Skip to main content
sharethis

 

จักรกริช สังขมณี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในทีมวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” เขาลงพื้นที่ศึกษาตัวอย่างหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในจังหวัดอุบลราชธานี นามสมมติว่า “ชุมชนปรารถนา” โดยเหตุที่ต้องปกปิดชื่อที่แท้จริงก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูล

งานวิจัยส่วนนี้เป็นการลงพื้นที่เพื่อศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองในระดับหมู่บ้าน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับชาติ โดยจักรกริชมองว่าการศึกษาการเมืองของคนชนบทผ่านมิติเรื่องของการเลือกตั้งและการเคลื่อนไหวภาคประชาชนนั้นยังมีข้อจำกัดพอสมควรในการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในชนบทไทยทุกวันนี้ การศึกษาของเขาจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาการเมืองในชีวิตประจำวัน คือ ดูความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ ผ่านมิติและช่องทางต่างๆ ที่คนในชนบทให้คุณค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบเครือญาติ เรื่องของการจัดสรรทรัพยากร การเข้าถึงโอกาสในการทำมาหากิน หรือแม้แต่การได้รับการยอมรับในสังคม

จักรกริชกล่าวด้วยว่า การศึกษาในแต่ละภูมิภาค ผู้ศึกษามีความสนใจและข้อสันนิษฐานที่แตกต่างกัน เช่นในภาคเหนือ อาจารย์ปิ่นแก้วสนใจศึกษาอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคนในพื้นที่ ในภาคใต้อาจารย์อนุสรณ์สนใจศึกษาปัจจัยทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อสำนึกทางการเมืองของคนใต้ สำหรับภาคอีสานเขาสนใจศึกษาความมุ่งมาดปรารถนาที่เปลี่ยนแปลงไปของคนชนบท

ถามว่าทำไมต้องเป็นหมู่บ้านดังกล่าว คำตอบคือเนื่องจากหมู่บ้านนี้มีลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท คือมีระบบการผลิตแบบตลาดอย่างชัดเจน แต่ก็มีการผลิตในครัวเรือนหลงเหลืออยู่ไปพร้อมๆ กันด้วย และมีความสัมพันธ์กับธุรกิจการท่องเที่ยวหรือธุรกิจชุมชนอื่นๆ อีกมากมาย เขาไม่ได้มองหมู่บ้านนี้ในฐานะที่เป็นตัวแทนของชนบท หรือตัวแทนหมู่บ้านที่ภาคอีสาน เพราะโดยหลักการมันทำไม่ได้อยู่แล้ว นี่เป็นแค่เพียงความพยายามทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในชนบท เพื่อนำไปสู่การสลายกรอบ ความเข้าใจเดิมๆ เกี่ยวกับชนบทเท่านั้น

“หมู่บ้านนี้จึงเป็นเพียงแค่ตัวอย่าง มิใช่ตัวแทนหรือตัวแบบ การศึกษาในชุมชนอื่นอาจได้ผลที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นเวลาลงชุมชนเราจึงไม่สนใจแค่ประเด็นเหลือง-แดง ในตอนต้นของการศึกษาอาจจะใช่ แต่เราพบว่ามันเป็นกรอบที่แคบเกินไปในการพิจารณาชนบท” จักรกริชกล่าว

สำหรับวิธีวิจัยนั้น จักรกริชกล่าวว่า เบื้องต้นมีการใช้แบบสอบถามเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงในวิถีการผลิต รายได้ และการเคลื่อนย้ายประชากร ในฐานะปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงสร้างทางสังคมชนบทเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังอาศัยการลงไปอยู่ในพื้นที่เป็นแรมเดือนเพื่อศึกษาวัฒนธรรมทางการเมือง และการเมืองในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ รวมถึงการสัมภาษณ์กลุ่ม และรายบุคคล สัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ และการสังเกต

จากการลงพื้นที่พบว่า การเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านชนบทกับรัฐ กับระบบตลาดและทุนท้องถิ่น กับนักการเมืองและหน่วยอำนาจใหม่ๆ  ตลอดจนการเคลื่อนย้ายและการติดต่อสื่อสารที่มากขึ้น  ได้นำมาซึ่งแรงปรารถนา (Aspiration) ทำให้คนชนบทมาความต้องการเข้าถึงแหล่งอำนาจและช่องทางการสร้างหลักประกันที่หลากหลายเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสังคมสมัยใหม่ อีกทั้งได้สร้างและปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของคนชนบทใหม่ เป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยานอยากไม่ต่างจากเราๆ ท่านๆ ที่อาศัยอยู่ในเมือง

การสร้างช่องทางและหลักประกันที่หลากหลายมากขึ้นนี้เป็นการจัดวางอย่างมีพลวัต เกิดขึ้นทุกวัน ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงวาระของการเลือกตั้งเท่านั้น วาระทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของคนชนบทสมัยใหม่ไม่ได้ถูกชักจูงด้วยเงินตราอย่างง่ายดายอย่างที่เรามักเข้าใจกัน

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า หากเราศึกษาเรื่องการเลือกตั้งของคนชนบท จะพบว่าจำนวนเงินที่ใช้ในความสัมพันธ์ที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า "การซื้อเสียง" นั้นไม่ใช่ตัวชี้ขาดในการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนอีกต่อไป แต่กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินจะหมดความหมายไปโดยสิ้นเชิง ในทางกลับกัน เงินที่หมุนเวียนในระบบอาจจะมีมาก ขึ้นด้วยซ้ำไป แต่เราไม่อาจมองเงินตราในแง่ของ "ปริมาณ" ได้อย่างเดียว

การศึกษานี้ชี้ว่า เงินเป็นการแสดงออกเชิง "คุณภาพ" ด้วย พูดอีกอย่างก็คือว่า เงินได้ทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ในฐานะใบเบิกทางในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับนักการเมือง หัวคะแนน และระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง การจ่ายเงินต้องคำนึงถึงปัจจัยทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายที่ดำรงมาอย่างต่อเนื่อง เราจึงไม่สามารถมองการเมืองของการเลือกตั้งในสุญญากาศที่ตัดขาดจากการเมืองในชีวิตประจำวันที่ดำรงอยู่ทุกวี่วันได้  

นอกจากนี้การมองการเมืองผ่านมิติของความปรารถนาทำให้เห็นว่าชาวบ้านใช้ชุดความคิดและความคาดหวังที่แตกต่างกันในการเลือกนักการเมืองระดับต่างๆ เพราะคนเหล่านี้รับรองความเสี่ยงและแสดงออกซึ่งการให้การยอมรับชาว บ้านในมิติที่แตกต่างกัน เช่น ในระดับท้องถิ่น ชาวบ้านต้องการผู้นำที่โปร่งใส ทำงานใกล้ชิด เอาผิดได้ ในขณะที่ในระดับชาติ ประชาชนต้องการนักการเมืองเก่ง มีนโยบายที่ตอบสนองต่อความเสี่ยงในเชิงโครงสร้าง และสร้างโอกาสการพัฒนาให้ชุมชนอย่างที่พวกเขาปรารถนาได้ 

เขาระบุด้วยว่า เมื่อมองผ่านปฏิบัติการของชาวบ้านในการเมืองในชีวิตประจำวันจะพบว่า ปัจจัยในการพิจารณาและการให้คุณค่ากับการเลือกตั้งนั้นมีลักษณะที่ถูกทำให้มีลักษณะที่ตอบสนองต่อความปรารถนาในระดับท้องถิ่นเป็นอย่างมาก และเชื่อมโยงอย่างมากกับตำแหน่งแห่งที่ทางเศรษฐกิจและสังคม และความมุ่งมาดปรารถนาของปัจเจกชนที่ไม่ได้มีวิถีการดำรงชีพอยู่แต่เพียงในภาคการเกษตรและในพื้นที่ชนบทแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว ระบบคุณค่าแบบใหม่นี้ไม่สามารถถอดออกมาเป็นสูตรสำเร็จได้ว่าการเลือกตั้งในระดับใดใช้มาตรฐานหรือปัจจัยใดมาพิจารณา หากแต่มันได้ทำหน้าที่ในการตอบสนองต่อรูปแบบความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ชาวบ้านโดยทั่วไปตระหนักรู้ถึงโอกาสและความพึงมีพึงได้ของตนในระบบการเมืองและสังคมสมัยใหม่นี้เป็นอย่างดี

เมื่อถามว่าข้อค้นพบเขาเขาสามารถแย้งทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้หรือไม่ เขาตอบว่า จริงๆ ไม่ได้มีเจตนาจะล้มหรือโต้แย้งทฤษฎีดังกล่าวโดยตรง ตรงกันข้าม เขาต่อยอดจากอาจารย์อเนกเยอะพอสมควร ตัวอย่างเช่นเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่างกันของเมืองกับชนบท อเนกกล่าวว่าการ “ซื้อสิทธิขายเสียงในสังคมชนบทมีความใกล้ชิดกับระบบอุปถัมภ์อันเนื่องมาจากสังคมเกษตรดั้งเดิม ซึ่งระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวได้ปะทะสังสรรค์กับปรากฏการณ์ใหม่ๆ” เขาสนใจว่า “ปรากฏการณ์ใหม่ๆ” ที่อาจารย์อเนกไม่ได้ขยายความไว้คืออะไร และมันส่งผลอย่างไรต่อมโนสำนึกของคนในชนบท

ปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่สำคัญอันหนึ่ง แน่นอนก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้มีคนกล่าวถึงไว้เยอะแล้ว แต่คำถามคือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลอย่างไร เรามักจะเชื่อว่าเมื่อมีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น ชนบทพัฒนาเป็นเมืองหรืออุตสาหกรรมมากขึ้น การซื้อสิทธิขายเสียงจะลดน้อยลง หรือนักรัฐศาสตร์บางท่านอาจจะเสนอว่าการกระจายอำนาจจะช่วยลดบทบาทของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นลงได้ คำอธิบายทั้งสองล้วนเป็นทฤษฎีที่มีพลังในการอธิบายระดับหนึ่ง แต่ยังขาดมิติเชิงวัฒนธรรม ซึ่งข้อค้นพบของเขา สรุปอีกครั้ง ก็คือ

  1. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดผู้ประกอบการเกษตร คนพวกนี้ต่างจาก ชาวสวน ชาวนา เนื่องจากคนเหล่านี้ “ลงทุน” ในการผลิต ผ่านการกู้ยืมเงินจาก ธกส. ซื้ออุปกรณ์ และปรับเปลี่ยนพืชที่เพาะปลูกตามความต้องการของตลาด คนเหล่านี้ต้องลงทุน ต้องแบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ จึงต้องหาหลักประกันความเสี่ยงโดยการเข้ามามีความสนใจและมีส่วนร่วมกับนโยบาย เพราะมันสามารถสร้างความมั่นคงซึ่ง “ระบบอุปถัมภ์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถมอบให้พวกเขาได้”
  1. คนเหล่านี้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น มีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมที่กว้างขวางขึ้น ต้องติดต่อกับคนหลากหลายแบบ คนพวกนี้ตระหนักถึงศักยภาพ และอำนาจของตน นี่เองที่นำมาสู่การที่พวกเขาต้องการการยอมรับทางการเมือง (political recognition) ที่มากขึ้นด้วย
  1. การใช้เงินในการหาเสียงยังคงมีอยู่ มันทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์เป็นเบิกทางในการสร้างความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ แต่มันไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดอีกต่อไป “เพราะความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ชาวบ้านต้องแบกรับ มันต้องการมากกว่าเงินเพียง 300-500 บาท”

เขาระบุว่า จะเห็นได้ว่าข้อค้นพบเหล่านี้ไม่ได้ขัดกับทฤษฎีของอเนก แต่ต่อยอดจากมันมากกว่า

“กระแสวิพากษ์วิจารณ์หนึ่งที่ทำให้ผมอึดอัดคือ การเชื่อมโยงการเมืองชนบทกับระบบอุปถัมภ์ แน่นอนว่าในความเป็นจริงเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองท้องถิ่นในชนบทมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อยู่ แต่ถึงอย่างนั้น เราไม่ควรไปแปะป้ายแบบง่ายๆ ว่าระบบอุปถัมภ์จะมีแค่ในสังคมชนบทเท่านั้น เพราะในทุกระดับการเมืองก็มีระบบอุปถัมภ์ ตั้งแต่การเมืองในระดับองค์กรจนถึงการเมืองระหว่างประเทศ การมองว่าระบบอุปถัมภ์ต้องยึดโยงอยู่กับชนบทเท่านั้นจึงเป็นการด่วนสรุปจนเกินไป ในเมื่อทุกระดับก็มีระบบอุปถัมภ์ เราก็ควรศึกษาว่าระบบอุปถัมภ์ในระดับต่างๆ มันมีลักษณะอย่างไร แล้วเราจึงจะเข้าใจว่าเราควรจะจัดการกับมันอย่างไรมากกว่าที่จะโยนบาปให้กับชนบทแต่เพียงอย่างเดียว” จักรกริช กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net