Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


การที่นายเอดวาร์ด สโนว์เดน อดีตลูกจ้างของซีไอเอได้ออกมาแฉความลับขั้นสุดยอดของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ฯ (National Security Agency) ว่าแอบสืบความลับจากพลเมืองอเมริกันโดยผ่านเว็บไซด์ชื่อดังต่างๆ ไม่ว่าเฟซบุค  กูเกิลหรือบริษัทไมโครซอฟต์ รวมไปถึงการดักฟังโทรศัพท์มือถือมาเนิ่นนานภายใต้โครงการลับที่ชื่อ PRISM  อันสร้างความเสื่อมเสียให้กับรัฐบาลอเมริกานั้นได้ทำให้เขากลายเป็นคนขายชาติไปโดยปริยายผ่านการประนามของบุคคลสำคัญหลายคนไม่ว่านาย ดิก เชนีย์ อดีตรองประธานาธิบดี หรือ นายจอห์น เบียห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งแน่นอนว่าหากนายสโนว์เดนถูกจับดำเนินคดีได้ เขาคงไม่พ้นการถูกตัดสินประหารชีวิตหรือต้องจำคุกตลอดชีวิต ชะตากรรมเช่นนั้นก็เป็นสิ่งที่ "นักเป่านกหวีด" (Whistleblower) หรือนักเปิดโปงคนแรกคือนายจูเลี่ยน อัสซานจ์ผู้ก่อตั้งเวบไซต์วิกิลีคหวาดกลัวเช่นเดียวกัน เขาจึงลี้ภัยไปอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอนเพราะคาดเดาได้ไม่ยากว่าจะถูกส่งตัวไปยังสวีเดนด้วยคดีล่วงละเมิดทางทางเพศและส่งตัวต่อไปนั่งเก้าอี้ไฟฟ้าที่สหรัฐฯ ด้วยข้อหาเปิดเผยความลับของทางราชการในที่สุด

สำหรับนายสโนว์เดน ได้หนีจากเกาะฮาวายก่อนที่ทางการสหรัฐฯ จะทราบว่าเขาทำการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ PRISM ให้กับสำนักพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษ จะด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่อาจทราบได้ จุดหมายของเขาคือเกาะฮ่องกงซึ่งมีกฏหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้กับสหรัฐฯ แทนที่จะเป็นประเทศที่ปลอดจากอิทธิพลของสหรัฐฯ กว่าเช่นจีนแผ่นดินใหญ่ รัสเซีย หรือประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบไอซ์แลนด์ซึ่งยกย่องเชิดชูสิทธิและเสรีภาพ  นายสโนว์เดนอ้างสาเหตุที่เขาเลือกเกาะที่มีพลเมืองกว่า  7 ล้านคนนี้ว่าเพราะมีความเชื่อมั่นต่อระบบกฏหมายของฮ่องกงรวมไปถึงประชาชนชาวฮ่องกงนั้นดูไม่สมเหตุสมผลเพราะจีนแผ่นดินใหญ่มีความสามารถในการคัดค้านหรือยกเลิกคำตัดสินของศาลเกาะฮ่องกงได้ในฐานะที่เป็นรัฐบาลกลางที่มีอำนาจเหนือส่วนเกาะฮ่องกงในฐานะเขตปกครองพิเศษ (Special Administrative Region) นอกจากนี้เกาะฮ่องกงมีขนาดเล็กและทางหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ สามารถสืบค้นหาเขาได้อย่างง่ายดาย  การตัดสินใจของนายสโนว์เดนจึงเหมือนกับการตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น       

อย่างไรก็ตามหากมองให้ลึกซึ้งกว่านั้นก็พอจะเดาได้ว่าสโนว์เดนมีความตั้งใจใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจคือจีน (กับเขตปกครองพิเศษฮ่องกง) และสหรัฐฯ รวมไปถึงรัสเซียในช่วงสงครามเย็นครั้งใหม่ (New Cold War) โดยจะวิเคราะห์ตามบริบทและรูปแบบทางการเมืองของรัฐบาลประเทศมหาอำนาจดังต่อไปนี้


รัฐบาลจีน

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ อยู่ในสภาวะที่ละเอียดอ่อนและเปราะบางเป็นยิ่งนัก สำหรับการประชุมระดับสูงยอดระหว่างนายโอบามาและนายสี จิ้น ผิงที่แคลิฟอร์เนียเมื่ออาทิตย์ก่อน ประเด็นสำคัญที่ถูกยกขึ้นมาคือเรื่องที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนได้ใช้แฮกเกอร์โจมตีและจารกรรมข้อมูลความลับของรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่าจะทำให้บรรยากาศดูดีขึ้นบ้างเมื่อนายสีรับว่าจะไปนำกรณีเช่นนี้ไปตรวจสอบ แต่เมื่อกรณีของนายสโนว์เดนถูกบุคคลสำคัญของสหรัฐฯโจมตีว่าเขาแอบร่วมมือกับรัฐบาลจีน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เกิดความอึมครึม  ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์ว่าจีนจะส่งตัวสโนว์เดนไปยังสหรัฐฯเพื่อคงความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ แต่จริงๆ แล้วมีปัญหาที่ซับซ้อนกว่าที่คิดดังต่อไปนี้

1.เกาะฮ่องกงนั้นถูกปกครองตามแบบหนึ่งประเทศสองระบบซึ่งจีนมีอำนาจเข้าควบคุมเกาะฮ่องกงอย่างจำกัดโดยเฉพาะทางกฏหมายเช่นเขตทางด้านเหนือของฮ่องกงซึ่งติดอยู่กับเมืองเซินเจิ้น เป็นเขตปลอดอำนาจของจีนที่ปรปักษ์ทางการเมืองของจีนเช่นนักต่อสู้ทางการเมืองและสาวกลัทธิฟาหลุนกงสามารถอาศัยอยู่ได้โดยไม่ถูกส่งตัวไปให้กรุงปักกิ่ง  หากนายสโนว์เดนถูกจับได้ในพื้นที่ดังกล่าว ผู้ตัดสินใจการส่งตัวนาย สโนว์เดนไปยังสหรัฐ ฯ คือศาลของเกาะฮ่องกง แต่ศาลฮ่องกงเห็นว่าสหรัฐฯนั้นได้ลงโทษผู้เปิดโปงข้อมูลของรัฐบาลอย่างไร้ความปราณีอย่างกรณีพลทหารแบรดเลย์ แมนนิ่ง จึงอาจตัดสินไม่ส่งตัวนายสโนว์เดนให้กับสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลด้านมนุษยชน  ซึ่งนายสโนว์เดนก็อาจคาดเดาตั้งแต่ต้นว่าแรงกดดันจากทัศนคติของชาวฮ่องกงจะมีผลต่อการตัดสินของศาลด้วย แต่ในอนาคตหากฮ่องกงถูกสหรัฐฯกดดันมากขึ้นทุกอย่างก็เกิดความไม่แน่นอน

2.ถ้าเกิดเคราะห์ร้าย นายสโนว์เดนเกิดถูกจับตัวได้ในเขตพื้นที่ซึ่งจีนมีอำนาจเหนือศาลของฮ่องกง ชะตากรรมของนายสโนว์เดนจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลจีนเป็นหลัก หากนายสโนว์เดนถูกส่งตัวไปยังสหรัฐฯ  จีนอาจเสียหน้าในเวทีโลกเพราะถูกมองว่ายอมตามแรงกดดันของสหรัฐฯ  แต่ถ้าจีนไม่ใส่ใจในเรื่องนี้เท่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ   ก็อาจทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองตามมาในทั้งเกาะฮ่องกงและประเทศตัวเอง เพราะเรื่องราวของนายสโนว์เดนโด่งดังมาก แม้ว่าจะมีผู้ออกมาเดินขบวนประท้วงไม่กี่ร้อยคนเพื่อไม่ให้ส่งตัวนาย สโนว์เดนไปให้สหรัฐ ฯ  แต่ชาวฮ่องกงจำนวนมากส่งเสียงสนับสนุนเขา มีการสำรวจพบว่าเกือบ    50 % เห็นว่าไม่ควรส่งนายสโนว์เดนไปเข้าตะแลงแกงเป็นอันขาด เรื่องความรู้สึกของคนฮ่องกงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนวิตกกังวลมานาน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเกาะฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ถือได้ว่าเป็นความขัดแย้งที่รอวันระเบิดขึ้นมานับตั้งแต่ปี 1997 ที่อังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน ชาวฮ่องกงทั้งหลายก็ระแวงว่าจีนจะเข้ามาครอบงำและทำลายวิถีชีวิตที่อิงอยู่กับประชาธิปไตยเสรีนิยมของตน จึงมีการเดินขบวนประท้วงกันหลายต่อหลายครั้งเพราะความไม่พอใจในกรณีการทุจริตของหัวหน้าคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกงคนล่าสุด หรือกรณีที่ชาวฮ่องกงเห็นว่าจีนพยายามกำหนดแบบเรียนในโรงเรียนเพื่อครอบงำความคิดของเยาวชนรุ่นใหม่  นอกจากนี้เกาะฮ่องกงยังเป็นพื้นที่สำหรับการจัดงานไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตในการปราบปรามประชาชนที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ของทุกปี การที่รัฐบาลจีนปล่อยนายสโนว์เดนไปให้สหรัฐฯ ทำให้คนฮ่องกงยิ่งมองคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกง (ในฐานะหุ่นเชิดของรัฐบาลจีน)และรัฐบาลจีนในด้านร้ายขึ้น อันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง นายสโนว์เดนอาจคาดหวังให้ความตื่นตัวทางการเมืองของชาวฮ่องกงเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ฮ่องกงส่งตัวต่อไปยังที่ใดที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเขา อย่างไรก็ตามการประท้วงของชาวฮ่องกงอาจกลายเป็นไฟไหม้ฟางเพราะคนออกมาประท้วงไม่มากหรือรัฐบาลสามารถควบคุมทุกอย่างได้ในที่สุด สิ่งนี้ก็ต้องรอดูต่อไปในอนาคต

3.ถ้าจีนสามารถนำตัวของนายสโนว์เดนจากเกาะฮ่องกงมาอยู่ใต้การควบคุม จีนอาจได้ประโยชน์จากความรู้ด้านข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯและความมั่นคงของประเทศจากนายสโนว์เดนจนเกินคุ้ม (ถ้าบังเอิญว่าแฮกเกอร์ของจีนยังกวาดข้อมูลจากสหรัฐฯไปไม่หมด) รวมไปถึงเป็นการตอบโต้ที่สหรัฐฯ ยอมให้ปรปักษ์ของรัฐบาลจีนหลายคนสามารถลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐฯและนำเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาโจมตีรัฐบาลจีนอยู่เรื่อยๆ  แต่นอกจากจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับสหรัฐฯ  พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้รัฐบาลจีนดูเป็นพวกมือถือสากปากถือศีลและอาจมีปัญหากับประชาชนตัวเอง

แม้ว่าจะมีผู้เห็นว่าชาวจีนไม่กระตือรือร้นนักในเรื่องนายสโนว์เดนเพราะชาชินกับความเป็นเผด็จการอำนาจนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่สามารถนิ่งนอนใจได้เพราะปัจจุบันคนจีนมีความกระตือรือร้นทางการเมืองสูงขึ้นเช่นคนจีนชนชั้นกลางนิยมในการโจมตีรัฐบาลหรือแฉพฤติกรรมที่ไม่ดีของเจ้าหน้าที่รัฐบาลผ่านเว็บเวยโป๋ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์หลายคนกระเด็นออกจากตำแหน่งมาแล้ว และคนเหล่านั้นยังได้สนับสนุนนายสโนว์เดนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว  ทั้งนี้ไม่นับชาวจีนระดับรากหญ้าตามพื้นที่ชนบทที่ได้ร่วมกันประท้วงนายทุนซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์มานับเป็นแสนๆ ครั้งเมื่อปีที่แล้ว การเก็บนายสโนว์เดนไว้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่จีนไม่ชื่นชอบนักเพราะภาพลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นเผด็จการและกดขี่เสรีภาพในการแสดงออก (ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าจีนก็ต้องมีโครงการ PRISM ที่เลวร้ายไม่แพ้กับสหรัฐฯ)   นายสโนว์เดนอาจถูกชาวจีนใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาลในอนาคตและอาจส่งผลต่อระบบหน่วยข่าวกรองหรือความมั่นคงของจีนเอง โดยทางรัฐบาลจะทราบได้อย่างไรว่าจะไม่มีเจ้าหน้าที่ของตนเลียนแบบพฤติกรรมของนายสโนว์เดนโดยการแอบหนีไปสหรัฐฯ บ้าง 


รัฐบาลสหรัฐฯ

การเปิดโปงของนายสโนว์เดนนอกจากจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลอเมริกันนั้นถึงแม้ผู้บริหารจะได้รับการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยมาดังเช่นประธานาธิบดี (ซึ่งก็ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบทางตรงเหมือนประเทศอื่นในระบอบประธานาธิบดีเพราะไปให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งมากกว่าคะแนนของประชาชน) แต่โดยเนื้อแท้แล้วไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลยโดยเฉพาะในพื้นที่ทางอำนาจอันมีนามว่าระบบราชการ (Bureaucracy)  ซ้ำร้ายนายบารัก โอบามายังให้การปกป้องการทำงานของสภาความมั่งคงแห่งชาติว่าช่วยป้องกันความปลอดภัยให้กับประเทศโดยเฉพาะผู้ก่อการร้าย ทำให้สหรัฐฯมีภาพพจน์ติดลบในสายตาของชาวโลก สหรัฐฯ ในปัจจุบันมีทางเลือกดังต่อไปนี้

1.ติดตาม จับกุมนายสโนว์เดนมาลงโทษให้จงได้เป็นแนวโน้มซึ่งสหรัฐฯ จะใช้ในการแก้ไขปัญหามากที่สุดเพราะกลัวว่าข้อมูลสำคัญจะตกอยู่กับชาติอื่น (แต่นั้นก็อาจจะสายไปแล้ว) แม้การกระทำเช่นนี้จะทำให้ภาพพจน์ของสหรัฐฯ ติดลบลงไปอีกในสายตาชาวโลกแต่รัฐบาลสหรัฐฯ ดูจะใส่ใจกับความรู้สึกของคนในประเทศตัวเองเช่นคะแนนความนิยมของโอบามามากกว่า สำหรับคนอเมริกันนั้นล้วนเคยชินกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ขัดแย้งกันเองคือชอบอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนกับประเทศอื่น แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความลับหรือความมั่นคงของประเทศตัวเองก็จะลงโทษผู้กระทำความผิดแบบไร้ความเมตตาโดยเฉพาะช่วงสงครามเย็นจนมาถึงสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ดังนั้นหากจับกุมตัวนายสโนว์เดนมาลงโทษอย่างหนัก โอกาสที่อดีตลูกจ้าง ซีไอเอคนนี้จะกลายเป็นผู้พลีชีพ (Martyr) ที่จุดประกายคนอเมริกันให้เกิดการประท้วงเป็นวงกว้างคงเป็นไปได้ยากเพราะโพลล์สำรวจความคิดของคนอเมริกันครั้งล่าสุดพบกว่าคนอเมริกันมีความกังวลในเรื่องความมั่นคงกับเสรีภาพเท่ากันโดยเฉพาะเรื่องภัยจากการก่อการร้ายรวมไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้คนอเมริกันยังรู้ระแคะระคายมานานนับตั้งแต่รัฐบัญญัติความรักปิตุภูมิ (PATRIOT ACT) ที่ออกโดยนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อปี 2001  ที่ถูกโจมตีว่าบั่นทอนสิทธิส่วนบุคคลของคนอเมริกันรวมไปถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาลผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดหลายเรื่องได้ถูกนำเสนอเช่นนี้มานานแล้ว จึงเป็นไปได้ว่าคนอเมริกันจะไม่ใส่ใจในเรื่องการลงโทษนายสโนว์เดนนัก

นอกจากนี้ยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในภายหลังที่จะควบคุมสื่อให้จูงใจให้คนอเมริกันมองรัฐบาลของตนไม่เลวร้ายนักผสมกับลัทธิบูชาบุคคลของโอบามาที่ดูเป็นคนดีศรีสังคมก็พอจะช่วยกลบเกลื่อนเรื่องอื้อฉาวนี้ได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องกังวลกับพฤติกรรมแบบลอกเลียนแบบของเจ้าหน้าที่คนอื่นในสภาความมั่นคงซึ่งอาจส่งผลการเมืองอย่างรุนแรงในระดับเดียวกับคดีวอเตอร์เกตได้  รัฐบาลจึงต้องจับกุมและลงโทษนายสโนว์เดนให้เร็วและในสถานหนักแรงที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างให้คนอื่นกระทำตาม  ทว่าหากนายสโนว์เดนยังติดอยู่ในฮ่องกง สหรัฐฯ ก็ต้องพบกับปัญหาความสัมพันธ์กับจีนซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาแบบล็อคตัวเองดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

2.หากสหรัฐฯ ไม่สามารถกดดันฮ่องกงหรือจีนโดยการทำเป็นเฉยหรือผ่อนคลายท่าทีลงก็สามารถช่วยให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับจีนซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อประเด็นความสัมพันธ์อื่นๆ ระหว่าง 2 ประเทศเช่นความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีเหนือหรือการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน  แต่การกระทำเช่นนี้เป็นผลเสียอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติเอง  เช่นนายสโนว์เดนอาจขายความลับให้ทางจีนหรือประเทศอื่น  และอาจเป็นแรงจูงใจให้ลูกจ้างหรือบุคคลที่ทำงานเกี่ยวความมั่นคงของรัฐออกมาเป็นผู้เป่านกหวีดเช่นเดียวกับนายสโนว์เดนอีกก็ได้  ที่สำคัญทำให้ฝ่ายเหยี่ยวในรัฐบาลและรัฐสภาซึ่งจำนวนมากเป็นสมาชิกพรรคริพับลิกันโจมตีโอบามา กลายเป็นเกมการเมืองในประเทศที่ทำให้พรรคเดโมแครตอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบ

รัฐบาลสหรัฐฯ อาจมีวิธีแบบศาลเตี้ยเสียเองเช่นใช้หน่วยพิเศษนำนายสโนว์เดนออกจากเกาะฮ่องกงไปดำเนินคดีที่สหรัฐ ฯ แต่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เพราะเป็นการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยของฮ่องกงที่สหรัฐฯ ต้องให้ความสนใจมากกว่าส่งหน่วยพิเศษไปลอบสังหารบิน ลาเดนโดยไม่ได้ขออนุญาตจากทางการปากีสถาน เพราะจะทำให้ชาวฮ่องกงไม่พอใจและนำไปสู่ความขัดแย้งกับจีนในที่สุด  หรือจะจ้างให้กลุ่มมาเฟีย "อุ้ม" เขาให้หายไปตลอดกาล 

แต่คนอย่างนายสโนว์เดนเองก็คงจะรู้เรื่องนี้ไม่น้อยเขาอาจจะใช้กลไกเพื่อป้องกันตัวเองเช่นให้บุคคลอื่นเตรียมแฉข้อมูลความลับมากกว่านี้หากเขาต้องหายตัวไปอย่างลึกลับ ดังคำให้สัมภาษณ์ของนายสโนว์เดนที่ว่า สหรัฐฯ ไม่มีทางที่จะปิดปากเขาได้แม้จะลอบสังหารเขาก็ตาม  ดังนั้นการเจรจาให้นาย  สโนว์เดนหายตัวไปเองก่อนจะกลบเกลื่อนให้เรื่องเงียบหายไปน่าจะเป็นทางเลือกอื่นสำหรับสหรัฐฯ และจีนในช่วงที่กำลังจัดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกันใหม่  แต่ก็อาจทำให้มีการมองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อ่อนแอไม่สามารถจัดการกับ “ผู้ทรยศชาติ” ได้และอาจเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นต่อไป     

หากนายสโนว์เดนประสบความสำเร็จลี้ภัยไปยังประเทศอื่นเช่นไอซ์แลนด์ (แต่มีกฏหมายว่านาย สโนว์เดนต้องไปเดินทางไปยังประเทศนั้นเสียก่อนจึงจะทำเรื่องขอลี้ภัยได้) และประเทศโลกที่ 3 เช่นในละตินอเมริกาดังที่นายจูเลี่ยน อัสซานจ์แนะนำประเทศเหล่านั้นอาจถูกสหรัฐฯ กดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อให้ปล่อยตัวนายสโนว์เดนมาเหมือนกับอาชญากรคนอื่นๆ อีกหลายคน ดังนั้นทางเลือกอื่นที่น่าสนใจที่สุดคือรัสเซีย


รัฐบาลรัสเซีย

การประกาศเปิดอ้อมแขนรับนายสโนว์เดนของรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้ไม่น่าจะเพิ่มคะแนนความนิยมแก่ประธานาธิบดีวลาดิเมีย ปูตินทั้งในและนอกประเทศแต่สามารถสะท้อนภาพให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและความไม่จริงใจต่อกันในช่วงสงครามเย็นครั้งใหม่ได้ แม้ว่าไม่เข้มข้นเหมือนสหรัฐฯ กับจีนซึ่งมีทวีปเอเชียเป็นเครื่องเดิมพัน แต่รัสเซียต้องการกลับมามีอำนาจเหมือนเมื่อครั้งเป็นสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะเรื่องศักดิ์ศรี  นายสโนว์เดนอาจเป็นเครื่องมือของนายปูตินให้เป็นสัญลักษณ์ว่ารัสเซียจะไม่ยอมอยู่ใต้แรงกดดันของสหรัฐฯ (เช่นเดียวกับกรณีที่ช่วยเหลือการส่งอาวุธให้กับรัฐบาลซีเรีย  สิ่งนี้ส่งผลต่อการประชุมจีแปดที่ผ่านมา) นอกจากนี้ยังทำให้รัสเซียจะได้ใช้ข้อมูลที่ได้จากนายสโนว์เดนมาเปิดโปงให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐ ฯ ซึ่งเป็นการแก้แค้นต่อข้อกล่าวหาที่สหรัฐฯ โจมตีตนและจีน

กระนั้นนายปูตินอาจไม่วิตกว่าการเก็บนาย สโนว์เดนไว้จะเป็นดาบสองคมคือกลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาลของประชาชนรัสเซียเท่ากับจีน  แม้ว่าประชาชนรัสเซียจะเคยประท้วงขับไล่นายปูติน อย่างหนักเมื่อปีสองปีก่อน แต่ดูเหมือนรัฐบาลรัสเซียจะสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาสังคมได้อย่างดีเลิศและไม่อื้อฉาวเท่ารัฐบาลจีน  สำหรับชาวรัสเซีย ถ้าพวกเขามองว่านายสโนว์เดนเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างชาติซึ่งแปรพักตร์เพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวและสร้างประโยชน์แก่เครมลิน ก็ไม่น่าจะเกิดผลกระทบอะไรเป็นวงกว้าง แต่นายปูตินก็ไม่สามารถมองข้ามคลื่นใต้น้ำของชาวรัสเซียที่อาจก่อตัวขึ้นอีกก็ได้เพราะมีเงื่อนไขสำคัญคือสภาพของรัสเซียที่ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีสถิติการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนสูง อันเกิดจากการเป็นเผด็จการอำนาจนิยมของนายปูตินผสมกับระบบการเมือง ตุลาการและธุรกิจที่เน่าเฟะเต็มไปด้วยความฉ้อฉล นักการเมืองและข้าราชการมีความสัมพันธ์อันดีกับองค์กรนอกกฏหมาย จนมีคนมักโจมตีว่ารัสเซียเป็น รัฐมาเฟีย (Mafia State)

ดังมีข่าวในรัสเซียบ่อยครั้งว่าผู้นำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลมักถูกถูกศาลตัดสินจำคุกโดยการยัดเหยียดข้อหาต่างๆ นาๆ   นักเปิดโปงเช่นเดียวกับนายสโนว์เดนคือนายเซอร์ไก แมกนิตสกี ทนายความซึ่งเปิดโปงโครงการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ถูกจับกุมและเสียชีวิตในห้องขังโดยมีลักษณะร่างกายถูกทำร้ายและทรมานในปี  2009   จึงแสดงถึงความเป็นมือถือสากปากถือศีลของรัฐบาลรัสเซีย เช่นเดียวกับรัฐบาลจีนและสหรัฐฯ หรือรัฐบาลเอกวาดอร์ที่ช่วยเหลือนายอัสซานจ์ให้ลี้ภัยแต่ไม่สนใจสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตัวเอง

จากปัจจัยทั้งหมดที่ได้กล่าวมาทำให้ผู้เขียนเดาว่าพฤติกรรมเช่นนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจการลี้ภัยของนายสโนว์เดน ถ้านายสโนว์เดนลี้ภัยไปยังรัสเซีย หรือแม้แต่จีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีภาพลักษณ์คล้ายๆ กัน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะฉวยโอกาสนี้ในการกล่าวหาว่าเขาต้องการขายความลับให้กับต่างชาติที่แสนชั่วร้ายมากว่าเป็นผู้เชิดชูเสรีภาพที่ต้องการเปิดโปงความทุจริตของรัฐบาลสหรัฐฯ  นอกจากนี้นายสโนว์เดนอาจจะพอรู้อยู่บ้างว่าหากเขาหมดประโยชน์ รัฐบาลของจีนหรือรัสเซียอาจส่งเขากลับไปสหรัฐฯ เพื่อแลกกับผลประโยชน์อื่นๆ  ที่สำคัญกว่า  อย่างไรก็ตามถ้านายสโนว์เดนหมดหนทางจริงๆ ก็อาจจะเลือกหลายประเทศดังกล่าวในการลี้ภัยก็ได้ สิ่งนี้ต้องติดตามกันต่อไป

ตามความคิดของผู้เขียน การเลือกที่จะแอบซ่อนตัวอยู่ในฮ่องกงจึงเป็นแผนที่ถูกวางมาค่อนข้างดีของนายสโนว์เดน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ก็ต้องรอดูต่อไป

0000

 

 

หมายเหตุ

ในบทความนี้ผู้เขียนมักจะใช้คำว่า "อาจจะ" หรือ “ถ้า” อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการบอกว่าทั้งหมดเป็นการคาดคะเนเพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ส่วนตัวละครสำคัญๆ  อย่างเช่นนายเอดเวิร์ด สโนว์เดนและรัฐบาลแต่ละประเทศมีการตัดสินใจและการดำเนินการที่ลึกลับซับซ้อนอาจจะเกินปัญญาของผู้เขียนบทความที่มีขีดจำกัดทางข้อมูลและเวลาเป็นอย่างมาก หากบทความนำเสนอข้อมูลและมีการทำนายผิด จึงขออภัยทุกท่านมา ณ ที่นี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net