นักวิจัยเผยประเด็นก่อดรามาแก้บทความในวิกิพีเดีย 13 ภาษา

นักวิจัยศึกษาสงครามการแก้ไขงานในเว็บวิกิพีเดีย 13 ภาษา พบเรื่องปรัชญา ศาสนา และการเมือง เป็นเรื่องถกเถียงมากสุดในทั้ง 13 ภาษา โดยหัวข้อ อิสราเอล อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ การสังหารหมู่ชาวยิว และเรื่องพระเจ้า เป็นข้อถกเถียงมากที่สุดใน 3 กลุ่มภาษา

นักวิจัยจากฮังการี อังกฤษ และอเมริกา ศึกษาเรื่องสงครามของการแก้งานในวิกิพีเดีย สารานุกรมออนไลน์ที่เปิดให้ใครก็ได้เข้าไปเขียนและแก้ไขบทความ โดยดูจากการแก้งานกลับไปสู่เวอร์ชั่นก่อนหน้า โดยหัวข้อที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากที่สุดก็คือ เรื่องของศาสนา ปรัชญาและการเมือง

Taha Yasseri หนึ่งในทีมวิจัยเขียนในบล็อกของเขาว่า แม้อาจมีคำวิจารณ์ว่าวิกิพีเดียนั้น เชื่อถือไม่ได้ ไม่สมบูรณ์ หรือมีอคติ แต่ในทางหนึ่ง วิกิพีเดียก็ถือว่ามีประโยชน์ รวดเร็วและเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งโดยนับเป็นตัวอย่างของความร่วมมือของคนจำนวนมาก มีผู้เป็นบรรณาธิการกว่า 40 ล้านคน มีบทความกว่า 37 ล้านบทความในกว่า 280 ภาษาทั่วโลก โดยเมื่อคนที่ไม่ใช่มืออาชีพจากต่างภูมิหลัง วัฒนธรรม และความเห็น มาช่วยกันเขียนงาน จึงไม่ง่ายและไม่ราบรื่นเสมอไป แม้หัวข้อจำนวนมากจะเป็นเรื่องกลางๆ อย่างแตงโมหรือแฮมสเตอร์ แต่ก็มีสงครามการบรรณาธิการและการปะทะกันทางความคิดเบื้องหลังวิกิพีเดียจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าอะไรคือลักษณะสำคัญของสงครามเหล่านี้ อะไรคือบทความที่มีการโต้แย้งกันมากที่สุด และมันทำให้เห็นวิธีที่ผู้คนจากส่วนต่างๆ ของโลกคิดกับเรื่องต่างๆ หรือไม่

ทั้งนี้ งานวิจัยนี้ศึกษาวิกิพีเดียในภาคภาษาต่างๆ 13 ภาษาด้วยกัน ประกอบด้วย ภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส เปอร์เซีย อาหรับ ฮิบรู เช็ก ฮังการี โรมาเนีย จีนและญี่ปุ่น

งานวิจัย แบ่งกลุ่มภาษาหลักๆ ออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศสและสเปน  2.ภาษาเช็ก ฮังการี และโรมาเนีย  3.อาหรับ เปอร์เซีย และฮิบรู โดยบทความเกี่ยวกับอิสราเอล อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เหตุการณ์การสังหารหมู่ชาวยิว และเรื่องพระเจ้า เป็นหัวข้อที่มีข้อถกเถียงในการเขียนมากที่สุดในทั้งสามกลุ่มภาษา ขณะที่เรื่องของพระเยซู อิสลาม และศาสดามูฮัมหมัด เป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันมากถึง 2 ใน 3 ของกลุ่มภาษาทั้งหมด

Taha Yasseri ระบุว่า พบรูปแบบที่น่าสนใจคือ เรื่องศาสนาและการเมือง เป็นเรื่องที่เป็นข้อถกเถียงในภาษาเปอร์เซีย อาหรับและฮิบรูมากกว่าภาษาอื่นๆ ขณะที่วิกิพีเดียภาคภาษาสเปนและโปรตุเกสเต็มไปด้วยสงครามระหว่างสโมสรฟุตบอลต่างๆ ส่วนวิกิพีเดียภาคภาษาฝรั่งเศสและเช็ก ค่อนข้างจะถกเถียงกันในเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิกิพีเดียภาคภาษาจีนและญี่ปุ่นนั้น เป็นสมรภูมิรบของการ์ตูน อะนิเมะ ทีวีซีรีส์ และแฟนคอบันเทิง ผลิตภัณฑ์ของช่อง TVB ปรากฏบ่อยครั้งในลิสต์ของจีน และอันดับที่ 19 ของประเด็นที่ถกเถียงกันมากในภาคภาษาญี่ปุ่นก็คือ องคชาต

Yasseri ระบุว่า ข้อค้นพบเหล่านี้ จะช่วยให้วิกิพีเดียและโครงการต่างๆ ที่คล้ายๆ กัน ออกแบบได้ดีขึ้น โดยพิจารณาจากบทเรียนและข้อสังเกตเหล่านี้  และ สอง เชื่อว่ากรณีศึกษาเหล่านี้จะช่วยให้นักสังคมศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับสังคมมนุษย์มากขึ้น ผ่านการวิเคราะห์การกระทำและปฏิสัมพันธ์ของสังคมขนาดใหญ่ของปัจเจกบุคคล (ในที่นี้คือบรรณาธิการวิกิพีเดีย)

วิกิพีเดียภาคภาษาอังกฤษ ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงมากที่สุด คือเรื่องของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ตามด้วย อนาธิปไตย, ศาสดามูฮัมหมัด, รายชื่อของคนในแวดวงมวยปล้ำอาชีพ (WWE), ภาวะโลกร้อน, การขลิบ, สหรัฐอเมริกา, พระเยซู, ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติและความฉลาด และศาสนาคริสต์ 

ในวิกิพีเดียภาคภาษาญี่ปุ่นนั้น หัวข้อหลักที่ถกเถียงกันนั้น เป็นเรื่องของชาวเกาหลีในญี่ปุ่น ตามด้วย ทฤษฎีต้นกำเนิดประเทศเกาหลี, สิทธิของผู้ชาย, ฝ่ายขวาในอินเทอร์เน็ต, วงเกิร์ลกรุ๊ป AKB48, ซีรีย์คาเมนไรเดอร์, การ์ตูนวันพีซ, คิม ยู นา นักกีฬาสเก็ตน้ำแข็ง คู่แข่งคนสำคัญของมาโอะ อะซาดะ นักกีฬาชาวญี่ปุ่น, มิซูโฮ ฟุกุชิมา นักการเมืองหญิงชาวญี่ปุ่น หนึ่งในผู้นำการต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์, โกโก เซนไท โบเคนเจอร์ ภาพยนตร์แนวขบวนการยอดมนุษย์ลำดับล่าสุด

ส่วนวิกิพีเดียภาคภาษาจีนนั้น เถียงกันหนักที่สุดในเรื่องไต้หวัน, ซีรีย์ใหม่ในช่องTVB, จีน, เจียงไคเช็ค, หม่าอิงจิ๋ว, เฉินสุ่ยเปียน, เหมาเจ๋อตุง, สงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่สอง และการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี 1989

 

 

 

ที่มา:
http://tahayasseri.wordpress.com/2013/05/27/wikipedia-modern-platform-ancient-debates-on-land-and-gods/
http://www.huffingtonpost.com/2013/05/31/controversial-wikipedia-articles_n_3367573.html?ir=Technology
ftp://193.206.140.34/pub/mirrors/epics-at-lnl/WikiDumps/localhost/group282-priedhorsky.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท