Skip to main content
sharethis

การประท้วงล่าสุดในบราซิลลามไปยังเมืองสำคัญอย่าง ริโอ เดอ จาเนโร, บราซิลเลีย, เซา เปาโล ซึ่งผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลในหลายๆ เรื่องทั้งเรื่องค่าครองชีพ เรื่องการทุจริต เรื่องการใช้งบประมาณไปกับฟุตบอลโลก 2014 มากกว่าการพัฒนาการศึกษาหรือระบบสาธารณสุข

18 มิ.ย. 2013 ประชาชนราว 200,000 คน ในบราซิลออกมาเดินขบวนบนท้องถนนตามเมืองสำคัญหลายเมือง เพื่อประท้วงเรื่องการขึ้นค่าระบบขนส่งมวลชนและค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2014 ซึ่งถือว่าเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของบราซิลในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

สำนักข่าว BBC รายงานว่าการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดมีขึ้นในเมือง ริโอ เดอ จาเนโร ที่มีประชาชนราว 100,000 คนออกมาเดินขบวนประท้วงอย่างสงบ ขณะที่ในกรุงบราซิลเลีย มีประชาชนบางส่วนที่ชุมนุมอยู่รอบอาคารรัฐสภาได้ฝ่าหน่วยรักษาความปลอดภัยและปีนขึ้นไปบนหลังคา ขณะที่ในเมือง เซา เปาโล มีประชาชนชุมนุมกว่า 65,000 คน

กระแสการประท้วงรอบล่าสุดในบราซิลเริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาจากการที่ประชาชนในเซา เปาโล ออกมาประท้วงการขึ้นราคาค่าโดยสารรถประจำทางจาก 3 เรียล (ราว 42 บาท) เป็น 3.20 เรียล (ราว 45 บาท) ซึ่งทางการบราซิลออกมาชี้แจงในกรณีนี้ว่าการขึ้นค่าโดยสารไม่ได้ขึ้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยที่เพิ่มขึ้นจากราคา 3 เรียลของเดือน ม.ค. 2011 เพียงร้อยละ 15.5 เท่านั้น

จนกระทั่งต่อมาการประท้วงเริ่มขยายประเด็นจากเรื่องค่าครองชีพมาเป็นเรื่องความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม มาจนถึงเรื่องความไม่พอใจต่อรัฐบาล

"หลายปีมาแล้วที่รัฐบาลหล่อเลี้ยงการทุจริต ประชาชนกำลังประท้วงต่อต้านระบบ" กราเซียล่า คาคาดอร์ กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ

ขณะที่บางคนก็ไม่พอใจที่มีการนำเงินไปใช้กับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2014 และโอลิมปิกปี 2016 แทนที่จะใช้เงินไปกับการพัฒนาด้านการศึกษาและการสาธารณสุข

"พวกเราไม่มีโรงเรียนดีๆ ให้กับเด็กๆ โรงพยาบาลของพวกเราอยู่ในสภาพย่ำแย่ การทุจริตมีอยู่มาก การประท้วงในครั้งนี้จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ และเพื่อเป็นการปลุกให้นักการเมืองของเราเห็นว่าพวกเราไม่ทนอีกต่อไปแล้ว" มาเรีย คลอเดีย คาร์โดโซ ผู้ประท้วงอีกรายกล่าว

ขณะที่ช่างภาพอายุ 26 ปีที่เข้าร่วมชุมนุมบอกว่าบราซิลเป็นประเทศที่มีศักยภาพมาก แต่เงินตรากลับไม่ไปถึงผู้คนที่ต้องการมันมากที่สุด

เว็บบล็อกข่าวพลเมือง ไอรีพอร์ทของ CNN ของผู้ใช้ชื่อ philipviana ได้กล่าวถึงสาเหตุที่บราซิลมีการชุมนุมใหญ่ว่าประชาชนบราซิลไม่พอใจที่แม้ว่าจะเป็นประเทศที่เก็บภาษีแพงที่สุดในกลุ่มประเทศโลกที่สาม แต่ก็มีค่าครองชีพสูงและมีระบบบริการสาธารณะที่ไม่ได้คุณภาพ นอกจากนี้ยังเกิดความรู้สึกไร้อำนาจเนื่องจากมีการทุจริต การที่ผู้นำมาเฟียยังมีอำนาจโดยไม่ได้ถูกลงโทษ ทำให้อำนาจศาลถูกลบล้างโดยอำนาจฝ่ายบริหาร

การประท้วงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนดำเนินมาจนกระทั่งถึงวันที่ 13 มิ.ย. 2013 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมรวมถึงผู้สื้อข่าวหลายคน ทำให้กลุ่มสิทธิพลเมืองหลายกลุ่มรวมถึงองค์กรนิรโทษกรรมสากลและสหพันธ์นักข่าวของบราซิลกล่าววิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเจ้าหน้าที่

จูเลีย คาร์เนโร ผู้สื่อข่าว BBC รายงานจากบราซิลว่า ผู้ประท้วงได้พากันขานคำขวัญต่างๆ เช่น "ประชาชนตื่นแล้ว"

ขณะที่การประท้วงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่พยายามเข้าไปเกี่ยวข้องหลังจากมีการเจรจาระหว่างแกนนำการชุมนุมกับหัวหน้าหน่วยรักษาความสงบ โดยบรรลุข้อตกลงกันว่าตำรวจจะไม่ใช้ปืนยิงกระสุนยาง

แต่ถึงแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในริโอ เดอ จาเนโร จะประท้วงอย่างสงบ แต่ก็มีกลุ่มเล็กๆ ที่ใช้ก้อนหินขว้างปาตำรวจและวางเพลิงรถยนต์รวมถึงทำลายอาคารที่ประชุม ทำให้ตำรวจใช้แก็สน้ำตา, สเปรย์พริกไทย และกระสุนยางในการสลายกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ปะทะกันกับตำรวจในเบลโล โฮริซอง ที่มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลคอนเฟเดอเรชันส์คัพ ซึ่งเป็นการแข่งอุ่นเครื่องก่อนเวิร์ลคัพ

ในกรุงบราซิลเลีย มีประชาชนมากกว่า 200 คนปีนขึ้นไปบนหลังคาของอาคารรัฐสภา แต่หลังจากตำรวจเข้าเจรจาพวกเขาก็ยอมลงมา และต่อมาก็มีกลุ่มเยาวชนทำโซ่มนุษย์รอบอาคาร

 

"การปฏิวัติน้ำส้มสายชู"

ในสื่อโซเชียลมีเดีย ก็มีภาพของคนเรียงตัวกันเป็นรูปสัญลักษณ์สันติภาพ และมีข้อความให้กำลังใจจากตุรกีซึ่งเป็นอีกประเทศที่กำลังมีการประท้วงอย่างหนัก

การประท้วงระลอกล่าสุดมีการตั้งชื่อว่า "การปฏิวัติน้ำส้มสายชู" หลังจากที่มีผู้ประท้วงราว 60 คนถูกจับจากการที่พวกเขาพกน้ำส้มสายชูเพื่อนำมาป้องกันแก็สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย บ้างก็เรียกว่า "ฤดูใบไม้ร่วงในบราซิล" (Outono Brasileiro) ซึ่งเป็นการล้อเลียนชื่อปรากฏการณ์ "ผลิบานในอาหรับ" (Arab Spring) แต่อีกส่วนหนึ่งก็ตั้งชื่อจริงจังว่า'พริมาเวรา' (Primavera) ซึ่งหมายถึงฤดูใบไม้ผลิ

ประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ กล่าวว่าการประท้วงอย่างสงบเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรม และเป็นธรรมดาที่คนหนุ่มสาวจะออกมาประท้วง แต่ทางด้านรัฐมนตรีกระทรวงการกีฬา อัลโด เรเบโล เตือนผู้ชุมนุมว่าทางการจะไม่ยอมให้พวกเขาก่อกวนการแข่งขันฟุตบอลไม่ว่าจะเป็นการแข่งคอนเฟเดอเรชันส์คัพ หรือการแข่งเวิร์ลคัพ

"รัฐบาลมีหน้าที่และเกียรติยศที่ค้องปกป้องงานแข่งระดับโลกทั้งสองงานนี้ไว้ และจะทำตามหน้าที่นั้น โดยการรักษาความปลอดภัยและความสมบูรณ์แบบให้กับแฟนบอลและนักท่องเที่ยว" อัลโด เรเบโล กล่าว

ขณะที่ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ นาวี พิลเลย์ เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในความสงบ โดยบอกให้เจ้าหน้าที่ทางการบราซิลใช้ความอดกลั้นในการควบคุมการประท้วงที่แพร่ไปทั่วประเทศ และขอให้ฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ใช้ความรุนแรงในการเรียกร้อง และบอกอีกว่าทางองค์กรของยูเอ็นมีความเป็นห่วงไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังกับผู้ชุมนุมเหมือนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

เรียบเรียงจาก

Brazil protests spread in Sao Paulo, Brasilia and Rio, BBC, 18-06-2013 http://www.bbc.co.uk/news/world-latin-america-22946736

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/2013_Brazilian_protests

Brazil Protests Go Viral As Masses Take to Street, 18-06-2013 http://blogs.wsj.com/dispatch/2013/06/18/brazil-protests-go-viral-as-masses-take-to-street-2

What's REALLY behind the Brazilian riots?, CNN iReport, 14-06-2013  http://ireport.cnn.com/docs/DOC-988431

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net