การเมืองว่าด้วย ‘พลังงานไทย’ (6): ความจริงเกี่ยวกับก๊าซแอลพีจี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
พันธมิตรเสื้อเหลืองที่สวมเสื้อคลุม “กลุ่มทวงคืนพลังงาน” และ “กลุ่มทวงคืน ปตท.” ยังมีประเด็นโจมตีรัฐบาลที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ นโยบายก๊าซแอลพีจี
 
ก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในประเทศไทยได้มาจาก 3 แหล่งคือ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง (ซึ่งนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น) ได้จากอ่าวไทยผ่านโรงแยกก๊าซของ ปตท. และได้จากการนำเข้าจากต่างประเทศ สาเหตุหนึ่งของราคาน้ำมันแพงในประเทศไทยคือ การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้อุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี
 
เช่น ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 น้ำมันเบนซินมีราคาขายปลีกลิตรละ 45.15 บาท เป็นเงินสมทบกองทุนฯ ถึง 9.70 บาท ขณะที่น้ำมันดีเซลต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ ลิตรละ 3.40 บาท แก๊ซโซฮอล 95 E10 สมทบลิตรละ 3.50 บาท
 
ประมาณตัวเลขในวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 มีเงินเข้าสมทบกองทุนฯ ทั้งสิ้น 254.58 ล้านบาท โดยได้จากน้ำมันดีเซลมากที่สุดคือ 192.20 ล้านบาท จากน้ำมันเบนซิน 18.62 ล้านบาท น้ำมันก๊าซโซฮอล 95 E10 จำนวน 30.42 ล้านบาท และน้ำมันก๊าซโซฮอล 91 E10 จำนวน 12.74 ล้านบาท รัฐบาลจัดเก็บเงินสมทบกองทุนฯสูงมากเพราะเหตุใด?
 
ข้อมูลแสดงว่า ในวันเดียวกัน กองทุนมีรายจ่ายรวม 57.86 ล้านบาท รายการใหญ่ที่สุดคือ อุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี สูงถึง 52.28 ล้านบาท นอกนั้น เป็นการอุดหนุนราคาก๊าซโซฮอล 95 E20 และก๊าซโซฮอล 95 E85 รวมกันประมาณ 5 ล้านบาท แต่ทำไมถึงต้องอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี?
 
ราคาก๊าซแอลพีจีหน้าโรงกลั่นจะกำหนดตามราคาตลาดโลก (เช่นเดียวกับ ราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่กลั่นได้) ซึ่งใกล้เคียงกับราคาก๊าซแอลพีจีนำเข้า ปัจจุบัน ราคาตลาดโลกแกว่งตัวในช่วง 750-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือประมาณ กก.ละ 20-30 บาท ส่วนต้นทุนก๊าซแอลพีจีจากอ่าวไทยที่โรงแยกก๊าซอยู่ที่ 550 ดอลลาร์ต่อตัน หรือ กก.ละ 16.92 บาท
 
แต่ปัจจุบัน รัฐบาลกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีหน้าโรงกลั่นไว้ที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เท่ากับ กก.ละ 9.72 บาท ซึ่งต่ำกว่าทั้งราคาตลาดโลกและต้นทุนที่โรงแยกก๊าซ รัฐบาลจึงต้องชดเชยส่วนต่างให้กับโรงกลั่น โรงแยกก๊าซ และผู้นำเข้า ในปี 2555 กองทุนน้ำมันต้องอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีเป็นจำนวนถึง 3.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก๊าซหุงต้มในราคาขายปลีกเพียง กก.ละ 18.13 บาท และภาคขนส่งเพียง กก.ละ 21.38 บาท ซึ่งต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ เมื่อเทียบกับเวียดนาม (59 บาท) ลาว (49 บาท) กัมพูชา (45 บาท) พม่า (34 บาท) อินโดนีเซีย (23 บาท) และมาเลเซีย (20 บาท)
 
นโยบายอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีเป็นความผิดพลาดมาตั้งแต่การเปิดเสรีโรงกลั่นน้ำมันเมื่อปี 2534 โดยรัฐบาลเวลานั้นได้ใช้นโยบายลอยตัวราคาน้ำมัน เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นเพิ่ม แต่กลับตรึงราคาก๊าซแอลพีจีไว้ และกลายเป็นมาตรการที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันในขณะที่ราคาก๊าซแอลพีจีในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นโดยตลอด
 
การอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่สะท้อนความหาได้ยากที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก เป็นผลให้ประเทศไทยมีการใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงกว่าร้อยละ 10 ต่อปี และเกิดการบิดเบือนการใช้พลังงาน โดยในภาคขนส่ง ได้มีการดัดแปลงยานพาหนะเบนซินมาใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นจำนวนมาก (ปี 2555 เพียงปีเดียว เพิ่มถึง 2 แสนคัน รวมเป็นทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านคัน) ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็เลิกใช้น้ำมันเตา หันมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทน จนประเทศไทยกลั่นได้น้ำมันเตาเหลือใช้ ต้องส่งออกจำนวนมากทุกปี
 
ผลก็คือ ประเทศไทยจากที่เคยผลิตก๊าซแอลพีจีเหลือใช้และส่งออกได้ถึงวันละ 3 หมื่นบาร์เรล กลายเป็นติดลบ ผลิตไม่พอใช้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2551 โดยในปี 2555 ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีถึงวันละ 55,000 บาร์เรล เป็นภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจนถึงขั้นติดลบ
 
รัฐบาลที่ผ่านมาจึงพยายามที่จะลดการอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี แต่ก็ถูกต่อต้านจากพันธมิตรเสื้อเหลือง “กลุ่มทวงคืนพลังงาน” มาโดยตลอด ในทางตรงข้าม คนพวกนี้กลับโยงประเด็นราคาก๊าซแอลพีจี ไปโจมตีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นวัตถุดิบอีก โดยกล่าวหาว่า รัฐบาลขึ้นราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีเพื่อไปอุดหนุนกำไรของ ปตท.และให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อก๊าซแอลพีจีในราคาต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม
 
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลุ่มโอเลฟินส์ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นวัตถุดิบขั้นต้นในการผลิตเม็ดพลาสติกประเภท PP ได้รับการส่งเสริมในช่วงปลายยุค 2520 โดยใช้วัตถุดิบก๊าซจากอ่าวไทยผ่านโรงแยกก๊าซของ ปตท.โดยตรง ขณะที่ครัวเรือนในยุค 2530 ได้รับก๊าซหุงต้มจากโรงกลั่นเป็นหลัก แต่การอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีก็ทำให้การใช้ก๊าซในภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรมขยายตัวมากจนผลผลิตจากโรงกลั่นไม่พอใช้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่ปตท.ก็ต้องแบ่งก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซมาให้ด้วยเช่นกัน
 
ราคาก๊าซแอลพีจีที่ ปตท.ขายเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีนั้น ถูกกำหนดให้แปรผันขึ้นลงตามราคาเม็ดพลาสติก PP ในตลาดโลก โดยมีช่วงราคาระหว่างต้นทุนที่โรงแยกก๊าซ 16.92 บาทต่อ กก.แต่ไม่เกินราคานำเข้าหรือราคาตลาดโลก (ประมาณ 30 บาท ต่อกก.) ฉะนั้น ราคาก๊าซแอลพีจีที่อุตสาหกรรรมปิโตรเคมีซื้อไปนั้นจึงมีราคาขึ้นลง บางช่วงอาจสูงถึงราคาตลาดโลก
 
“กลุ่มทวงคืนพลังงาน” อ้างว่า ปัจจุบัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจ่ายเงินสมทบกองทุนน้ำมันในอัตราเพียง กก.ละ 1 บาท ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องจ่ายสมทบถึง กก.ละ 10.87 บาท ทำให้ราคาก๊าซแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมมีราคาขายปลีกสูงถึง กก.ละ 28.07 บาท ซึ่งก็เป็นจริงบางส่วน แต่เบื้องหลังคือ ก๊าซแอลพีจีที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับนั้นมีจุดเริ่มต้นที่หน้าโรงกลั่นในราคาเพียง กก.ละ 9.72 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รัฐบาลได้ใช้เงินกองทุนไปอุดหนุนตั้งแต่ต้นน้ำเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายลดการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มแรก ฉะนั้น เมื่อถึงราคาขายปลีก รัฐบาลจึงได้จัดเก็บเงินสมทบกองทุนจากก๊าซแอลพีจีเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ให้ราคาขายปลีกเข้าใกล้ราคาตลาดโลก
 
นัยหนึ่ง รัฐบาลจัดเก็บเงินสมทบกองทุนจากราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมก็เพื่อ “เอาคืน” เงินอุดหนุนราคาหน้าโรงกลั่นที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับไปก่อนหน้านั้นนั่นเอง
 
แน่นอนว่า เราอาจเรียกร้องให้รัฐบาลจัดเก็บเงินสมทบกองทุนน้ำมันจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอัตราสูงกว่า 1 บาท ต่อ กก. ได้โดยอ้าง “ความเป็นธรรม” แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีข้อแตกต่างสำคัญจากผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีภาคอื่นๆ คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ได้ซื้อวัตถุดิบก๊าซแอลพีจีในราคาที่ได้รับการอุดหนุนจากกองทุน หากแต่ซื้อในราคาที่เคลื่อนไหวตามราคาเม็ดพลาสติกในตลาดโลก การจัดเก็บเงินกองทุนจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงเป็นเสมือนการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจากวัตถุดิบต้นน้ำ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นผลผลิตไปด้วย
 
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเม็ดพลาสติกมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างกว้างขวาง เม็ดพลาสติก PP เป็นพลาสติกหลัก (นอกเหนือไปจาก PVC) ที่ใช้ในระบบเศรษฐกิจไทย เป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมไทยแทบทุกสาขา ตั้งแต่รถยนต์ อิเล็กโทรนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเด็กเล่น ไปจนถึงภาชนะในครัว เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตครัวเรือนไทยทุกด้าน ยิ่งกว่านั้น เม็ดพลาสติก PP ยังเป็นสินค้าส่งออกในอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมไทยอีกด้วย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งสิ้นหลายแสนล้านบาทต่อปี การจัดเก็บเงินสมทบกองทุนในอัตราสูงจะมีผลกระทบลูกโซ่ถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำของไทยทั้งหมด ต่อสินค้าอุปโภคของครัวเรือนไทย และต่อการแข่งขันส่งออกเม็ดพลาสติกของไทย แน่นอนว่า รัฐบาลจะต้องพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ประกอบในการกำหนดนโยบาย
 
ถึงกระนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะจัดเก็บเงินสมทบจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสักเท่าไร ก็ไม่มีผลให้ราคาก๊าซแอลพีจีที่ประชาชนใช้มีราคาถูกลง เพราะข้อเท็จจริงคือ ราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนและภาคขนส่งยังต่ำกว่าความเป็นจริงในตลาดโลก จนเกิดการใช้เกินตัวและใช้ผิดประเภท เป็นภาระแก่ผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ อยู่ดี และหนทางแก้ไขคือ ต้องลดเลิกการอุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีทั้งหมดด้วยมาตรการที่เหมาะสมและเป็นขั้นตอน
 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน 'โลกวันนี้วันสุข' ฉบับวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2556
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท