Skip to main content
sharethis

 

ย่ำรุ่ง 24 มิ.ย.56 ที่บริเวณหมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และประชาชน ประมาณ 50 คน จัดกิจกรรมรำลึก 81 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีการอ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 การจุดเทียนวางดอกไม้ การปล่อยลูกโป่งที่มีข้อความเรียกร้องการปล่อยนักโทษการเมืองและยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ม.112 รวมทั้งการกล่าวรำลึก

หัวใจของระบอบประชาธิปไตยส่วนหนึ่งคือรัฐสภา

ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีคนเสื้อแดง กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เราควรถอดบทเรียนก็คือคณะผู้อภิวัฒน์สยามที่กระทำการสำเร็จในวันนั้นประกอบด้วยกลุ่มบุคคลทั้งที่เป็นพลเรือนและทหาร และประกอบด้วยกลุ่มหมายความคิด ดังนั้นการรวมตัวของผู้ที่อยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบันจึงจำเป็นที่จะต้องประสานกลุ่มบุคคลหลากหลายความคิด แต่มีเจตนารมณ์ร่วมที่ต้องการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย หัวใจของระบอบประชาธิปไตยส่วนหนึ่งคือรัฐสภา อยากให้ประชาชนให้ความสำคัญกับรัฐสภา เนื่องจากขณะนี้มีผู้ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ จึงขอเรียกร้องให้ร่วมกันพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยและระบอบรัฐสภา รวมทั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

“บางคนสร้างยุทธศาสตร์ ‘ราษฎรไม่พร้อม’

คุณต้านยันไม่ยอมให้เราก้าวหน้า

ท้องพระคลังถมทวีทรัพยา

แต่ในบ้านชาวนาไม่มีเงิน

81 ปี ของประชาธิปไตย

เป็นตะกั่วเคลือบกะไหล่ทองผิวเผิน

ตกแต่งด้วยองค์กรกลุ่มส่วนเกิน

ปฏิปักษ์เผชิญหน้าประชาชน

ทั้งแผ่นดินระเหยกลิ่นไอกบฏ

แพร่ความคิดเคี้ยวคดเคลื่อนสับสน

แผ่แผงปีกบังแสงอาทิตย์หม่น

ทั่วประเทศคลื่นเหียนสาบขนครุฑ”

ไม้หนึ่ง ก.กุนที อ่าน บทกวี 81 ปี อภิวัฒน์สยาม

จอมพลสฤษดิ์ ยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนา

รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความสำคัญของวันนี้ด้วยว่าคณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความสุขสมบูรณ์ของประชาชน ถ้าไม่มีคณะราษฎรต่อสู้นำวิถีก็ยังไม่แน่ใจว่าประเทศไทยจะพัฒนาไปเป็นอย่างไร อย่างน้อยที่สุดประชาธิปไตยที่มาถึงทุกวันนี้แม้จะล้มลุกคุกคลานบ้าง แม้จะมีอุปสรรค์แต่ก็ได้เริ่มต้นแล้วโดยคณะราษฎรที่เป็นผู้บุกเบิกนำทาง

สำหรับประเด็นเรื่องการเรียกร้องให้วันที่ 24 มิ.ย. เป็นวันชาตินั้น รศ.ดร.สุธาชัย กล่าวว่า ราวปี 2482 รัฐบาลคณะราษฎรได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันชาติของประเทศไทย จึงมีฐานะเป็นวันชาติอยู่ราว 21 ปี ต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิก

หมุดคณะราษฎรสัญลักษณ์ความเท่าเทียม

จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ซึ่งมาร่วมกิจกรรมกล่าวถึงความสำคัญในวันนี้ด้วยว่า “เนื่องจากเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นวันที่ประชาชนต้องเข้าร่วมรำลึกและเฉลิมฉลอง ไม่ใช่วันของบุคคล แต่เป็นวันของประชาชนหรือจะเรียกว่า “วันชาติ” อย่างแท้จริงก็ได้ การเข้าร่วมรำลึกเป็นเพราะไม่อยากให้คนรุ่นหลังหรือคนร่วมสมัยกับพวกเราลืมวันนี้ ที่ผ่านมารัฐเองก็ไม่ส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้เหตุการณ์นี้ถูกลืมเลือน วันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่แท้จริงต้องได้รับการจดจำ เราต้องทำให้สังคมได้รู้ว่ามันมีวันที่สำคัญต่อประชาชนทั้งหมด มากกว่าที่จะจดจำวันที่เกี่ยวข้องกับบุคคล”

จิตรา กล่าวถึงความสำคัญของหมุดคณะราษฎรซึ่งเป็นจุดที่ทำกิจกรรมว่า เป็นสัญลักษณ์ที่เล็กมากและมองมาแต่ไกลไม่เห็น ไม่โดดเด่นหรือต้องแหงนมอง แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนต้องเท่ากันทุกคน

ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาฯ เสนอแก้ รธน.50 รายมาตราง่ายกว่า

สุวรรณา ตาลเหล็ก ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ซึ่งจัดกิจรรมรำลึกเหตุการณ์นี้เป็นประจำกล่าวถึงความสำคัญของเหตุการณ์นี้ว่า วันนี้เป็นวันที่ก่อกำเนิดหลายอย่าง เช่น วันชาติ ซึ่งทางกลุ่มเคยจัดทวงคืนวันชาติมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่กลับไม่เป็นที่สนใจ รวมไปถึงเรื่องของหลักประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นจากการได้รัฐธรรมนูญ

ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ด้วย เนื่องจากมีที่มาและกระบวนการได้มาโดยไม่ชอบธรรม แม้มีการอ้างเรื่องการลงประชามติ แต่ก็เป็นการลงประชามติภายใต้บรรยากาศความกลัว การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงต่างๆ รวมถึงกระแสให้รับก่อนเพื่อให้มีการเลือกตั้งแล้วแก้รัฐธรรมนูญภายหลัง ทั้งนี้ สุวรรณา เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญทีเดียวทั้งฉบับอาจถูกแรงต้านเยอะ จึงมองว่าควรแก้รายมาตราไปก่อนจะง่ายกว่า 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net