จี้ผู้ว่าฯ ตรังแยกแยะมอดไม้-ผู้รักษาป่า หยุดคุกคามพื้นที่โฉนดชุมชน

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ จี้พ่อเมืองตรังให้แยกแยะขบวนการทำไม้ออกจากชุมชนดั้งเดิมผู้รักษาป่า ยุติการรื้อถอนสะพาน และการคุกคามดำเนินคดีในพื้นที่โฉนดชุมชน ด้านพ่อเมืองตรังมีคำสั่งด่วนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง

 
วันที่ 24 มิ.ย.56 เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.ที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ประมาณ 150 คน ได้มายื่นหนังสือต่อนายธีรยุทธ เอี่่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (ผวจ.ตรัง) เพื่อให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกเครือข่ายฯ ในพื้นที่โฉนดชุมชน
 
ประกอบด้วย 1.ชุมชนบ้านหาดสูง ม.7 ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง และ ม.5 ต.เขาปูน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งมีหนังสือจากอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ลงวันที่ 28 พ.ค.56 สั่งให้รื้อถอนสะพานทางเข้าหมู่บ้าน และสั่งให้รื้อถอนบ้านของนางสาวกิจวรรณ สังข์ช่วย 2.ชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู หมู่ที่ 1 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง และ หมู่ที่ 1 ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ใช้อาวุธปืนจี้ และปักป้ายตรวจยึดจับกุมสวนยางพาราของนายสมคิด กันตังกุล ตลอดจนเตรียมดำเนินคดีอาญา
 
 
นอกจากนี้ กรณีที่ ผวจ.ตรัง ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้าตรวจสอบการตัดไม้ทำลายป่าในเขตป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ รอยต่อ 2 อำเภอ ระหว่างบ้านเขาหลัก ม.7 ต.น้ำผุด อ.เมือง กับบ้านหาดสูง ม.5 ต.เขาปูน อ.ห้วยยอด โดยระบุว่าเส้นทางคอนกรีตขนาดเล็ก และสะพานไม้ข้ามลำน้ำ 3 จุด สร้างขึ้นโดยกลุ่มขบวนการลักลอบตัดไม้ โดยมีการใช้ควายในการชักลากไม้ดังกล่าวออกมานอกพื้นที่
 
นางอำนวย สังข์ช่วย คณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ชี้แจงว่า เส้นทางและสะพานข้ามลำน้ำดังกล่าวมีขนาดเล็ก โดยสะพานมีขนาดความกว้างเพียง 150 เซนติเมตร ความยาว 16 เมตร ชุมชนได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อใช้สัญจรเข้าออกหมู่บ้าน และบรรทุกพืชผลทางการเกษตร ได้แก่ ยางพารา ผัก และผลไม้ ระหว่างบ้านหาดสูงกับบ้านเขาหลัก ระยะทางประมาณ 6 กม.โดยมีการบวชต้นไม้กว่า 200 ต้น ตั้งแต่ปี 2543 และมีการดูแลรักษาจนถึงปัจจุบัน พร้อมยืนยันว่าบ้านหาดสูงเป็นชุมชนดั้งเดิม มีการก่อตั้งหมู่บ้านมาประมาณ 100 ปี
 
“เส้นทางและสะพานดังกล่าวไม่ได้สร้างขึ้นโดยกลุ่มขบวนการลักลอบตัดไม้ และไม่ได้มีร่องรอยการใช้ควายในการชักลากไม้ผ่านมายังเส้นทางนี้” นางอำนวย กล่าวยืนยัน
 
นางอำนวย กล่าวด้วยว่า ทางเครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้องต่อท่าน ผวจ.ตรัง ให้แยกแยะชุมชนดั้งเดิม และผู้รักษาป่า ออกจากผู้บุกรุกทำลายป่า และขอให้ยุติการรื้อถอนสะพานทางเข้าพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านหาดสูง ยุติการรื้อถอนบ้านของนางสาวกิจวรรณ สังข์ช่วย สมาชิกองค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านหาดสูง และยุติการดำเนินคดีนายสมคิด กันตังกุล สมาชิกองค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านทับเขือ-ปลักหมู
 
ตลอดจนขอให้ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข แก่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา และขอให้จัดการประชุมหารือระหว่างเครือข่าย กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีท่าน ผวจ.ตรัง เป็นประธาน
 
ด้านนายธีรยุทธ เอี่ยมตระกูล ผวจ.ตรัง กล่าวว่า ในวันนี้ตนจะส่งกำลังเจ้าหน้าที่นำโดย นายชวกิจ สุวรรณคีรี ป้องกันจังหวัดตรัง เข้าไปตรวจสอบสะพานดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหา และตรวจสอบขบวนการตัดไม้โดยจะสอบสวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำลายป่าบ้าง ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ ใช้อาวุธ จะหาข้อเท็จจริง คนมีอำนาจแต่ละหน่วยจะต้องกำกับการทำงานของลูกน้อง จะทำแบบป่าเถื่อนไม่ได้
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้ยื่นหนังสืออีก 3 ฉบับ ผ่าน ผวจ.ตรัง ไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายประชา ประสพดี) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข) โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.เร่งรัดดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ด้านที่ดิน และทรัพยากร ข้อ 5.1 และ 5.4 ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะต้องมีการมอบนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลให้คณะรัฐมนตรี และส่วนราชการต่างๆ ยึดถือปฏิบัติ
 
2.เร่งรัดเสนอเรื่องโฉนดชุมชน (พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของนโยบายการดำเนินงานโฉนดชุมชน โดยให้ชุมชนซึ่ง ปจช. เห็นชอบให้ดำเนินงานโฉนดชุมชนแล้ว สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติ ต่อไป) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ไม่ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของนโยบายการดำเนินงานโฉนดชุมชน ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมกับตัวแทนรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2556
 
3. กำกับการทำงานของส่วนราชการต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ด้านที่ดิน และทรัพยากร ข้อ 5.1 และ 5.4 ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และให้สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงระหว่างขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมกับตัวแทนรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 ที่ระบุว่า
 
"รัฐบาลจะเร่งรัดดำเนินการตามนโยบายด้านที่ดิน และทรัพยากร ข้อ 5.1 และ 5.4 ที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน โดยในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามกลไก และแนวทางที่มีอยู่ ขอให้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป"    
             
และ 4. มีหนังสือแจ้งเวียนไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมให้ปฏิบัติตามข้อ 3. และให้สอดส่องดูแลในพื้นที่ และระมัดระวังมิให้เกิดความขัดแย้ง จนเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ความร่วมมือเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขโดยเร็ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท