ไม่เคารพสิทธิ สันติภาพก็ไม่เกิด’ AI เรียกร้องไทย-BRNเห็นใจประชาชน

แอมเนสตี้ยื่นรายงานสถานการณ์สิทธิในชายแดนใต้ปี 56 ต่อรัฐบาล จี้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ แจ้งเหตุบุคคลสูญหาย กลุ่มด้วยใจชี้ 9 ปีความรุนแรง มีเด็กตาย62 บาดเจ็บ 363 เรียกร้องทุกกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงคำนึงเด็กและสตรีให้มาก เมียอันวาร์ร่ายกลอนจากเรือนจำ ฝากพิจารณาสามีเป็นนักโทษการเมืองหรือไม่

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ทีห้องประชุมศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ประเทศไทย (AI Thailand) จัดแถลงข่าวรายงานของอิมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำปี 2556 (สัญจรภาคใต้)

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลก มีสมาชิกทั่วโลก 3,000,000 คน จาก 159 ประเทศ และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

หลังการแถลงข่าวมีการเสวนาเรื่อง “ผลกกระทบต่อเด็กและผู้หญิงจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” มีนักศึกษา นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประมาณ 60 คน

นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แถลงว่า พลเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงตกเป็นเป้าโจมตีอยู่เรื่อย ทำให้มีพลเมืองได้รับบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก ร่วมถึงครูและโรงเรียนของรัฐยังคงตกเป็นเป้าหมายการโจมตี

นางสาวปริญญา แถลงอีกว่า ในรายงานฉบับนี้มีข้อเรียกร้องให้รัฐยกเลิกกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เนื่องจากเป็นกฎหมายพิเศษที่ป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับโทษจากการละเมิดสิทธิประชาชนในพื้นที่

“นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐยุติการซ้อมทรมานต่อประชาชนในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ต้องชี้แจ้งถึงประชาชนที่สูญหายจากเหตุไม่สงบที่ผ่านมาด้วย” นางสาวปริญญา

นางสาวปริญญา เปิดเผยว่า แอมเนสตี้จะยื่นรายงานฉบับนี้ต่อนางสาวยิ่งลักลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน 2556 โดยนายซาลิล เซ็ตติ เลขาธิการแอมเนสตี้จะเป็นผู้ยื่น

นางสาวปริญญา เปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้แอมเนสตี้ได้ยื่นรายงานฉบับนี้ต่อตัวแทนพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ในงานแถลงข่าวที่กรุงมหานคร เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของทั้ง 2 พรรค นำข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่างๆ มาปฏิบัติเชิงนโยบาย

“แอมเนสตี้ฯ ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็นที่กำลังอยู่ดำเนินการพูดคุยสันติภาพในขณะนี้ว่าขอให้ทั้ง 2 ฝ่าย เคารพสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมต่อประชาชนในพื้นที่ เพราะแอมเนสตี้ฯมองว่า สันติภาพในพื้นที่จะไม่เกิดขึ้นเลย หากทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมต่อประชาชนในพื้นที่” นางสาวปริญญา กล่าว

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ กล่าวในการเสวนา“ผลกกระทบต่อเด็กและผู้หญิงจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ว่า จากการที่กลุ่มด้วยใจเก็บข้อมูลผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในเรือนจำปัตตานีและเรือนจำกลางสงขลา พบว่า ร้อยละ 80 เคยถูกซ้อมทรมานหรือถูกละเมิดสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะการถูกทุบตีตามร่างกาย ซึ่งผู้ต้องขังมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรามองว่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้กลุ่มด้วยพบว่ามีเยาวชนถูกละเมิดสิทธิด้วย 3 คน

นางสาวอัญชนา กล่าวอีกว่า กลุ่มด้วยใจร่วมกับสำนักพิมพ์โพรงกระต่าย และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เก็บสถิติเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึง 26 พฤษภาคม 2556 พบว่า เสียชีวิต 62 ราย บาดเจ็บ 363 รวมทั้งหมด 425 ราย

“ในจำนวนนี้ มีเด็กบางคนที่ได้รับบาดเจ็บจนต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา หากวันใดขาดเครื่องช่วยหายใจ เด็กคนนี้ต้องเสียชีวิตทันที ดังนั้นกลุ่มด้วยใจ ขอเรียกร้องต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรงทั้งหลาย ให้คำถึงเด็กและสตรีให้มากที่สุดด้วย” นางสาวอัญชนา กล่าว

ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ แสดงความเห็นว่า จากการทำงานในพื้นที่ 2-3 ปี ที่ผ่านมา พบว่า มีการละเมิดสิทธิจำนวนมาก แต่การเปล่งเสียงบอกสังคมใหญ่ให้รับรู้เรื่องนี้ยังไม่ดังพอ จึงทำให้เกิดการละเมิดสิทธิประชาชนอยู่เรื่อยๆ จากการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่

“จึงเป็นภารกิจร่วมกันระหว่างนักวิชาการและภาคประสังคมในพื้นที่ ต้องเปล่งเสียงดังๆออกมาให้สังคมใหญ่รับรู้ว่า กฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่ละเมิดสิทธิต่อประชาชนอย่างไร”ผศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าว

นางรอมือละ แซเยะ ภรรยาของนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในพื้นที่ กล่าวว่า ฝากแอมเนสตี้ฯ ไปพิจารณาว่า กรณีของนายมูฮาหมัดอัณวัรเป็นนักโทษคดีการเมืองหรือไม่อย่างไร

ก่อนเสวนานา นางรอมือละได้การอ่านบทกวีของนายมูฮาหมัดอัณวัร ที่เขียนขึ้นในเรือนจำกลางปัตตานี ดังนี้

ต่างเผ่า ต่างคน ต่างวัฒนะ ล้วนต่างความคิด

ฉันไม่ยอมรับว่า ความคิดของฉันถูกหมด

ฉันยอมรับความคิดฉัน มีข้อผิดพลาด

ในเมืองที่ชนส่วนน้อย เป็นชนส่วนมาก

ฉันยังไม่มีพื้นที่ อนูเซลล์เล็กๆ ให้คิดเห็นต่าง

ฉันยังต้องเดินทาง ตามหาอิสรภาพ เสรีภาพ

ฉันยังต้องตามหา อิสรภาพที่ถูกพรากจากปาตานี

ฉันยังต้องตามหา ปาตานีที่อยู่พร้อมหน้ากับเสรีภาพ

ฉันยังคงเดินทาง เก็บเมอลายูปาตานีในกระเป๋าเสื้ออกซ้าย

เมอลายูปาตานี จะทนรอฉันอยู่นอกรั้วหนามกำแพงสูงได้ไหม

เจ้ากับข้า ใครจะได้พบปะกับอิสรภาพ เสรีภาพก่อนกัน

หากเจ้าปาตานี เจอเสรีภาพก่อนฉัน

ดึงฉันออกจากผนังกรงกำแพงอิฐสูงนี้ด้วย

หากข้าได้เจออิสรภาพก่อนเจ้า

ข้าจะทลวงหาวิธีที่สันติ พาเจ้าไปพบเสรีภาพ พร้อมข้า

                              สารจากห้องขังปาตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท