Skip to main content
sharethis

 

11 มิ.ย.56 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2556 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

ภายหลังการประชุม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พร้อมด้วยนางสุรางคณา วายุภาพ ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ.  ร่วมกันแถลง โดย นอ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า  ที่ประชุมให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1.การบูรณาการการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ  2.การสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซ เบอร์ 3.การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ

นอกจากนี้ยังเห็นชอบยุทธศาสตร์รอง 5 ด้าน อาทิ การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ข้อนี้จะเป็นกรอบการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับประเทศไทยใน 5 ปีข้างหน้า โดยมี สพธอ.เป็นฝ่ายเลขานุการ นอกจากนี้จะได้มีการแจกสติกเกอร์ “ทำอย่างไรเมื่อเว็ปไซด์ถูกแฮก” ไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อรับมือกับกรณีที่ถูกแฮกเกอร์เข้าไปก่อกวน ซึ่งหากพบว่าถูกแฮกให้ดำเนินการใน 4 ขั้นตอนคือ 1.ห้ามแตะต้องหรือเข้าถึงเครื่องบริการ 2.ตัดการเชื่อมต่อเครือข่าย โดยถอดสายแลนออก 3.รายงานผู้บังคับบัญชา และ4.โทรปรึกษาศูนย์ฮอตไลน์ ThaiCERT 1212

นางสุรางคณา กล่าวว่า จากผลการสำรวจข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.56 พบว่าการเข้าไปแฮกข้อมูลทางเว็บไซด์ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งโดยไม่ได้ตั้งใจเพราะนึกสนุก และตั้งใจทำให้เกิดความเสียหาย หรือมุ่งเจาะข้อมูลเชิงลึก 1,475 ครั้ง มีมัลแวร์ หรือการก่อกวนระบบ 750 ครั้ง ส่งจดหมายหลอกลวงเอาเงินจากประชาชน 338 ครั้ง อย่างไรก็ตามยังถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ไม่เลวร้ายเกินไป เพียงแต่เราต้องทำให้ประชาชนได้รู้ถึงวิธีการรับมือที่ถูกต้อง ซึ่งขอเตือนประชาชนว่าอย่าพยายามดาวโหลดโปรแกรมฟรีต่าง ๆ โดยไม่รู้ที่มาที่ไป เพราะจะมีผู้ไม่พึงประสงค์สามารถเข้ามาแฮกข้อมูลส่วนตัวเราไปใช้ในทางที่ผิด หรือทำประโยชน์ได้

รมว.ไอซีทีอธิบายความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่า ปัจจุบันภัยคุกคามด้านไซเบอร์ทวีความรุนแรงมากขึ้น และยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับหน่วยงานในประเทศไทย แม้ว่าไทยมีกฎหมายที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์มานานแล้ว แต่พบปัญหาในการบังคับใช้ และการบูรณาการในภาพรวม รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่หลักในการจัดทำนโยบายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อให้ไทยมีขีดความสามารถในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามดังกล่าว ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติทั้งจากภายในและนอกประเทศ

“นายกฯ ได้แสดงความห่วงใยว่าปัจจุบันมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งอาจจะใช้ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง  และไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และความมั่นคงของประเทศ จึงกำชับให้คณะกรรมการฯเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

 

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์เดลินิวส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net