Skip to main content
sharethis

 


บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นการถอดคำให้สัมภาษณ์ของนายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ที่เข้าร่วมการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทย ซึ่งมีการนำคลิปเสียงนี้มาออกอากาศผ่านรายการ "โลกวันนี้" ของสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. วันที่ 18 มิถุนายน 2556

สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน เป็นสถานีวิทยุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกอากาศด้วยภาคภาษามลายู โดยมีสถานีแม่ข่ายอยู่ที่จังหวัดปัตตานีคลื่นความถี่ FM 91.50 MHz และกระจายเสียงทางสถานีเครือข่ายในจังหวัดยะลาคลื่นความถี่ FM 96.25 MHz จังหวัดยะลา คลื่นความถี่ FM 101.75 MHz จังหวัดนราธิวาส และสามารถรับฟังออนไลน์ได้ที่ www.rdselatan.com

ส่วนการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว มีขึ้นหลังจากการพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทยครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีเนื้อหาดังนี้
 

อะไรบ้างที่ท่านคิดว่าเป็นผลที่ได้รับจากการพูดคุยในครั้งนี้
จากบรรยากาศในการพูดคุยในครั้งนี้ เราได้ยกระดับขึ้นมาจากเดิมบ้างเล็กน้อย นอกเหนือจากที่เราได้ทำความรู้จักแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันระหว่างคณะทางฝ่ายรัฐไทยกับทางฝ่ายบีอาร์เอ็นที่เริ่มมีความคุ้นเคยกว่าก่อนหน้านี้ เราเห็นว่าการพูดคุยในครั้งนี้มีท่าทีเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งผลจากการพูดคุยในครั้งนี้ เราได้รับสองอย่างด้วยกันคือ

ประการแรก ทางเราได้เรียกร้องไปยังรัฐไทยเพื่อให้ยอมรับเงื่อนไขทั้ง 5 ข้อที่เราได้เสนอไปก่อนหน้านี้ และเพื่อความละเอียดที่ดีกว่านี้ ทางเราได้ทำการเตรียมพร้อมอยู่บ้างแล้ว เพื่อให้การยื่นข้อเรียกร้องของเราต่อรัฐไทยมีน้ำหนักขึ้นกว่าเดิมภายหลังจากเดือนรอมฎอนนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาถึงความเป็นไปได้ต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว

ถึงแม้ว่าโดยหลักการ เราได้เสนอไปแล้วอย่างชัดเจน แต่ว่าทางฝ่ายไทยเองก็ขอร้องให้เราทำการศึกษาถึงข้อเรียกร้องด้วยเช่นกัน ว่าความหมายต่อความต้องการสิทธิความเป็นเจ้าของ (hakpertuanan)นั้นเป็นรูปแบบใด

และประการที่สองที่ได้รับจากการพูดคุยในครั้งที่ผ่านมา (13/06/2013) ระหว่างทางฝ่ายเราและทางฝ่ายไทยเอง ได้ร้องขอให้ลดความรุนแรงลงในเดือนรอมฎอน ซึ่งทางเราก็ได้ตอบรับในหลักการเพื่อที่จะให้ลดเหตุความรุนแรงลง แต่ต้องด้วยเงื่อนไขบางประการ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวเราจะทำการส่งไปในอีกสิบวัน (หลังจากการพูดคุยในวันนั้น) ในเดือนนี้
 

ดูเหมือนว่าการพูดคุยในรอบนี้ค่อนข้างที่จะเสร็จสิ้นเร็วกว่าปกติ เพราะเหตุใด?
สาเหตุที่เราค่อนข้างที่ใช้เวลาไม่ค่อยนานคือ เราไม่มีประเด็นอะไรมาก ความจริงแล้วเราได้ใช้เวลาค่อนข้างนานไปกว่าครั้งที่แล้ว ต่อข้อเรียกร้องเงื่อนไขทั้ง 5 ข้อในเบื้องต้น ซึ่งไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น และทางฝ่ายเราได้ให้ฝ่ายไทยทำการเร่ง เพื่อให้ศึกษาทำความเข้าใจถึงความต้องการที่ได้เสนอโดยบีอาร์เอ็นแทนชาวปาตานีทั้งหลาย
 

หมายความว่าการพูดคุยในครั้งนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น?
เราได้เห็นจากการพูดคุยในครั้งนี้ เราได้เห็นถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างการพูดคุย ถึงแม้ว่าในบางช่วงอาจมีบ้างอากัปกิริยาที่แข็งกร้าวในทางความคิดก็ตาม แต่ว่าก็ยังสามารถอะลุ่มอล่วยทำความเข้าใจกันได้ สามารถร่วมกันเดินหน้าด้วยดี ซึ่งเราได้เห็นบรรยากาศเช่นนั้น ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานก็ตาม เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรัง ปัญหาที่มีระยะเวลาร้อยปี

ในการนี้เราก็ขอขอบคุณต่อรัฐบาลไทยที่นำโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรด้วย เพราะว่าดูเหมือนทางฝ่ายไทยเองก็มีความจริงจังเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ก็ต้องรอดูต่อไปหลังจากนี้

แต่ ณ วันนี้เท่าที่เห็นก็คือทางฝ่ายไทยเองก็มีความหนักแน่นอย่างมาก นอกเสียแต่ว่าจะมีบางฝ่ายที่เป็นอุปสรรค ที่จะมาจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ภายในของไทยเอง ซึ่งมันคงต้องมีอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากว่า ได้รับการสนับสนุนที่ดีพออย่างจริงจังจากฝ่ายผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายกองทัพจากฝ่ายพระราชวังเอง แน่นอนปัญหาทางภาคใต้ของไทยที่ปาตานีจะสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งสำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้น ความจริงแล้วเป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างมากก็จะมาจากฝ่ายค้าน ซึ่งหากว่าเรื่องนี้ได้รับแรงสนับสนุนที่ดีจากทางกองทัพและพระราชวัง จากผู้มีอำนาจหน้าที่ในบ้านเมือง ปัญหาคงจะสามารถแก้ไขได้อย่างราบรื่น รวดเร็วยิ่งขึ้น สิ่งนี้เองที่เรากำลังรอคอย

เราได้เรียกร้องไปยังฝ่ายทหารก็เพราะว่า ในกองทัพเองก็มีทั้งที่เห็นด้วย บางส่วนก็ไม่เห็นด้วย และบางส่วนก็ทำตัวนิ่งเฉย สิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ เราหวังว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้นจะได้หันมาสนับสนุนในเรื่องนี้

เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาของประเทศชาติ ไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล ไม่ใช่ปัญหาการฉวยโอกาสหากิน ไม่ใช่ปัญหาการหาผลประโยชน์ส่วนตัว อันนั้นขอให้ทิ้งเสียเถิด เราไปหางานอื่นทำจะดีกว่า

ที่สำคัญเราต้องแก้ไขปัญหาของชาติ เพราะว่าเรื่องประเทศชาติถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องความร่ำรวย ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ซึ่งเราก็หวังว่าทางฝ่ายกองทัพ ทางฝ่ายพลเรือน (ประชาชน) หรือทางพรรคฝ่ายค้านของไทยเอง เพื่อให้เข้าใจเสียทีเถิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของประเทศชาติ เป็นปัญหาระหว่างประชาชนชาวไทยกับประชาชนชาวมลายูที่มีความเรื้อรังกันมานาน
 

จะเห็นได้ว่าเริ่มมีความหวังพอสมควรเพราะความจริงใจจากฝ่ายรัฐก็เริ่มมีให้เห็น ประกอบกับกระบวนการพูดคุยก็ดำเนินไปได้ด้วยดี
ใช่ หากว่าได้ดูความจริงใจที่เกิดขึ้น ความหวังในการพูดคุยอาจประสบความสำเร็จได้ ถึงแม้ว่าต้องอาศัยระยะเวลาอยู่พอสมควร
 

ประเด็นข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อจนถึงตอนนี้ถูกตอบรับหรือไม่อย่างไร
เกี่ยวกับประเด็นถึงข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อนั้น จะเห็นว่า ประการแรกนั้นที่เราได้เรียกร้องให้มีการยอมรับว่าขบวนการบีอาร์เอ็นนั้นเป็นองค์กรใหญ่ (ที่มีบทบาท) ในฐานะเป็นตัวแทนของกลุ่มอื่นๆ ในฐานะเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน ซึ่งความจริงเราได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าว เพื่อที่ว่าการพูดคุยต่อไปจะเป็นไปอย่างราบรื่น และจงอย่าได้มีความคลางแคลงอีกต่อไป อย่าได้กระวนกระวายอีกต่อไป อย่าได้หมดความเชื่อถือต่อประเทศมาเลเซีย

เพราะว่าทางฝ่ายบีอาร์เอ็นเองมีความจริงใจและหนักแน่นพร้อมเผชิญหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นที่ปาตานี นั่นก็คือปัญหาระหว่างประชาชนปาตานีเชื้อชาติมลายูปาตานีกับทางผู้ปกครองที่เป็นชาวไทย และเขาก็มีความเป็นไทย และเราก็มีความเป็นมลายู มีวัฒนธรรมมลายู มีอัตลักษณ์มลายูเป็นของตนเอง เพื่อที่ว่าเขาจะได้เข้าใจเรา หากว่าไม่มีความเข้าใจตรงจุดนี้ก็คงยากที่จะยุติได้

และนอกจากนั้นในเรื่องของการยอมรับมาเลเซียในฐานะผู้ให้ความสะดวก (Facilitator) และคนกลาง (mediator) ซึ่งเราเองคิดว่าต้องค่อยๆ ดูสถานการณ์กันไปก่อน อย่างวันนี้มาเลเซียเองก็พอใจตามที่เขาเป็นอยู่ เพราะว่าสิ่งที่เขาทำหน้าที่ในการแก้ไขความขัดแย้งทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ในระยะเวลา 15 ปี เขาก็มีบทบาทในฐานะผู้อำนวยการเท่านั้น ซึ่งก็สามารถแก้ไข สามารถยกระดับปัญหาที่ฟิลิปปินส์ได้เช่นกัน

เราเองคิดว่าที่ปาตานีก็เช่นกัน เขา (มาเลเซีย) สามารถกระทำได้ ด้วยบทบาทในฐานะผู้ให้ความสะดวก แต่ว่าทางเราต้องการที่จะยกระดับเพื่อการพูดคุยของเราจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราเรียกร้องก็คือต้องสนับสนุนเพื่อให้มาเลเซียนั้นมีบทบาทในฐานะคนกลางต่อไป

ต่อไปก็เป็นเรื่องของผู้สังเกตการณ์จากองค์กรภาคประชาสังคม จากสมาชิกอาเซียนและจากโอไอซี อันนี้เราเองก็ต้องดูโอกาสที่เหมาะสม เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นคือผู้ที่จะมาเป็นพยาน เราต้องพูดคุยในประเด็นหลักที่สำคัญเสียก่อน เมื่อโอกาสพร้อม เราอาจจะนำพวกเขามาร่วมด้วยเพื่อเป็นสักขีพยาน นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ

ที่สี่ คือเรื่องความเป็นเจ้าของ (hakpertuanan) เพราะถือเป็นประเด็นหลัก ซึ่งสิ่งนี้เช่นกันที่ฝ่ายไทยต้องการให้เราให้ความกระจ่างที่ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่เราก็ได้บอกไปแล้วอย่างคร่าวๆ ก็คือว่า สิทธิความเป็นเจ้าของก็คือสิทธิของปวงชนชาวปาตานี แต่ว่าทางฝ่ายไทยต้องการให้ลงในรายละเอียดให้ชัดเจนว่าเป็นเช่นไร จะเป็นแบบออโตนอมิหรือไม่? หรือเป็นแบบปกครองพิเศษ? อย่างไรก็ตามเราก็ยังไม่ได้ให้คำตอบในจุดนี้ แต่ที่สำคัญขอให้ทำการยอมรับในเรื่องนั้นไปก่อนถึงสิทธิความเป็นเจ้าของของประชาชนชาวมลายูปาตานี

และอีกเรื่องหนึ่งเราขอเวลาอีกสักระยะในการประสานไปยังระดับบนของบีอาร์เอ็น กับฝ่ายที่สามารถออกความเห็นต่อเรื่องสิทธิของความเป็นเจ้าของได้ เพราะว่าเราต้องการที่จะให้ออกมาดีที่สุดว่าความต้องการนั้นเป็นอย่างไร ดูว่าพร้อมเมื่อไร ซึ่งหลังจากรอมฎอนนี้เราจะแจ้งให้ทราบ

ส่วนเรื่องของการลดเหตุรุนแรงลงในเดือนรอมฎอนนั้น เราจะทำการส่งเงื่อนไขข้อเรียกร้องไป แต่ว่าจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวเรากำลังรอการชี้แจงจากคนในพื้นที่และสภาชูรออีกครั้ง เพื่อที่จะเสนอให้ทราบต่อไป และก็ขอร้องให้ฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่และสภาชูรอได้ส่งเงื่อนไขดังกล่าวมาให้ทราบ เพื่อจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายทั้งไทยและบีอาร์เอ็น ในเรื่องนี้เราได้ขอเวลาสิบวันด้วยกัน (หลังจากวันที่ 13/06/2013)

ส่วนเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของนั้นไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นนอน จนกว่าเราเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้วเราจะนำเสนอต่อไป


แล้วเรื่องการยกเลิกหมายจับ
เราได้เรียกร้องให้เขาทำการยกเลิกหมายจับต่อผู้ที่ถูกออกหมายจับในคดีความมั่นคง (pejuang patani) ไม่ใช่คดีอาชญากรรมทั่วไป และรวมไปถึงกับผู้ที่ถูกคุมขังในเรือนจำ เราก็ได้เรียกร้องให้เขาทำการปล่อยตัว ส่วนจะปล่อยกันกี่คนนั้นแล้วแต่เขา จะกี่สิบหรือกี่ร้อย เรื่องนั้นเป็นหน้าที่ของเขา อย่างที่ฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่ทำการเรียกร้องเช่นเดียวกันกับบีอาร์เอ็นและกลุ่มต่างๆ ต้องการ



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
คลิปเสียง พล.ท.ภราดร สนทนาในรายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน
http://www.deepsouthwatch.org/dsj/4376

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net