Skip to main content
sharethis

ระบุ ประดิษฐ-พิพัฒน์บิดเบือนข้อตกลงกับเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ที่ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

28 มิ.ย.2556 ตามที่ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ชี้ แจงข้อเท็จจริงและคณะผู้รับฟังข้อเท็จจริงกรณีการสอบสวนข้อเท็จจริงและการ เลิกจ้างผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวว่า คำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวเนื้อหาผิดไปจากข้อตกลงที่เครือข่ายเพื่อความเป็น ธรรมในระบบสุขภาพได้มีไว้กับนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันให้เป็นการตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” แต่กลับมีคำสั่งจาก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรี สธ. สั่งให้ประธานบอร์ด อภ. นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ออกคำสั่ง ให้เป็นคณะผู้รับฟังข้อเท็จจริง จากคณะผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคู่กรณี

 “การที่รัฐมนตรีประดิษฐมีคำสั่งให้มีหน้าที่เพียงเป็นผู้รับฟังข้อเท็จจริง ไม่สามารถตรวจสอบหลักฐานเอกสารหรือสืบค้นข้อมูลภายในขององค์การเภสัชกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการปลดนายแพทย์วิทิตได้นั้น เท่ากับว่ารัฐมนตรีประดิษฐบิดเบือนข้อตกลงในการเจรจา ชมรมแพทย์ชนบทมีไฟล์เสียงการประชุมที่ทั้งรัฐมนตรีประดิษฐและคุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีสรุปตรงกันในการเรจาวันที่ 4 มิถุนายนว่า จะตั้งกรรมการที่มีอำนาจในการขอดูหลักฐาน เอกสาร สอบถามบุคคล หรือตรวจสอบข้อมูลว่าจริงหรือเท็จประการใด ไม่ใช่เป็นเพียงกรรมการรับฟังการชี้แจงเท่านั้น”

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ชมรมแพทย์ชนบทพยายามที่จะมองโลกในแง่ดีกับรัฐมนตรีประดิษฐมาหลายหน แต่หนนี้คงตอบได้ชัดเจนแล้วว่า รัฐมนตรีประดิษฐไม่มีความจริงใจ ไม่ใช่ลูกผู้ชายที่มีสัจจะเป็นคุณธรรม ที่ยอมเจรจาหรือยอมทำท่าจะทำตามมติการเจรจาก็เพียงเพื่อเอาตัวรอดจากการถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับ ครม. ไม่ได้จริงใจในการแก้ปัญหา เป็นถึงหมอถึงรัฐมนตรีหากไม่มีสัจจะก็ไม่ควรมาปกครองบ้านเมือง

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จะไม่เข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว เพราะในคำสั่งให้เป็นแค่คณะผู้รับฟังฯเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถทำให้ความจริงกระจ่างได้ “ดังนั้นเมื่อเริ่มกระบวนการก็ไม่โปร่งใส จึงรับไม่ได้ในคำสั่งลักษณะบิดเบือนเช่นนี้”

 ทางด้าน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเช่นเดียวกันว่า คำสั่งนี้

ผิดไปจากข้อตกลงที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีทำไว้กับเครือข่ายฯ ซึ่งเอกสารข้อสรุปที่ทางทีมงานของเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทำไว้และเป็นเอกสารที่เข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ชัดเจนว่า ให้เข้าไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง “คำสั่งที่ออกมาให้ไปรับฟัง ไม่ใช่เข้าไปตรวจสอบ เพราะนั้นไม่ร่วมสังฆกรรมกับคำสั่งนี้โดยสิ้นเชิง”

 ทางด้านนายระวัย ภู่ระกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (สร.อภ.) เห็นว่า การไปฟังคำชี้แจงเช่นนี้ไม่เกิดประโยชน์ แค่เข้าไปดูข้อมูลแค่นั้นไม่สามารถตัดสินอะไรได้ ท้ายสุดก็จบที่ศาลอยู่ดี จึงไม่ขอเข้าร่วม “การเจรจาในคืนวันที่ 4 รัฐมนตรียืนยันข้อมูลและการตัดสินใจของตัวเอง ทางกลุ่มคนรักหลักประกันจึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความบริสุทธ์ใจ เลขาธิการนายกรัฐมนตรียังพูดเลยว่า ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา ให้ไปพิสูจน์กัน หากผิดต้องว่าไปตามผิดนะ ทุกคนรับได้หรือไม่ ทุกฝ่ายในที่นั้นก็รับคำ แต่นี่ ชะลอ ประวิงเวลามาตลอด พอจะให้ตรวจสอบจริงๆ ก็ไม่ทำ ทั้งที่มาจากคำท้า วิธีการอย่างนี้ไม่ได้ประโยชน์”

 ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า  ไม่ยอมรับคำสั่งแบบนี้ สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ต้องมีการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งกระบวนการว่าถูกต้อง ชอบธรรมหรือไม่ ไม่ใช่ไปฟังและดูแค่เอกสารผลการสอบข้อเท็จจริง  

 ทั้งนี้ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 ด้านการควบคุมป้องกันโรค, ศ.ดร.ภญ.กาญจน์พิมล ฤทธิเดช และนายชำนาญ พิเชษฐ์พันธ์ นักกฎหมาย ต่างได้แสดงเจตจำนงค์ชัดเจนไม่ร่วมเป็นคณะผู้รับฟังข้อเท็จจริงอย่างเด็ดขาด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net