Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เนื่องจากเดือนมิถุนายนนี้ เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ อันนี้มีต้นกำเนิด จากการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของชาว LGBTIQ ที่บาร์เกย์ ชื่อสโตนวอลล์ ในนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1969 หรือ 44 ปี ก่อน

เครือข่ายหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทย จึงถือเป็นโอกาสอันนี้ที่จะใช้เดือนนี้และวันนี้เพื่อรณรงค์ยุติอคติต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะในแง่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต/จิตวิทยา “ฉันไม่ป่วย” ที่ตอกย้ำ ผลิตซ้ำมาตลอดว่าคนเหล่านี้เป็นโรคจิต หรือไม่ก็มีความวิปริตทางเพศ เบี่ยงเบนทางเพศเป็นต้น ซึ่งมันได้นำไปสู่ปัญหาในการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มดังกล่าว

***************************************************

 

จดหมายเปิดผนึก

 

29 มิถุนายน 2556

 

เรียน                          ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง TCIJ

เรื่อง              การนำเสนอข่าวที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม

 

สืบเนื่องมาจากการนำเสนอข่าว “เปิดคอร์สแก้ไข‘เบี่ยงเบนทางเพศ’ฯ”  บนเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา โดย คุณปาลิดา พุทธประเสริฐ นั้น เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรต่างๆ ที่ทำงานในประเด็นความหลากหลายทางเพศและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ใคร่ขอแสดงความคิดเห็นและชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และไม่ผลิตซ้ำอคติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

ควรใช้ภาษาที่ไม่ทำให้รู้สึกในด้านลบต่อกลุ่มที่กล่าวถึงในการสื่อข่าว

ในข่าวได้กล่าวถึงโรงเรียนติวเตอร์เอกชนที่เปิดกิจกรรมเพื่อ “แก้ไขพฤติกรรม” ซึ่งในข่าวเรียกว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” ทางเครือข่ายฯ เห็นว่าเป็นการใช้คำที่แสดงถึงอคติต่อความหลากหลายทางเพศ และเป็นคำที่ผู้สื่อข่าวอาจใช้ในการอ้างอิงคำพูดของผู้ให้สัมภาษณ์ได้ แต่ไม่ควรใช้ในการรายงานข่าวโดยทั่วไป เพราะตามที่แพทย์ที่ให้สัมภาษณ์ในข่าวได้ระบุไว้แล้ว การรักเพศเดียวกันมิได้จัดว่าเป็นความผิดปกติ ดังนั้น การใช้คำว่า “ความเบี่ยงเบน” ก็ย่อมถือว่าเป็นอคติ ซึ่งผู้รายงานข่าวไม่ควรส่งเสริมหรือผลิตซ้ำ ไม่ต่างจากอคติและการเหยียดหยามในประเด็นอื่นๆ เช่น ศาสนา สีผิว หรือเชื้อชาติเป็นต้น ทางเครือข่ายความหลากหลายทางเพศขอแนะนำให้ใช้คำที่เป็นกลางและแสดงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มบุคคลที่กล่าวถึง เช่น “คนรักเพศเดียวกัน” ในกรณีชายรักชายหรือหญิงรักหญิง หรือ  “คนข้ามเพศ” ในกรณีบุคคลที่มักเรียกกันว่ากะเทยหรือสาวประเภทสอง หรือในการกล่าวถึงปรากฏการณ์โดยรวม ก็สามารถใช้คำว่า “ความหลากหลายทางเพศ” ได้ หรือในอีกทาง ก็สามารถใช้คำย่อที่มาจากภาษาอังกฤษว่า LGBTIQ ซึ่งย่อมาจากคำเรียกกลุ่มอัตตลักษณ์ต่างๆ (lesbian, gay, bisexual, transgender, intersex และ queer หรือ questioning) ภายใต้ความหมายของคำว่า “ความหลากหลายทางเพศ”

 

สัดส่วนประชากร LGBTIQ มีมากกว่าที่คิด

แหล่งข้อมูลที่สัมภาษณ์ไว้ในข่าวตอบว่าขนาดประชากรที่เกี่ยวข้องกับตัวประเด็นมีประมาณ 1 ต่อ 30,000 คน ซึ่งในข่าวก็วิจารณ์ไว้ว่าไม่น่าจะตรงกับสถานการณ์ที่แท้จริง

เนื่องจากในสังคมยังมีอคติต่อชาว LGBTIQ อยู่ งานวิจัยเกี่ยวกับขนาดของจำนวนประชากรกลุ่มนี้จึงเผชิญความท้าทายทางวิธีวิทยาที่ว่า เมื่อถูกถามแล้ว หลายๆ คนจึงอาจไม่กล้าเปิดเผยต่อนักวิจัยหรือนักสำรวจแปลกหน้าว่าตนรักเพศเดียวกันหรือเป็นคนข้ามเพศ ขนาดจำนวนประชากรที่พบในงานวิจัยจึงน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง แต่จากการสำรวจเยาวชนในภาคเหนือของประเทศไทยที่ใช้วิธีตอบข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง ซึ่งถือว่ามีความเป็นส่วนตัวในการตอบ พบว่าเยาวชนไทยเกินร้อยละ 10 ระบุว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ หรือยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับความชอบทางเพศของตนเอง[1]

 

ความพยายามที่จะเปลี่ยนความชอบทางเพศของบุคคลไม่ได้ผลและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต

ในส่วนของตัวประเด็นที่สื่อไว้ในข่าว ทางเครือข่ายฯ ขอชี้แจงข้อมูลที่ขาดจากตัวข่าวไป กล่าวคือ “การบำบัด” คนรักเพศเดียวกันเพื่อให้เปลี่ยนใจมาชอบคนต่างเพศ นั้นปรากฏในสังคมตะวันตกมายาวนาน และส่วนใหญ่เกิดจากอคติทางศาสนาต่อคนรักเพศเดียวกัน แต่จากที่องค์กรวิชาชีพชั้นนำ เช่น สามาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ได้ทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ พบว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ที่น่าเชื่อถือว่าการบำบัดดังกล่าวจะได้ผล แต่มีหลักฐานอยู่บ้างว่าอาจมีผลเสียต่อสภาพจิตใจของผู้ถูก “บำบัด”[2] ดังนั้น องค์กรเหล่านี้จึงไม่สนับสนุนการบำบัดดังกล่าว

รัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกาได้บัญญัติกฎหมายห้ามการบำบัดผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในลักษณะดังกล่าว[3] เนื่องจากเห็นว่าอาจเกิดผลเสียต่อผู้ถูกบำบัด เพราะฉะนั้น ทางเครือข่ายความหลากหลายทางเพศจึงรู้สึกแปลกใจที่ผู้แทนจากกรมสุขภาพจิตที่สัมภาษณ์ไว้ในข่าวละเลยที่พิจารณาข้อมูลส่วนนี้ ในเมื่อหน้าที่ของกรมสุขภาพจิตคือการส่งเสริมสุขภาพจิต ไม่ใช่การสนับสนุนวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพจิตของประชาชน

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเข้าใจไม่ยาก เพราะในการบำบัดดังกล่าวมีความพยายามที่จะโน้มน้าวผู้ถูกบำบัดให้เชื่อว่าความชอบทางเพศหรือตัวตนทางเพศของตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่สมควร และควรปรับเปลี่ยน แต่เมื่อการบำบัดไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าวได้ ผู้ถูกบำบัดจะโทษตนเองและรู้สึกว่าตนเองล้มเลว ซึ่งย่อมมีผลเสียต่อการเคารพนับถือตัวเองของผู้ถูกบำบัด

 

สังคมที่น่าอยู่เกิดจากการยอมรับและเคารพความแตกต่าง

ทางเครือข่ายฯ เข้าใจว่าในสังคมไทยยังมีอคติหลายแบบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอคติทางเพศ เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบัน มาตรา 30 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยระบุว่าการเลือกปฏิบัติบนฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่กระทำมิได้ ดังที่เขียนไว้ในบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30 ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุแห่งเพศ โดยคำว่า เพศนั้นในเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญได้ให้คำอธิบายไว้ว่า ความแตกต่างเรื่อง เพศนอกจากหมายถึงความแตกต่างระหว่างชายหรือหญิงแล้ว ยังหมายรวมถึงความแตกต่างของบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ (Sexual Identity) หรือเพศสภาพ (Gender) หรือความหลากหลายทางเพศ (Sexual Diversity) แตกต่างจากเพศที่ผู้นั้นถือกำเนิดอยู่ด้วย จึงไม่ได้บัญญัติคำดังกล่าวข้างต้นไว้ในมาตรา 30 เนื่องจากคำว่า เพศได้หมายความรวมถึงคำดังกล่าวอยู่แล้ว และจะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ[4]

เมื่อคนในสังคมถูกหมิ่นศักดิศรีในเรื่องสีผิว คำตอบไม่ใช่การกดดันให้คนที่ถูกเหยียดหยามให้พยายามเปลี่ยนสีผิว หรือเมื่อคนคนหนึ่งถูกเหยียดหยามในเรื่องศาสนา คำตอบไม่ใช่การกดดันให้คนนั้นเปลี่ยนศาสนา และในลักษณะเดียวกัน เมื่อคนคนหนึ่งไม่ได้รับการยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางเพศ คำตอบก็ย่อมไม่ใช่การกดดันให้คนนั้นพยายามเปลี่ยนความชอบหรือตัวตนทางเพศ แต่คำตอบคือการยอมรับและเคารพความแตกต่างซึ่งกันและกัน

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา เพื่อนำเสนอข้อมูลในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยต่อไป

 

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทย

 

หมายเหตุ : สามารถติดต่อขอสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่

คุณ Timo Ojanen นักวิจัย ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 089-022-7597

คุณ ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ฝ่ายสื่อสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ โทร. 085-041-8477

คุณอัญชนา สุวรรณานนท์ โครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารี โทร.086-994-9525

 




[1] Tangmunkongvorakul, A., Banwell, C., Carmichael, G., Utomo, I. D. & Sleigh, A. (2010). Sexual identities and lifestyles among non-heterosexual urban Chiang Mai youth: Implications for health. Culture, Health & Sexuality, 12, 827 — 841.

[2] APA Task Force on Appropriate Therapeutic Responses to Sexual Orientation (2009). Report of the Task Force on Appropriate Therapeutic Responses to Sexual Orientation. Washington, DC: American Psychological Association.

[3] Slosson, M. (2012, September 30). California bans gay “conversion” therapy for minors. Retrieved from http://www.reuters.com/article/2012/09/30/us-california-gaytherapy-idUSBRE88T0DR20120930

[4] คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ. 2550.เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ดาวน์โหลดจาก http://library2.parliament.go.th/giventake/content_cons50/cons50-intention.pdf

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net