Skip to main content
sharethis

หนังสือ “สันติภาพและยุติธรรมที่ยั่งยืน” ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานนักสิทธิ-นักกฎหมาย ในโครงการการพัฒนาการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ เปิดให้ดาวส์โหลด E Book

 
14 มิ.ย.56 - ตามที่มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งดำเนินการโครงการประสบการณ์การทำงานภายใต้ “โครงการการพัฒนาการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้” ระหว่างเดือน ม.ค.2554- มี.ค.2556 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนสหภาพยุโรป
 
ล่าสุดได้จัดทำหนังสือ “สันติภาพและยุติธรรมที่ยั่งยืน” เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ ถึงเป้าหมายหรือเจตนารมณ์ในการทำงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ที่ร่วมมือกันทำงานเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งต้องการสะท้อนถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ข้อสังเกต และบทเรียน ที่ได้จากการดำเนินโครงการดังกล่าว
 
สามารถดาวน์โหลดหนังสือ “สันติภาพและยุติธรรมที่ยั่งยืน” ฉบับเต็มได้ที่ลิงค์:
 
ทั้งนี้ แม้จะสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินงานแล้ว แต่องค์กรภาคีทุกองค์กรก็ยังคงร่วมมือกันทำงานเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ประชาชน ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมอย่างต่อเนื่องอีกต่อไป
 
 
บทนำ

สำหรับผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับแต่เหตุการณ์ปล้นปืนปี พ.ศ.2547 ปะทุขึ้น ชีวิตของพวกเขาแทบไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป ยามย่ำรุ่งที่เคยสดใสคล้ายเป็นอดีตรางเลือนที่ไม่หวนกลับมา ไม่สามารถเดินออกจากบ้านไปกรีดยางพาราด้วยความรื่นรมย์ใจเหมือนเก่าก่อน มีเพียงความหวาดกลัวว่าเช้าวันนี้ตนเองผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวจะถูกฆ่าตายในระหว่างทางหรือไม่ แม้แต่บรรยากาศระหว่างชาวไทยพุทธกับชาวมลายูมุสลิมที่เคยผูกพันอันดีต่อกันมาช้านานก็กลับต้องถูกแทนที่ด้วยแรงกดทับหนาหนักของความหวาดระแวง เพราะในแต่ละวัน ไม่เพียงประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อสังเวยชีวิต หากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ครู รวมถึงพระสงฆ์และโต๊ะอิหม่ามต่างก็ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง แม้กระทั่งไม่นานมานี้ กรณีวิสามัญผู้ลอบโจมตีฐานกองร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ 32 บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส จนเสียชีวิตทั้ง 16 คน เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ก็คืออีกหนึ่งประจักษ์พยานสำคัญของสถานการณ์ความรุนแรงที่ผลักให้เกิดการตอบโต้ เผชิญหน้าและจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของสังคมไทย เนื่องด้วยทุกชีวิตที่ดับสูญไปตลอดระยะเวลา 9 ปี ก็ล้วนเป็นลูกหลานไทยทั้งสิ้น

โดยเฉพาะ เมื่อข้อเท็จจริงอีกด้านระบุว่า หนึ่งในผู้ที่ลอบโจมตีฐานปฏิบัติการและถูกวิสามัญนั้น คือเหยื่อในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 อันเป็นหนึ่งในคดีประวัติศาสตร์บาดแผล ที่ตราบจนวันนี้ รัฐไทยและกระบวนการทางกฎหมายของไทยก็มิสามารถดำเนินคดีเอาผิดกับผู้สั่งสลายการชุมนุมได้เลย ทั้งที่รายงานข้อเท็จจริงหลายฉับทั้งจากคณะกรรมาธิการ วุฒิสภาและรายงานการสังเกตุการณ์คดีโดยองค์กรสิทธิมนุษยชน ต่างก็มีหลักฐานพยานแน่ชัดว่าเป็นการกระทำโดยจงใจของเจ้าหน้าที่รัฐจนทำให้เกิดการเสียชีวิตและมีบุคคลสูญหายในเหตุการณ์นี้เป็นจำนวนมาก

เมื่อพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเต็มไปด้วยการกระทำนอกกรอบกฎหมาย อีกทั้งรากเหง้าแท้จริงของปัญหายังคงถูกบดบังด้วยบริบทซับซ้อนจนยากจะคลี่คลาย “กระบวนการยุติธรรมอันเที่ยงตรงและมีประสิทธิภาพ” จึงสมควรต้องเป็น ‘หลังพิง’ และ ‘เครื่องมือ’ สำคัญในการสะสางปมที่ถูกผูกไขว้จนกลายเป็น ‘เงื่อน’ ร้อยรัดผู้คนให้ติดอยู่ในวังวนแห่งการทำลายล้างอย่างไม่รู้จบสิ้น ทั้งเพื่อปิดหนทางมิให้ผู้ที่มีผลประโยชน์หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสถานการณ์ความไม่สงบ ฉวยโอกาสนำเอาวาทกรรม ‘ความไม่เป็นธรรม’ มาเป็นข้ออ้างแสวงหาแนวร่วมหรือปลุกระดมให้เกิดการก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน ทว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา กฎหมายพิเศษหลายฉบับซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ไม่สามารถยุติความรุนแรงได้เลย มิหนำซ้ำ บ่อยครั้งการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบก็กลับกลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญอันนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายเสียเอง

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จึงว่าด้วยเรื่องราวของความพยายามผลักดันสันติภาพให้บังเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ผ่านการต่อสู้กับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยกระบวนการทางกฎหมาย โดยไม่ละทิ้งต่อการทำความเข้าใจในบริบทอื่นๆ ทางสังคมและวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็มุ่งหวังให้คดีความต่างๆ ถูกหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษา เป็นบรรทัดฐานและเป็นบทเรียนที่ทุกองคาพยพซึ่งเกี่ยวข้องรวมทั้งผู้คนในทุกภาคส่วนของสังคมควรได้เรียนรู้ร่วมกัน ว่าตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมเองยังมีบางขั้นตอนอันอ่อนด้อย ห่างไกลและซับซ้อนเกินกว่าที่ประชาชนจะเอื้อมถึง ทั้งกฎหมายต่างๆ ยังเต็มไปด้วยช่องโหว่ซึ่งเอื้อให้เกิดการใช้อำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตราบนั้น การกระทำ ‘นอกกฎหมาย’ ทุกรูปแบบย่อมไม่มีวันจบสิ้นลงได้เลย

เหล่านี้เองคือปฐมเหตุอันใหญ่หลวงที่ผลักดันให้เกิด ‘โครงการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้’ โดยความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรอันแข็งแกร่ง ได้แก่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation-CrCF) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (Muslim Attorney Center Foundation-MAC) ร่วมด้วยเหล่านักกฎหมาย ทนายความ ผู้ช่วยทนายความและอาสาสมัครในพื้นที่ซึ่งพร้อมนำความรู้ความสามารถที่มีมาร่วมตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยความมุ่งหวังว่าการใช้อำนาจ “นอกระบบ” ทุกรูปแบบจะหมดสิ้นไปในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

เมื่อเสาหลักแห่งกระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งให้คนทุกหมู่เหล่าได้อย่างแท้จริง …
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net