Skip to main content
sharethis

ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนสันติพัฒนาเตรียมยื่นฟ้องกรมที่ดิน-กรมป่าไม้ ต่อศาลปกครอง ร้องได้รับความเดือดร้อนจากกรณีหน่วยงานของรัฐไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ทำชาวบ้านถูกตัดสินจำคุกข้อหาบุกรุกและให้ชดใช้ค่าเสียหายให้นายทุนรุกที่ป่า

 
วันนี้ (18 มิ.ย.56) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) แจ้งข่าวตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 20 คน จะเดินทางมายื่นฟ้องหน่วยงานและเจ้าหน้าที่งานรัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกรมป่าไม้ ต่อศาลปกครองกลาง ในช่วงบ่ายวันที่ 19 มิ.ย.56
 
คำฟ้องขอให้ศาลปกครอง เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินและคณะกรรมการฯ และให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินจำนวน 13 แปลง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 10 แปลง ที่ออกให้แก่บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ป่าไม้ถาวรหมายเลข 92 แปลงที่ 29 และป่าสงวนแห่งชาติป่าย่านยาว ป่าเขาวง และป่ากระซุม
 
สืบเนื่องจาก ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนาได้รับความเดือดร้อนจากการที่หน่วยงานของรัฐไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว โดยถูกศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีตัดสินให้ลงโทษจำคุกในคดีอาญาข้อหาบุกรุก และให้ชดใช้ค่าเสียหาย แก่บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) เนื่องจากศาลเห็นว่าเอกสารสิทธิ์ที่ดินแม้จะออกในพื้นที่ป่าไม้ถาวรและป่าสงวนแห่งชาติ แต่เมื่อยังไม่มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์และเป็นชื่อของบริษัทอยู่ถือว่าบริษัทเป็นเจ้าของที่ดิน ทำให้ชาวบ้าน
 
การฟ้องคดีนี้ตัวแทนชาวบ้านที่ร่วมฟ้องคดีประกอบไปด้วย นายบุญฤทธิ์ ภิรมย์ นายมนัส กลับชัย นายอรุณ เมฆจันทร์ฉิม นายข้อง ขันฤทธิ์ นายเรียง ขันสิทธิ์ นายสถิต คำสุทธิ์ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว
 
 
ที่มาและสภาพปัญหา
 
ปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินโดยไม่เป็นธรรมเป็นปัญหาที่เกิดมาช้านานแล้ว หากย้อนหลังไปหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐมีนโยบายนำพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาให้เช่าระยะยาวหลายสิบปี และเช่าในราคาถูก โดยประชาชนผู้ที่ยากจนผู้ไม่มีที่ดินทำกินไม่ได้รับสิทธิในการเช่า แต่ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เช่าที่ดินส่วนใหญ่กลับเป็นนายทุน นักการเมืองและข้าราชการ โดยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีนายทุนที่เป็นคนไทยและนายทุนจากต่างชาติ ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินหลายแสนไร่เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา ขณะเดียวกันนายทุนบางรายฉวยโอกาสบุกรุกที่ดินของรัฐทำประโยชน์ในที่ดินมากกว่าที่ได้รับอนุญาต โดยทางรัฐก็เพิกเฉยไม่ดำเนินการทางกฎหมายปล่อยให้นายทุนใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรดังกล่าวตลอดมา
 
ในปี 2546 ประชาชนที่เป็นเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน จึงได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบการถือครองและทำประโยชน์ ของบริษัทและนายทุนรายใหญ่ ประกอบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้รัฐบาลดำเนินนโยบายกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ซึ่งในวันที่ 26 สิงหาคม 2546 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาวางกรอบและแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการ ให้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยพื้นที่ที่หมดอายุการอนุญาตให้ยุติการอนุญาตต่ออายุไว้ก่อน พื้นที่ที่ยังไม่หมดอายุการอนุญาต หากผิดเงื่อนไขการอนุญาตก็ให้พิจารณายกเลิกการอนุญาต การเข้าทำประโยชน์ พื้นที่ที่ยังไม่หมดอายุการอนุญาต และปฏิบัติตามเงื่อนสัญญา มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาทบทวนกรอบการดำเนินการ กรอบเวลาของการอนุญาต และกรอบอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ ให้นำพื้นที่ที่หมดอายุหรือผิดเงื่อนไขการอนุญาต มาจัดระเบียบการอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยจะพิจารณาให้กับราษฎรผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเองและเป็นคนในพื้นที่เป็นหลัก
 
หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายดังกล่าวแล้ว หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ก็มิได้ดำเนินการใดๆ จนกระทั่ง ในปี 2550 ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินในพื้นที่อำเภอชัยบุรีและอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้เรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ดำเนินการตรวจสอบการถือครองและทำประโยชน์ ของบริษัทและนายทุนรายใหญ่ตามมติคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะงานระดับอำเภอตรวจสอบที่ดินแปลง บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจำกัด (มหาชน) ในท้องที่อำเภอ พระแสง จังหวัด สุราษฎร์ธานี โดยมีนายอำเภอพระแสงเป็นประธานคณะทำงาน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ปกครองท้องที่ ตัวแทนบริษัท และผู้แทนภาคประชาชน ที่เป็นตัวแทนของชาวบ้านไปเป็นคณะทำงานระดับอำเภอฯ
 
ผลการตรวจสอบของคณะทำงานพบว่า บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)ครอบครองและทำประโยชน์ในพื้นที่ 3,392-3-05 ไร่ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน
 
            ส่วนที่ 1 อยู่ในเขตป่าไม้ถาวรหมายเลข 92 แปลง 29 เนื้อที่ 1,210-1-82 ไร่
            ส่วนที่ 2 อยู่ในเขต ส.ป.ก. เนื้อที่ 276-0-14 ไร่
            ส่วนที่ 3 อยู่ในเขตออกเอกสารสิทธิ์กรมที่ดิน เนื้อที่ 1,901-1-83 ไร่
 
 
การร้องเรียนของชาวบ้านต่อหน่วยงานอื่นของรัฐ
 
นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐ เพื่อตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่ทั้งสองบริษัท ดังนี้
 
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตัวแทนชาวบ้านร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบการถือครองที่ดินและเพิกถอนเอกสารสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลการตรวจสอบของผู้ตรวจการพบว่าบริษัท ถือครองที่ดินไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน ม.58 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการ ทำประโยชน์ไว้ว่า ห้ามมิให้ดำเนินการในท้องที่ที่เป็นเขตป่าไม้ถาวร ต้องเพิกถอนตาม ม.61 และมีข้อเสนอแนะให้กรมที่ดินเร่งรัดดำเนินการดังกล่าว ส่วนที่ดินในเขต ส.ป.ก.ก็ให้เร่งรัดนำมาจัดสรร
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับเรื่องร้องเรียนและลงพื้นที่ อีกทั้งเรียกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการ ผลจากการตรวจสอบเชื่อว่าบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) โจทก์ร่วมยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐที่เป็นป่าไม้ถาวรและเขตปฏิรูปที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนสันติพัฒนาตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและลงพื้นที่ มีข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะว่า การออก น.ส.3 ก.จำนวน 10 แปลง แก่บริษัท สหอุตสาหกรรม น้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ครอบครองอยู่มีการอ้างข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ได้มา ซึ่งเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันเป็นเขตป่าไม้ถาวร การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ทำให้ผู้ครอบครองไม่มีสิทธิในที่ดิน
 
กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย พ.ต.ท ประวุธ วงศ์สีนิล ได้ลงพื้นที่เพื่อสอบสวนบุคคลเกี่ยวข้อง กับที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นทายาทบุคคลที่มีชื่อในน.ส.3 ก. และช่างสำรวจรังวัดในโครงการเดินสำรวจเมื่อปี 2519 โดยบุคคลดังกล่าว ได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้มีการทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 และพื้นที่ยังมีสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์และไม่มีการทำประโยชน์
 
 
การตรวจสอบและการดำเนินการของกรมที่ดินและคณะกรรมการ
 
กรมที่ดินได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาแล้ว สรุปว่า การออกเอกสารสิทธิ์หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ให้แก่บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ครอบครองอยู่ ออกในเขตป่าไม้ถาวร ผู้ปกครองท้องที่รับรองว่าเจ้าของที่ดินคนเดิมเป็นผู้ก่นสร้างก่อนมีการเดินสำรวจ อีกทั้งขณะที่มีการเดินสำรวจฯ ที่ดินมิได้เป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออก น.ส.3ก. จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะดำเนินการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) และให้รอผลคดีที่บริษัทฟ้องขับไล่ชาวบ้าน
 
ส่วนโฉนดที่ดินจำนวน 13 แปลง ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 เนื่องจากออกหลังประกาศเขตป่าสงวน และอธิบดีกรมที่ดินได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อเพิกถอนที่ดินดังกล่าวตามคำสั่งกรมที่ดินที่ 1028/2553 ลงวันที่ 8 เมษายน 2553 แต่ในที่สุดก่อนฟ้องคดีนี้ตัวแทนชาวบ้านได้สอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับผลการพิจารณาตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เจ้าหน้าที่กรมที่ดินแจ้งด้วยวาจาว่าอธิบดีและคณะกรรมการมีความเห็นไม่เพิกถอนไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 13 แปลง ด้วย
 
 
การฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีการทบทวนคำสั่ง
 
กรมที่ดินได้มีการออกโฉนดที่ดินจำนวน 13 แปลง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.)จำนวน 10 แปลง ที่ออกให้แก่บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ป่าไม้ถาวรหมายเลข 92 แปลงที่ 29 และป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าย่านยาว ป่าเขาวง และป่ากระซุม” ในเขตอำเภอ พระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งผู้มีชื่อใน น.ส.3ก. ก็ยอมรับว่าตนหรือญาติไม่เคยครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวมาก่อน ประกอบกับบันทึกข้อตกลงร่วมกันกรมที่ดินและกรมป่าไม้ กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (ปัจจุบันเป็นอำนาจอธิบดีกรมที่ดิน) จะต้องเพิกถอนการออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net