Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ฟังสุนทรพจน์  “ I have a Dream “ ที่มีชื่อเสียงของ Martin Luther King ,Jr. ในคราวการเดินขบวนครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคของคนผิวดำอเมริกา พ.ศ.๒๕๐๖ ประโยคหนึ่งที่สำคัญได้แก่ การฝันถึงเสรีภาพและความยุติธรรมซึ่งเป็นรากฐานของความฝันของชาวอเมริกัน  (I still have a dream, it is a dream deeply rooted in the American dream.) ซึ่งหมายความถึงความฝันของคนที่สอดคล้องไปกับความฝันของสังคม
 
ความหมายของคำว่า “ความฝัน” ในสุนทรพจน์นี้มีสัมพันธ์กับความคิดหลายประการ  ได้แก่ ความสำนึกในความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องความเสมอภาคในสังคมที่ยังคงไว้ซึ่งความอยุติธรรมของความไม่เท่าเทียม  แม้ว่าสังคมนั้นพยายามบ่อบอกแก่ทุกคนว่าเป็นดินแดนแห่งความเสมอก็ตาม  ขณะเดียวกัน “ ความฝัน” นี้ไม่ใช่นั่งฝัน/นอนฝันอยู่เฉยๆ หากแต่จะต้องมีปฏิบัติการณ์ของปัจเจกชนและกลุ่มทางสังคมเพื่อให้บรรลุซึ่งความฝันนั้น
 
ผมหยิบสุนทรพจน์นี้มาเพื่อชี้ให้เห็นว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม   ความหมายที่ฝังอยู่ในคำแต่ละคำ  ก็จะแปรเปลี่ยนไปเพื่อทำหน้าที่ทางสังคมแบบใหม่แม้ว่าจะใช้คำๆ เดิมอยู่ก็ตาม
 
"ความฝัน" ในยุคก่อนสมัยใหม่ทุกแห่งบนพื้นที่โลกนี้ล้วนแล้วแต่เป็น "ความฝัน" ที่เกิดขึ้นในช่วงการนอนหลับของคนและเป็นความฝันของปัจเจกชน (พูดง่ายๆก็คือ หลับแล้วฝัน) ความฝันทั้งหมดของคนในยุคสมัยก่อนจะถูกให้ความหมายว่าเกิดขึ้นมาเพราะอำนาจเหนือธรรมชาติได้เข้ามาบอกอนาคตที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย อำนาจเหนือธรรมชาติที่เข้าสร้างความฝันนี้มีทั้งเทพเจ้า ภูตผี ผีบรรพบุรุษ  และเทพประจำพื้นที่ แล้วแต่แต่ละสังคมจะเคารพนับถืออะไร
 
การทำนายฝันที่เกิดขึ้นจากอำนาจเหนือธรรมชาติจึงเป็นการทำนายว่าลักษณะความฝันนั้นๆ จะเป็นภาพหรือเหตุการณ์อะไรในอนาคต เช่น ในตำราพรหมชาติของไทย (หรือที่คนไทยรับรู้กันโดยทั่วไปแม้ว่าไม่อ่านตำราพรหมชาติ) หากฝันว่าฟันหัก ก็หมายความจะมีญาติสนิทเสียชีวิต   แม้ว่าความฝันที่นำมาทำนายจะเป็นของแต่ละคนและคำทำนายความฝันก็เป็นการทำนายอนาคตของคนคนเดียว  แต่คำทำนายก็จะเป็นการทำนายที่เน้นให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมของคนๆนั้นกับสรรพสิ่งรอบตัว    
 
ความฝันจึงถูกทำให้เป็นภาพเหตุการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตที่คน/มนุษย์ไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้  อย่างมากก็คือทำใจรับกับความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ     ความฝันและความหมายของความฝันลักษณะนี้เกิดขึ้นในสังคมที่ไม่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมมากนัก และโอกาสในการที่คนจะเลื่อนชนชั้นเป็นไปได้ยาก พร้อมกันนั้น คนทั้งหมดเชื่อว่าวิถีชีวิตของตนก็ถูกกำหนดมาแล้วจากอำนาจเหนือชาติทั้งหลาย  เช่น กรรม  ความฝันและความหมายของความฝันจึงเป็นเพียงการบอกกล่าวในแต่ละจังหวะหรือแต่ละจุดของชีวิตที่จะต้องเป็นไปในอนาคตตามผล/การกำหนดของอำนาจเหนือธรรมชาติ
 
การหลับแล้วฝันหรือความฝันยังคงมีอยู่กับคนตลอดมา แต่ความหมายของความฝันและความหมายของคำว่า “ ความฝัน” เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายในระยะต่อมา 
 
คำว่า “ความฝัน”ถูกทำให้เกิดความหมายใหม่ที่ซ้อนทับความหมายเดิมเอาไว้  เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและทำให้เกิด “โลกสมัยใหม่” ขึ้นมา  การเดินทางเพื่อแสวงหาดินแดนใหม่ๆ พร้อมกับการเกิดสำนึกในศักยภาพของมนุษย์อันนำมาซึ่งสภาวะการเริ่มสลัดหลุดจากการกำหนดชีวิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ 
 
 “ความฝัน” จึงเริ่มถูกแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกยังคงเป็น “ ความฝัน” ของปัจเจกชนที่หลับและฝันไป ซึ่งยังคงใช้หลักเกณฑ์การทำนายฝันแบบเดิม  ส่วนที่สอง เริ่มกลายเป็น “ความ (ใฝ่) ฝัน” ที่จะสร้างอนาคตของคนและสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น ความฝันที่จะพบดินแดนใหม่ที่เต็มไปด้วยทองและจะนำทองกลับดินแดนของตน  ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยก็มองว่าเป็น “ความ(ใฝ่)ฝัน “ ที่เป็นไปไม่ได้
 
ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ เมื่อปรมาจารย์ทางจิตวิทยา Sigmund Freud ได้เขียนหนังสือเรื่อง The Interpretation of Dream ข้อถกเถียงในการทำความเข้าใจ “ความฝัน” ของบุคคลก็หันเหไปสู่กระบวนการทำความเข้าใจการทำงานของจิตวิทยาปัจเจกชน และเริ่มลดทอนความสำคัญของการทำนายฝันแบบเดิมลงไป
 
พร้อมกันนั้นเอง  การขยายตัวของกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนคำอธิบายปรากฏการณ์รอบตัวมนุษย์ให้มาสู่ความจริงเชิงประจักษ์มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้การอธิบายความฝันแบบเดิมหมดพลังลงไปเรื่อยๆ  ยกเว้นบางเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญในความสัมพันธ์ทางสังคมของสังคมนั้นๆ  เช่น ที่เหลืออยู่ในสังคม ได้แก่ ฝันเห็นงู  ฝันว่าฟันหัก เป็นต้น
 
การใช้คำเดิมคือ “ ความฝัน” ในความหมายใหม่ได้เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น เมื่อสังคมเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่สูงมากขึ้น การเลื่อนชนชั้นเป็นไปได้สะดวกมากขึ้น มนุษย์เริ่มรู้สึกว่าสามารถกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของชีวิตของตนเองได้มากขึ้น  พร้อมกันนั้นเอง โลกก็ได้ให้ความหมายใหม่ที่เน้นความสำเร็จที่มนุษย์สามารถจะกระทำขึ้นมาได้
 
ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงนี้ “ความฝัน” จึงมีความหมายใหม่ที่เป็นเสมือนเป้าหมายในอุดมคติที่คนวาดหวังเอาไว้  และจะต้องพยายามดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายนั้น 
 
ความสร้างความหมายใหม่ซ้อนทับไปในในคำเดิม  (ไม่ว่า “ ความฝัน “ในภาษาไทย “ Dream” ในภาษาอังกฤษหรือ yume ในภาษาญี่ปุ่น)  ก็ได้ทำให้เกิดการสื่อสารความหมายที่ซับซ้อนมากขึ้นและความซับซ้อนนี้ก็จะกำกับระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนตามไปด้วย
 
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในโลกเสรี   โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ได้ทำให้โอกาสในการเลื่อนชนชั้นเปิดออกอย่างกว้างขวาง  จึงนำไปสู่การสร้างความฝัน/ความใฝ่ฝันที่จะก้าวไปสู่การมีชีวิตแบบใหม่ของผู้คน  และทำให้เกิดการสร้าง “ความฝันของคนเมริกัน” (American Dream) ขึ้นมา
 
แน่นอนว่าสังคมอเมริกานั้นได้สร้าง “ฝัน” ไว้ก่อนหน้านั้น  แต่ความฝันก่อนหน้าไม่ใช่ความฝันของคนอเมริกันทั้งหมด เพราะคนผิวสียังคงถูกกีดกันออกจากความฝันร่วมกันของสังคม  แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทุกคนล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมกันในการสร้างความฝันและการต่อสู้เพื่อบรรลุความฝันนั้น  
 
ท่านผู้อ่านที่มีอายุสักหน่อยคงจำภาพยนต์เรื่อง The Graduate ได้  ภาพยนต์เรื่องนี้ได้สะท้อน “ความฝันของอเมริกัน” ไว้อย่างเต็มเปี่ยม  ชีวิตและการตัดสินใจของปัจเจกชนถุกยกไว้เหนือสิ่งอื่นใด พร้อมกันนั้นภาพความสำเร็จของชีวิตอันเกิดจากการลงทุน/ลงแรงไล่ล่าความฝันปรากฏให้เห็นอย่างแจ่มชัด   (หากจำหนังได้ก็คงจำเพลง The Sound of Silence  และ Mrs. Robinson ได้นะครับ)
 
ในช่วงใกล้เคียงกัน  การพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างไพศาล โอกาสในการเลื่อนชนชั้นเปิดขึ้นอย่างกว้างขวางพร้อมกันนั้น  การศึกษาก็ขยายตัวออกไปเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การศึกษากลายเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสของการเดินผ่านไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า
 
นักศึกษาจึงได้ร่วมกันสร้างความหมายใหม่ให้แก่ “ความฝัน” โดยได้แทนที่ความฝันด้วยความหมายของความใฝ่ฝัน คนไทยที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ก็ได้เข้าร่วมการเปลี่ยนความหมายของความฝันนี้อย่างคึกคัก  
 
หากตามอ่านหนังสือที่นักศึกษาผลิตกันในช่วงนั้นจะพบว่าการพูดกันมากมายในเรื่องการทำให้ความฝันเป็นจริงหรือความตั้งใจที่จะฝันว่าชีวิตตนเองจะไปสู่อะไร   พร้อมกันนั้นนิตยสารรายสัปดาห์หรือรายปักษ์ที่มีมากขึ้นก็ได้แสดงภาพของความใฝ่ฝันที่จะต้องเดินไปให้ได้  คอลัมน์สอนการมีกิริยามารยาทที่เหมาะสมในชีวิตที่กำลังจะมาถึงก็มีในทุกเล่มและทุกฉบับ
 
ความฝันแบบ “หลับแล้วก็ฝัน” ถูกทำให้ลดความสำคัญลงไป เพราะความ (ใฝ่) ฝันแบบใหม่ได้เข้ามาแทนที่   นักคิดฝ่ายซ้าย บรรจง บรรเจิดศิลป์ (อุดม ศรีสุวรรณ) ซึ่งได้เห็นความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างชัดเจนและได้เขียนหนังสือเพื่อปรับฐานการคิดและความรู้สึกไว้ในหนังสือที่มีพลังอย่างมาก เรื่อง “ชีวิตและความใฝ่ฝัน” 
 
ความเปลี่ยนแปลงความหมายของความฝันที่เกิดขึ้นภายใต้การเคลื่อนย้ายทางสังคม (Social Mobilization) ที่เข้มข้นขึ้นได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ทศวรรษของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกคนมีความหวังเริ่มหดหายไป  
 
ในระยะหลังจากทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ความผันผวนไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจไทย  การกระจุกตัวของกลุ่มคนชนชั้นนำปรากฏชัดเจนมากขึ้น พร้อมกับการสร้างกำแพงทางวัฒนธรรมของชนชั้นก็ปรากฏชัดเจนขึ้น    ได้ทำให้การข้ามชนชั้นทำได้ยากมากขึ้น  โอกาสของผู้คนในการเลื่อนชนชั้นมีน้อยลง ความหมายของความฝันลักษณะที่ "ฝันให้ไกล ไปให้ถึง" เริ่มกลับมาสู่ความหมายว่าหากจะฝัน ก็เท่านั้นแหละ คนธรรมดาไม่มีทางที่จะเดินไปสู่ความฝันได้
 
ความ (ใฝ่) ฝันที่จะมีอนาคตที่งดงามและเป็นความฝันที่จะต้องลงแรงกายแรงใจอย่างหนักเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นสูญสลายไปทีละเล็กทีละน้อย  พร้อมๆกับการขยายตัวของการตอบแทนความฝันด้วยการซื้อล็อตเตอรี่/หวยใต้ดิน   จนบัดนี้หาใครใช้ความหมายของความฝันที่เป็นความ (ใฝ่) ฝันได้ยากเต็มทน
 
การเคลื่อนย้ายสถานะจากนักเรียนมาสู่นักศึกษาที่ในสมัยก่อนนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดการสร้างความ (ใฝ่) ฝันอย่างชัดเจนว่าเมื่อเป็นนักศึกษาก็หมายถึงเป็น “ปัญญาชน” และจะต้องฝันไปว่าจะสร้างอนาคตของตนและอนาคตของสังคมให้งดงามได้อย่างไร  แม้ในช่วงก่อน พ.ศ. 2516 วรรณกรรม/บทกวีของนักศึกษาที่ถูกให้ชื่อในภายหลักว่า “ วรรณกรรม/บทกวีหาผัว-หาเมีย” ก็ยังสอดแทรกด้วยความ (ใฝ่) ฝันอยู่  
 
แต่ที่น่าเศร้าใจ  ได้แก่  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มนักศึกษานักศึกษาระยะสองทศวรรษหลัง นักเรียนที่เคลื่อนย้านสถานะมาสู่นักศึกษาเกือบทั้งหมดเติบโตมาในสังคมที่ไม่มีความ(ใฝ่)ฝันจุนเจือเกื้อหนุนให้ฝัน  พวกเขาจึงเข้ามาสู่การศึกษาเพียงเพื่อจะเอาใบปริญญาออกไปหางานที่ทำตามที่คนอื่นสั่งให้ทำเท่านั้น  หากถามพวกเขาว่าความฝันของพวกเขาคืออะไร คำตอบคือ ความเงียบ เพราะพวกเขาไม่เคยมีความ(ใฝ่)ฝันใดๆ  อย่างมากก็มีความฝันเพ้อเจ้อที่ไม่ต้องการการลงแรงกายแรงใจอะไร เช่น รอเดินชนกับคุณชายพุฒิภัทร ที่มุมตึกแล้วก็จะตกหลุมรักกัน
 
การเปลี่ยนชื่อ/นามสกุลของนักศึกษาเกิดมากขึ้นในระยะสองทศวรรษหลังนี้ ก็เพราะพวกเขาไม่ได้มีความ (ใฝ่) ฝันอันใด หากแต่มีความหวังลมๆแล้งๆว่าหากเปลี่ยนชื่อ/นามสกุลแล้วจะโชคดี ( อย่างบังเอิญ)  โดยไม่เคยคิดเลยว่าความโชคดีไม่มีทางเกิดขึ้นหากพวกเขาไม่เตรียมตัวให้พร้อมที่จะฉวยจังหวะเพื่อจะได้พบกับความโชคดี
 
ความเปลี่ยนแปลงความหมายของคำว่าความฝันได้กำหนดเส้นทางเดินของชีวิตปัจเจกชนและชีวิตของสังคม  เพราะคำนี้ไม่ใช่แค่คำเท่านั้น หากแต่เป็นชุดของความคิดที่อธิบายความสัมพันธ์ของคนกับสังคมรอบข้างที่ถูกฝังเอาไว้ในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม
 
ความหมายที่เลื่อนไหลไปมาระหว่างความฝันกับความ (ใฝ่) ฝันของกลุ่มคนในสังคมจึงไม่ใช่เพียงแค่ปรากฏการณ์ของการเล่นคำในสังคมเท่านั้น  หากแต่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นถึงคุณภาพของผู้คนในสังคมช่วงเวลาหนึ่งๆ  
 
ความหมายของการใช้คำว่าความฝันในสังคมไทยวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวังของผุ้คนในสังคมไปแล้ว เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ความใฝ่ฝันแบบฝันให้ไกลไปให้ถึงกลับมาสู่คนไทยและสังคมไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net