Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอนที่ผ่านมาผู้เขียนได้กล่าวถึง การทดลองและการจัดการความเสี่ยงของชาวสวนยางพาราอีสาน  ด้วยความสามารถของชาวสวน บวกกับเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย ทั้งการสนับสนุนของรัฐ และโอกาสที่ยางพาราอยู่ในช่วงราคาดี ทำให้ชาวสวนยางในหมู่บ้านแห่งนี้ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ เรื่องที่ได้กล่าวมาอาจดูเหมือนว่า ชีวิตชาวสวนยางพาราช่างราบรื่นสวยงาม แต่ที่จริงพวกเขายังเผชิญปัญหาใหญ่ที่ไม่อาจควบคุมและยากจะต่อรอง 

ในตอนนี้จะนำเสนอชีวิตชาวสวนยาง ผ่านการแจกแจงให้เห็นการลงทุนและกำไรที่พวกเขาได้รับ  แม้ว่าเป็นรายได้ที่น่าพอใจ แต่จะชี้ให้เห็นว่าพวกเขายังถูกเบียดบังเอาส่วนที่ควรได้รับไป และยังมีชีวิตท่ามกลางความเสี่ยงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ทำให้ชีวิตตกอยู่ในภาวะเปราะบาง เรื่องทำนองนี้คือปัญหาร่วมของเกษตรกร ดังนั้นในช่วงหลังของบทความจะยกระดับการอภิปรายไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างในประเด็นการสะสมทุนอย่างยืดหยุ่น เพื่อเสนอแนวคิดในการมองปัญหาและข้อคิดบางประการในตอนท้าย


ที่มาภาพ: http://jarernchaiyangpara.com

กำไรและความเสี่ยง

การทำสวนยางพารา ให้ผลตอบแทนต่อไร่สูงกว่าการปลูกพืชอื่นๆ ข้อเท็จจริงนี้ได้รับการยืนยันจากการวิจัยหลายชิ้น รวมทั้งสถาบันที่เกี่ยวข้อง และตัวเกษตรกรเอง  ที่บ้านศรีเจริญก็เช่นเดียวกัน ชาวสวนยางพาราส่วนใหญ่พบว่ามีรายได้ดีขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชที่ผ่านมา 

ในช่วงนี้จะแสดงให้เห็นว่าชาวสวนยางพาราในหมู่บ้านแห่งนี้   ได้กำไรจากการทำสวนมากน้อยเพียงใด หลักการคำนวณคือ คำนวณต้นทุนการผลิต  แล้วคำนวณผลตอบแทนจากการขายผลผลิต นำมาหักล้างกันจะได้ผลกำไร

การคำนวณไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะการทำสวนยางพาราเป็นพืชยืนต้น กินเวลายาวนานจึงมีตัวแปรหลายตัว และตัวแปรยังเปลี่ยนแปลงตามเวลา  การคำนวณมีข้อสมมุติและข้อเท็จจริงดังนี้

1) คำนวณต้นทุนการผลิตบนเนื้อที่ 1 ไร่ เริ่มทำการผลิตในปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่ชาวบ้านศรีเจริญส่วนใหญ่เริ่มทำสวนยางพารา

2) ต้นยางพาราใช้เวลาเติบโต  7 ปี เมื่อขึ้นปีที่ 8 จึงเริ่มให้ผลผลิต (กรีดยางได้) และจะกรีดยาง ได้ถึงปีที่ 25  ซึ่งต้นยางจะแก่ให้ผลผลิตน้อย ไม่คุ้มค่าที่จะทำต่อ ดังนั้นอาจแบ่งการทำสวนยางออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือช่วยยังไม่ให้ผลผลิต ระหว่างปีที่ 1-7 ช่วงที่สอง คือ ช่วงให้ผลผลิต ระหว่างปีที่ 8-25 ทั้งสองช่วงมีการลงทุนต่างกัน     

3)  การใช้แรงงานในครัวเรือน ปกติชาวสวนไม่คิดต้นทุน แต่ในที่นี้จะคิดต้นทุนเท่ากับค่าจ้างรายวัน เพื่อสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริง

4) ราคาผลผลิตที่ชาวสวนขายได้ในปี 2547-2549 คิดเป็นราคายางแผ่นรมควัน โดยใช้ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3 ปีนั้น  ส่วนปี 2550 เป็นต้นมา ซึ่งชาวบ้านศรีเจริญเริ่มหันมาขายยางก้อน จะคิดราคาตามข้อเท็จจริงในปีดังกล่าวจนถึงปี 2553[1] และนับจากปี 2554 จนถึงปี 2564 จะสมมุติว่าชาวสวนขายยางก้อนต่อมา และจะสมมุติว่าราคารับซื้อสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 1 บาท (ตามค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้นระหว่างปี 2550-2553)

               

ตารางต่อไปนี้แสดงต้นทุน และราคาผลผลิต ซึ่งได้มาจากการสำรวจหัวหน้าครัวเรือนแล้วหาค่าเฉลี่ย[2]    ดังนี้


(
คลิ๊กที่ตารางเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

 

จากข้อมูลทั้งหมดเมื่อนำมาคำนวณหากำไร โดยนำรายได้สะสมจากการขายผลผลิตปีที่ 8 – 25 เป็นเงิน 808,000 บาท (ตารางที่ 3) ลบด้วยต้นทุนทั้งหมดจากปีที่ 1- 7  เป็นเงิน 7,735 บาท (ตารางที่ 1) รวมกับต้นทุนระหว่างปีที่ 8-25 เป็นเงิน 124,024 บาท (ตารางที่ 2) จะได้กำไรในรอบการผลิต 25 ปี คือ 808,000 – (7,735 + 124,024) =  676,241/25 = 24,050 บาท/ไร่/ปี


กำไรจากการทำสวนยางพารา 24,050 บาท/ไร่/ปี  มีนัยหลายประการ

ประการแรก  เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวโพดในอดีต ซึ่งได้กำไร 7,770 บาท/ปี/ไร่[3] แสดงว่าการทำสวนยางพาราให้ผลตอบแทนมากว่า 3.1 เท่า ประการต่อมา เมื่อคำนวณผลตอบแทนจากการทำงานของแรงงาน 1 คน ในการทำงาน 1 เดือน จะได้เท่ากับ 14,028 บาท/เดือน[4] เมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำที่ทำงานใน 30 วัน มีค่าเท่ากับ 6,180 บาท[5] จะพบว่าทำสวนยางพาราให้ค่าตอบแทนสูงกว่ารับจ้างรายวัน 2.5 เท่า และเมื่อคิดว่าโดยทั่วไป ครัวเรือนหนึ่งมีแรงงาน 3 คน (พ่อ-แม่-ลูก) ดังนั้นหากทั้งสามคนช่วยกันทำงานเต็มเวลา ในเนื้อที่ 21 ไร่ จะได้เงินเข้าบ้านเดือนละประมาณ  42,084 บาท ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงมากสำหรับครัวเรือนเกษตรกร นอกเหนือจากนั้นในช่วงปีหลังๆ นับจากปีที่ 8 เป็นต้นมา ต้นทุนในการดูแลสวนยางจะคงที่ หรือเพิ่มเพียงเล็กน้อย คงเหลือแต่ต้นทุนด้านแรงงาน  ทำให้ในปีหลังกำไรยิ่งสูงขึ้น  (ดังแผนภาพข้างล่าง) ในบางกรณีสวนยางอาจกรีดยางไปได้จนถึงอายุ 30 ปีก็ได้ ก็ยิ่งสร้างกำไรให้กับเกษตรกรมากขึ้นอีก เหตุผลทั้งหมดนี้ทำให้การทำสวนยางพาราเป็นอาชีพในฝันของชาวบ้านจำนวนมาก

แผนภาพ แนวโน้มของต้นทุน รายได้ และกำไร

แม้การทำสวนยางเป็นอาชีพที่ดี แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า อาชีพสวนยางพารามีเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามก็คือความเสี่ยง ซึ่งเป็นความเสี่ยงในระดับสูง ดังที่นักวิชาการจัดประเภทยางพาราว่าเป็นพืชที่ “กำไรสูงและเสี่ยงสูง”[6] (high profit/high risk) กล่าวคือ แม้จะมีผลตอบแทนสูง แต่ยางพาราต้องลงทุนสูง ในที่ขณะราคายางในตลาดโลกก็ผันผวนสูงด้วย เพราะยางพาราเป็นสินค้าระดับโลกที่สัมพันธ์กับตัวแปรทางเศรษฐกิจหลากหลายประการ[7] ดังนั้นในยามที่ราคายางในตลาดโลกดี เกษตรกรก็มีโอกาสจะได้รายได้ดี แต่ยามราคายางในตลาดโลกตกต่ำ เกษตรกรก็เสี่ยงจะขาดทุน หรือเป็นหนี้ล้นพ้นตัวได้ง่าย ดังในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาราคายางมีแนวโน้มลดลง  และได้เกิดการชุมนุมของชาวสวนยางให้รัฐเข้าแทรกแซงราคาบ่อยครั้ง

ท่ามกลางความผันผวน  ตลาดยังถูก “บิดเบือน” ด้วยบรรดากลุ่มธุรกิจผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วยผู้ค้าคนกลางในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ผู้แปรรูปเบื้องต้น(โรงงานอุตสาหกรรม) กลุ่มธุรกิจค้าปัจจัยการผลิต สถาบันสินเชื่อ ผู้ส่งออก ไปจนถึงกลุ่มธุรกิจยางพาราระดับโลก บรรดาธุรกิจผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้มีอำนาจต่อรองสูงกว่าเกษตรกร  ซึ่งต่างผลักภาระต้นทุนและความเสี่ยงทั้งมวลลงมายังเกษตรกร ความสัมพันธ์นี้อาจวาดภาพให้เห็นโครงสร้างตลาดแนวดิ่งที่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องสูงขึ้นไปเป็นลำดับ โดยมีเกษตรกรอยู่ล่างสุด ในกรณีบ้านศรีเจริญเราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้นจากการพิจารณาต้นทุนการผลิตในเรื่องที่ดินและแรงงาน 

ในกรณีที่ดิน จากการคำนวณหากำไรของการทำสวนข้างต้น จะเห็นว่าไม่ได้รวมต้นทุนด้านที่ดินเข้าไปด้วย ซึ่งหากรวมต้นทุนในหมวดนี้เข้าไปด้วย เมื่อหักลบกลบหนี้แล้ว จะพบว่าชาวสวนยางมีกำไรไม่มากนัก หรือบางกรณีอาจขาดทุน สถานการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าราคารับซื้อยางพารา ไม่ได้รวมเอาต้นทุนด้านที่ดินของเกษตรกร หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการปัดภาระต้นทุนด้านที่ดินให้เกษตรกรแบกรับแต่ฝ่ายเดียว ็็น็นส่วนที่เกษตรกรยังยินดีแบกรับต้นทุน และคิดว่าตนเองยังได้กำไร ก็เพราะรู้สึกว่าไม่ได้ลงทุนด้านที่ดิน เพราะที่ดินเป็นมรกดตกทอด แต่ที่จริงแล้วต้นทุนด้านที่ดินเป็นต้นทุนสำคัญที่ต้องรวมไว้ในราคาสินค้าทุกประเภท    

กรณีแรงงาน ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั่วไปในชนบทคือ การที่ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น สัญญาณบ่งบอกประการหนึ่งก็คือ ในพื้นที่ชายแดน หรือพื้นที่ตอนในบางแห่งมีการจ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน  ที่บ้านศรีเจริญไม่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติ  แต่เป็นการจ้างแรงงานคนในพื้นที่ สภาวะต้นทุนสูงของพื้นที่นี้เห็นได้จากค่าจ้างแรงงานในรูปการแบ่งผลผลิตในอัตรา เจ้าของสวน : แรงงาน เท่ากับ 60 : 40  อัตรานี้เจ้าของสวนยางรู้สึกว่าเป็นภาระสูงสำหรับพวกเขา ในขณะที่ค่าแรงสูงขึ้น แต่ราคายางพารากลับไม่สูงขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีการจ้างแรงงานในสวนยาง ทางออกของการประหยัดค่าจ้างแรงงานคือ การตรากตรำใช้แรงงานในครัวเรือนมากขึ้น การจ้างแรงงานเฉพาะช่วงเวลาที่จำเป็น และอีกหนทางหนึ่งคือการหันมาขายเศษยาง (ยางก้อนถ้วย) ซึ่งสามารถประหยัดแรงงาน แต่ก็ต้องแลกกับราคาผลผลิตที่ต่ำลงกว่าครึ่งของราคายางแผ่น  ในทำนองเดียวกับกรณีที่ดิน หมายความว่ากลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ปัดภาระต้นทุนด้านแรงงานให้แก่เกษตรกรแบกรับแต่ฝ่ายเดียว    

เมื่อพิจารณาทั้งต้นทุนที่ดินและแรงงาน จะเห็นว่าราคาผลผลิตที่เกษตรกรได้รับ คือราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงกล่าวได้ว่า ตลาดที่บิดเบือนได้กลายเป็นกลไกเบียดบังเอาผลตอบแทนที่เกษตรกรควรจะได้รับไปสู่ผู้กลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคยางพารา กล่าวถึงที่สุดแม้ชาวสวนจะรู้สึกว่าได้กำไรจากสวนยางพาราเป็นอย่างดี แต่ที่จริงกลับมีชีวิตท่ามกลางความเสี่ยงของราคาที่ผันผวน ทำงานหนัก และถูกขูดรีดอย่างไม่เป็นธรรม    

 

การสะสมทุนอย่างยืดหยุ่น

จากปัญหาการแบกรับต้นทุนการผลิตและความเสี่ยงของชาวสวนยาง ที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบตลาดที่กลุ่มธุรกิจมีอำนาจต่อรองสูงกว่าผลักภาระทั้งหมดมายังเกษตรกร ในช่วงนี้จะทำความเข้าใจว่าอะไรเกื้อหนุนให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้น โดยจะนำแนวคิด  “การสะสมทุนอย่างยืดหยุ่น”[8] (Flexible Accumulation) ของ เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) นักคิดมาร์กซิสต์ (Marxist) ที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน มาปรับใช้เข้าใจสถานการณ์ตลาดยางพาราในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

การสะสมทุน (capital accumulation) ในทัศนะของมาร์กซิสต์ คือหัวใจของกระบวนการพัฒนาทุนนิยม การวิเคราะห์ระบอบการสะสมทุน ทำให้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วทุนก็คือ สิ่งที่งอกเงยขึ้นจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินที่แรงงานผลิตได้ โดยนายทุนไม่จ่ายค่าตอบแทนให้แก่พวกเขา นัยสำคัญของการวิเคราะห์การสะสมทุนในอีกด้านหนึ่งคือ การปฏิเสธทฤษฎี “ตลาดที่กำกับควบคุมตัวเอง”  (self-regulating market) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเชื่อว่าเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ แต่มาร์กซิสต์เห็นว่า ตลาดมักไม่ทำงานตามทฤษฎี หากแต่ตลาดมักถูกบิดเบือน และให้ประโยชน์แก่นายทุนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองเหนือกว่า อีกทั้งตลาดก็ไม่เคยกำกับควบคุมตัวเองโดยลำพังด้วย เพราะตลาดทำงานได้ด้วยการสนับสนุนค่ำจุนด้วยบทบาทของรัฐ และสถาบันนอกเหนือเศรษฐกิจนานาประการ

สำหรับการสะสมทุนอย่างยืดหยุ่นก็คือ พัฒนาการการสะสมทุนที่เกิดขึ้นในเงื่อนไขโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการสื่อสารและคมนาคมขนส่งที่เอื้ออำนวย พร้อมกับการปรับระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐชาติ ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างหน่วยทางสังคมเป็นไปอย่างใกล้ชิดเข้มข้น หรือนัยหนึ่งเกิดการ “ควบแน่นของเวลาและสถานที่”  (time-space compression) การควบแน่นของเวลาและสถานที่เปิดโอกาสให้นายทุนก้าวสู่การสะสมทุนในรูปแบบใหม่ จากหลัก economic of scale สู่ economic of scope  หมายถึงการปรับระบบการจัดการธุรกิจในเครือข่ายที่กว้างขวาง ซึ่งสามารถยักย้ายถ่ายเทธุรกรรมระหว่างหน่วยอย่างยืดหยุ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังที่เราจะพบการจัดการธุรกิจข้ามชาติของบริษัทขนาดใหญ่ ที่ส่งทุนไปลงทุนในประเทศที่ต้นทุนต่ำสุด การแบ่งซอยหน่วยการผลิตออกเป็นหน่วยย่อยๆ การใช้ระบบผลิตสินค้าแบบจ้างเหมาช่วงงาน และการจ้างแรงงานในรูปแบบสัญญาระยะสั้น ทั้งหมดเป็นกลยุทธ์ที่ถูกเลือกใช้เพื่อลดภาระต้นทุน จากค่าใช้จ่ายในการจัดการ การรับผิดชอบต่อแรงงาน และลดความเสี่ยงของธุรกิจให้เหลือต่ำสุด  

เมื่อนำมโนทัศน์ดังกล่าว มาเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทุนนิยมภาคเกษตรของไทย จะช่วยให้เข้าใจนัยสำคัญของความเปลี่ยนแปลงได้ดี ประเด็นเด่นชัดประการหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องย้อนแย้งกับคาถาของนักเสรีนิยมใหม่ ที่เสนอให้รัฐลดบทบาททางเศรษฐกิจลง แต่เอาเข้าจริงแล้วรัฐกลับมีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนให้ตลาดทำงานได้ รัฐมีบทบาทอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่การส่งเสริมการเกษตร การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญและเป็นรากฐานของระบบทุนนิยมก็คือ การจัดระบบกรรมสิทธิ์เอกชนเหนือทรัพยากร  โดยเฉพาะที่ดิน ด้วยการออกโฉนดที่ดินส่วนบุคคล นอกจากนั้นยังสร้างข้อยกเว้นการใช้พื้นที่ป่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  ที่เป็นประโยชน์แก่นายทุน ที่สำคัญในเวลานี้คือ การทำให้ พรบ.น้ำ มีผลบังคับใช้ทางปฏิบัติ ทั้งหมดนี้ทำให้ทรัพยากรกลายเป็นสินค้าที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของตลาด ยังรวมไปถึงนโยบายบิดเบือนตลาด ที่ส่งผลลบต่อเกษตรกร แต่เป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มอื่นๆ เช่นการเก็บภาษีพิเศษบางประเภทจากเกษตรกร การคุมเพดานราคาอาหาร การให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนเป็นต้น           

ภายใต้ตรรกะของการสะสมทุนอย่างยืดหยุ่น เมื่อพิจารณาการขยายตัวของสวนยางพาราในอีสานในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา จะเข้าใจว่าแรงผลักดันที่สำคัญคือ การแสวงหาพื้นที่ที่ต้นทุนที่ดินและแรงงานต่ำสุด ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่การทำสวนยางพาราในภาคใต้และภาคตะวันออก ถึงจุดอิ่มตัวของการมีพื้นที่รองรับ และการมีค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ภาคอีสานถูกพิจารณาว่า มีที่ดินราคาถูกที่เหมาะสมอีกจำนวนมาก พร้อมทั้งมีแรงงานสำรองอีกมาก และหากเราพิจารณาทิศทางการขยายตัวของสวนยางให้ดี จะพบว่าสวนยางมักรุกเข้าไปในพื้นที่รอยต่อกับป่า และชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่รอยต่อกับป่า คือพื้นที่ที่มีสถานะทางกฎหมายคลุมเครือ ซึ่งบางกรณีเป็นพื้นที่สาธารณะตามกฎหมายของหมู่บ้าน บางพื้นที่เป็นป่าเสื่อมโทรม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือมีขบวนการรุกเข้าไปบุกเบิกใช้พื้นที่ปลูกยาง แล้วใช้อำนาจพิเศษเปลี่ยนให้เป็นที่ดินส่วนบุคคล ส่วนการขยายตัวไปในพื้นที่ชายแดน  ก็เพื่อแสวงหาแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน   

เราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้นอีก เมื่อพิจารณาการผลิตยางพาราของไทย ในบริบทตลาดยางในระดับโลก เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราระดับแนวหน้าของโลก ตามติดด้วยอินโดนิเชีย และมาเลเชีย โดยมีผลผลิตรวมกันถึงประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตทั้งโลก[9] ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สาเหตุที่ทำให้ราคายางพาราในตลาดโลกสูงขึ้นมาก เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ความต้องการบริโภคยางของจีน ได้ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราอย่างกว้างขวางด้วย ปรากกฎการณ์พิเศษของการขยายตัวของสวนยางพารา เกิดขึ้นในประเทศลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะบริเวณตอนใต้ของจีน พม่า เวียดนาม กัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลาว[10] แรงผลักของการขยายตัวในพื้นที่นี้เป็นไปในทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอีสาน คือการแสวงหาพื้นที่ต้นทุนที่ดินและแรงงานต่ำสุด

การศึกษาการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศลาวของ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นการรุกคืบของทุนข้ามชาติ เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราในแผ่นดินลาว (ในกรณีนี้คือทุนจากจีน เวียดนาม และไทย)  โดยการอำนวยความสะดวกอย่างดีของรัฐ แต่การขยายตัวของทุนนิยมลาว ยังมีลักษณะเฉพาะภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์  ท่ามกลางช่องว่างการบริหารงานระหว่างรัฐส่วนกลาง กับรัฐท้องถิ่น (รัฐระดับแขวง) ทำให้เกิดความลักลั่น สับสน ปั่นป่วน เชิงนโยบายและการควบคุม  ในเงื่อนไขนี้รัฐท้องถิ่นได้มีบทบาทแข็งขันในการรวบรวมที่ดินจำนวนมหาศาล และตระเตรียมแรงงานสำหรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ การดำเนินการของรัฐ ใช้ทั้งมาตรการนุ่มนวล และความรุนแรงทั้งทางตรง และทางอ้อม[11]  กรณีนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการลดต้นทุนให้ต่ำสุดภายใต้ตรรกะการสะสมทุนอย่างยืดหยุ่น

จากที่ได้กล่าวมา คงทำให้เห็นภาพกระบวนการข้ามพรมแดนของการลงทุนและแสวงหาสินค้าราคาถูก กระบวนการดังกล่าวถูกผลักดันโดยกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยางพารา นับตั้งแต่นักลงทุน ผู้ค้าปัจจัยการผลิต พ่อค้าค้นกลาง โรงงานแปรรูป ผู้ส่งออก ผู้แปรรูปในประเทศปลายทาง รวมทั้งหน่วยงานรัฐเอง ก็มีหน้าที่ไม่ต่างกับนายหน้าของกลุ่มทุนที่ไปทำงานกับเกษตรกร และยังคอยอำนวยความสะดวกนานาประการให้กับทุน  ที่กล่าวมาผู้เขียนไม่ได้ต้องการสรุปว่า กระบวนการทั้งหมดเป็นการสมคบคิดกันของบรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยางพาราอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ตรงกันข้ามผู้เขียนเห็นว่าเป็นกระบวนการที่มีความขัดแย้งและแข่งขันต่อรองกันภายในอยู่ไม่น้อย และเกษตรกรเองก็พยายามดิ้นรนต่อรองต่อการถูกกระทำด้วย อย่างไรก็ตามในที่นี้ต้องการชี้ให้เห็น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการสร้างและแสวงหาสินค้าราคาถูกที่สุด   

ข้อมูลล่าสุด ในลาวมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 1.8  ล้านไร่[12] (ปี 2555) เทียบกับของไทยมีพื้นที่ 18 ล้านไร่ [13] (ปี 2553) ทำให้เห็นว่าพื้นที่การผลิตในลาวยังน้อยกว่าไทยอีกหลายเท่า แต่หากนับรวมการขยายตัวของสวนยางในประเทศอื่นๆในลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีต้นทุนด้านที่ดินและแรงงานต่ำกว่าไทย ประเทศเหล่านี้คือคู่เปรียบเทียบที่จะมาดึงราคายางพาราของเกษตรกรไทยให้ตกต่ำลงอีก คาดการได้ว่า ยุครุ่งเรืองของชาวสวนยางพาราไทยคงเหลืออีกไม่นาน 

 

การพัฒนาเชิงสถาบัน

ผู้เขียนขอจบบทความนี้  ด้วยการร่วมสนทนากับประเด็นปัญหาการจำนำข้าวของรัฐบาล การโต้แย้งที่ผ่านมาอาจแบ่งความเห็นได้เป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคัดค้านโครงการจำนำข้าว ด้วยเหตุผลว่าการแทรกแซงของรัฐทำลายระบบตลาดข้าว น่าแปลกใจว่า ท่านทั้งหลายในฝ่ายนี้คงทราบดีอยู่แล้วว่า ตลาดภาคเกษตรของไทย ไม่เคยทำงานตามตำราที่ท่านเชื่อ หากแต่ถูกบิดเบือนให้ประโยชน์แก่คนบางกลุ่มมาโดยตลอด จึงน่าสงสัยว่าการปกป้องระบบตลาดของฝ่ายนี้ คือการปกป้องอะไร? ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนโครงการรับจำนำข้าว ส่วนใหญ่ก็โต้แย้งด้วยเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางวิชาการ การถกเถียงดังกล่าวนี้คงไม่ทำให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้นได้ในระยะยาว บทความนี้คงช่วยทำให้เห็นว่า ระบบตลาดการเกษตรของไทยไม่เคยทำงานอย่างสมบูรณ์  ด้วยเหตุปัจจัยทั้งระดับโลก และระดับภายในประเทศเอง ผู้เขียนเห็นว่า เรื่องที่ควรจะเถียงกันก็คือ จะสร้างสถาบันที่ช่วยลดความเสี่ยง หรือส่งเสริมอำนาจต่อรองให้แก่เกษตรกรได้อย่างไร เช่น การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูประบบภาษี การสร้างระบบสวัสดิการ การสร้างระบบสหกรณ์ที่เข้มแข็ง แต่สถานการณ์การเมืองปัจจุบันก็ทำให้เห็นว่า อนาคตที่ดีของเกษตรกรไทยคงอยู่อีกไกล.         

 

 




[1] เนื่องจากบทความนี้มาจากงานวิจัยที่เก็บข้อมูลในปี 2553

[2] ใช้วิธีประชุมกลุ่มย่อย (focus group) ให้ชาวสวน 5-7 คนช่วยกันระดมความคิด

[3] คำนวณจากข้อมูลการผลิตของเกษตรกร ซึ่งสอดคล้องกับ ตัวเลขของ ศานิต เก้าเอี้ยน แห่งภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะ เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  (www.agri.eco.ku.ac.th/admin/fileupload/corn%203.12.52.ppt สืบค้น 27 ก.ย. 53)

[4] การทำงานในสวนยางที่กรีดยางได้แล้วในแต่ละวัน การทำงานจะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือขั้นตอนการกรีดยาง (และเว้นระยะไปประมาณ 3 ชั่วโมง) ขั้นตอนหยอดน้ำกรด และขั้นตอนเก็บเศษยาง ซึ่งแรงงาน 1 คนในเวลา 8 ชั่วโมง จะสามารถทำงานในสวนยางได้ประมาณ  7 ไร่ แต่เราทราบมาแล้วว่าผลตอบแทนยางพารา = 24,050 บาท//ปี/ไร่  ถ้าคิดผลตอบแทนต่อเดือน ก็หารด้วย 12 = 24,050/12  = 2,004  บาท/เดือน/ไร่  เมื่อคนงานคนหนึ่งทำงานได้วันละ 7 ไร่ ดังนั้นหากทำงานใน 1 เดือน จะได้ผลตอบแทน = 7 x 2,004 = 14,028 บาท           

[5] ค่าแรงขั้นต่ำที่ กทม. ปี 2553 คือ 206 บาท/วัน

[6] อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2554. “ชนบทอีสานปรับโครงสร้าง ชาวบ้านปรับอะไร” ใน วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ฉบับพิเศษ (1) เสรีนิยมใหม่ในเศรษฐกิจอีสาน. น.18

[7] ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคายางมีหลากหลายประการ เช่น 1. ความต้องการใช้ยางและผลผลิตของยางพาราที่ออกสู่ตลาด 2. ราคาน้ำมัน 3. อัตราการแลกเปลี่ยน 4. เศรษฐกิจโลก 5. นโยบายการค้าระหว่างประเทศ 6. อุตสาหกรรมยานยนต์ 7. ภาวะตลาดหุ้น 8. ราคาตลาดล่วงหน้าโตเกียว ตลาดเซี้ยงไฮ้ และตลาดสิงคโปร์ 9. สภาพภูมิอากาศ  ข้อมูลจาก สำนักงานตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์ http://www.doa.go.th/rubberburiram/index.php/faq     สืบค้น 24 มิถุนายน 2556

[8] Harvey, David 1990. The Condition of Postmodernity. BLACKWELL.ในที่นี้อ้างถึงบทที่ 9 “From Fordism to flexible accumulation” เป็นสำคัญ

[9]เอนก กุณาละสิริ สุภาพร บัวแก้ว พัชรินทร์ ศรีวารินทร์ จุมพฏ สุขเกื้อ. “การศึกษาสภาวะการตลาดและเศรษฐกิจยาง”  สถาบันวิจัยยางกรมวิชาการเกษตร. www.rubbercenter.org/files/conference_for_web/Anek_june2012.pdf  สืบค้น 24 มิถุนายน 2556

[10] Fox, Jefferson and Jean Christophe Castella 2010. “Expansion of rubber (Hevea brasiliensis) in

Mainland Southeast Asis : What are the prospec for small holder ? paper presented at the

international conference on Revisiting Agrarian Transformation : Empirical , Theoretical and Applied Perspective. Chiang mai , Thailand. RCSD-ChaTSEA conference.

[11] ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. 2554. ทุนนิยมชายแดน : นิคมเกษตรกรรมยางพารา และการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรมในภาคใต้ของลาว.  เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[12]ผู้จัดการออนไลน์ 18 เมษายน 2556   http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9560000046858  สืบค้น 24 มิถุนายน 2556

[13]สมาคมยางพาราไทย  http://www.thainr.com/th/detail-stat.php?statID=161  สืบค้น 24 มิถุนายน 2556

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net