ปชป. แถลงพิเศษยันจำนำข้าวขาดทุน 2.6 แสนล้านจริง เสนอหยุดโครงการ

11 มิ.ย.56  ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคฯ เปิดแถลงข่าวเป็นกรณีพิเศษเพื่อย้ำจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับโครงการรับ จำนำข้าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องทำความชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของโครงการที่มีความสับสนหรือพยายามบ่าย เบี่ยง โดยยืนยันว่าตัวเลขที่ใช้แถลงเป็นของราชการไม่มีของพรรคประชาธิปัตย์กำหนดขึ้นเอง ทั้งนี้การจำนำข้าวของรัฐบาลทำมา 3 ฤดูกาลแล้วโดยมีการขาดทุนที่นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ก็ยอมรับในการแถลงข่าวคือ นาปี 2554/2555 ขาดทุน 42,963 ล้านบาท นาปรัง 2555 ขาดทุน 93,993 ล้านบาทและนาปี 2555/2556 ขาดทุน 84,071 ล้านบาท รวมขาดทุน 220,976 ล้านบาท

นายอภิสิทธิ์อธิบายว่ามีฐานการคำนวณอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เพราะรัฐบาลพยายามบอกว่าตราบใดที่ยังขายข้าวไม่หมดก็จะไม่มีทางทราบว่าสถานะ เรื่องการขาดทุนของโครงการจำนำข้าวเป็นอย่างไร เห็นว่าถ้าใช้หลักคิดนี้ตราบเท่าที่โครงการจำนำข้าวยังดำเนินการต่อจะ ไม่มีทางทราบว่าขาดทุนเท่าไร เพราะจะมีข้าวที่ขายออกไปและรับจำนำเข้ามาไม่จบไม่สิ้น แต่หลักการทำบัญชีที่กระทรวงการคลังดำเนินการนั้นจะถือหลักว่า เมื่อรับจำนำข้าวเข้ามาจำนวนเท่าไร ราคาเท่าไร ใช้เงินเท่าไร ขายออกไป ได้เงินกลับมาเท่าไร และข้าวที่ถืออยู่มีมูลค่าในทางตลาดเท่าไร

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปรียบเทียบการคำนวณการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวว่า เหมือนกับการซื้อของมา 100 บาท ในขณะที่เก็บของไว้ ราคาในตลาดขายที่ 80 บาท จะบอกว่าไม่ขาดทุนเพราะยังไม่ได้ขายแล้วซื้อเข้ามาเรื่อย ๆ ในจำนวน 100 บาท แต่ขายได้ในราคา 80 บาทโดยสรุปว่ายังไม่ขาดทุนเพราะยังขายไม่หมดไม่ได้ แต่ต้องคิดว่าราคาตลาดในขณะนั้นขาดทุน 20 บาทต่อการซื้อครั้งละ 100 บาท ยิ่งไปกว่านั้นของที่เก็บไว้ยังมีปัญหาเรื่องเสื่อมสภาพด้วย ก็ต้องประเมินเป็นช่วง ๆ เพื่อปิดบัญชีว่ามูลค่าของเปลี่ยนแปลงอย่างไร ยกเว้นว่าใครมีความเชื่อว่าราคาข้าวจะมีความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดตัวเลข การประมาณการก็อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ แต่ในกรณีของข้าวไม่มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องราคาที่หวือหวาหรือผันผวน ดังนั้นการที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีประมาณการว่าการขาดทุนอยู่ที่ 220,976 ล้านบาท จึงมีพื้นฐานหลักคิดที่ตรวจสอบได้ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่สามารถสรุปตัวเลขได้เหมือนอย่างที่รัฐบาลอ้าง

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การอ้างว่าตัวเลขการขาดทุนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรัฐบาลยิ่ง ลักษณ์ แต่ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ด้วยนั้น หากแยกดูตัวเลขการขาดทุนที่เกิดขึ้นเฉพาะรัฐบาลชุดนี้จะเริ่มตั้งแต่โครงการ ข้าวนาปี 54/55 ซึ่งขาดทุน 42,963 ล้านบาท เป็นโครงการรอบแรกและมีวิกฤตน้ำท่วมใหญ่จึงทำให้โครงการไม่ดำเนินการอย่าง เต็มที่ แต่อีกสองฤดูกาลถัดมาซึ่งรวมเป็นตัวเลข 1 ปี จะพบว่าการขาดทุนสูงถึง 178,004 ล้านบาท จากที่ตนตรวจสอบการขาดทุนดังกล่าวยังไม่รวมงบประมาณบริหารงานโครงการซึ่งจัด เป็นงบให้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นการขาดทุนที่เกิดขึ้นในรอบ 1 ปี ของรัฐบาลนี้จึงอยู่ที่ตัวเลข 2 แสนกว่าล้านแน่นอน และเมื่อเทียบกับตัวเลขการปิดบัญชีโครงการจำนำสินค้าเกษตร 17 โครงการในวันที่ 31 พ.ค.55 พบว่าขาดทุน 206,718 ล้านบาท แต่ในการปิดบัญชีวันที่ 31 ม.ค.56 ขาดทุน 393,902 ล้านบาท เท่ากับว่าขาดทุนเพิ่มขึ้นถึง 187,184 ล้านบาท แสดงว่าไม่ถึงปีการขาดทุนเพิ่มขึ้น 187,184 ล้านบาท โดยเป็นตัวเลขที่ยังไม่รวมค่าบริหาร จากข้อมูลนี้ตอกย้ำว่าการขาดทุนในรอบปีที่ผ่านมาประมาณสองแสนหรือกว่าสองแสน ล้านบาท

นายอภิสิทธิ์ ยังหยิบยกเงินที่รัฐบาลใช้ในโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลว่าใช้ไปแล้ว 661,224 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะ 408,750 ล้านบาท จาก ธกส. 90,000 ล้านบาท ธกส.ทดลองจ่าย 69,024 ล้านบาท ได้เงินคืนจากการระบายข้าว 93,450 ล้านบาท นำมาใช้หมุนเวียนในโครงการด้วย ทั้งนี้จากการใช้เงินก้อนดังกล่าวรัฐมนตรีที่แถลงข่าวบอกว่าสามารถนำเงินที่ ระบายข้าวไปคืน ธกส.ได้แล้ว 120,000 ล้านบาท และประเมินมูลค่าข้าวในสต๊อคว่าอยู่ที่ 226,000 ล้านบาท รวมแล้วเงินยังหายไป 315,224 ล้านบาท จากวงเงินที่ใช้ทั้งหมด 661,224 ล้านบาท จึงไม่มีประเด็นที่รัฐบาลจะปฏิเสธว่าการขาดทุนในโครงการจำนำข้าวไม่ถึง 2.6 แสนล้านบาท เพราะตัวเลขของราชการยืนยันตรงกันว่า เราจะต้องขาดทุนในโครงการนี้ปีละกว่าสองแสนล้านบาท โดยสามฤดูกาลที่ผ่านมาขาดทุนรวม 220,967 ล้านบาท ค่าบริหาร 40,000 ล้านบาท รวมขาดทุน 260,967 ล้านบาท และในขณะที่มีการขาดทุนจำนวนมากแต่ ธกส.แถลงว่าเกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการนี้เพียง 86,000 ล้านบาทเท่านั้น แปลว่าเงินที่เสียไปกับการขาดทุนโดยที่เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ถึง 174,967 ล้านบาท ตนเคยประมาณการไว้ว่าเกษตรกรได้ประโยชน์ประมาณแสนล้านต้น ๆ ในขณะนี้ตัวเลขทางการยืนยันชัดเจนแล้วว่า เกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินที่เสียไป เท่ากับเงินไม่ถึงมือชาวนา ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะเสียเงินกว่าสองแสนล้านกับการขาดทุนในโครงการนี้ก็น่าจะ นำเงินก้อนดังกล่าวหาญเฉลี่ยแจกให้กับชาวนาไปเลย ซึ่งจะทำให้ชาวนาได้ประโยชน์มากกว่าปัจจุบันเท่าตัว และตลาดข้าวไม่พังพินาศแบบในปัจจุบันด้วย เพราะการซื้อขายข้าวยังเป็นปกติ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อไปว่า คำพูดที่บอกว่าโครงการนี้ทำให้ภาคการเกษตรมีรายได้ดี สร้างความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่ารายได้ภาคการเกษตรไตรมาสที่สามปี 2555 รายได้ลดลง 4.1% ไตรมาสสุดท้ายปี 2555 ติดลบ 0.7 % สามเดือนแรกของปี 2556 ติดลบอีก 2.2 % และในเดือนเมษายน 2556 รายได้ติดลบอีก 7.7 % นี่คือตัวเลขทางการที่บ่งบอกว่ามาตรการจำนำข้าวกำลังสร้างความเสียหายทางการ คลังปีละประมาณสองแสนล้านเงินถึงชาวนาไม่ถึงครึ่งและไม่สามารถยกระดับความ เป็นอยู่หรือรายได้ของเกษตรกรได้ด้วย

นอกจากนี้การสำรวจหนี้เกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯจัดทำขึ้นนั้นก็ยืนยันว่า สถานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรถ้าวัดจากระดับของหนี้สินแย่ลงเพราะหนี้สิน เพิ่มขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลพยายามพูดว่าจะไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่าโครงการประกันราย ได้ ซึ่งตนให้ตัวเลขสูงสุดที่ใช้ในโครงการประกันรายได้ว่าอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท โดยเกือบ 100 % ของยอดเงินดังกล่าวเป็นเงินที่จ่ายตรงให้กับเกษตรกรแตกต่างจากโครงการจำนำ ข้าวที่แต่ละปีขาดทุนสองแสนล้านมากกว่าโครงการประกันรายได้ถึงสามเท่าตัว เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่าโครงการประกันรายได้ในอดีตกำหนดราคาประกันที่ 15,000 บาทก็ยังใช้เงินน้อยกว่าโครงการจำนำข้าวอย่างมาก

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การขาดทุนตามตัวเลขที่ออกมา 2.6 แสนล้านซึ่งคิดเป็น 10 % ของงบประมาณประจำปีเท่านั้น แต่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก หากไม่มีการทำโครงการนี้ก็สามารถนำเงินขาดทุนดังกล่าวมาใช้ใน 7 ปี โดยไม่ต้องกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ให้ประชาชนเป็นหนี้ 50 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่ต่างประเทศจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพราะสร้างความเสียหายต่อ เนื่องในแง่สถานะการคลังและความน่าเชื่อถือของประเทศทางด้านการคลังด้วย นอกจากนี้หลังจากใช้โครงการจำนำข้าวเกิดผลกระทบต่อการส่งออกสูญเสียแชมป์ผู้ ส่งออกอันดับ 1 รายได้จากการขายข้าวเข้าประเทศก็ลดลงกว่า 20 % โดยไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น

ล่าสุดการค้าข้าวระหว่างประเทศของไทยจะนำข้าวจากต่างประเทศมาขายแทนข้าวไทย เพราะต้นทุนถูกกว่า ดังนั้นนอกเหนือจากความสูญเสียด้านการคลังแล้ว เรายังสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขัน ทำลายอนาคตข้าวไทย ทำให้แข่งกับประเทศอื่นไม่ได้ สุดท้ายเกษตรกรก็จะมีปัญหาในการขายข้าวมากขึ้น ถ้ารัฐบาลสะสมการขาดทุนไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งก็ต้องมีจุดจบ ที่ผ่านมาเคยเตือนรัฐบาลว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยส่งออกข้าวมากกว่าไทยก็มาสูญเสียการส่งออกให้ไทยใน วันที่ประเทศเหล่านั้นตัดสินใจเป็นผู้ค้าข้าวเองเพียงรายเดียว วันนี้รัฐบาลกำลังเดินตามรอยนั้นซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับเกษตรกร ที่สำคัญคือยังมีปัญหาการทุจริตที่ส.ส.ของพรรคเปิดโปงข้อมูลทั้ง การระบายข้าว การเวียนเทียนในประเทศ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เรียกร้องคือขอให้ยอมรับความจริง และขอให้เข้าใจว่าคนที่ห่วงใยเอาความจริงมาพูดไม่ประสงค์ให้รัฐบาลหยุดช่วย เกษตรกร ต้องการให้ช่วยแต่ช่วยโดยเงินทุกบาททุกสตางค์ไปถึงมือเกษตรกรและช่วยเหลือ อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่กำลังเกิด 2 เรื่อง คือ 1 กระทรวงพาณิชย์ส่งสัญญาณว่าจะมีการทบทวนตัวเลขการขาดทุนของคณะอนุกรรมการปิด บัญชีใหม่โดย กขช.หรือใครยังไม่แน่ชัด ทั้งที่เป็นการคำนวณตามตัวเลขของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง หากตัวเลขการปิดบัญชีผิดก็เท่ากับว่ามีการให้ข้อมูลผิดจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่ตนคิดว่าน่าจะมีความพยายามเอาตัวเลขไปทบทวนเพื่อสร้างความสับสน เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับว่าโครงการนี้สร้างความเสียหายต่อการเงินการคลังอย่างไร

2 รมช.พาณิชย์ กำลังขอเงินงบประมาณ 9 ล้านเศษเพื่อทำโครงการมวลชนคือ ทำงานสัญจรเรื่องจำนำข้าว และมีแนวโน้มว่าจะไปยุให้เกษตรกรเข้าใจผิดว่าคนที่ออกมาท้วงติงโครงการจำนำ ข้าวไม่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากจะเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงแล้วยังเป็นการเพิ่มความแตกแยกในสังคม ในประเทศ โดยไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล และเป็นประธาน กขช. ได้รับรายงานตัวเลขไปแล้วกว่า 1 สัปดาห์ จะต้องรับผิดชอบด้วยการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ครม.ไฟเขียวรวม ปริมาณ-วงเงิน รับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56

ทั้งนี้ ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ปรับเปลี่ยนโครงการ โดยเห็นชอบให้รวมโครงการรับจำนำข้าวปี 2555/56 ครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 เข้าด้วยกัน เพื่อยืดหยุ่นในการใช้เงินโครงการ

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้รวมปริมาณและวงเงินของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ในครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 เข้าด้วยกัน เพื่อให้การดำเนินการมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กรอบปริมาณการรับจำนำ ภายใต้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 เกินกว่ากรอบที่ ครม.ได้เคยอนุมัติไว้ ให้กระทรวงพาณิชย์เสนอขอขยายกรอบปริมาณและกรอบวงเงิน ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพื่อพิจารณาและเสนอครม.ทราบต่อไป แต่ทั้งหมดต้องไม่เกินกรอบปริมาณ 22 ล้านตัน และกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท

ชี้รอบ1 ใช้เต็มกรอบเงิน 2.4 แสนล้าน

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบผลการพิจารณา เรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานกรรมการพิจารณา ไปเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการอภิปรายถึงปัญหาที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/ 56 ครั้งที่ 1 ไปเกือบเต็มกรอบปริมาณรับจำนำจำนวน 15 ล้านตัน ในวงเงินที่อนุมัติ 2.4 แสนล้านบาท ตามมติ ครม. ทำให้ ธ.ก.ส.หยุดจ่ายเงินให้กับเกษตรกร

ขณะที่ผลการรับจำนำข้าวครั้ง ที่ 2 มีเพียง 4 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินที่จ่ายไปกว่า 5หมื่นล้านบาทจากกรอบวงเงินที่ กขช.อนุมัติ 1.05 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าเมื่อโครงการสิ้นสุดปริมาณรับจำนำข้าวครั้งที่ 2 จะมีเพียง 7 ล้านตัน กขช.จึงมีมติอนุมัติให้รวมปริมาณรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เข้าด้วยกัน เพื่อให้การบริหารโครงการมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ดึงเงินจำนำรอบ 2 โปะรอบแรก

การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 และ 2555/56 ได้ใช้เงินหมุนเวียนเกือบเต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่เป็นกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ว่ามาจาก 2 แหล่งได้แก่ เงินทุน ของ ธ.ก.ส.จำนวน 9 หมื่นล้านบาท และเงินกู้จากสถาบันการเงิน จำนวน 4.1 แสนล้านบาท โดยวงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น มีการใช้ไปเกือบเต็มวงเงินแล้ว จึงอาจทำให้ในบางช่วงเวลาระหว่างที่รอเงินจากการระบายข้าว อาจทำให้มีการใช้เงินกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ และทำให้ ธ.ก.ส.ต้องสำรองจ่ายเงินกู้เพิ่มเติมไปก่อน

ดังนั้น เพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก มีสภาพคล่องและมีการบริหารเงินได้มีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้มีการนำเงินที่ได้จากการระบายผลผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ปี 2554/55 เป็นต้นไป ไปชำระคืนเงินทุนแก่ ธ.ก.ส. จำนวน 9 หมื่นล้านบาท ให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงค่อยชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยเงินทุนของ ธ.ก.ส.สามารถนำกลับมาใช้หมุนเวียน

สำหรับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ได้ และ ธ.ก.ส.สามารถสำรองจ่ายเงินกู้ชั่วคราวไปก่อน ระหว่างรอเงินจากการระบายข้าวได้ โดยให้คิดอัตราเงินชดเชยเงินต้นทุนและค่าบริหารโครงการให้กับ ธ.ก.ส.ในอัตราเดิมคือ FDR+1 (2.9875%) ของต้นเงินคงเป็นหนี้ รวมทั้งให้ค่าบริหารโครงการกับ ธ.ก.ส.ในอัตรา 2.25% ของเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปแล้ว โดยกำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ทำความตกลงกับ ธ.ก.ส. เป็นคราวๆ ไป

ทั้งนี้ ควรระบุให้ชัดเจนด้วยว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2556 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 และปี 2555/56 ต้องอยู่ในกรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังรับภาระชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ย จากการกู้ยืมเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ และผลขาดทุนทั้งหมด จากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ทั้งในส่วนที่กระทรวงการคลังจัดหาให้และในส่วนที่ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส.

สศช.จี้ปิดบัญชีไม่เกิน 5 แสนล้าน

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ทำรายงานความเห็นประกอบเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุม ครม. 3 ข้อเพื่อให้การบริหารโครงการฯมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1.การปิดบัญชีกรณีใดๆก็ตาม ซึ่งกรณีที่ต้องใช้เงินเพิ่มเติม จะต้องปิดบัญชีให้อยู่ในกรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2556

2.กระทรวงพาณิชย์ควรจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน การระบายสต็อกข้าว และกระแสเงินสดของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ที่มีอยู่ ให้ ครม.รับทราบเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2555, 1 พ.ค. 2555 และ 31 มี.ค. 2555 เพื่อให้ ครม.มีข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ควรจัดทำระบบการกำกับการตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทั้งกระบวนการให้มีความรัดกุม

แนะจำกัดปริมาณจำนำ-พื้นที่ผลิต

และ 3.เพื่อให้มีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ในระยะต่อไปมีประสิทธิภาพและลดภาระงบประมาณรายจ่ายของโครงการฯ กระทรวงพาณิชย์ ควรพิจารณาจำกัดปริมาณรับจำนำและพื้นที่การผลิตต่อครัวเรือนเกษตรกร โดยเน้นเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสม ตามประกาศเขตพื้นที่เหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนกำหนดราคา ให้สอดคล้องกับราคาของตลาดโลก เพื่อให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้

มอบ "วราเทพ" รวมข้อมูลชี้แจง

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นายกฯถามในที่ประชุมครม.นายบุญทรง ก็ตอบไม่ได้ จึงได้มอบหมายให้นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้รวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวเพื่อช่วยชี้แจงอีกทาง โดยนายกฯ เน้นให้มีการพูดคุยถึงเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เพราะยังมีประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชนเข้าใจผิดอยู่ จึงมีการพูดถึงเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

ชี้ขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท

การคำนวณของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร แบ่งเป็นส่วนของต้นทุน ประกอบด้วย วงเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) จ่ายออกไปเพื่อใช้ในการรับจำนำข้าว ประมาณ 336,000 ล้านบาท รับจำนำข้าวปี การผลิต 2554/2555 ทั้ง ข้าวนาปีและนาปรัง 5,317,684 ล้านตันข้าวเปลือก รายจ่ายในการแปรสภาพข้าว รายจ่ายในการขนส่งข้าวสารไปยังโกดังกลาง รายจ่ายในการเก็บข้าวสาร จนถึงวันปิดบัญชีโครงการ
ดอกเบี้ยที่เกิดจาก หนี้ที่ยังค้างอยู่จนถึงวันปิดบัญชีโครงการ และรายจ่ายอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หักจาก ส่วนของ รายรับ ประกอบด้วย รายได้จากการขายข้าวส่วนที่ขายออกไปแล้ว รวมกับส่วนของข้าวสารที่ยังไม่ได้ขายออก โดยอ้างอิงราคาข้าวในวันที่ปิดบัญชีโครงการ ซึ่งผลปรากฏว่ารายรับน้อยกว่าที่ต้นทุน ซึ่งเป็นผลขาดทุนประมาณ 136,800 ล้านบาท

มูดี้ส์ประเมินขายข้าวหมดใน 4 ปี

ขณะที่สมมติฐานของมูดี้ส์ที่ประเมินว่า การขาดทุนในโครงการจำนำข้าว ประมาณ 2 แสนล้านบาทนั้น ประกอบด้วยการขายข้าวที่เหลือตามราคาเดือนม.ค.-ก.พ. 2556 ขาดทุน 136,800 ล้านบาท รวมกับผลสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการขายข้าวทั้งหมด โดยประมาณการไว้ภายใน 4-6 ปี ในกรณีที่รัฐบาลรับจำนำข้าว 21.4 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 13-14 ล้านตันข้าวสาร รวมกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ปีละ 6,000-10,000 ล้านบาท ค่าเสื่อมสภาพข้าวทำให้ราคาข้าวลดลง เพราะน้ำหนักลดและคุณภาพเสื่อมอย่างน้อยปีละ 10% คิดเป็น 13,000-15,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลขาดทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 19,000-25,000 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าขายข้าวหมดภายใน 4-5 ปี ก็จะส่งผลขาดทุนถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับค่าเก็บรักษาข้าวสารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

"ถึงเวลาเลิกหลอกประชาชน และขาดทุนขนาดนี้ก็ถึงเวลาทบทวน รัฐบาลควรแถลงข้อมูลให้ชัดเจน ถ้าไม่กลัวว่าคนอื่นจะหาว่าตัวเองทำอะไรผิดต่อประเทศชาติ ก็เปิดข้อมูลมา ว่าเหลือเท่าไร จะได้คำนวณว่าในที่สุดขาดทุนเท่าไร มันถึงเวลาพูดให้ชัดซะที

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท