Skip to main content
sharethis

การประชุมสากลเพื่อการยุติโทษประหารชีวิตครั้งที่ 5 ได้จบลงเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ซึ่งเป็นการประชุมที่เกิดขึ้นทุกๆ 3-4 ปี โดยมีผู้เข้าร่วมจากองค์การระหว่างประเทศ รัฐบาล ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนราว 1,500 คน จากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก 

ทั้งนี้ 105 ประเทศทั่วโลกได้ยุติโทษประหารชีวิตแล้ว มี 36 ประเทศที่ถือว่ายกเลิกในทางปฏิบัติ คือมิได้ทำการประหารชีวิตในรอบ 10 ปี ในขณะที่อีก 57 ประเทศ ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่ รวมถึงในไทย ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย และบางส่วนในแอฟริกา 
 
ที่ผ่านมา การประชุมสากลเช่นนี้ ซึ่งจัดโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรของฝรั่งเศสที่ชื่อ ภาคีเพื่อการยกเลิกโทษประหารชีวิต (Together Against the Death Penalty) ได้หมุนเวียนจัดไปตามประเทศต่างๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนการประชุม ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และนอร์เวย์ ส่วนในปีนี้ รัฐบาลสเปนเป็นเจ้าภาพ จึงจัดขึ้นที่กรุงมาดริด ระหว่างวันที่ 12-15 มิ.ย. 56 
 
ประชาไทพูดคุยกับ ราฟาเอล เชนนุล ฮาซาน ผู้อำนวยการภาคีเพื่อการยกเลิกโทษประหารชีวิต (Ensemble contre la peine de mort) ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมครั้งนี้ เขากล่าวด้วยว่า ได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมของไทย รวมถึงจากคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอาเซียน (AICHR) เข้าร่วมประชุมด้วย แต่มิได้มีตัวแทนเข้าร่วมแต่อย่างใด
 


บทสัมภาษณ์และภาพบรรยากาศการประชุมโลกเพื่อการยุติโทษประหารชีวิตครั้งที่ 5
(คลิกที่ CC เพื่อเลือกซับไตเติ้ลภาษาไทย)

 
การประชุมนี้ได้จัดขึ้นมาหลายครั้ง ที่ผ่านมาก็ 13 ปีแล้ว คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มอะไรที่ชัดเจนเกี่ยวกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตบ้าง 
 
ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกที่เมืองสตราสเบิร์ก ประเทศฝรั่งเศส ปี 2544 จนถึงตอนนี้เป็นเวลา 13 ปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่มุ่งไปในทางการยกเลิกโทษประหารชีวิต ในขณะนี้ 2 ใน 3 ของประเทศทั้งหมดในโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วหรือยกเลิกในทางปฏิบัติ แต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว มันเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดย 2 ใน 3 ของประเทศทั้งหมดในโลกทำการประหารชีวิตประชาชนอยู่ 
 
นี่อาจจะเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนเรื่องหนึ่งในหลายเรื่องที่ถือว่าประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ เช่น เสรีภาพสื่อ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราเผชิญกับข้อท้าทายหลายเรื่อง เพราะเรามีประเทศที่ยากขึ้นในการโน้มน้าวให้ยกเลิกโทษประหาร
 
ในประเด็นสิทธิมนุษยชนทั้งหมดทั้งมวล ทำไมคุณถึงเลือกที่ทุ่มเทการทำงานกับประเด็นนี้โดยเฉพาะ
 
สิทธิมนุษยชนทุกด้านล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต ที่ผมพูดว่าทั้งหมด หมายถึงว่าสิทธิแรกที่สำคัญที่สุดคือสิทธิในการมีชีวิตอยู่ แม้แต่สำหรับอาชญากรหรือใครก็ตาม และสิทธิในชีวิตนั้นก็สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และถ้ารัฐสามารถพูดได้ว่า "ฉันมีสิทธิตามกฎหมายที่จะพรากชีวิตของบุคคลอื่น" เขาก็อาจจะพูดได้ว่า "ฉันมีสิทธิในการหยุดเสรีภาพสื่อ" เขาก็อาจจะพูดได้ด้วยว่า "ฉันมีสิทธิละเมิดสตรี หรือชนกลุ่มน้อย" หรืออะไรก็ได้ ฉะนั้นสิทธิในการมีชีวิตอยู่ เป็นสิทธิที่สำคัญที่สุดในการปกป้อง นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงทุ่มเททั้งชีวิต เวลา และพลังงานในการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก 
 
จริงๆ คุณอาจพูดได้ว่า แต่มันยังมีการสังหารนอกระบบอยู่ รัฐสามารถสังหารโดยไม่ต้องใช้โทษประหารชีวิตก็ได้ โดยไม่ต้องมีกฎหมายใดๆ ผมก็เข้าใจว่าประเด็นนั้นสำคัญ ไม่ใช่ว่าคุณยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วมันจะไม่มีการฆ่ากัน แต่ประเด็นคือว่ามันจะไม่เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายอีกต่อไป เหมือนกับการค้าทาส หรือการซ้อมทรมาน เมื่อคุณยกเลิกการค้าทาสหรือการทรมานในโลกได้แล้ว มันไม่ได้หมายความว่าการทรมานจะหมดไป แต่มันกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกศีลธรรม 
 
ผู้นำประเทศหลายที่อ้างว่า โทษประหารชีวิตยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ และอ้างว่าหากยกเลิกแล้ว ประชาชนจะรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต เรื่องนี้คุณมองว่าอย่างไร 
 
ความรู้สึกเรื่องไม่ปลอดภัยมันก็คือความเป็นจริง แต่ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่ผู้คนรู้สึก คือหลายๆ คนคิดว่าโทษประหารชีวิตนั้นจะทำให้อาชญากรรมลดลง แต่งานวิจัยและสถิติแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมได้ 
 
ในสหรัฐอเมริกานั้นจะเห็นชัดมาก เพราะมีรัฐในอเมริกาที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปนานแล้ว มีรัฐที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปห้าปี จากนั้นนำกลับมาใช้ใหม่ และในช่วงนั้น เราได้เก็บสถิติอาชญากรรมในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังยกเลิกโทษประหาร พบว่า ในช่วงที่ยกเลิกโทษประหาร กลับมีสถิติอาชญากรรมลดลง ทำไมน่ะหรือ? อาจอธิบายได้ว่า รูปแบบของความรุนแรงลดน้อยลงไป 
 
เราอาจเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า อาชญากรไม่คิดถึงเรื่องบทลงโทษ พวกเขาไม่คิดถึงผลที่ตามมา ไม่เคยคิดเลย ยกเว้นก็แต่อาชญากรรมประเภทก่อการร้าย ซึ่งประสงค์จะเสียชีวิตอยู่แล้ว หรือถ้าเขามีอาการทางจิตหรืออะไรอย่างนี้ พวกเขาไม่สนใจว่าจะถูกสังหารหรือไม่ อย่างอาชญากรที่ปล้นธนาคารและฆ่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มันเป็นการกระทำที่เขาจะไม่คิดว่า โอเค ฉันไม่ปล้นแล้วดีกว่าเพราะเดี๋ยวโดนโทษประหารชีวิต ถ้าเอาหลักเหตุผลมาใช้แล้ว ก็จะเข้าใจว่าโทษประหารชีวิตไม่ช่วยลดอาชญากรรม 
 
ฉะนั้น ความจริงเกี่ยวกับการสนับสนุนโทษประหารชีวิตก็คือว่า ผู้คนต้องการแก้แค้น พวกเขาอยากแก้แค้น เขาอาจจะไม่มีทางพูดออกมาว่า ต้องล้างเลือดด้วยเลือด หรือบอกว่า อยากจะเห็นมันตาย ถ้าไม่ใช่ญาติของเหยื่อที่ถูกกระทำ ถ้าคุณเป็นพลเมืองธรรมดา คุณอยากให้เขาตาย เพราะว่าคุณกลัวผู้ร้าย นั่นแหละที่สำคัญที่สุด มันเป็นความคิดความเชื่อส่วนตัวว่าคุณกลัวอะไรมากกว่า 
 
และความยุติธรรมก็มิใช่การแก้แค้น ระบบยุติธรรมไม่ใช่เรื่องการแก้แค้น ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นเรื่องความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก เพราะเราเป็นมนุษย์ และระบบกฎหมายของเราก็เป็นระบบมนุษย์ ซึ่งมักพบความผิดพลาดทุกๆ ที่ ในสหรัฐอเมริกาเอง หลายปีที่ผ่านมา เราพบอย่างนักโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 150 คนที่บริสุทธิ์ คุณลองนึกดู
 
ในโครงการที่ชื่อ Innocence Project ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นในชิคาโก้ ทีมวิจัยได้ส่งนักข่าวและทนายความไปรื้อคดีความที่ตัดสินลงโทษประหารชีวิต โดยเฉพาะคดีของคนที่มีชีวิตอยู่ เพราะเขาไม่มีเวลาไปทำคดีทั้งหมดได้ ปรากฎหลักฐานว่า รัฐได้ประหารประชาชนคนบริสุทธิ์ไปมากมาย และการประชุมโลกครั้งนี้ เราก็มีอดีตนักโทษที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต แต่พบที่หลังว่าบริสุทธิ์ เข้าร่วมด้วย บางคนก็พบว่าบริสุทธิ์หลังผ่านไป 6 ปี บางคนก็ 20 ปี บางคนก็ 30 ปี หลังถูกตัดสินประหารชีวิต 
 
นี่คือความเป็นจริง มีอยู่วันหนึ่งผมอยู่กับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของประเทศจอร์แดนในตะวันออกกลาง  ผมเล่าเรื่องนี้ให้เขาฟัง และเขาก็ตอบว่า "ใช่ๆ ก็ถูกแล้ว แต่ระบบยุติธรรมของเราน่ะดีไม่มีข้อบกพร่อง ระบบยุติธรรมของสหรัฐไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ของเราน่ะ ดี"
 
จะเป็นเช่นนั้นหรือ? ผมคิดว่าไม่น่านะ
 
คาดหวังอะไรจากการประชุมครั้งนี้บ้าง
 
ความคาดหวังของผมคือการให้หลายๆ ประเทศตื่นขึ้นมา อยากจะปลุกประเทศไทย ทั้งรัฐบาล กระทรวงต่างๆ รวมถึงชนชั้นนำของไทย เช่นผู้พิพากษาและทนายความ และองค์กรสิทธิมนุษยชนกับสื่อมวลชนด้วยในฐานะส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคม เราหวังให้เกิดการตื่นขึ้นแบบนี้จริงๆ และหวังว่าจะเกิดการสร้างเครือข่ายในภูมิภาค ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์มากหากองค์กรในอาเซียนสามารถร่วมกันทำงานได้ 
 
ผมทราบว่า อาเซียนเพิ่งก่อตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอาเซียน (AICHR) เราได้เชิญพวกเขามาร่วมด้วย แต่ไม่มีใครมาเลย เหตุใดจึงไม่มีคณะทำงานด้านโทษประหารอยู่ในคณะกรรมาธิการเพื่อให้เกิดการคุยกันระหว่างองค์กรสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ผมอยากให้เกิดเป็นกระบวนการคล้ายๆ กับแอฟริกา โดยสหภาพแอฟริกา (African Union) นั้นมีสภาแอฟริกาเพื่อสิทธิมนุษยชน และภายในก็มีคณะทำงานที่ทำเรื่องโทษประหารโดยเฉพาะ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องการปลุกองค์กรของเอเชียทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้ตื่นขึ้นมา 
 
ความคาดหวังของผม สำหรับการประชุมโลกครั้งต่อไป คือให้มีรัฐมนตรียุติธรรม หรือต่างประเทศจากประเทศในเอเชียเข้าร่วมมากที่สุดเท่าที่ทำได้ นี่คือความฝันของผม
 
ที่งาน ก็มีตัวแทนทูตจากประเทศต่างๆ ที่อยู่ในมาดริดเข้าร่วม มีรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมจากฟิลิปปินส์คนเดียวที่มา ฟิลิปปินส์และกัมพูชาเป็นเพียงสองประเทศในอาเซียนที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net