแหน่ง ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
 
17 พ.ค. 56 - ซีอีโอของธนาคารอาร์บีเอส ออกแถลงการณ์ ปลดพนักงาน จำนวน 1,400 ตำแหน่ง เพื่อเป็นการปรับโครงสร้าง การปฎิบัติงานภาย ในสำนักงานใหญ่ ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ โดยได้แสดงความเสียใจ และว่าจะว่าจ้างพนักงานที่ปลดออกไปอีกครั้ง หากมีโอกาส
 
ก่อนหน้านี้ ธนาคารอาร์บีเอส ได้ปลดพนักงาน ออกไปแล้วกว่า 35,000 ตำแหน่ง นับตั้งแต่ ธนาคารต้องมาตรการรัดเข้มขัด และรับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากรัฐบาลอังกฤษ ในช่วงที่สก็อตแลนด์ ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ หลังจากที่ข่าวการปลดพนักงานของธนาคารอาร์บีเอสออกมา ทำให้หุ้นของธนาคาร ในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.35
 
ขณะที่ยูไนท์ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดในอังกฤษ วิพากษ์วิจารณ์การปลดพนักงานของธนาคารอาร์บีเอสว่า เป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบและว่าจะส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคารอีกด้วย
 
 
โรงงานสิ่งทอในบังกลาเทศเปิดทำการอีกครั้ง
 
17 พ.ค. 56 - โรงงานสิ่งทอหลายร้อยแห่งในแหล่งผลิตสินค้าของบังกลาเทศเริ่มเปิดทำการอีกครั้งในวันนี้ หลังจากถูกสั่งปิดไปเนื่องจากเหตุความไม่สงบซึ่งปะทุขึ้นสืบเนื่องจากเหตุการณ์ตึกถล่มครั้งใหญ่เมื่อเดือนที่ผ่านมา   
 
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสิ่งทอของบังกลาเทศ (บีจีเอ็มอีเอ) ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ผลิตสิ่งทอ 4,500 รายทั่วประเทศ ได้สั่งปิดโรงงานในเขตอุตสาหกรรมอาชูเลีย ชานกรุงธากา หลังจากคนงานหลายหมื่นคนต่างพากันออกมาประท้วงเรียกร้องให้ประหารชีวิตเจ้าของอาคารรานา พลาซ่า ที่พังถล่มลงมาและปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้พวกเขา  แต่บีจีเอ็มอีเอได้ตัดสินใจให้เปิดทำการโรงงานเหล่านี้อีกครั้ง หลังจากรัฐบาลออกมาให้ความมั่นในว่าโรงงานของพวกเขาได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยระดับสูงสุด
 
นายชาฮิดุลเลาะห์ อาซิม รองประธานบีจีเอ็มอีเอ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการประท้วงหรือเหตุรุนแรง แม้ว่าจะมีแรงงานเพียงราวร้อยละ 60-70 เข้ามาทำงานในโรงงงานวันนี้ เนื่องจากวันนี้เป็นวันศุกร์ซึ่งโดยปกติจะเป็นวันหยุดในบังกลาเทศ  ด้านผู้บัญชาการตำรวจในเขตอาชูเลียก็กล่าวเช่นกันว่า ยังไม่มีรายงานการประท้วง หรือเหตุรุนแรงใด ๆ หลังจากโรงงานเปิดทำการอีกครั้ง และตำรวจก็ดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการเกิดเหตุรุนแรงและมีการนำรถหุ้มเกราะกันกระสุนมาจอดไว้ในเขตอาชูเลียด้วย
 
 
คนงานฟ็อกซ์คอนในจีนโดดตึกฆ่าตัวตาย 3 รายซ้อน
 
18 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ว่า กลุ่มสิทธิแรงงาน เปิดเผยวันนี้ว่า มีคนงานของบริษัทฟ็อกซ์คอน 3 คน ฆ่าตัวตายที่โรงงานแห่งหนึ่งในจีน ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทั้ง 3 คนกระโดดจากอาคารโรงงานลงมาเสียชีวิตในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ภาคกลางของจีน ซึ่งโรงงานดังกล่าวบริหารงานโดยบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของไต้หวัน
 
รายงานข่าวระบุว่า ชายแต่งงานแล้ววัย 30 ปี ฆ่าตัวตายเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หลังจากมีเหตุฆ่าตัวตายลักษณะเดียวกันของหญิงสาววัย 23 ปีเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา และชายวัย 24 ปี เมื่อ 3 วันก่อนหน้า กลุ่มสิทธิมนุษยชนแรงงานจีน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในนิวยอร์ก ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า เหตุผลของการกระโดดตึกฆ่าตัวตายนี้ ยังไม่ชัดเจน
 
บริษัทฟ็อกซ์คอน ซึ่งผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนป้อนให้บริษัทโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ทั้งแอปเปิล โซนี และโนเกีย ถูกจับตามองอย่างหนัก หลังจากมีเหตุการณ์ฆ่าตัวตายและการก่อความวุ่นวายของแรงงาน ที่โรงงานในจีนตั้งแต่ปี 2553 โดยในปีดังกล่าว มีคนงานอย่างน้อย 13 คนของฟ็อกซ์คอนในจีน เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งนักเคลื่อนไหวระบุว่า เกิดจากสภาพการทำงานที่ตึงเครียด กระตุ้นให้มีเสียงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการทำงานและดูแลคนงานให้ดีขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ฟ็อกซ์คอนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ทางบริษัทก็ได้ขึ้นค่าแรงเกือบร้อยละ 70 ในโรงงานที่จีนเมื่อปี 2553
 
 
เหมืองทองแดงอินโดฯถล่มคนงานดับ 14 ศพ
 
20 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองทิมิกา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ว่า หน่วยกู้ภัยอินโดนีเซียพบผู้เสียชีวิตแล้ว 14 ศพ จากเหตุเหมืองทองแดงทางตะวันออกของประเทศถล่มลงมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
 
พันตำรวจโท เกเด สุเมอร์ตา จายา จากสำนักงานตำรวจจังหวัดปาปัว กล่าวว่า เหมืองทองแดง “เดอะ พีที ฟรีพอร์ต อินโดนีเซีย” พังถล่มลงมาเมื่อวันอังคารที่ 14 พ.ค. ฝังกลบคนงานทั้งเป็น 38 คน ในจำนวนนี้ 10 คน สามารถเอาชีวิตรอดออกมาได้ แต่ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่เบื้องล่างเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยอุปสรรคจากสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยโขดหิน ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถกู้ศพออกมาได้เพียง 9 ศพเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่พบศพผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 5 ศพ แต่ประเมินว่า คนงานที่ยังติดอยู่เบื้องล่างอีก 14 คน อาจเสียชีวิตแล้วทั้งหมด เนื่องจากขาดทั้งอาหารและน้ำมาเกือบ 7 วันเต็ม ทว่าจะเดินหน้าค้นหาต่อไปจนกว่าจะพบผู้สูญหายครบทั้งหมด ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม
 
ด้านนายริชาร์ด แอ็ดเคอร์สัน ประธานบริษัทฟรีพอร์ต แมคโมแรน คอปเปอร์ แอนด์ โกลด์ อิงค์ ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองทองแดงที่เกิดเหตุ ประกาศจะให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกคนอย่างเต็มที่ ขณะที่ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ผู้นำอินโดนีเซีย มีคำสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงผู้บริหารบริษัทเหมืองทองแดงดังกล่าว เร่งสืบสวนหาสาเหตุและส่งรายงานโดยตรงมายังทำเนียบประธานาธิบดีด้วย
 
 
ชาวชิคาโก้ประท้วงแผนปิดโรงเรียน 54 แห่งเพื่อประหยัดงบ
 
20 พ.ค. 56 - ผู้ปกครอง นักเรียน และครู หลายร้อยคนในเมืองชิคาโก้ของสหรัฐ เดินขบวนประท้วงเป็นวันที่สองเมื่อวานเพื่อคัดค้านแผนการปิดโรงเรียน 54 แห่งเพื่อประหยัดงบประมาณ หลังประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณมหาศาล
 
คณะกรรมการบริหารการศึกษาเมืองชิคาโก้จะตัดสินใจในวันพุธนี้ว่าจะปิดโรงเรียน 54 แห่งหรือไม่ แต่บรรดาผู้ปกครอง นักเรียน และครูเริ่มชุมนุมประท้วงเป็นเวลา 3 วันตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อคัดค้านแผนการปิดโรงเรียนที่จะส่งผลกระทบต่อนักเรียนอย่างน้อย 50,000 คนในโรงเรียนประถม 53 แห่ง และโรงเรียนมัธยมอีก 1 แห่งในเขตเซาท์ไซด์สและเวสต์ไซด์ส
 
เมื่อวานนี้ผู้ประท้วงราว 150 คนเดินขบวนจากโรงเรียนประถมพาร์คแมน ไปยังโรงเรียนมัธยมไดเอ็ท และผ่านโรงเรียนประถมโอเวอร์ตัน หนึ่งในโรงเรียนซึ่งถูกสั่งปิด และอยู่ห่างไม่กี่ช่วงถนนจากสถานที่เกิดเหตุยิงกันเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งผู้ปกครองบอกว่า หากปิดโรงเรียน เด็กๆที่ต้องย้ายที่เรียน ก็จะต้องเดินผ่านเส้นทางอันตรายเพื่อไปโรงเรียนทุกวัน ผู้ประท้วงถือป้ายที่มีข้อความสนับสนุนโรงเรียนของเรา อย่าปิดโรงเรียน
 
จิทู บราวน์ ผู้ปกครองซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้บอกว่า ไม่มีทางที่โรงเรียนของรัฐจะดูแลความปลอดภัยของนักเรียนได้ถ้าต้องเดินทางผ่านเขตที่อันตรายแบบนั้น 
 
นอกจากนี้ระหว่างทางที่เดินขบวนนั้น ผู้ขับขี่รถยนต์หลายคันต่างบีบแตรสนับสนุนด้วย และในวันจันทร์นี้ ผู้ชุมนุมจะจบการประท้วงด้วยการเดินขบวนที่ดาลีย์ พลาซ่า ช่วงเวลา 16.30 น. นอกจากนี้สหภาพครูจะยื่นฟ้องต่อศาลในสัปดาห์นี้เพื่อคัดค้านการปิดโรงเรียนด้วย
 
 
ชาวฟิลิปปินส์ประท้วงไต้หวันทำร้ายแรงงานฟิลิปปินส์
 
22 พ.ค. 56 - แรงงานชาวฟิลิปปินส์เดินขบวนประท้วงไต้หวัน เพื่อต่อต้านการทำร้ายชาวฟิลิปปินส์ในไต้หวัน ขณะที่ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายกำลังตึงเครียด
 
กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานชาวฟิลิปปินส์ราว 50 คน รวมตัวชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานทูตไต้หวันในกรุงมะนิลา หลังมีรายงานว่า แรงงานชาวฟิลิปปินส์ในไต้หวันถูกทำร้ายหลายคน ภายหลังจากเกิดเหตุชาวประมงไต้หวันถูกหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา โฆษกของพรรคแรงงาน กล่าวว่า คนงานชาวฟิลิปปินส์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และว่า แรงงานอพยพทั่วโลกจะต้องได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายระหว่างประเทศ
 
อย่างไรก็ดี ทางการฟิลิปปินส์ได้ร้องขอให้ไต้หวันดูแลความปลอดภัยของชาวฟิลิปปินส์กว่า 85,000 คน ที่ทำงานในไต้หวัน ซึ่งประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน เรียกร้องให้อยู่ในความสงบ และรับปากจะดูแลให้
 
 
ตำรวจกัมพูชาปะทะคนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า เจ็บ 23 คน
 
27 พ.ค. 56 - คนงานและผู้แทนสหภาพแรงงานกัมพูชา เปิดเผยว่า มีคนงานบาดเจ็บอย่างน้อย 23 คน ในวันนี้ หลังจากตำรวจใช้กระบองไฟฟ้าเข้าสลาย เพื่อยุติการประท้วงเรื่องค่าจ้างที่โรงงานแห่งหนึ่งที่ตัดเย็บเสื้อผ้าให้แก่บริษัทไนกี้ของสหรัฐ
 
ตำรวจพร้อมด้วยอุปกรณ์ปราบจลาจลถูกส่งไปสลายการชุมนุมของคนงานราว 3,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และปิดขวางถนนด้านนอกโรงงาน ซึ่งเป็นของบริษัท ซาบรีนา (กัมพูชา) การ์เมนต์ แมนูแฟคเจอริ่ง ในจังหวัดกำปงสปือ ทางตะวันตกของกรุงพนมเปญ ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานของบริษัท ซาบรีนาฯ กล่าวว่า ผู้บาดเจ็บมีทั้งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน และแท้งลูกหลังจากถูกผลักล้มลงบนพื้น คนงานเริ่มประท้วงตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินเพิ่มให้แก่พวกเขาอีกเดือนละ 14 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่าเดินทาง ค่าเช่า และค่ารักษาพยาบาล
 
 
คนงานเหมืองในอินโดนีเซียที่เกิดอุบัติเหตุยังไม่ยอมกลับเข้าทำงาน
 
31 พ.ค. 56 - สหภาพแรงงานแถลงวันนี้ว่า พนักงานหลายพันคนที่เหมืองของบริษัทสหรัฐทางตะวันออกของอินโดนีเซียยังไม่ยอมกลับเข้าทำงานจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจสอบอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นในเหมืองเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา
 
บริษัทฟรีพอร์ต-แมคมอแรน เริ่มดำเนินงานบางส่วนที่เหมืองทองคำและทองแดงกลาสเบิร์กในจังหวัดปาปัวตั้งแต่วันอังคาร ภายหลังต้องปิดเหมืองนานเกือบ 2 สัปดาห์ จากเหตุผนังด้านบนอุโมงค์ถล่ม ทำให้คนงานเสียชีวิต 28 คน และช่วยเหลือออกมาได้ 10 คน
 
อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานซึ่งมีตัวแทน 18,000 คน จากพนักงานกว่า 24,000 คน ในเหมืองแถลงว่า พนักงานจะไม่กลับเข้าทำงานจนกว่าจะเสร็จสิ้นการสอบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐบาลและบริษัทต่างมีการสอบสวนอุบัติเหตุดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปถึงสาเหตุอุโมงค์ถล่มเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ในช่วงที่พนักงาน 38 คน กำลังฝึกอบรมด้านความปลอดภัยอยู่ในชั้นใต้ดิน คาดว่ากระบวนการสอบสวนจะกินเวลาประมาณ 1-2 เดือน
 
พานาโซนิคประกาศโล๊ะพนักงาน 5 พันตำแหน่ง-หลังขาดทุนกว่า 7 พันล้าน
 
31 พ.ค. 56 - บริษัท พานาโซนิค ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น ประกาศลดกำลังคนงานที่ผลิตสินค้าหลายรายการ ตั้งแต่ชิปความจำไปจนถึงระบบนำทางในรถยนต์ราว 5,000 ตำแหน่ง จากพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ราว 111,000 ตำแหน่ง ภายใน 3 ปี ในฝ่ายธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม หลังประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักบวกกับการแข่งขันสูงขึ้นทำให้รายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากพานาโซนิคเผยยอดขาดทุนสุทธิ 754,250 ล้านเยน (225,000 ล้านบาท) ในปีการเงินที่นับจนถึงเดือนมีนาคม 2556
 
'แอปเปิล' เลิกจ้าง 'ฟ็อกซ์คอนน์' หันหน้าซบพันธมิตรรายใหม่
 
31 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 31 พ.ค. หลังจากมีข่าวว่าโรงงาน ฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตและประกอบสินค้าให้กับ แอปเปิล บริษัทไอทีรายใหญ่ของโลกสัญชาติสหรัฐฯ ต้องการยุติการทำธุรกิจด้วย ล่าสุด แอปแปิล เป็นฝ่ายเพิกถอนการว่าจ้างกับ ฟ็อกซ์คอนน์ ก่อน โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับปัญหาของโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน 
 
ทั้งนี้ แอปเปิล หันหน้าไปเกี่ยวก้อยกับบริษัท เพกาทรอน เทคโนโลยีแทน ซึ่งวอลสตรีทเจอร์นัล ระบุว่า เพกาทรอนและได้เริ่มสายการผลิต  iPad Mini และ iPhone รุ่นใหม่ไปแล้ว และอาจรวมถึง iPhone ราคาประหยัด ที่คาดว่าจะเปิดตัวในปลายปีนี้ด้วย นอกจากนี้สื่อยังรายงานด้วยว่า แอปเปิล และ ฟ็อกซ์คอนน์ เป็นคู่ค้ากันมาต่อเนื่องยาวนาน แต่เหตุบกพร่องเกี่ยวกับการผลิต iPhone 5 ทำให้ แอปเปิล ตัดสินใจเปิดใจรับพันธมิตรรายใหม่
 
อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์มองด้วยว่า ค่าแรงของฟ็อกซ์คอนน์นั้นปรับสูงขึ้น เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตและการทำงาน ขณะที่เพกาทรอน ยังคงยอมรับผลกำไรที่น้อยกว่าได้ นอกจากนี้ ฟ็อกซ์คอนน์ ยังแอบรำคาญ แอปเปิล อยู่เนืองๆ ด้วย อย่างเช่นการเปลี่ยนชิ้นส่วนโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และไม่ปลื้มความจุกจิกยุ่งยากของผลิตภัณฑ์แอปเปิล เป็นต้น.
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ประชาไท, สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, โพสต์ทูเดย์, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ, เดลินิวส์, ไอเอ็นเอ็น, ครอบครัวข่าว, คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท